ผู้ใช้:โรงเรียนพยาบาล กรมแพทย์ทหารเรือ (งูดิน)

โรงเรียนพยาบาล กรมแพทย์ทหารเรือ ( งูดิน )

ประวัติโรงเรียนพยาบาล กรมแพทย์ทหารเรือ

--------------------------------

โรงเรียนพยาบาล มีฐานะเป็นโรงเรียนทหาร ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม อยู่ในการปกครองบังคับบัญชาของ กรมแพทย์ทหารเรือ ที่มีประวัติอันยาวนาน จากหลักฐานพบว่าโรงเรียนมีการพัฒนามาอย่าง ต่อเนื่อง จนมีคำกล่าวที่ว่า โรงพยาบาลทหารเรือ กับ โรงเรียนจ่าพยาบาล มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน อย่างจะ แยกออกจากกันไมได้ ผู้สำเร็จการศึกษาของโรงเรียนจะได้รับการเรียกขานว่า “งูดิน” ซึ่งเป็นทหารเรือกลุ่มหนึ่ง ที่มาจากหน่วยทหารเรือเหล่าเทคนิค ในอดีต ๓ เหล่า ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บางกอกน้อย หรือที่เรียกขานว่า “ปล่อง เหลี่ยม งูดิน พิณสามสาย” ซึ่งพอเรียบเรียงเป็นสังเขปได้ ดังนี้

พ.ศ.๒๔๕๒ สมัย นายแพทย์เบอร์เมอร์ (A.H.Bochmer) ชาวเยอรมัน เป็นนายแพทย์ใหญ่ เริ่มมีการคัดเลือกหรือถามความสมัครใจจากทหารเรือเหล่าอื่นๆ แล้วโอนหรือย้ายมาเป็นพยาบาล (ยังไม่มีการเปิดรับสมัครเป็นพยาบาลโดยตรง) เรียกว่า “ลูกหมู่” มีเครื่องหมายปักที่แขนเสื้อเป็นอักษร “มป. หรือ ล.” ต่อมาจึงรับสมัครจากบุคคลภายนอก พื้นความรู้ขั้นต้นเพียงอ่านออกเขียนได้ วิชาการพยาบาลยังไม่มีการศึกษาอบรมแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่เมื่อคนใหม่เข้ามาก็ใช้ความจำปฏิบัติงานให้เป็นไปตามคนเก่าที่อยู่มาก่อน

พ.ศ.๒๔๕๔ มีผู้รู้จักคุณค่าของการเป็นพยาบาลมากขึ้น มีการสมัครมาเป็นพยาบาลกันมากโดยยังมิได้มีการสอบคัดเลือก เพียงแค่บิดามารดาหรือผู้ปกครองนำตัวมาแจ้งความจำนงกับนายเวรหนังสือ แล้วเสนอ นายแพทย์ใหญ่อนุมัติ ต่อมาทางราชการได้วางระเบียบให้พยาบาลชั้นยศพันจ่า แต่งเครื่องแบบทหาร นอกนั้น แต่งกายพลเรือน (นุ่งผ้าโจงกระเบน) มาทำงานทุกคน

พ.ศ.๒๔๕๕ มีการอบรมวิชาพยาบาลแก่พยาบาลเป็นปีแรก ที่โอสถศาลา (ตั้งอยู่กับกองบังคับการแพทย์ บริเวณกรมยุทธโยธาทหารเรือ) ในสมัยที่  เรือเอก ชื่น  อมรเวช  รองนายแพทย์ใหญ่ รักษาราชการแทนในตำแหน่ง นายแพทย์ใหญ่ เนื่องจาก นาวาโท เบอร์เมอร์  นายแพทย์ใหญ่ เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่ประเทศเยอรมัน โดยมี นายแพทย์เอ็ด อาร์ดัมซัน (พระบำบัดสรรพโรค) เป็นที่ปรึกษาทางวิชาแพทย์ และไปร่วมการประชุม นายแพทย์ประเทศตะวันออกที่ประเทศญี่ปุ่น กลับมายังไม่มีหลักสูตรแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่นั่งฟังครูอธิบาย ไปวันหนึ่งๆ วิชาที่อบรม ได้แก่ กายวิภาค, การผสมยา, สุขวิทยา เรียนตั้งแต่เวลา ๑๓๐๐ ถึง ๑๕๐๐ เป็นเวลาประมาณ ๓ เดือน ก็จบไม่มีการสอบไล่ และในปลายปีนี้ทางราชการได้กำหนดให้พยาบาลทั้งหมดแต่งเครื่องแบบทหาร มาทำงาน

ในปีเดียวกันนี้ มีการก่อสร้างสถานที่ตั้งกรมแพทย์ที่ปากคลองมอญ (ที่ตั้งศูนย์บริการสุขภาพของ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ในปัจจุบัน) ตึกที่พักผู้ป่วย ๖ หลัง เริ่มสร้างเสร็จแล้ว แต่ตึกกองบังคับการ   ยังสร้างไม่เสร็จอยู่ระหว่างก่อสร้าง

พ.ศ.๒๔๕๕ เริ่มมีการส่งพยาบาลที่สำเร็จการอบรม ไปประจำโรงพยาบาลหัวเมืองชายทะเลกับ นายแพทย์ ที่ กองโรงเรียนพลทหารที่ ๑ - ๗ (จว.สมุทรสงคราม, จว.สมุทรสาคร, อ.พระประแดง จว.สมุทรปราการ, จว.ชลบุรี, จว.ระยอง และ จว.จันทบุรี ) แห่งละ ๒ คน

๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ ทางราชการได้แยกกองแพทย์ออกจากกรมปลัดทัพเรือ ตั้งเป็นกองอิสระ มีชื่อว่า “กองแพทย์พยาบาล” สังกัด กระทรวงทหารเรือ โดยตรงและแบ่งหน้าที่การปกครองส่วนราชการออกเป็น ๘ แผนก โรงเรียนพยาบาลเป็นแผนกที่ ๘

ในโอกาสเดียวกันนี้ ทางราชการได้ย้ายกองแพทย์ และโรงพยาบาล จากที่ตั้งเดิมบริเวณกรมยุทธโยธา ทหารเรือ ตั้งอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม และมาตั้งที่ทำการ ณ ตึกผู้ป่วยเป็นการชั่วคราวก่อน โรงเรียนพยาบาล อยู่ที่ตึกหมายเลข ๒ ร่วมกับที่ตรวจโรคและห้องผ่าตัด แต่งแผล ฉีดยา และห้องนายแพทย์เวร 

พ.ศ.๒๔๕๗ พลเรือตรี หม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ ไชยยันต์ เป็นนายแพทย์ใหญ่ มีการวางระเบียบการสมัครเข้าเป็นพยาบาล (การกำหนดอายุและพื้นความรู้ ไม่พบหลักฐานว่าเป็นอย่างไร) กรมแพทย์ทำการคัดเลือกเอง เมื่อผู้สมัครสอบได้ตามหลักเกณฑ์แล้ว ก็จัดส่งไปอบรมฝึกหัดภาคสาธารณที่ กองพันพาหนะ เป็นเวลา ๓ เดือน เมื่อกลับจากการฝึกวิชาทหารแล้ว ก็บรรจุประจำตึกผู้ป่วยและแผนกต่างๆ ของกรมแพทย์ พยาบาลรุ่นนี้ เรียกว่า “นักเรียนอาสาสำรอง” มาทำงานเช้ากลับเย็น เรียนที่ระเบียงตึกหมายเลข ๒ ระหว่างเวลา ๑๓๐๐ ถึง ๑๕๐๐ ประมาณ ๓ เดือน แล้วทำการสอบไล่ ผลการสอบได้หรือตกยังคงได้ทำงานที่เดิม

พ.ศ.๒๔๕๙ ได้ปรับปรุงการศึกษาพยาบาลของนักเรียนให้มีความรู้สูงขึ้น มีการจัดตั้งหลักสูตรการศึกษาและตารางสอนขึ้นเป็นปีแรก รับนักเรียน ๓ รุ่น  รุ่นที่ ๑ เริ่มตั้งแต่ ๑ มิถุนายน ๒๔๕๙ อาจนับเป็นจุดเริ่มต้นของ โรงเรียน หรือ “งูดิน รุ่นที่ ๑” จำนวน ๔๐ นาย ด้านการเรียนการสอนยังคงปฏิบัติเหมือนเดิม แต่เพิ่มเวลาเรียน เป็น ๐๙๐๐ ถึง ๑๑๓๐ และ ๑๓๐๐ ถึง ๑๕๓๐ จัดครูสอนประจำวิชาที่เรียน ๕ วิชา ได้แก่ ปฐมพยาบาล, โรคต่างๆ, การผสมยา, สุขวิทยา และการพยาบาล หลังเรียนจบ ๓ เดือน ทำการสอบไล่ตัดสินผลการสอบด้วยคะแนนรวม ตั้งแต่ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป ถือว่าสอบได้ ต่ำกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ลงมาเป็นสอบตก โดยกรมแพทย์เป็นผู้ชี้ขาด แต่เวลานั้นยังไม่มีสถานที่ตั้งโรงเรียนพยาบาลโดยเฉพาะ ใช้ระเบียงตึกหมายเลข ๑ เป็นสถานที่พัก และ ตึกหมายเลข ๒ เป็นสถานที่เรียน

ในปีเดียวกันนี้ทางราชการได้ปรับเปลี่ยนการควบคุมด้านระเบียบการศึกษาและหลักสูตร ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับโรงเรียนจ่าทหารเรือ อื่นๆ ทำให้สถานศึกษาได้มีชื่อเป็น “โรงเรียนพยาบาล” เมื่อวันที่  ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๙ ต่อมาได้มีการปรับปรุงหลักสูตรให้สูงขึ้น มีการเพิ่มวิชา ตลอดจนการฝึกงานในหน้าที่พยาบาล มุ่งเน้นให้มีความชำนาญขึ้นตามลำดับ จนถึง พ.ศ.๒๔๖๓

พ.ศ.๒๔๗๐ ได้มีการเรียกพยาบาลที่สำเร็จตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๗ ที่เป็นพันจ่า และจ่าประจำอยู่ตามตึกผู้ป่วย และกรมกองทหารใกล้เคียงมาอบรมเพิ่มเติมเป็นคราวๆ จำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐ คน เพื่อให้พยาบาลรุ่นเก่าๆ ได้มีมาตรฐานความรู้เทียบเท่านักเรียนพยาบาลรุ่นใหม่ ระยะเวลาเพิ่มเป็น ๑ ปี

พ.ศ.๒๔๗๙  พลเรือตรี เล็ก  สุมิตร เป็นนายแพทย์ใหญ่ ได้มีการปรับปรุงด้านการศึกษาของนักเรียนพยาบาล ให้มีมาตรฐานเหมาะสมกับยุคสมัยและทัดเทียมกับนักเรียนพยาบาลในสถานพยาบาลแห่งอื่นๆ กำหนดให้รับสมัครผู้เข้าเรียนเป็นนักเรียนพยาบาล ต้องสำเร็จวิชาสามัญชั้นมัธยมปีที่ ๖ และปรับปรุงหลักสูตร การเรียนเป็น ๒ ปี ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองวิทยฐานะในการพยาบาล สามารถไป ประกอบอาชีพพยาบาลตามโรงพยาบาลอื่นได้ โดยระหว่างนี้โรงเรียนพยาบาล อยู่ในการปกครองบังคับบัญชา ของแผนกพยาบาล มีการส่งผู้สำเร็จหลักสูตรพยาบาลไปศึกษาหาความรู้ความชำนาญในทางปฏิบัติที่โรงพยาบาลศิริราช ชุดละ ๔ - ๖ คน เป็นเวลา ๓ เดือน จนถึง พ.ศ.๒๔๘๕ (๒๐ รุ่น)

พ.ศ.๒๔๘๖ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ มีนโยบายให้นักเรียนพยาบาล มีระดับและระเบียบการศึกษา เช่นเดียวกับนักเรียนทหารเหล่าอื่นๆ

พ.ศ.๒๔๘๗ นาวาโท เจริญ  พรโสภณ  เป็นผู้แทนกรมแพทย์ทหารเรือ เข้าร่วมประชุมปรับปรุงการศึกษานักเรียนพยาบาลที่กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เพื่อแก้ไขปรับปรุงน้ำหนักวิชา และเพิ่มวิชานอกจากอาชีพขึ้นอีก เช่น จริยธรรม ภาษาไทย และ พลศึกษา สำหรับเรียนในชั้นปีที่ ๑ และชั้นปีที่ ๒ กับให้ใช้ระเบียบ กรมเสนาธิการทหารเรือ ฉบับที่ ๓ ว่าด้วยเกณฑ์การตัดสินได้ตกในการสอบความรู้ ส่วนการกรอกคะแนนผลของการสอบไล่เป็นไปตามที่กรมยุทธศึกษาทหารเรือกำหนด และใช้ระเบียบตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียนจ่าทั่วไป ของกรมเสนาธิการทหารเรือเป็นหลักในการปฏิบัติ

