ผู้ใช้:Aisoonch/ทดลองเขียน

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี แต่หลายคนก็ยังไม่รู้จักว่าโรคซึมเศร้าจริงๆ อาการเป็นอย่างไร ต้องรักษาด้วยวิธีไหน หลายคนเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่ทันรู้ตัว หรืออาจไม่ทันสังเกตว่ามีคนใกล้ชิดกำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้าอยู่ ทำให้เข้าสู่กระบวนการรักษาล่าช้ากว่าที่ควร เมื่อรู้ตัวแล้วผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนใช้เวลาค่อนข้างนานในการยอมรับและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า อาจเพราะไม่ใช่อาการป่วยกายทั่วๆ ไป เป็นเรื่องธรรมดาที่จะรู้สึกกลัว กังวลและสับสนกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่

โรคซึมเศร้าคืออะไร? เหมือนอารมณ์เศร้าไหม?

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าคือเรื่องความรู้ความเข้าใจ คนทั่วไปเริ่มได้ยินชื่อบ่อยๆ ก็ช่วงสิบปีหลังมานี้ที่มีข่าวศิลปินหรือบุคคลมีชื่อเสียงเสียชีวิตด้วยโรคซึมเศร้า แต่จริงๆ แล้วมีการศึกษาค้นคว้าเรื่องโรคซึมเศร้ามาตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน ชื่อโรคก็บ่งบอกอาการเบื้องต้นได้ว่าทั้ง “ซึม” และ “เศร้า” ฟังดูเหมือนเป็นอารมณ์ความรู้สึกธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ในโรคซึมเศร้านั้นต่างออกไปเพราะภาวะซึมเศร้านี้ไม่ได้หายไปง่ายๆ แต่เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่คงอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง คล้ายกับป่วยเป็นโรคอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลาในการรักษา ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันด้วย

พญ. ชัชชญา เพียรจงกล จิตแพทย์ทั่วไปจากแอปพลิเคชันอูก้าได้อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “โรค” เป็นคำที่บ่งบอกว่าเป็นความผิดปกติทางการแพทย์ ส่งผลให้สารสื่อประสาทในสมองเปลี่ยนแปลงไป ทำให้อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม ไปจนถึงความจำของเราทำงานผิดปกติ ส่งผลกระทบกิจวัตรประจำวัน ทำอะไรต่างๆ ได้ไม่ดีเท่าเดิม ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อได้ และเมื่อเราเป็นโรคใดโรคหนึ่งก็ควรที่จะได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้ทุเลาลง ซึ่งโรคซึมเศร้านั้นต่างจากความเศร้าทั่วไปที่หายดีด้วยตัวเองได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นจิตใจอ่อนแอ ไม่รู้จักสู้ แต่เขากำลังเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา บางคนมีอารมณ์เศร้าจนถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ ดังนั้นต้องหมั่นสังเกตอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นให้ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์เพื่อปรึกษา ประเมินและวินิจฉัย

3 ปัจจัยหลัก โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร?

โรคซึมเศร้าเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน หลักๆ มีอยู่ 3 ด้าน คือ

  1. กรรมพันธุ์ หากผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีพ่อแม่ หรือบุคคลในครอบครัวเคยมีประวัติทางจิตเวชก็มีแนวโน้มหรือความเสี่ยงมากกว่าบุคคลทั่วไป แต่ไม่ใช่ทุกกรณี
  2. สารเคมีในสมอง โรคซึมเศร้าถือเป็นโรคที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ พบว่าสารเคมีในสมองของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าแตกต่างจากคนทั่วไปอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นสารเซโรโทนิน (serotonin) ที่เป็นสารสื่อประสาท ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอารมณ์และความรู้สึก ส่งผลต่อความหิว ความง่วง ช่วยให้เรานอนหลับได้ดี เมื่อสารเซโรโทนินลดต่ำลงก็จะส่งผลต่อความรู้สึกในแง่ลบ ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีระดับเซโรโทนินน้อยกว่าคนปกติ
  3. ปัจจัยแวดล้อม หลายคนอาจเกิดจากปัจจัยรอบตัวที่มากระตุ้น เหตุการณ์ในชีวิตที่กระทบจิตใจอย่างรุนแรง เช่น ถูกครอบครัวทอดทิ้ง ตกงาน หย่าร้าง ฯลฯ เมื่อประกอบกับลักษณะนิสัยพื้นฐานที่มองโลกในแง่ลบ ชอบโทษตัวเอง คิดมาก ขาดความมั่นใจหรือไม่มีใครให้พึ่งพิง เมื่อเจอปัญหาแล้วไม่สามารถปรับความคิด ปรับการใช้ชีวิตได้ก็มีส่วนทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น

