ผู้ใช้:Chacool555/กระบะทราย


คนเราเกิดมาชาติหนึ่ง เมื่อได้ผ่านการทำงานมาช่วงชีวิตหนึ่ง ย่อมต้องมีความรู้ ความสามารถ ทักษะประสบการณ์ ในเรื่องนั้นๆ มีวิธีคิด มุมมองที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองครอบครัว หน่วยงานใดๆ ต่อสังคมบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะผู้ที่มีโอกาสหรือตำแหน่งสูงๆมีโอกาสได้ไปประชุมศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ ก็น่าจะนำมาบันทึกหรือจารึกไว้เพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังนำไปเป็นข้อมูลหรือพัฒนาการต่อยอด จะได้ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก ดูตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นถูกระเบิดปรมณูถล่มจนยับเยิน แต่ก็สามารถพื้นตัวและพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว ไม่สะดุดขาดตอน เนื่องจากมีการบันทึก เก็บข้อมูลจากรุ่นสู่รุ่น ดังคำพูดที่ว่า “แสงเทียนเล่มที่หนึ่ง จะไม่มีวันดับ ถ้าหากมีเทียนเล่มต่อๆไปมาจุดต่อ” ผมได้ตั้งเป้าหมายว่าในช่วงชีวิตหนึ่ง ตั้งใจว่าเมื่อมีจังหวะ โอกาสจะทำหลายสิ่งหลายอย่าง ที่ดีๆ ให้ตัวเอง ให้ครอบครัว ให้แผ่นดินถิ่นเกิด ให้สังคมรวมถึงประเทศชาติ เช่นปลูกป่าไม้ เป็นมรดกต่อลูกหลาน ต่อชุมชน ช่วยผลิตออกซิเจน เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ประเทศ ซึ่งได้ปลูกแล้วกว่า 5 ปี ประมาณ 10 ไร่ เป็นเจ้าของธุรกิจช่วยกำจัดที่หลายคนเรียกว่าขยะ ซึ่งได้ตั้งโรงงานบดยางรถยนต์เก่าใช้แล้วให้เป็นผงละเอียด และโรงงานสกัดน้ำมันเตาจากยางรถยนต์เก่าซึ่งกำลังขออนุญาตจากกรมโรงงาน ตั้งใจจะทำสวนผักพื้นบ้านปลอดสารพิษ จำหน่ายทั่วไป ซึ่งได้เริ่มทำมานานแล้ว แต่หลังเกษียณจะขยายพื้นที่และชนิดผักให้หลากหลายมากขึ้น จะทำเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น เมื่อถึงวันเกษียณตั้งใจจะแจกกล้าไม้ให้ทุกคนที่ทำงานใน สมอ.รวมลูกจ้าง พนักงานทำความสะอาด ที่สำคัญตั้งใจจะเขียนหนังสือสักเล่ม โดยเฉพาะเพื่อเป็นแนวทาง My way My think แจกตอนเกษียณ จึงได้ปรึกษาหารือกับพี่น้องครอบครัวเดียวกันและเพื่อนที่มีแนวคิดใกล้เคียงกันอีก 2 คนคือคุณทวีพงษ์ พรพงษ์อภิสิทธิ์ (เช) คุณประชา ธารแผ้ว (ชา) จึงเกิดเป็น Road map ในการกำหนดหัวเรื่อง หาข้อมูลเค้าโครง จัดทำเป็น Mind map เพื่อสร้างเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ โดยแบ่งเป็น My way จะรวบรวมประวัติของผม ภายใต้หัวข้อ เส้นทางชีวิต ที่จะรวบรวมประสบการณ์ต่างๆ จากอดีตสู่ปัจจุบันกว่า 50 ปี ตั้งแต่จำความได้ จากลูกชาวนา สู่ ข้าราชการชั้นผู้น้อย และ My think เป็นการนำเสนอ ความจริง แนวคิด วิธีคิด จินตนาการ ความรู้สึก ข้อเสนอ และแนวทางในการพัฒนา รวมถึงเรื่องตลกขบขัน วาทะคำคมต่างๆ เท่าที่ผมจะรวบรวมได้และนึกออก ขอขอบคุณพ่อแม่ที่ให้กำเนิดชีวิต เลี้ยงดูอบรมสั่งสอน เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตให้การศึกษาและให้วิธีคิดที่ดี ปฏิบัติตนอยู่ในสังคมด้วยดี รวมถึงเป็นคนดีของสังคม ขอขอบคุณครอบครัวญาติพี่น้องที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพ่อแม่และการประกอบอาชีพเกษตร ภรรยา ลูกทั้งสองคนที่ช่วยพิมพ์ต้นฉบับ ขอขอบคุณ สมอ.ที่ให้วิธีคิดอีกมุมมองหนึ่ง ให้ได้พบปะเพื่อนฝูงใหม่ ได้พบเห็นความเจริญทางเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆด้านอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะถ้าไม่ได้มาทำงานที่ สมอ.ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ไปต่างประเทศมากกว่า 60 ครั้ง ขอบคุณคุณทวีพงษ์ คุณประชา ที่ช่วยหลายสิ่งหลายในงานนี้สำเร็จได้ดี ขอขอบคุณใจตนเองที่ควบคุมกายให้ดำรงตนไม่เป็นภาระและ ปัญหาต่อสังคมตามคำสอนแนะนำของพ่อแม่และบุคคลทั่วไป ให้ทำในสิ่งที่ผ่านมาและตั้งใจว่าจะทำ ซึ่งบางเรื่องก็ได้ทำแล้วจึงเกิดเป็นหนังสือ “เส้นทางชีวิต วิธีคิดของฉัน” เล่มนี้ขึ้น ทั้งหมดที่กล่าวมาในหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เป็นการมาเล่าความดี แต่เป็นการถ่ายทอดหรือเป็นกระจกสะท้อนความจริงของชีวิตคนคนหนึ่ง ที่ผ่านมาในเส้นทางเดินชีวิตและวิธีคิดของคนคนหนึ่ง ที่เป็นเพียงคนธรรมดา เพื่อเก็บรักษาจารึกไว้เป็นประวัติ หลักฐาน สำหรับตนเองและบุคคลทั่วไป ซึ่งผมหวังว่า จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้าง

ประวิทย์ อินชูพงษ์

 กันยายน 2557










วัยเด็ก กับ วิถีชีวิตที่ลุ่มๆดอนๆ

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากป่าเสื่อมโทรมน้ำท่วมทุกปี กลายเป็นท้องทุ่งเขียวขจี สร้างอาชีพสร้างรายได้ เป็นถิ่นกำเนิดของผม จากเด็กชายร่างเล็ก ผอม ผิวคล้ำ ที่วิ่งเล่นตามท้องทุ่งนา จับปลาตามมุมนา มีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ต่างอะไรกับชาวบ้านธรรมดาทั่วไป การดำเนินชีวิตของเด็กคนหนึ่งช่วงปิดเทอมกลาง ช่วงหน้าฝนต้องเกี่ยวหญ้าให้ควาย ผมได้รับหน้าที่ให้ดูแลควาย 1 คู่ คือไอ้วงกับไอ้หลาว ไอ้วงแสนรู้ สั่งคุกเข่าได้ เมื่อถามมันว่าแม่อยู่ไหน ไอ้วงมันจะทำท่าชี้โดยใช้ปากยื่นและเดินไปตามนั้น จนเจอแม่จริงๆ เป็นที่กล่าวขานทั่วทุ่งหนองโพ ส่วนไอ้หลาวจะมีนิสัยแตกต่างจากไอ้วง เพราะมันมีนิสัยเที่ยวเก่ง สอนยาก ติดตัวเมียบ้านอื่น เลี้ยงยาก พอถึงช่วงปิดเทอมใหญ่ปลายปี