ในปีเดียวกันนี้ ทางราชการปรับปรุงแก้ไขการรับสมัครและการสอบคัดเลือกให้เป็นหน้าที่ของ กรมยุทธศึกษาทหารเรือทั้งสิ้น เช่นเดียวกับนักเรียนจ่าทหารเรือเหล่าอื่นๆ ตลอดจนการส่งฝึกภาคสาธารณะอีกด้วย นับได้ว่าการศึกษาของนักเรียนจ่าพยาบาลอยู่ในระดับเดียวกันกับนักเรียนจ่าเหล่าอื่นๆ และอยู่ในการควบคุมของ กรมยุทธศึกษาทหารเรือตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๗ เป็นต้นมา พร้อมกับเลื่อนฐานะเป็น “โรงเรียนจ่าพยาบาล” นักเรียนพยาบาลที่สอบไล่ผ่านตามที่หลักสูตรกำหนดสำเร็จการศึกษา ๒ ปีได้รับยศเป็น “จ่าโท”

พ.ศ.๒๔๘๙ พลเรือตรี สงวน  รุจิราภา  เป็นนายแพทย์ใหญ่ โรงเรียนจ่าพยาบาลได้รับการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ได้แก่ ระเบียบการของโรงเรียนให้เข้าสู่ระดับที่ดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายพยาบาลชาย จากผ้าปิดอก มาเป็นเสื้อคลุมถึงเข่า มีดุมด้านข้าง รองเท้าหนังเปลี่ยนเป็นรองเท้ายาง เพื่อไม่ให้เกิดเสียงรบกวนผู้ป่วย รวมทั้งการโอนกิจการที่เดิมอยู่ในการปกครองบังคับบัญชาของแผนกพยาบาล ให้ไปขึ้นตรงต่อกรมแพทย์ทหารเรือ มีการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นครูถ่ายทอดวิชาให้แก่นักเรียนด้วยความรอบคอบ

ในปีนี้ได้สร้างอาคารพักเป็นเรือนไม้ ๒ ชั้น ขึ้นที่บริเวณชายน้ำริมคลองมอญ แนวเดียวกันกับตึกซักฟอก บรรจุเตียงนอน (เตียงทหาร ๒ ชั้น) ได้ ๑๐๐ เตียง แบ่งเป็นห้องที่ทำการของโรงเรียน ห้องเก็บของเครื่องใช้ และ ห้องพักผ่อน โดยทำพิธีเปิดป้าย “โรงเรียนจ่าพยาบาล” เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๔๙๐ สำหรับห้องเรียนชั้นปีที่ ๑ เป็นเรือนไม้ มีลักษณะสี่เหลี่ยม ผนังห้องปิดด้วยตาข่าย หลังคามุงจาก และถูกเรียกขานว่า “กรงไก่” ซึ่งตั้งอยู่ถัดไปจากห้องพักผ่อน โดยไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างใหม่หรือถูกดัดแปลงมาจากอาคารใด ส่วนชั้นปีที่ ๒ เรียนที่โรงจอดรถ บริเวณหลังตึกหมายเลข ๔ เมื่อมีอาคารสถานที่พร้อมขึ้น ทำให้มีการขยายกิจการรับสมัครนักเรียนจ่าพยาบาลเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ มา นอกจากนี้ยังได้รับอนุมัติจัดทำเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ และโต๊ะเรียนให้เพียงพอกับจำนวนผู้เรียน ตำราเรียนที่ขาดตกบกพร่องก็ได้รับการจัดพิมพ์เพิ่มเติมด้วยการ    โรเนียวแจกนักเรียนทุกคน

พ.ศ.๒๔๙๒ มีการจัดทำตำราเพิ่มขึ้นอีก ๑ เล่ม เป็นตำราว่าด้วยจรรยาและมรรยาทของพยาบาล แยกออกมาจาก วิชาจริยะศึกษา (จริยธรรม) ซึ่งมีอยู่ในหลักสูตรนักเรียนจ่าพยาบาลชั้นปีที่ ๑ และชั้นปีที่ ๒ อยู่แล้ว เพื่อให้พยาบาลปฏิบัติหน้าที่พยาบาลได้เป็นอย่างดี มีการปรับปรุงด้านพลศึกษา ทั้งกีฬาในร่ม และกลางแจ้งสามารถเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาของกองทัพเรือได้

พ.ศ.๒๔๙๓ ได้จัดสร้างเรือนกีฬาขึ้นที่ข้างอาคารพักของนักเรียนอีกหลังหนึ่ง (อยู่ระหว่างห้องเรียน “กรง ไก่” กับอาคารพักเรือนไม้ ๒ ชั้น) สาหรับเป็นที่ฝึกซ้อมกีฬาในชั่วโมงเรียน และเป็นที่พักผ่อน ในปีนี้  ทางราชการได้เทียบฐานะโรงเรียนจ่าพยาบาลให้เทียบเท่า “กองร้อยอิสระ” และยังได้รับการสนับสนุน     เงินรายรับจากการรับสมัครนักเรียนทหารจากกรมเสนาธิการทหารเรือ เมื่อรวมกับการแสดงความเสียสละ   ในการประหยัดเงินเบี้ยเลี้ยงประจำวันของนักเรียน ทำให้โรงเรียนจ่าพยาบาลมีเครื่องกีฬาทั้งในร่มและกลางแจ้งเกือบสมบูรณ์ รวมทั้งสามารถนำเงินที่เหลือมาจัดเลี้ยงรื่นเริงเมื่อสิ้นภาคการศึกษาประจำปีได้ และมีการจัดซื้อสิ่งของบางอย่างให้กับโรงเรียน เช่น นาฬิกา วิทยุ ฯลฯ เพื่อเป็นที่ระลึกของนักเรียนในแต่ละรุ่น