การป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอาจมาจากทั้ง 3 ปัจจัยประกอบกันก็ได้ หรือมีด้านใดด้านหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้ามากเป็นพิเศษ แต่ด้านที่พบบ่อยที่สุดคือปัจจัยแวดล้อม ซึ่งแต่ละคนก็มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป จึงยากที่จะฟันธงสาเหตุของการเกิดโรค เนื่องจากอารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องอาศัยกระบวนการรักษาที่เหมาะสมและความร่วมมือจากผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าในการค้นหาและค่อยๆ บรรเทาให้ทุเลา โดยจิตแพทย์จะดูจากอาการที่ปรากฏในผู้ป่วยแต่ละคน

สัญญาณบ่งบอกอาการของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า?

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคืออารมณ์ความรู้สึก ความคิดที่เป็นไปในแง่ลบ ไปจนถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมือนเดิม ลักษณะคือมีอารมณ์เศร้าเบื่อตลอดทั้งวัน เป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินสองสัปดาห์ มีความคิดลบมากขึ้น ส่วนใหญ่หากตรวจพบแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษา พบว่ากว่า 80-90% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากสิ่งรอบตัว ความเครียด ความกดดัน ส่วนใหญ่ต้องรับประทานยา ในบางกรณีพันธุกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถ่ายทอดโรคนี้ แต่พบได้น้อยมาก โรคทางจิตเวชมีปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เราอาจรู้สึกหายขาดอยู่ช่วงเวลานึง แต่อาการก็อาจจะกลับมาได้ตลอดถ้ามีอะไรเข้ามากระทบ เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลตัวเอง หมั่นสังเกต อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรมและคนรอบข้างก็อาจจะคอยช่วยเหลือด้วย

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าเบื้องต้นที่เราสามารถสังเกตตัวเองได้ คือ เราต้องมีอาการดังต่อไปนี้ 5 ข้อหรือมากกว่า ทั้งนี้เราไม่ควรวินิจฉัยโรคด้วยตนเอง ไม่ว่าโรคทางกายหรือใจใดๆ ก็ตาม หากสงสัยว่าตัวเองหรือคนรอบตัวเข้าข่ายโรคซึมเศร้าควรพบแพทย์เพื่อทำการประเมินอย่างถูกต้อง

  • มีอารมณ์ซึมเศร้าตลอดเวลา (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดร่วมด้วย)
  • ความสนใจหรือความสนุกในการทำกิจกรรมต่างๆ ลดลงอย่างมาก
  • น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารผิดปกติ
  • นอนไม่หลับ หรืออาจจะหลับมากไป
  • กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
  • อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง (low energy) รู้สึกตนเองไร้ค่า
  • ไม่ค่อยมีสมาธิ ใจลอย ไม่สามารถจดจ่อได้ หรือรู้สึกลังเล ตัดสินใจได้ยาก
  • มีความคิดเรื่องการตาย อยากทำร้ายตัวเองหรืออยากตาย

จากอาการที่กล่าวมาต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ และอาการเหล่านี้ต่อเป็นติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ใช่อาการที่เป็น ๆ หาย ๆ หากยังมีบางวันที่รู้สึกมีความสุข สนุกสนานอาจจะไม่ใช่โรคซึมเศร้า แต่ไม่ว่าจะเครียดหรือทุกข์ใจเรื่องอะไรก็ตาม ทุกคนสามารถพูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ได้เช่นกัน

วิธีรักษาใจให้ห่างไกลจากโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าหายได้แต่ต้องอาศัยหลายๆ อย่าง อาจจะกลับมาเป็นใหม่หรือเป็นต่อเนื่องก็ได้เหมือนกัน บางคนหายไปสองสามปีแล้วเป็นอีก บางคนรักษาหายไปสิบปีละกลับมาเป็นอีก ครั้งแรกที่ตรวจพบโรคซึมเศร้าอาจจะทานยาต้องรับประทานยาต่อเนื่อง 6-9 เดือน หลังจากหายเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ หากโรคซึมเศร้ากำเริบอีกครั้งต่อไปอาจจะเรื้อรัง ทำให้ต้องรักษาหรือทานยานานกว่าเดิม สิ่งกระตุ้นหลักๆ คือความเครียด คนรอบข้าง การงาน การเงินหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจัยเสี่ยงก็มาจากเรื่องใกล้ตัวที่เกิดกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า

ในประเทศไทยคิดว่าคนเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตมากน้อยแค่ไหน รวมถึงโรคซึมเศร้าด้วย?