ช่วงหน้าร้อน เด็กๆ สมัยนั้น จะดีใจที่จะได้พบปะเพื่อนฝูง เพราะเป็นฤดูแล้ง เด็กๆ ทั้งที่ได้เรียนและไม่ได้เรียน จะพาควายไปเลี้ยงกลางทุ่งนาที่เต็มไปด้วยฟางข้าวและหญ้า เพราะเป็นหลังฤดูเก็บเกี่ยว ในสมัยนั้นชาวนาจะทำนาปีละครั้งตามฤดูกาล ท้องทุ่งนาที่กลายเป็นชุมชนของเด็กๆ และเหล่าวัวควาย เด็กเลี้ยงควายนับสิบๆ คน เล่นกันอย่างสนุกสนาน เพื่อนทุกคนที่เล่นด้วยกันแทบไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือระดับมัธยม ด้วยฐานะทางการเงินและต้องช่วยพ่อแม่ทำนาทำไร่ นับว่าโชคดีพ่อแม่ผมมีวิสัยทัศน์ มองการไกล เกี่ยวกับการให้ความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน ทำนาทำไร่ส่งลูกๆ เรียนทั้ง 9 คน ทั้งๆที่ฐานะก็ไม่ได้ดีเหนือคนอื่น แต่ด้วยการที่อยากพัฒนาตัวเอง และอยากให้ลูกๆ มีวิชาความรู้ติดตัวในการดำเนินชีวิต ผมได้มีโอกาส เรียนตั้งแต่ระดับประถม มัธยม จนเรียนจบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวอุตสาหการ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ซึ่งต้องใช้เงินทุนค่อนข้างมาก แต่ด้วยความกรุณาจากพ่อแม่และจากพี่ๆ แทบทุกคน ได้มีส่วนช่วยส่งเสียให้เรียน นับตั้งแต่จบ ม.ศ.3 จากโรงเรียนราษฎร์ของวัด โรงเรียนพยุหะวิทยา อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ครอบครัวผมมีบ้านสองแห่งอยู่จังหวัดนครสวรรค์ แห่งที่ 1 อยู่อำเภอพยุหะคีรี เป็นบ้านมรดกของย่า คนไทยรู้จักกันทั่วไปสมัยนั้นคือท่าข้าวกำนันทรง ซึ่งเป็นท่าข้าวใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย ยุคนั้นถือว่าเป็นตลาดกลางของกระทรวงพาณิชย์ไว้อ้างอิง “ราคากลางข้าวเปลือกท่าข้าวกำนันทรง” จะประกาศทุกเช้าทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย แต่ละวันจะมีรถ 10 ล้อหางลากมาขนถ่ายข้าวเปลือกไม่ต่ำกว่า 200 คันต่อวันด้วยปริมาณข้าวเปลือกประมาณ 2 ล้านตัน/ปี คิดเป็น 10% ของปริมาณข้าวทั้งประเทศ ในสมัยนั้น ท่าข้าวกำนันทรงได้สร้างงาน คนงานแบกข้าวเปลือกลงเรือขนถ่าย ล่องแม่น้ำเจ้าพระยาถึงกรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่า 300 ถึง 500 คน ต่อวัน สร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้านมากมาย เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน บ้านของผมอยู่ในเขตสุขาภิบาลพยุหะ ในสมัยนั้นโรงเรียนพยุหะวิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ของวัดตั้งอยู่หน้าบ้านพัก จึงสะดวกมากในการเดินเข้าไปเรียนหนังสือ ค่าเทอมไม่กี่บาท แต่พ่อแม่ ก็ไม่ค่อยจะมีจ่ายหรอก อาศัยว่าพ่อเป็นมัคนายก วัดเขาแก้ว (มัคนายก กับมัคทายก ความหมาย มัค คือ มรรค แปลว่าทาง