นอกจากที่กล่าวแล้ว ยังมีการสอนให้นักเรียนมีความรู้รอบตัว มีความอดทนต่อความยากลำบากในถิ่นทุรกันดารควบคู่ไปกับความเพลิดเพลิน คือ การเดินทางไกลของนักเรียนจ่าพยาบาล ชั้นปีที่ ๑ และชั้นปีที่ ๒ ทุกการปิดภาคเรียน ระหว่างเดินทางจะมีการฝึกใช้เครื่องสนาม เรียนรู้หลักการปฏิบัติที่กำลังอยู่ในเขตยุทธบริเวณ กินอยู่หลับนอนหลังแนวรบ กางเต็นท์พักแรม หุงหาอาหารด้วยเครื่องหลังที่นำไปกับตัว ตลอดจนการลำเลียง ควบคุมสิ่งของและพาหนะที่ใช้ในการพยาบาล การสุขาภิบาลสนาม และการจ่ายเสบียงเลี้ยงดูผู้ป่วย นับเป็นการ วางรากฐานการฝึกภาคสนามไว้ให้โรงเรียนจ่าพยาบาล ใช้เป็นแนวทางจัดการศึกษาของนักเรียนจ่าพยาบาล ของกองทัพเรืออย่างแท้จริง นายแพทย์ใหญ่ท่านนี้ดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔ 

พ.ศ.๒๔๙๔ นาวาเอก หลวงเรืองไวทยวิทยา รักษาราชการในตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ นโยบายด้านการศึกษาของโรงเรียนจ่าพยาบาล ยังคงดำเนินไปเป็นปกติ และมีการปรับปรุงหลักสูตรพยาบาล โดยขยาย ระยะเวลาเป็น ๓ ปี (งูดิน รุ่นที่ ๔๓) เรียนในโรงเรียน เป็นเวลา ๒ ปี บรรจุเข้ารับราชการ ติดยศ “จ่าเอก” หรือ “จ่าโท” และฝึกประสบการณ์การพยาบาลในโรงพยาบาลของกองทัพเรือ ๓ แห่ง (โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ, โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์) เป็นเวลา ๑ ปี สำเร็จการศึกษา แล้วออกปฏิบัติราชการ

ปลายปี พ.ศ.๒๔๙๕ กรมแพทย์ทหารเรือ รับบรรจุแพทย์หญิงเข้ารับราชการ เป็นครั้งแรก ทำให้โรงเรียนจ่าพยาบาล มีครูผู้สอนเป็นสตรีร่วมอยู่ด้วย

๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๘  กรมแพทย์ทหารเรือ ได้รับการจัดหน่วยให้อยู่ใน “ส่วนกิจการพิเศษ” ของกองทัพเรือมีหน่วยงาน “กองศึกษา” เกิดขึ้น และ “โรงเรียนจ่าพยาบาล” เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนพยาบาล” ขึ้นการปกครองบังคับบัญชากับ กองศึกษา กรมแพทย์ทหารเรือ

พ.ศ.๒๕๐๑ พลเรือตรี กมล  ชัมพุนท์พงษ์  เป็น นายแพทย์ใหญ่ มีการฝึกซ้อมวิชาสนาม การลำเลียงผู้ป่วยเจ็บต่างๆ ตามรูปแบบใหม่ มีการฝึกภาคสนามประจำปี ที่สำคัญมีการพัฒนาครูพยาบาลด้วยการส่งนายทหารสัญญาบัตรประจำโรงเรียนพยาบาลและกองศึกษา ไปศึกษาต่อหลักสูตรครูพยาบาลจากวิทยาลัยพยาบาลกรุงเทพ กระทรวงสาธารณสุข แล้วกลับมาสอนที่โรงเรียนพยาบาล

พ.ศ.๒๕๐๓ พลเรือโท สนิท  โปษะกฤษณะ  เป็น นายแพทย์ใหญ่ มีการกำหนดหลักสูตรการอบรมเกิดขึ้น ได้แก่ หลักสูตรอาชีพจ่าเอก เพื่อเตรียมบรรจุเป็นพันจ่า หลักสูตรอาชีพพันจ่าเอกเพื่อเตรียมบรรจุเป็นนายทหารสัญญาบัตร และเมื่อเป็นนายทหารสัญญาบัตรแล้วก็ต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรนายทหาร “หมอทะเล” เพื่อให้มีความพร้อมในการไปปฏิบัติราชการทะเลและสนามแทนนายแพทย์

พ.ศ.๒๕๑๕ พลเรือโท โกเมท  เครือตราชู  เป็น นายแพทย์ใหญ่ มีการวางแผนย้ายโรงเรียนพยาบาลออกจากพื้นที่โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ ไปยังพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า แขวงบุคคโล  เขตธนบุรี กรุงเทพฯ และเริ่มก่อสร้างอาคารหลังใหม่เป็นตึก ๒ ชั้น ๒ หลัง มีห้องประชุมและที่พักผ่อน แยกจากอาคารที่ทำการและอาคารนอน

ในปีเดียวกันนี้ หลักสูตรของโรงเรียนพยาบาลได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เทียบเท่าหลักสูตร ม.ศ.๖ สายอาชีพ ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนพยาบาล สามารถเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัยได้

๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๖ กรมแพทย์ทหารเรือ ได้รับอนุมัติให้ปรับปรุงอัตราหน่วยขึ้นตรง  กรมแพทย์ทหารเรือ ใหม่อีกครั้ง นายแพทย์ใหญ่ เปลี่ยนชื่อเป็น “เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ” และ “กองศึกษา” เปลี่ยนชื่อเป็น “กองการศึกษา” (กองการศึกษา มีหน้าที่ดำเนินการฝึกและการศึกษาของทหารเหล่าแพทย์ นักเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย  นักเรียนผู้ช่วยพยาบาล ตลอดจนจัดทำตำราคู่มือ และเครื่องช่วยการฝึกและศึกษาที่เกี่ยวกับกิจการแพทย์มีหน่วยขึ้นตรง ได้แก่ โรงเรียนพยาบาล และ โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย)

พ.ศ.๒๕๑๗ พลเรือโท ลักษณ์  บุญศิริ  เป็น เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ มีการเร่งการก่อสร้างโรงเรียนพยาบาลแห่งใหม่จนแล้วเสร็จ และพัฒนาหลักสูตรเป็น “หลักสูตรพยาบาลและอนามัย พ.ศ.๒๕๑๗”  เป็นหลักสูตร ๓ ปี รับจากผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓

พ.ศ.๒๕๑๘ โรงเรียนพยาบาล เริ่มรับนักเรียนจ่าพยาบาล (งูดิน รุ่นที่ ๖๗) เข้าศึกษาหลักสูตรใหม่  โดย ๒ ปีแรก เรียนวิชาการพยาบาล เมื่อสำเร็จการศึกษาติดยศ “จ่าโท” แล้วเรียนที่โรงเรียน อีก ๑ ปี ในวิชา อนามัย  เทคนิคศัลยกรรม จิตเวชและการพยาบาล  บริการแพทย์ทางยุทธวิธีทั้งภาคทฤษฏีและออกฝึกภาคสนาม เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรแล้วออกปฏิบัติราชการ (รอการติดยศ “จ่าเอก”) หลักสูตรนี้มี ๒ รุ่น สำเร็จการศึกษา พ.ศ.๒๕๒๐ และ ๒๕๒๑ (งูดิน รุ่นที่ ๖๗ - ๖๘ )

๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๙ โรงเรียนพยาบาลย้ายออกจากโรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ มาอยู่     ณ สถานที่ตั้งแห่งใหม่พื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ตรงกับนักเรียนจ่าพยาบาล “งูดิน รุ่นที่ ๖๖ - ๖๘” ทำให้โรงเรียนพยาบาล เปิดสอนนักเรียน ๒ หลักสูตร (งูดิน รุ่นที่ ๖๖ เรียนหลักสูตรพยาบาล ๓ ปี และ งูดิน รุ่นที่ ๖๗ - ๖๘ เรียนหลักสูตรพยาบาลและอนามัย ๓ ปี) พร้อมกับมีการสร้างสนามกีฬาขึ้นข้างโรงเรียนพยาบาล

พ.ศ.๒๕๒๐  พลเรือโท พิริยะ  โหตระภวานนท์  เป็น เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ มีการปรับปรุงหลักสูตรพยาบาล โดยให้มีฐานะเป็นนักเรียนจ่า ทั้ง ๓ ปี (งูดิน รุ่นที่ ๖๙) เรียนในหลักสูตร และมีการเปลี่ยนระบบการประเมินผลการศึกษาเป็นระบบหน่วยกิต  เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตร ติดยศ “จ่าเอก” แล้วออกปฏิบัติราชการ จนถึง พ.ศ.๒๕๒๕ (งูดิน รุ่นที่ ๗๓)

ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรพยาบาล และ หลักสูตรพยาบาลและอนามัยของโรงเรียนพยาบาล ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๔ “งูดิน รุ่นที่ ๔๓” ถึง พ.ศ.๒๕๒๕ “งูดิน รุ่นที่ ๗๓” จำนวน ๑,๐๘๕ คน จะมีสิทธิ์ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ “แผนปัจจุบัน ในสาขาการพยาบาล” จาก คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข และสามารถเทียบคุณวุฒิการศึกษาเป็นชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จาก กระทรวงศึกษาธิการ สามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้

พ.ศ.๒๕๒๕ พลเรือโท บรรยงก์  ถาวรามร  เป็น เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ มีการปรับปรุงหลักสูตรของ นักเรียนจ่าพยาบาล เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาของประเทศ เป็น “หลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น” ใช้เวลาศึกษา ๒ ปี ซึ่งทำให้โรงเรียนพยาบาล ไม่มีการรับนักเรียน (งูดิน รุ่น ๗๒ เป็น นักเรียนจ่า ชั้นปีที่ ๓ และงูดิน รุ่น ๗๓ เป็นนักเรียนจ่าชั้นปีที่ ๒)

พ.ศ.๒๕๒๖ โรงเรียนพยาบาล เริ่มเปิดการศึกษาใช้หลักสูตรใหม่ รับผู้สำเร็จการศึกษา ม.ศ.๕ หรือ ม.๖ ระยะเวลาศึกษา ๒ ปี (งูดิน รุ่นที่ ๗๔) ทำให้โรงเรียนพยาบาล มีนักเรียน ๒ หลักสูตร ชั้นปีที่ ๓ (งูดิน รุ่นที่ ๗๓) เรียนหลักสูตรพยาบาลและอนามัย ชั้นปีที่ ๓ และ ชั้นปีที่ ๑ (งูดิน รุ่นที่ ๗๔) เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น ชั้นปีที่ ๑ ระยะแรกของการดำเนินการหลักสูตรประกาศนียบัตรระดับต้น มีข้อขัดข้องเกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้งยศ ทำให้ งูดิน รุ่นที่ ๗๔ เรียน ๑ ปี ผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์ ได้รับประกาศนียบัตรหลักสูตรนักเรียนจ่าทหารเรือ จาก กรมยุทธศึกษาทหารเรือ และบรรจุเข้ารับราชการ ติดยศ “จ่าเอก” แล้วเรียนอีก ๑ ปี ผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์ ครบตามที่หลักสูตรกำหนด จึงได้รับประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น แล้วออกปฏิบัติราชการ และ งูดิน รุ่นที่ ๗๕ - ๗๖ เรียน ๑ ปี ผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์ ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ ติดยศ “จ่าตรี”แล้วเรียนอีก ๑ ปี ผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์ ครบตามที่หลักสูตรกำหนด จึงได้รับประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น ติดยศ “จ่าโท” แล้วออกปฏิบัติราชการ หลังจากนั้น พ.ศ.๒๕๒๙    (งูดิน รุ่นที่ ๗๗) จึงเรียน ๒ ปีเต็ม เป็นนักเรียนชั้นปีที่ ๑ และ ชั้นปีที่ ๒ เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้รับประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น บรรจุเข้ารับราชการ ติดยศ “จ่าตรี” และออกปฏิบัติราชการ จนถึง ปีการศึกษา ๒๕๕๒ (งูดิน รุ่นที่ ๙๙)

พ.ศ.๒๕๒๗ กรมแพทย์ทหารเรือ มีนโยบายให้พัฒนาบุคลากร กลุ่มผู้ช่วยพยาบาลหญิงที่มียศ   จ่าเอกหญิง โดยให้เข้ารับการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น ร่วมกับ นักเรียนจ่า พรรคพิเศษ เหล่าทหารแพทย์ ที่ โรงเรียนพยาบาล (แต่สังกัด วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ) เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๒๗ (งูดิน รุ่น ที่ ๗๕) จำนวน ๒๕ คน  ปีการศึกษา ๒๕๒๘  รับผู้สำเร็จการศึกษาชั้น ม.ศ.๕ หรือ ม.๖ สายสามัญ ที่เป็นผู้หญิง เข้าศึกษาหลักสูตรนี้ จำนวน ๑๒ คน ร่วมกับผู้ช่วยพยาบาลหญิงชั้นยศจ่าเอกหญิง และ จ่าโทหญิง จำนวน ๑๓ คน