โรคซึมเศร้าเป็นคำที่ทุกคนได้ยินบ่อย แต่คนส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจความหมาย สุขภาพจิตเป็นเรื่องกว้างมากและมีรายละเอียดที่อธิบายด้วยทฤษฎีเพียงอย่างเดียวไม่ได้ บางทีคนก็พูดไปในเชิงล้อเล่น ใช้โรคทางจิตเวชในการด่าทอ อาจเป็นเพราะขาดความรู้ความเข้าใจ พญ. ชัชชญายังได้เล่าอีกว่าจำนวนผู้ที่มารักษาในโรงพยาบาลเยอะขึ้นและรู้สึกว่าสังคมเปิดรับในเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้นด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อและการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทำให้คนรู้จักโรคซึมเศร้าและเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพใจ

ปัจจุบันสถิติผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยอยู่ที่ราว ๆ 1,500,000 คน ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่าปี 2563 มียอดการโทรปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 อยู่ที่ประมาณ 700,000 คน แต่ในปี 2564 เพียงเดือนเดียวกลับมียอดสูงถึง 180,000 คน หลักจากที่ได้เห็นข้อมูลจาก www.worldpopulationreview.com เป็นเรื่องน่าตกใจที่ประเทศเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนที่มีจำนวนประชากรฆ่าตัวตายสูงสุดและสูงเป็นอันดับที่ 32 ของโลก

เพราะสาเหตุหลักมาจากความคิดที่ทำร้ายใจ ก่อนอื่นต้องพยายามทำความเข้าใจผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าว่า ‘เขากำลังคิดอะไร รู้สึกอะไรอยู่’ แล้วก็รับฟังเขาอย่างไม่ตัดสิน อยู่ข้างๆ และเป็นกำลังใจให้เขา ในฐานะครอบครัว เพื่อน คนรักหรือคนใกล้ชิดอาจรู้สึกว่ายากที่จะปลอบใจหรือทำให้ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้น ไม่ว่าจะทางคำพูดและการกระทำ จริง ๆ แล้วสิ่งที่สำคัญคือ ‘เจตนา’ ของผู้ช่วยเหลือ ความตั้งใจและความหวังดีจะทำให้ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ารับรู้ได้ เพียงแต่ทุกอย่างต้องใช้ความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน การเข้าไปนั่งอยู่ในใจและมองในมุมเดียวกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจทำให้เราหาสาเหตุของปัญหาเจอและสามารถช่วยเหลือเขาได้ตรงจุด บางคนอยากดูแลและหวังดีกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าแต่ใช้คำพูดผิดวิธี เผลอบอกปัด หรือเราแนะนำว่าให้ไปเข้าวัดฟังธรรม ให้ปลง หรือบอกเขาว่า ‘เลิกเศร้าได้แล้ว อย่าคิดมาก’ โรคซึมเศร้าก็เป็นโรคหนึ่ง ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าเลิกคิดไม่ได้ อย่าเพิ่งรีบถามว่า ‘ทำไมไม่หายซะที’ ‘ทำไมยอมแพ้ง่ายจัง’ คำพูดที่สื่อว่าเราไม่เข้าใจหรือมองปัญหาของเขาเป็นเรื่องเล็กจะทำให้ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกไม่ดีและไม่อยากจะเปิดใจเล่าปัญหาให้เราฟังอีก

"สู้ๆ อย่าอ่อนแอสิ" คำที่ไม่ควรพูดกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า

