เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล)

เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล)

เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต นามเดิม โต เป็นข้าหลวงเดิมในรัชการที่ ๕ ครั้นเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติแล้ว โปรดให้เป็น

๑.นายพิไนยราชกิจ มหาดเล็กหุ้มแพร

๒.เลื่อนเป็น นายจ่าเรศ

๓.เลื่อนเป็น เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีหัวหมื่น

๔.เลื่อนเป็น พระยานรรัตนราชมานิต จางวางมหาดเล็กโดยลำดับ ครั้น พ.ศ.๒๔๓๘ วันที่ ๒๙ มีนาคม โปรดเป็นเจ้าพระยา มีสำเนาประกาศดังนี้

  ทรงพระราชดำริห์ว่า พระยานรรัตนราชมานิต เป็นเผ่าพันธ์ข้าหลวงเดิมสืบมาแต่บิดา อันได้เป็นมหาดเล็กคนสนิด ในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ แลกรมสมเด็จพระเทพศิรินทร์ทรามาตย์ สมเด็จพระบรมราชชนนีแต่น้อยมา จนถึงเป็นขอเฝ้า แลเป็นนายเวร โดยลำดับ นับว่าเป็นที่สนิด ติดเนื่องมา จนยกย่องเหมือนพระญาติวงษ์ ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณมา ตั้งแต่สามารถที่จะทำการได้โดยลำดับ มีความอุสาหะแลจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทยิ่งนัก ครั้น พระเจ้าอยู่หัว รัชการที่๕ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็ได้พระราชทานยศบันดาศักเตั่งแต่ หุ้มแพรมาโดยลำดับ จนถึงเป็น จางวางมหาดเล็ก ได้เป็นผู้กำกับช่างทอง และกำกับ กรมพระสุรัสวดี แลได้เป็นผู้จัดการตั้งกองตระเวนลำน้ำ แลได้ทำการโรงกระสาปน์สิทธิการมาช้านาน ภายหลังจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้บัญชาการกรมพระสุรัสวดี เป็นผู้มีน้ำใจจงรักภักดี ต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ได้รับราชการ ในหน้าที่อันสนิดส่วนพระองค์เป็นที่ต้องพระราชอึธยาไศรยมาช้านาน ครั้นเมื่อใด้รับราชการในตำแหน่ง ก็มีความอุสาหะวิริยะ อันแรงกล้าในรัชการ ชึ่งเป็นหน้าที่ของตนให้สำเร็จไปได้ด้วยดี แลมีความเจริญยิ่งขึ้น กว่าแต่ก่อนเป็นอันมากในทุกๆหน้าที่ มีอัธยาไศรย ซืรอตรงดำรงอยู่ในความสุจริต คิดแต่ในการ ซึ่งจะให้เจริญพระเกียติยศ แลพระบรมเดชานุภาพ เป็นที่เชิดชูพระเกียติยศ ในหมู่ข้าหลวงเดิมทั่งปวง บัดนี้มีอายุเจริญไวย แลมีความสามารถในราชกิจน้อยใหญ่ สมควรที่จะได้รับ อิศริยยศบันดาศักดิสูง ควรแก่ตำแหน่งราชการ ชึ่งได้บังคับบันชา ต่างพระเนตรพระกรรณ ให้ปรากฏเป็นพระเกียติยศสืบไป

  จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนา พระยานรรัตนราชมานิต ขึ้นเป็นเจ้าพระยา  มีสมญาจาฤก ในหิรัญบัตรว่า "เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต สุขุมกิจโกศล เมติกมล มธุรพจน์ วิบูลยยยศศุภสวัสดิ์ สุจริตาภิรัตวราชวามาตย์ บรมนารถบาทยุคลสวามิภักดิสนิท วิสิฐศรีรัตนธาดา อภัยพิริยปรากรมพาหุ นาคนาม ดำรงศักดินา ๑๐๐๐๐ จงเจริญทฤฆชนมายุ พรรณศุขศิริสวัสดิพิพัฒมงคล ธนสารสมบัติ บริวารสมบูรณ์ทุกประการเทอญ

  เกี่ยวกับคุณงามความดี อันควรแก่การยกย่อง ของเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต ตามสำเนาประกาศดังกล่าวแล้วนี้ ขออนุญาตินำข้อความซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือกระษาปณ์ไทย ชึ่งจึดพิมพ์โดยธนาคารทหารไทย จำกัด เมื่อ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๐๖ มาลงไว้ ณ ที่นี่อีกครั้งหนึ่งดังนี้

เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) ว่าการโรงกระษาปณ์

  ในปี พ.ศ.๒๔๒๒พระยากษาปนกิจโกศลต้องโทษเนื่องจากพระปรีชากลการผู้เป็นบุตร โรงกษาปณ์ว่างผู้ดูแลกิจการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแต่งตั้งให้ เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต ซึ่งขณะนั้นยังเป็น พระยานรรัตนราชมานิตอยู่ เป็นผู้ดูแลจัดการโรงกระษาปณ์