หนทาง หมายถึงมรรค 8 นายก ผู้นำ ทายก แปลว่าผู้ให้ (ชาย) ถ้าเป็นหญิงเรียก ทายิกา คนไทยต่อมาเรียกว่า ผู้มาทำบุญที่วัด มัคทายก เป็นคำผิดเรียกกันจนติดปาก ที่ถูกต้อง คือ มัคนายก หรือ มรรคนายก คนจะเป็นมัคนายกได้ ต้องรู้พิธีการ คำสวด บทสวดนำทายก-ทายิกาให้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะทำพิธีอะไร เช่น ถวายอาหาร อาราธนาศีล 5 ศีล 8 สังฆทาน ฯลฯ ส่วนใหญ่มาจากคนที่เคยบวชพระมาก่อน) ช่วยงานวัด แล้วอาศัยเป็นช่างไม้ประจำโรงเรียน เมื่อก่อสร้างหรือซ่อมอาคารใหม่พ่อก็มีส่วนช่วยสร้างโรงเรียน ลูกๆของพ่อทั้ง 9 คนรวมทั้งผมจึงได้อาศัยเรียนฟรีบ้าง เสียเงินบ้างตามรายได้จากการทำนา ได้ขายข้าวในนาก็มีจ่าย นาข้าวเสียหายก็ขอยกเว้นวันค่าเทอมลูก ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากโรงเรียน พ่อเป็นมัคนายกคนหนึ่งของวัดที่ได้สร้างวัฒนธรรมองค์กร ด้านความคิดสร้างสรรค์เพื่อสังคมไม่เห็นแก่ตัว และไม่ยึดติดในเงินทอง เป็นอัตตาว่าเป็นของกู (ตัวกูของกู) ตามคำสอนของท่านพุทธทาส ทั้งที่ฐานะไม่ร่ำรวยออกไปทางยากจนด้วยซ้ำ เมื่อได้รับเชิญให้ไปเป็นผู้จัดการพิธีสงฆ์ ตามวัด บ้าน ร้านค้าทั่วไป พ่อจะนำเงินที่เจ้าภาพใส่ซองให้มัคนายก จะไม่นำมาใช้ส่วนตัว โดยนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนของวัดเขาแก้ว ฝากธนาคารไว้ เพื่อเก็บไว้ใช้สอยในกิจการของวัด มีผู้รับผิดชอบ ฝาก ถอน โดยคนเซ็นชื่อ ฝาก ถอน ได้มี 2 คน คือเจ้าอาวาสและพ่อผม เป็นเวลานับสิบๆ ปี พ่อเป็นมัคนายกคนเดียวที่ทำแบบนี้ จนได้เงินฝากให้วัด ชาวบ้านก็มีความชื่นชมยินดีและช่วยบริจาคทำบุญจนมีเงินฝากมากกว่า 3 แสนบาท ซึ่งถือว่าเยอะมากในสมัยนั้น ช่วงพ่อแก่เฒ่ามาก ก่อนเสียชีวิตเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ได้โอนให้เจ้าอาวาสทั้งหมด ไปดำเนินการต่อ ปัจจุบันนี้ไม่มีใครสานต่อ กองทุนนี้ก็เลิกไปโดยปริยาย ซึ่งน่าเสียดาย อีกกรณีคือเมื่คราวที่แม่ผมเสียชีวิตเมื่อปี 2535 พ่อผมได้เป็นผู้ริเริ่มคนแรกในอำเภอพยุหะคีรี โดยมอบเงินบริจาคที่ท่านได้เก็บออมของท่านเอง ให้เป็นสาธรณะประโยชน์คือ 1.โรงเรียนพยุหะวิทยา ที่ลูกๆทุกคนได้เล่าเรียนหนังสือที่นี่และตอนนั้นมีเงินจ่ายค่าเทอมบ้าง ไม่มีจ่ายบ้าง 2.โรงพยาบาลอำเภอพยุหะคีรี 3.โรงเรียนสมอทอดศึกษา จ.เพชรบูรณ์ เป็นโรงเรียนเอกชนที่พี่สาวผมเป็นเจ้าของ 4.ชมรมลูกเสือชาวบ้านอำเภอตาคลี ที่พ่อแม่ผมเป็นสมาชิกอยู่ และอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง

แห่งที่ 2 อยู่ ต.หนองโพ อ.ตาคลี ใกล้วัดหนองโพ คนรู้จักกันทั่วไปคือฐานทัพกองบิน 4 ตาคลี ฐานทัพอากาศทหารอเมริกัน รองรับเครื่องบิน B-52 ไปทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือ ในสมัยสงครามเวียดนาม