(งูดิน รุ่นที่ ๗๖) นักเรียนพยาบาลศาสตร์ระดับต้นรุ่นนี้ เมื่อเรียนจบชั้นปีที่ ๑ ผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์ ได้รับประกาศนียบัตรฯ จาก กรมยุทธศึกษาทหารเรือ บรรจุเข้ารับราชการ ติดยศ “จ่าตรีหญิง” แล้วเรียน   อีก ๑ ปี (เหมือน นรจ.พรรค พศ.เหล่า พ.) เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้รับประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น ติดยศ “จ่าโทหญิง” แล้วออกปฏิบัติราชการ ปีการศึกษา ๒๕๒๙ รับผู้สำเร็จการศึกษาชั้น ม.ศ.๕ หรือ ม.๖  สายสามัญ ที่เป็นผู้หญิงทั้งหมด (งูดิน รุ่นที่ ๗๗) เป็นต้นมา เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น บรรจุเข้ารับราชการ ติดยศ “จ่าตรีหญิง” แล้วออกปฏิบัติราชการ จนถึงปีการศึกษา ๒๕๔๒ (งูดิน รุ่นที่ ๙๐) รวมทั้งหมด ๑๖ รุ่น จำนวน ๔๗๘ คน

ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยเหล่าทหาร พ.ศ.๒๕๒๘ มีการกำหนดหน้าที่ของทหาร และแบ่งพรรคเหล่าทหาร ทหารเรือ จำแนกเป็น ๔ พรรค เหล่าทหารแพทย์ อยู่ใน พรรคพิเศษ ลำดับที่ ๘ มีสัญลักษณ์ เป็นพญานาคพันไม้เท้า (สำหรับนายทหารชั้นประทวน)

สภาการพยาบาล ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์     พ.ศ.๒๕๒๘ และ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๐ ได้เข้ามาควบคุมการจัดการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น ของ โรงเรียนพยาบาล มีการตรวจประเมินสถาบัน และให้การรับรองคุณภาพการจัดการศึกษา ของ โรงเรียนพยาบาล จำนวน ๒ ครั้งๆ ละ ๓ ปี (ครั้งแรก ปีการศึกษา ๒๕๔๖ ถึง ๒๕๔๙ และครั้งที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๐ ถึง ๒๕๕๒)

หลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น ได้รับการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตร ๒ ครั้ง   ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.๒๕๔๐) และ พ.ศ.๒๕๔๙ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.๒๕๕๐) ผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้ จะมีสิทธ์ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้น ๒ จาก  สภาการพยาบาล และสามารถศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ (ต่อเนื่อง ๒ ปี) จากสถาบันการศึกษาที่ สภาการพยาบาล รับรองได้

๘ ธ.ค.๒๕๔๐ สำนักงาน ก.พ. โดย สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลภาครัฐ มีมติรับรองคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.๒๕๔๐) ของ โรงเรียนพยาบาล ให้สามารถบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญในตำแหน่งที่ ก.พ.กำหนด ในอัตราเงินเดือนไม่สูงกว่าอันดับ ท.๒ ขั้น ๕,๑๘๐ บาท

๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ อนุมัติเทียบความรู้หลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.๒๕๔๐) ของ โรงเรียนพยาบาล เป็นวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) และให้ได้รับเงินเดือนในอัตราของระดับวุฒิ ปวท.

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เข้าควบคุมมาตรฐานการจัดการศึกษาของ โรงเรียนพยาบาล ครั้งแรก เมื่อปีการศึกษา ๒๕๔๙ ผลการตรวจประเมินอยู่ในระดับ “ดีมาก”

พ.ศ.๒๕๕๑ สภาการพยาบาล ไม่อนุญาตให้โรงเรียนพยาบาล ผลิตนักเรียนพยาบาลหลักสูตร ประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น โดยให้ผลิตได้ถึงปีการศึกษา ๒๕๕๒ และ โรงเรียนพยาบาล ได้รับ มอบหมายจาก กรมแพทย์ทหารเรือ ให้จัดทำหลักสูตรใหม่เพื่อทดแทนหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ ระดับต้น ซึ่งโรงเรียนพยาบาล ได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงเวชกิจฉุกเฉิน และได้รับความเห็นชอบให้เทียบเท่าหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ของ สำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

พ.ศ.๒๕๕๒ พล.ร.ท.สุริยา  ณ นคร  เป็น เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ มีนโยบายให้ โรงเรียนพยาบาล เปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาของ นักเรียนจ่า พรรคพิเศษ เหล่าทหารแพทย์ จากหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น เป็น หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงเวชกิจฉุกเฉิน” (Diploma of Emergency Medical Technician Program) ระยะเวลาศึกษา ๒ ปี เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงระบบบริการสุขภาพของกองทัพเรือ ใหม่ เป็นการบริการสุขภาพเพื่อการสวัสดิการ (ในโรงพยาบาล) กับบริการสุขภาพเพื่อความพร้อมของกองทัพเรือ (ในหน่วยแพทย์กองทัพเรือ และโดยเจ้าหน้าที่บริการสุขภาพ ประจำเรือหลวง/หน่วยทหารเรือ ทางบก) ผู้สำเร็จการศึกษามีสิทธิ์ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงเวชกิจฉุกเฉิน (Diploma of Emergency Medical Technician) อักษรย่อ “ปวส.วฉ.” (Dip. of EMT.) ทำให้ปีนี้ โรงเรียนพยาบาล จัดการเรียนการสอนนักเรียน ๒ หลักสูตร คือนักเรียนจ่า ชั้นปีที่ ๒ (งูดิน รุ่นที่ ๙๙) เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น ปีที่ ๒  นักเรียนจ่าชั้นปีที่ ๑ (งูดิน รุ่นที่ ๑๐๐) เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงเวชกิจฉุกเฉิน ปีที่ ๑

นักเรียนจ่า พรรคพิเศษ เหล่าทหารแพทย์ ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงเวชกิจฉุกเฉิน ยังคงได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ ติดยศ “จ่าตรี” และสามารถเจริญก้าวหน้าในชีวิต   รับราชการทหาร ตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม เหมือนเดิม