   ณ โรงกระษาปณ์หลวงแห่งนี้ ท่านเจ้าพระยานรรัตนราชมานิตได้แสดงออกซึ่งความซื่สัตย์สุจริต ความยุติธรรมความเข้มแข็งต่อหน้าที่ และความคิดริเริ่ม ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มให้มีเครื่องหมายสำคัญในเงินตราของหลวงเพื่อจับเงินปลอม โดยเติมหางหมายเลข ๕ ให้ยาวออกไปกว่าแต่ก่อน ท่านได้ตรวจจับคนร้ายที่ทำเงินปลอมอย่างเข้มงวดกวดขัน ได้ตัวคนร้ายมาลงโทษหลายรายด้วยกัน นอกจากนั้นยังให้ความเป็นธรรมแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา กล่าวคือ เรื่องเงินเดือนคนงานโรงกระษาปณ์นั้น ตามคำสั่งเดิมและคำสั่งใหม่ให้จ่ายเงินเดือนเมืรอทำเงิน และให้งดเงินเดือนเมื่อหยุดทำเงิน ท่านเห็นว่าการโรงกระษาปณ์นั้นมิได้ทำเงินแต่อย่างเดียวมีกิจการอื่นปะปนอื่นอยู่ด้วย คนที่ทำการอื่นด้วนแม้ในขณะที่มิได้ทำเงินก็ควรจะได้เงินเดือน จึงได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานพระกรุณาซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นชอบด้วย แต่ที่สำคัญสุดก็คือความซื่อสัตย์สุจริตของท่านยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน กล่าวคือธรรมเนียมทำเงินบาทแต่เดิมมานั้น เมื่อชั่งเงินส่งไปให้โรงกระษาปณ์ทำเงินเท่าใด เวลาส่งเงินที่ทำสำเร็จรูปแล้ว ก็ต้องลดน้ำหนักลวบ้าง น้ำหนักที่ลดลงนี้เรียกว่าสูญไฟหรือสูญเพลิง เพราะไฟจะต้องกินเนื้อเงินไปบ้าง โรงกระษาปณ์หลวงของเราจึงมีค่าสูญเพลิงไว้จำนวนหนึ่ง เมื่อเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต เข้าควบคุมดูแลโรงกระษาปณ์จึงได้พบว่า ค่าสูญเพลิงที่แท้จริงนั้นน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกรมกระษาปณ์สิทธิกา จ.ศ.๑๒๓๗ และข้อบังคับสำหรับกรมกระษาปณ์สิทธิการ จ.ศ.๑๒๓๘ มากโดยเหตุที่ไม่ปรารถนาจะได้เงินนั้นม่เป็นของตน จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ ซึ่งพระองค์ก็ได้มีพระราชดำรัสว่า เมื่อกินอยู่แล้วก็กินกันต่อไปเถิด ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามัญก็เอาเงินนี้ไว้เป็นของส่วนตัวได้แล้ว แต่วิสัยคนซื่อที่แท้จริงก็ย่อมจะรอคอยวันเวลาอละจังหวะที่จะแสดงความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านได้เก็บเงินเหล่านั้นสะสมไว้เพื่อรอคอยโอกาศอันควร ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวัดเทพศิรินทร์ขึ้น ทรงอุทิศพระราชกุศลแด่กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ท่านได้นำเงินนั้น ไปจ้างคนถมดินวัดเทพศิรินทร์โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นจำนวนนับด้วยหมื่น ด้วยแสน ลองคิดดูว่า เงินหมื่นเงินแสนในขณะนั้นมีค่าเพียงใด ขอยกย่องเทิดทูนท่านผู้นี้ไว้โดยตีพิมพ์รูปถ่ายของท่านให้ปรากฏเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลังต่อไป

สะพานนรรัตนสถาน

เป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุงตอนปากคลองบางลำพู ถนนจักรพงษ์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นสะพานโครงเหล็ก มีโครงเหล็กโค้งอยู่ด้านบน เรียกว่าสะพานเหล็กโค้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๒ และพระราชทานนามว่า “สะพานนรรัตนสถาน” เพราะอยู่ใกล้บ้านของเจ้าพระยานรรัตรราชมานิต (โตมานิตยกุล) เจ้าพระยานรรัตรราชมานิต

เป็นข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งได้รับราชการตั้งแต่เป็นมหาดเล็กหุ้มแพรจนถึงเป็นจางวางมหาดเล็กนอกจากนี้ก็ยังเป็นผู้กำกับช่างทอง และกำกับกรมพระสุรัสวดีด้วยเจ้าพระยานรรัตรราชมานิตได้รับราชการด้วยความจงรักภักดีและใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยานรรัตรราชมานิตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ เจ้าพระยานรรัตรราชมานิตเป็นต้นสกุลมานิตยกุล และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ ขณะอายุ ๗๑ ปี