ต่อมาถูกนิสิตนักศึกษา ประชาชน ประท้วงขับไล่ให้ย้ายฐานทัพออกไป หลวงพ่อเดิมวัดหนองโพ (พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร)) และ ณ บ้านแห่งที่ 2 นี้ได้เพาะบ่ม หล่อหลอม กระผมให้เรียนรู้การใช้ชีวิต ที่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อุทกภัย (น้ำท่วม) วาตะภัย(ลมพายุ) น้ำท่วมแต่ละปีแตกต่างกันไปตามธรรมชาติ เพราะยังไม่มีระบบบริหารจัดการน้ำที่ดี ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ยังมีอยู่เหมือนเดิม บางปีท่วมสูงเกือบ 2-3 เมตรเลยทีเดียว เรือกสวนไร่นาเสียหายไปตามๆ กัน เมื่อมีพายุลมแรง จะมีลมแรงมากพัดบ้านเรือนพังเสียหาย มากบ้างน้อยบ้างแทบทุกปี จนเกิดความหวาดกลัวกระทั่งบัดนี้ เป็นความทรงจำที่เลวร้ายมาก เพราะอยู่กลางทุ่งโล่ง เมื่อเกิดพายุ ฟ้าฝน แรง ต้องตระหนักถึงความปลอดภัย และนึกถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ตามมา หลังจากพายุพัดผ่านไปถ้ามองโลกในแง่ดีก็ถือว่าเป็นการฝึกความอดทน ขยัน อดออม รู้คุณค่าทุกสิ่งทุกอย่างของธรรมชาติ ด้วยอาชีพชาวนา ที่ทำกันมาสืบทอดรุ่นต่อรุ่น ที่ยังไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก การทำนาไถด้วยควาย ถอนกล้า ดำนา หาปลา เกี่ยวข้าว หาบฟ่อนข้าว นวดข้าวด้วยควาย เกี่ยวข้าวด้วยการลงแขก ตามวิถีชีวิตแบบชาวบ้านชาวนา มีน้ำจิตน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เป็นแบบต่างคนต่างอยู่เหมือนในปัจจุบัน ผมยังจำได้ว่าเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2506 ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (นายกรัฐมนตรีของไทย คนที่ 21 (16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 — 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506) เป็นผู้ริเริ่มการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ก่อตั้งสำนักงบประมาณ และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารทหารไทย เจ้าของคำพูดที่ว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ" และ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" จาก http://th.wikipedia.org) สาธารณรัฐเกาหลีเกาหลีใต้ (หรือที่คนไทยเรีกติดปากว่า ประเทศเกาหลี อารีดัง เมืองโสม) สมัยประธานาธิบดี ปาร์คชุงฮี (BakJeonghui /박정희) ส่งคนของรัฐบาลมาศึกษาดูงานการทำนาด้วยการลงแขก ซึ่งถือเป็นวัฒนาธรรมที่ดีงาม พึ่งพาอาศัยกัน ถือเป็นแบบอย่างที่ดี ปัจจุบันเกาหลีใต้ ไปไกลกว่าเรามาก ทั้งวัฒนธรรม สังคม การเมือง การเกษตร อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ส่วนปัจจุบันชาวนาไทยหากยังไม่พัฒนาตัวเอง ปล่อยให้รัฐบาลออกนโยบายประชานิยม มาทำลายกลไกตลาด ไม่มองประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม การทำนาที่เวียดนามต้นทุนต่ำและผลผลิตต่อไร่สูงเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับการทำนาของชาวนาไทยในปัจจุบัน วิถีชีวิตของเกษตรกรไทยนอกจากปลูกข้าวแล้ว ยังปลูกผักบนคันนาและจับปลาในนาเป็นอาหาร ฝึกให้รู้จักคุณค่าของธรรมชาติ รักการปลูกต้นไม้ การปลูกผักกินเอง ได้ขาย รู้จักการถนอมอาหาร รู้จักการหารายได้ด้วยการขายผลิตผลในสวนไร่นาตั้งแต่มะม่วง มะปราง ผักสดต่างๆ พริก มะเขือ แตงโม สิ่งเหล่านี้ไว้ชดเชยรายได้เมื่อยามข้าวเสียหายจากน้ำท่วม ฝนแล้ง เพลี้ยสัตรูพืชทำลาย ซึ่งจริงๆแล้ว ข้าวจะเสียหายแทบทุกปี ไม่อย่างไดก็อย่างหนึ่ง พ่อแม่ มีที่นาอยู่ 60 กว่าไร่ สมัยเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช) เคยทำนาได้สูงสุด 18 เกวียน (1 เกวียน = 100 ถัง (ถัง 20 ลิตร) 2000 ลิตร ไม่รู้หนักกี่กิโลเพราะขึ้นอยู่กับความชื้นของข้าว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันถือว่า 1 เกวียน = 1000 กิโลกรัม (ข้าวเปลือก)) ขายได้เกวียนละ 3,000 บาท รวมเท่ากับ 54,000 บาท/11 คน เฉลี่ยรายได้คนละ 4,909.09 บาท/ปี แต่ก็ครั้งเดียวในชีวิตการทำนาของพ่อแม่ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนที่เคยต่ำสุด สมัยที่ผมเรียนมัธยม เกิดภัยแล้งจัด ทำนา 60 กว่าไร่ ได้ข้าวเปลือกเพียง 16 ถัง แต่ต้องเลี้ยงลูกทั้ง 9 คน ส่งเรียนหนังสือทุกคน พ่อแม่ไม่ผูกคอตายก็บุญแล้วไม่เหมือนชาวนายุคนายกยิ่งลักษณ์จำนำข้าวกับรัฐบาลเกวียนละ 15,000 บาท ทุกเมล็ดกว่าจะได้เงินก็ 5-6 เดือนไม่มีเงินใช้ ต้องฆ่าตัวตาย 15-16 คน ทั่วประเทศเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว จากเด็กผอม ผิวคล้ำที่วิ่งเล่นตามท้องทุ่งนา จับปลาตามมุมนา ชื่อว่า “อันมะขวิด” ซึ่งบรรพบุรุษได้ใช้ระบบบริหารจัดการแบบบ้านๆ (ถ้าเป็นตอนนี้คงเปรียบได้กับ ISO 9001) มีการตั้งชื่อแปลงนา(อันนา)เพื่อระบุการชี้บ่งแปลงนา มิให้ผิดในการสั่งงาน ให้ลูกๆหรือการลงแขก ไปไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว จับปลาตามมุมนา ช่วงปิดเทอมกลางประมาณ พฤศจิกายน ถึง ธันวาคม (สมัยนั้นการเรียนแบ่งเป็น 3 เทอม) ฤดูกาลเกี่ยวข้าว ข้าวกำลังสุกเหลืองอร่าม ดุจทุ่งรวงทอง (เหมือนบทเพลง ทุ่งรวงทอง ทุ่ง เอ๋ย ทุ่งรวงทอง เห็นข้าวออกรวงน่ามอง ดุจแสงทองสีแห่งศรัทธา..) ผมมีหน้าที่เลี้ยงความและคอยดูควายทั้งสองตัว (ไอ้วงกับไอ้หลาว) ไม่ให้ไปกินข้าวในนาที่กำลังออกรวง