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เข้าควบคุมมาตรฐานการจัดการศึกษาของ โรงเรียนพยาบาล ครั้งที่สอง เมื่อปีการศึกษา ๒๕๕๕ ผลการตรวจประเมินอยู่ในระดับ “ดีมาก”

๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ ทางราชการเปลี่ยนชื่อ โรงเรียนพยาบาล กองการศึกษา กรมแพทย์ทหารเรือ เป็น โรงเรียนนาวิกเวชกิจ ศูนย์วิทยาการ กรมแพทย์ทหารเรือ ตามที่กระทรวงกลาโหม อนุมัติปรับปรุงแก้ไข อัตราเฉพาะกิจ (อฉก.) หมายเลข ๓๔๐๐ กรมแพทย์ทหารเรือ แต่ในทางปฏิบัติยังมิได้ทำป้ายชื่อโรงเรียน เพียงแค่เติมคำว่า “อาคาร” ไว้หน้าคำว่า “โรงเรียนพยาบาล” และติดตั้งตัวอักษรทำด้วยโลหะสีเงิน คำว่า “โรงเรียนนาวิกเวชกิจ” ไว้หน้าอาคารชั้นสองเหนือป้ายโรงเรียนพยาบาล ในการนี้กำหนดให้ โรงเรียนนาวิกเวชกิจ มีหน้าที่ ดำเนินการฝึกและการศึกษาของนักเรียนจ่า เหล่าทหารแพทย์ ตลอดจนจัดทำตำราคู่มือ เครื่องช่วยการฝึกและศึกษาที่เกี่ยวกับการแพทย์

ในปีเดียวกันนี้ โรงเรียนนาวิกเวชกิจ ได้ปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงเวชกิจฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น เป็น หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงเวชกิจฉุกเฉิน (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.๒๕๕๓)

๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘ โรงเรียนนาวิกเวชกิจ ได้รับอนุมัติให้ประกอบพิธีเปิดป้ายชื่อ โรงเรียนนาวิกเวชกิจ โดย พล.ร.ท.พันเลิศ แกล้วทนงค์  เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ เป็นประธานฯ พร้อมกับการทอดผ้าป่าการศึกษา ของ ชมรมศิษย์เก่าพยาบาลทหารเรือ

(ปัจจุบัน) พ.ศ.๒๕๕๘ โรงเรียนนาวิกเวชกิจ ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงเวชกิจฉุกเฉิน ให้เป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง   การให้ประกาศนียบัตรและการปฏิบัติการฉุกเฉินของผู้ปฏิบัติการ พ.ศ.๒๕๕๔ และประกาศสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรององค์กรการศึกษา ที่ดำเนินการหลักสูตรหรือการฝึกอบรม สำหรับผู้ปฎิบัติการฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๕๗ รวมทั้ง ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษา แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๖ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (พ.ศ.๒๕๕๘) โดยได้รับการรับรองจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เมื่อ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๙ เรียบร้อยแล้วและใช้หลักสูตรนี้สำหรับจัดการศึกษาให้นักเรียนจ่า พรรคพิเศษ เหล่าทหารแพทย์ ในปีการศึกษา ๒๕๕๙ เป็นต้นไป

จำนวนผู้สำเร็จการศึกษา ตั้งแต่ รุ่นที่ ๑ พ.ศ.๒๔๕๙ จนถึงปัจจุบัน รุ่นที่ ๑๐๔ พ.ศ.๒๕๕๗       มีจำนวน ๕,๓๑๘ คน

- รุ่นที่ ๑ (พ.ศ.๒๔๕๙) ถึง รุ่นที่ ๔๒ (พ.ศ.๒๔๙๓) จำนวน ๑,๐๑๖ คน (หลักสูตรพยาบาล)

- รุ่นที่ ๔๓ (พ.ศ.๒๔๙๔) ถึง รุ่นที่ ๖๖ (พ.ศ.๒๕๑๗) จำนวน ๑,๐๘๕ คน (หลักสูตรพยาบาล ๓ ปี)

- รุ่นที่ ๖๗ (พ.ศ.๒๕๑๘) ถึง รุ่นที่ ๗๓ (พ.ศ.๒๕๒๕) จำนวน ๖๒๕ คน (หลักสูตรพยาบาลและอนามัย ๓ ปี)

- รุ่นที่ ๗๔ (พ.ศ.๒๕๒๖) ถึง รุ่นที่ ๙๙ (พ.ศ.๒๕๕๑) จำนวน ๒,๔๒๒ คน (หลักสูตรประกาศนียบัตร

พยาบาลศาสตร์ระดับต้น)

- รุ่นที่ ๑๐๐ (พ.ศ.๒๕๕๒) ถึง รุ่นที่ ๑๐๔ (พ.ศ.๒๕๕๗) จำนวน ๑๗๐ คน (หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงเวชกิจฉุกเฉิน)

สรุปว่าสถานศึกษาแห่งนี้ ไม่ว่าจะใช้ชื่อว่า โรงเรียนจ่าพยาบาล  โรงเรียนพยาบาล หรือ โรงเรียนนาวิกเวชกิจ  ได้มีการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนมาด้วยดีโดยตลอด ตามการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของกองทัพเรือ และกรมแพทย์ทหารเรือ รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานด้านการศึกษาและวิชาชีพของประเทศ แต่ก็ยังคงเป็นสถานศึกษาสำหรับ นักเรียนจ่า พรรคพิเศษ เหล่าทหารแพทย์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการจัดการเรียนการสอนภายนอก จากองค์กรด้านวิชาชีพและการศึกษาของประเทศ สามารถผลิตเจ้าหน้าที่บริการสุขภาพของกองทัพเรือ ระดับนายทหารชั้นประทวน สมดั่งคำที่ได้รับการขนานนามว่า “งูดิน” หมายถึง “มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความรักสามัคคี และมีความสามารถ” ออกมารับใช้สังคมและประเทศชาติอย่างต่อเนื่องยาวนานตลอดมา ผู้สำเร็จการศึกษาบางส่วน ลาออก โอน หรือย้ายไปบรรจุรับราชการ ในหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ตามคุณวุฒิการศึกษาที่เรียนเพิ่ม บางส่วนประกอบอาชีพตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงที่ลาออกไปประกอบอาชีพส่วนตัว อยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