อย่าบอกให้ใครต้องต่อสู้เพียงลำพัง บางคนอาจจะโอเคกับคำนี้ รับรู้ในความห่วงใย แต่หลายคนก็รู้สึกโดดเดี่ยว สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการสื่อสารกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าคือ บางครั้งเราให้กำลังใจเขาดีแล้ว แต่ด้วยโรคซึมเศร้า ทำให้เขาตีความไปในทางลบได้ ซึ่งเราก็ไม่ต้องโทษตัวเองถ้าเราได้พยายามอย่างดีแล้ว อาจใช้การสื่อสารตรง ๆ ว่าเราเป็นห่วงและอยากให้เขาได้รับความช่วยเหลือ เพราะผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าลึก ๆ แล้วมักรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า อาจสิ้นหวังและท้อแท้ใจได้ง่าย ๆ ดังนั้นต้องได้รับการช่วยเหลือ รักษาและดูแลจิตใจ เมื่ออาการของโรคดีขึ้น พวกเขาจะมีมุมมองที่เปลี่ยนไป สามารถมองโลกในแง่ดีเหมือนคนอื่น ๆ ได้เช่นกัน

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า

  1. การออกกำลังกายและออกไปเจอแสดงแดด เพราะการได้เคลื่อนไหวช่วยให้จิตใจกลับมาแจ่มใสและคลายความเศร้าได้ นอกจากนี้การออกกำลังแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ จะช่วยให้เรื่องอาการนอนไม่หลับ ช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายและปรับสมดุล เมื่อร่างกายแข็งแรง ฮอร์โมนหมุนเวียนเป็นปกติ จิตใจก็ดีไปด้วย
  2. ทานอาหารที่มีประโยชน์ แม้จะฟังดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่อาหารเพื่อสุขภาพช่วยได้จริง ๆ อาหารประเภทไข่ นม แซลมอน ถั่ว เต้าหู้ ธัญพืชต่าง ๆ มีส่วนช่วยให้ร่างกายผลิตเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึก อย่างที่กล่าวไปว่าเป็นสารจำเป็นสำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า อาหารจึงนับเป็นตัวช่วยที่ไม่ควรมองข้าม
  3. เลือกทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ปลูกต้นไม้ ไปเดินห้างกับเพื่อน การทำอาหาร หรือแม้แต่การมีสัตว์เลี้ยง อะไรก็ได้ที่จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกดี ๆ แม้บางครั้งเราอาจจะอยากอยู่คนเดียว ไม่อยากทำอะไร แต่หากพยายามอีกนิด พาตัวเองกลับเข้าสู่บรรยากาศที่เป็นมิตรรอบตัว เราอาจจัดการความรู้สึกด้านลบได้ง่ายขึ้น
  4. อย่าตั้งเป้าหมายหรือตัดสินใจทำอะไรที่ยากเกินไป อารมณ์ด้านลบอาจทำให้คนที่กำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้ารู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวอยู่ตลอด ทำอะไรก็ไม่ดี ฉะนั้นลองกำหนดเวลาให้บางช่วงเป็นการพักผ่อนร่างกายและจิตใจ การบังคับตัวเองให้ใช้แรงใช้สมองมากไป อาจทำให้เรายิ่งรู้สึกแย่กับตัวเอง ขอแค่ไม่ลืมว่าความรู้สึกดาวน์แบบนี้ไม่ได้คงอยู่ถาวร จะมีวันที่เรารู้สึกดีขึ้นแน่ๆ
  5. อย่าตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตในขณะสภาพจิตใจไม่มั่นคง อย่างที่บอกว่าอาจเป็นช่วยที่เราหม่นหมองเป็นพิเศษ แต่เราต่างรู้ดีว่าหากหายจากอาการซึมเศร้า เราก็คือคนที่สามารถทำและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ไม่แพ้ใคร เพียงแต่สภาพจิตใจที่ไม่พร้อมอาจทำให้เราไม่สามารถคิดอย่างมีสติได้ ดังนั้นเรื่องสำคัญ ๆ เช่น การลาออกจากงาน การหย่าร้าง ปัญหาครอบครัว ฯลฯ ในช่วงที่โรคซึมเศร้ากำลังบดบังสายตาของเรา ให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดความผิดพลาด ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าย่อมโทษตัวเองแน่นอน ทางที่ดีควรขอคำแนะนำจากคนที่เราไว้ใจ หรือพยายามยืดการตัดสินใจออกไปก่อน
  6. พยายามจัดลำดับความสำคัญ อย่างที่บอกว่าภาวะซึมเศร้าอาจทำให้เรารู้สึกว่าทุกอย่างนั้นยากไปหมด รุมเร้าจนเราทำอะไรไม่ถูก แค่จะเริ่มต้นก็รู้สึกท้อแท้แล้ว ดังนั้นการมองปัญหาโดยไม่แยกแยะจะทำให้เกิดความสับสน ไม่อยากทำอะไร ลองจัดเรียงความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ ย่อยเป้าหมายใหญ่ให้เล็กลง เมื่อตระหนักรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เราจะจัดการชีวิตได้ง่ายขึ้น และพอทำสำเร็จไปทีละอย่างเราก็จะรู้สึกภูมิใจในตัวเอง เป็นการเรียกความมั่นใจกลับมา