ต้องควบคุมไม่ให้ไปหาหญ้ากินเองตามคันนา เพราะจะไปกินรวงข้าวในท้องทุ่งนาที่ใกล้จะเก็บเกี่ยวได้แล้ว มิฉะนั้นจะถูกตีทั้งควายทั้งคนเลี้ยง ผมต้องเกี่ยวหญ้าตามคันนาให้กิน นึกในใจควายช่วยไถนาเพื่อปลูกข้าวให้คนกิน ขาย เหนื่อยหอบจนตัวโยนแทบขาดใจ จะกินข้าวในนาที่ตัวเองช่วยไถก็ไม่ได้ แต่ทีหมาที่เลี้ยงไว้ไม่ได้ช่วยทำอะไรสักอย่างแถมต้องต้มข้าวสารอย่างดีใส่กระดูกหมู น้ำปลา หรือเศษหัวปลาปิ้งให้กินอย่างดี แถมไม่มาก็เรียกให้มากิน น่าสงสารควายจริงๆ ช่วงปิดเทอมปลายหรือเรียกปิดเทอมใหญ่ประมาณ มีนาคม ถึง พฤษภาคม ของทุกปี จะมีความสุขมากเพราะไม่ต้องเรียนหนังสือ จะได้พาควายทั้งสองตัวนั้นไปเลี้ยงกลางทุ่งนา ที่กลายเป็นชุมชนเด็กเลี้ยงควายและฝูงควาย เล่นสนุกด้วยกันอย่างสนุกสนาน นึกถึงทีไรก็มีแต่รอยยิ้มและความสุขทุกครา เพื่อนหลายคนไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ บางคนที่ได้เรียนก็แค่จบภาคบังคับ คือประถม 4 (เหมือนบทเพลงลูกทุ่ง ความรู้มีเพียงแค่ชั้น ป.4 ผมสัญจรจากดอนเจดีย์...) ก็ให้ออกมาช่วยทำนา ทำไร่ ทำสวน ส่วนครอบครัวที่พอจะมีฐานะหรือวิศัยทัศน์ เห็นความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน ก็จะสนับสนุนให้ได้มีโอกาสเรียนต่อจากภาคบังคับ ซึ่งในสมัยนั้นตามบ้านนอกหรือชนบท โรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านจะมีแค่ชั้น ป.4 นอกนั้นต้องเข้าไปเรียนที่อำเภอหรือจังหวัด ต้องเสียทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำไฟ ค่ากิน ค่ารถ จิปาถะ ผมนับว่าโชคดีที่พ่อแม่ผมมีบ้านพักในตัวอำเภอพยุหะคีรีอีก 1 หลัง จึงไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้าน ไม่ต้องเสียค่ารถ ส่วนอาหาร พ่อแม่จะจัดส่งข้าวสารอาหารแห้ง เพราะโรงเรียนราษฎร์ของวัด โรงเรียนพยุหะวิทยา ตั้งอยู่หน้าบ้านพอดี เดินได้สบายไม่เกิน 10 นาที และด้วยความมีวิสัยทัศน์ ของพ่อแม่ ที่มองเห็นความสำคัญของการศึกษาต่อจากภาคบังคับ ครอบครัวผมมีพี่น้อง 9 คน จึงได้รับการศึกษาทุกคนแม้ฐานะก็ไม่ได้เหนือคนอื่น จนสามารถประกอบอาชีพ มีครอบครัว ลูกหลาน มีอาชีพการงานดีทุกครอบครัว ต้องขอขอบพระคุณพ่อแม่ ผู้แก่ ผู้เฒ่าที่ไม่เพียงให้กำเนิดชีวิต ยังเลี้ยงดูส่งเสียให้มีการศึกษาไว้ประกอบอาชีพทุกคน ผมเป็นลูกคนที่ 9 คนสุดท้อง เกิด 24 เมษายน 2497 ปีมะเมีย เป็นคนเดียวที่จบระดับปริญญาตรีวิศวศวกรรมศาสตร์ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวะศึกษาเทเวศร์ เมื่อพ.ศ. 2522-2523 ด้วยความกรุณาจากพ่อแม่พี่ๆทุกคนมีส่วนช่วยส่งเสียค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายอื่นๆตามกำลังความสามารถ