ตำนานโนรา

แก้

ละครเรื่องตำนานท่ารำโนรา

แก้

จัดแสดงเนื่องในการนำเสนอผลงาน รายวิชา ภูมิปัญญาประดิษฐ์และสุนทรียศาสตร์นาฏศิลป์ไทย โดยนักศึกษาศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ประกอบด้วย ๑.การเสวนาละคร เรื่อง ตำนานท่ารำโนรา ๒.การนำเสนอในรูปแบบละคร

ละครเรื่องตำนานท่ารำโนรานี้ ได้นำเอาเค้าโครงเรื่องมาจาก เรื่องตำนานโนรา เดิมทีแล้วตำนานโนราเป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาปรากฏให้เห็นอยู่หลายฉบับ แต่ละฉบับนั้นมีใจความสำคัญเดียวกันคือ เป็นที่มาของท่ารำของโนรา ทั้งนี้ยังมีชื่อตัวละครและสถานที่ที่คล้ายกัน เช่น เจ้าพระยาสายฟ้าฟาด นางศรีมาลา ขุนศรีศรัทธา และนางนวลทองสำลี รวมถึงเกาะกะชัง หรือเกาะกะชัง เป็นต้น ซึ่งในแต่ละฉบับนั้นมีการดำเนินเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป จากในหนังสือ “พุ่ม เทวา” ที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพของขุนอุปถัมภ์นรากร ได้กล่าวถึงตำนานโนราหลายฉบับ ในตอนท้ายได้วิเคราะห์ถึงความแตกต่างและความเหมือนกันขององค์ประกอบต่างๆของเรื่องไว้ นักศึกษาศิลปะมหาบัณฑิต นาฏศิลป์ไทย รุ่นที่ ๕ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้รวบรวมข้อมูลนำมาศึกษา เพื่อจัดทำการแสดง ละครเรื่อง ตำนานท่ารำโนรา โดยนำเสนอในรูปแบบการแสดงละคร กล่าวคือใช้รูปแบบของละครรำ ละครนอก และละครชาตรี ผสมผสานกับการแสดงพื้นบ้านภาคใต้โนรา พร้อมกับการนำเสนอเรื่องราวในรูปแบบใหม่ประกอบด้วย ฉาก แสง สี เสียง เพื่อให้เกิดความน่าสนใจและเข้าใจเนื้อหามากยิ่งขึ้น

รำเดี่ยว ชุด ขุนศรีศรัทธาทรงเครื่อง

แก้

รำเดี่ยว ชุด ขุนศรีศรัทธาทรงเครื่อง จากเรื่องราว เมื่อนางนวลทองสำลีและกุมารน้อยกลับมายังพระนครแล้ว เจ้าพระยาสายฟ้าฟาด ทรงพระราชทานเครื่องทรงอย่างกษัตริย์ และพระนามขุนศรีศรัทธาให้แก่กุมารน้อย จึงเกิดแรงบัลดาลใจ สร้างสรรค์การแสดงรำเดี่ยว ชุด ขุนศรีศรัทธาทรงเครื่อง โดยใช้ลักษณะการรำแต่งตัวของโนรากับการรำแต่งตัวตามจารีตนาฏศิลป์ไทย เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่และความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

รำซัดโนรา

แก้

รำซัดโนรา หลังจากเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดพระราชทานเครื่องทรงและพระนามให้แก่ขุนศรีศรัทธาแล้ว ก็ได้จัดงานฉลองให้มีมหรสพยิ่งใหญ่ นักศึกษาจึงได้สร้างสรรค์ระบำชุด รำซัดโนรา ขึ้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแก่ขุนศรีศรัทธา โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการรำ ไหว้ครูชาตรี โดยใช้ท่านาฏศิลป์พื้นบ้านโนรา มาร้อยเรียงอย่างลงตัว ประกอบกับวงปีพาทย์ชาตรี ดังนี้ ช่วงที่ ๑ ไหว้ครู เป็นการถวายบังคม และการไหว้ครู เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อการแสดง ทั้งยังเป็นการเตรียมตัวเพื่อการเริ่มต้นด้วย ช่วงที่ ๒ แต่งตัว เปรียบเป็นการชมโฉมและเครื่องทรงที่สวยงามของตนเอง เช่น การนุ่งผ้า ใส่กำไล และสวมเทริด หรือทัดดอกไม้ เป็นต้น ช่วงที่ ๓ ซัดท่า เป็นการรำโชว์ท่วงท่าต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉงเข้ากับทำนองเพลงและจังหวะกลอง


===== บทรำเดี่ยว ชุด ขุนศรีศรัทธาทรงเครื่อง และ รำซัดชาตรี =====

- ร้องเพลงลงสรงมอญ -
นั่งลง ตรงบน แท่นทอง ผัดพักตร์ ผ่องผุด ดุจเลขา วาดคิ้วโค้ง โก่งดั่งศร พระรามา ปากนั้น ชาดทา แดงเจือ สอดสนับเพลาพลาย ลายระยับ ภูษาพับ จีบปล่อยยาว ช่างงามเหลือ หน้าผ้าปัก ลายดอก ออกก้านเครือ แสงระเรื่อ พลอยวาววับ จับนัยน์ตา ผ้าห้อยข้าง ทั้งขวาซ้าย ดูงามสรรพ พอหัตถ์จับ เหมือนขยับ ปีกปักษา คาดหางหงส์ ทรงคล้าย กินรา ปั้นเหน่งหนา เนื้อสุวรรณ พรรณราย หยิบลูกปัด สวมไหล่ ใส่กรองศอ ทับทรวงทอ อุระทอง ผ่องเฉิดฉาย สังวาลวัลย์ ตาบทิศ จำรัสลาย พาหุรัด พลอยกระจาย พรายพรรณ เทริดสุววรณ บรรณจง สวมไว้ แลกำไล เลือกล้วน งามสรรพ์ จับเล็บสอด ทองกราย ไปพลัน แล้วผายผัน เข้าสู่ ตำหนักใน - ปี่พาทย์ทำเพลงซัดชาตรี - ร้องเพลงชาตรีตะลุง - ด้วยซัดท่า งามงอน อ่อนชด จนปรากฏ ไปทั่ว ทุกทิศา เลื่องลือนาม พ่อขุน ศรีศรัทธา คือมหา บุรุษ สุดฉกรรณ์ เป็นแบบแผน แห่งปฐม เรื่อยมา แม่ท่า งามเลิศ ประเสริฐสรรพ์ นาฏศิลป์ ชั้นครู คู่โลกันต์ ได้รังสรรค์ สืบทอด ตลอดมา -รัวซัดชาตรี-

นายภีระเมศร์ ทิพย์ประชาบาล / แต่งบท นาย ภวัต จันทร์ดารักษ์ / ตรวจแก้ไข บรรจุเพลง นาย เอกลักษณ์ หนูเงิน นายทรัพย์สถิต ทิมสุกใส/ บรรจุท่ารำ