ในการรักษาโรคซึมเศร้าทางการแพทย์

เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้อง จะเริ่มตั้งแต่การให้คำปรึกษา การพูดคุยถึงปัญหาแล้วช่วยกันแก้ไข เปลี่ยนความคิดและวิธีมองปัญหาในมุมใหม่ เน้นการปรับตัวและหาแนวทางดูแลจิตใจให้แข็งแรง เมื่อมีปัญหาเข้ามากระทบผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะสามารถเยียวยาจิตใจได้อย่างไร ในแต่ละรายก็มีสิ่งยึดเหนี่ยวแตกต่างกันไป แต่การพยายามหาสิ่งที่ผ่อนคลายอารมณ์และความเครียดให้เจอเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำให้เราขจัดอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นลบในใจได้ นอกจากนี้ยังมีการให้ยาคลายกังวลหรือยาแก้ซึมเศร้าร่วมด้วยในบางราย ตามที่แพทย์ประเมินและเห็นสมควรว่าต้องรับประทานยาเพื่อช่วยปรับสารเคมีในร่างกาย

เมื่อผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้น จากที่ร้องไห้บ่อย ๆ มีอาการซึมเศร้า ท้อแท้ หมดพลังอยู่ตลอด ก็จะกลับมาเหมือนปกติและสนุกสนานกับชีวิตได้อีกครั้ง แต่โรคซึมเศร้าก็ไม่ได้ต่างจากโรคทางกายหรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เพราะไม่ว่าจะโรคอะไรก็ตาม ยิ่งป่วยนานยิ่งรักษายาก หากทิ้งไว้นานยิ่งใช้เวลานานในการฟื้นฟู ถ้ารีบพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ อาการก็ดีขึ้นได้เร็ว จากสถิติพบว่า ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าเกิน 80% อาการดีขึ้นจนถึงขั้นหายเป็นปกติเมื่อได้รับการรักษาร่วมกับรับประทานยา แต่หากไม่ได้รับการรักษามีเพียง 20% ที่ดีขึ้น (ในกรณีที่อาการซึมเศร้าไม่รุนแรง) แต่หากซึมเศร้ารุนแรงก็เป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะฟื้นฟูใจด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีความซับซ้อนอีกหลายอย่างเช่น โรคซึมเศร้าสามารถเป็นร่วมกับโรคทางจิตอื่น ๆ ได้ ดังนั้นหากเรามีความเครียด ไม่สบายใจ หรือมีปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขแล้วรู้สึกว่าเราไม่สามารถก้าวผ่านสิ่งนั้นไปได้ อย่าชะล่าใจหรือปล่อยให้ก้อนหินกินพื้นที่ในใจเรา อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ ปัจจุบันเรามีช่องทางมากมายให้คุณเข้าถึงบริการด้านสุขภาพใจได้โดยไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล

อูก้าเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีทั้งนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ไว้คอยดูแลใจทุกคน โดยเรามีจำนวนผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 100 ท่าน ที่มีวุฒิการศึกษารับรอง โดยทุกคนสามารถพูดคุยปรึกษาได้ผ่านรูปแบบของวิดีโอคอล สะดวก ไม่ต้องเดินทาง และมีความเป็นส่วนตัวสูง และยังสามารถสั่งจ่ายยาส่งถึงบ้านได้โดยขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของจิตแพทย์ อีกทั้งเรายังสามารถเลือกจิตแพทย์และเลือกช่วงเวลาที่เราต้องการได้เลยไม่ต้องรอคิว อูก้ายินดีแบ่งเบาทุกปัญหาใจ ให้เราได้ร่วมเดินทางและช่วยรับฟังความทุกข์ของคุณนะ

แหล่งที่มา: https://ooca.co/blog/depression/