--------------------------------

รายชื่อคณะผู้รวบรวมและเรียบเรียง เมื่อ ส.ค.๕๘

พล.ร.ต.ช่วงชัย  แสงแจ้

น.อ.กระจ่าง  แดงจิ๋ว

น.อ.ชาคริต  สุขแย้ม

ว่าที่ น.อ.ชำนาญ  พัวรักษา

น.ท.ธนู  สังหร่าย 

รายนามผู้บริหารสถานศึกษา

--------------------------

๑. นายแพทย์ใหญ่ทหารเรือ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาล

จากอดีต – พ.ศ.๒๔๙๘

๒. หัวหน้ากองการศึกษา ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาล

- น.อ.ประกอบ  จักษุรักษ์                พ.ศ.๒๔๙๙ – ๒๔๕๐

- น.อ.อรุณ  รัตตะรังสี                    พ.ศ.๒๕๐๐ – ๒๕๐๓

- น.อ.เจริญ  บำเพ็ญอยู่                   พ.ศ.๒๕๐๓ – ๒๕๐๗

- น.อ.บรรยงค์  ถาวรามร                 พ.ศ.๒๕๐๗ (ก.พ.- ก.ย.)

- น.อ.ปรีชา  เสรีบุตร                     พ.ศ.๒๕๐๗ – ๒๕๑๐

- น.อ.ฉายแสง  ณ นคร                   พ.ศ.๒๕๑๐ – ๒๕๑๒

- น.อ.พนิต  ศรียาภัย                     พ.ศ.๒๕๑๒ – ๒๕๑๓

๓. ผู้ช่วยหัวหน้ากองการศึกษา ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาล

- น.อ.ชัยสิทธิ์  วัชรากร                   พ.ศ.๒๕๑๓ – ๒๕๑๗

- น.อ.สมปอง  สิริยานนท์                 พ.ศ.๒๕๑๗ – ๒๕๒๐

- น.อ.มนัส ไวอาษา                       พ.ศ.๒๕๒๐ – ๒๕๒๔

- น.อ.ประกอบ  แสงสุข                   พ.ศ.๒๕๒๔ – ๒๕๒๘

- น.อ.พิเชฐ  ศรีสิริ                        พ.ศ.๒๕๒๘ – ๒๕๓๐

๔. ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาล กองการศึกษา กรมแพทย์ทหารเรือ

- น.อ.พิเชฐ  ศรีสิริ                         ๑ ต.ค.๓๐ – ๓๐ ก.ย.๓๑

- น.อ.อนันต์ นพวงศ์  ณ อยุธยา         ๑ ต.ค.๓๑ – ๓๑ มี.ค.๓๓

- น.อ.บรรจงศักดิ์  ราษฏร์นิยม           ๑ เม.ย.๓๓ – ๓๐ ก.ย.๓๔

- น.อ.ไพศิลป์  แหล่งสนาม                ๑ ต.ค.๓๔ – ๓๑ มี.ค.๓๖

- น.อ.วิเฑียร  สัมฤทธิ์ผล                  ๑ เม.ย.๓๖ – ๓๑ มี.ค.๓๙

- น.อ.สมาน  รูปเล็ก                      ๑ เม.ย.๓๙ – ๓๐ ก.ย.๔๐

- น.อ.ทิพากร  พิบูลทิพย์                  ๑ ต.ค.๔๐ – ๓๐ ก.ย.๔๑

- น.อ.ไพจิตร  กลิ่นเกษร                  ๑ ต.ค.๔๑ – ๓๐ ก.ย.๔๓

- น.อ.ชัชชัย  หลงน้อย                    ๑ ต.ค.๔๓ – ๓๐ ก.ย.๔๕

- น.อ.กระจ่าง  แดงจิ๋ว                             ๑ ต.ค.๔๕ – ๓๐ ก.ย.๔๘

- น.อ.ช่วงชัย  แสงแจ้                    ๑ ต.ค.๔๘ – ๓๐ ก.ย.๕๒

- น.อ.กระจ่าง  แดงจิ๋ว                             ๑ ต.ค.๕๒ – ๑๖ มิ.ย.๕๓

๕. ผู้อำนวยการโรงเรียนนาวิกเวชกิจ ศูนย์วิทยาการ กรมแพทย์ทหารเรือ

- น.อ.กระจ่าง  แดงจิ๋ว                             ๑๗ มิ.ย.๕๓ – ๓๐ ก.ย.๕๖

- น.อ.ชาคริต  สุขแย้ม                    ๑ ต.ค.๕๖ – ๓๐ ก.ย.๕๘

- ว่าที่  น.อ.ชำนาญ  พัวรักษา          ๑ ต.ค.๕๙ – ถึงปัจจุบัน 

เอกสารอ้างอิง

----------------

๑. สำเนาเอกสารเกี่ยวกับ “ประวัติกรมแพทย์ทหารเรือ” ของ กองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ

๒. หนังสือที่ระลึก “งูดินรวมใจ” โดย น.ต.ตระหง่าน  ปุตระเศรณี  ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๖

๓. หนังสือ “๑๐๐ ปี กิจการแพทย์ทหารเรือ พ.ศ.๒๔๓๓ ถึง ๒๕๓๓” ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๓

-----------------

วันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนพยาบาล (สำหรับพิจารณาเป็นวันสถาปนาโรงเรียน)

-------------------------------

- ๑ มิถุนายน ๒๔๕๙ มีการจัดตั้งหลักสูตรการศึกษาและตารางสอนขึ้นเป็นปีแรก รับนักเรียน รุ่นที่ ๑

- ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๙ ทางราชการได้ปรับเปลี่ยนการควบคุมด้านระเบียบการศึกษาและหลักสูตร ให้อยู่

ในระดับเดียวกันกับ โรงเรียนจ่าทหารเรือ อื่นๆ ทำให้สถานศึกษามีชื่อเป็น “โรงเรียนพยาบาล”

- ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๐ ทำพิธีเปิดป้าย “โรงเรียนจ่าพยาบาล” ที่อาคารพักเป็นเรือนไม้ ๒ ชั้น บริเวณ

ชายน้ำริมคลองมอญ พื้นที่ โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ (เดิม)

- ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๘ เปลี่ยนชื่อ “โรงเรียนจ่าพยาบาล” เป็น “โรงเรียนพยาบาล กองศึกษา กรมแพทย์

ทหารเรือ”

----------------------------------