ผู้ใช้:ศิษย์วัดบางแคใหญ่/กระบะทราย

ประวัติความเป็นมาของวัดบางแคใหญ่

ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในละแวกวัด และท่านเจ้าอาวาส (พระครูโฆษิตสุตคุณ) ซึ่งเกิดที่บ้านนี้้ขณะนี้มีอายุ 93 ปี (นับจาก พ.ศ. 2531) กล่าวว่า...

ไฟล์:Http://watbangkaeyai.com/images/stories/main stutue.png

วัดนี้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโรจน์) สร้างให้กับภรรยาหลวงของท่าน จึงได้ชื่อว่า "วัดบางแคใหญ่"

นอกจากนี้ท่านได้สร้าง "วัดบางแคน้อย" ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักให้ภรรยาน้อยด้วย ภายหลังได้มีวัดบางแคกลางอีก แต่มิได้เกี่ยวข้องกับสองวัดแรกแต่อย่างใด

ส่วนหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ปรากฎที่ผนังภายในด้านหน้าอุโบสถ ซึ่งเป็นแผ่นหินชนวนมีตัวอักษรไทยภาษาไทย อ่านได้ความชัดเจนว่า

"วันอาทิตย์ เดือนห้า ขึ้นค่ำหนึ่ง

จุลศักราชพันร้อยเจดสิบสาม ปิ์มะแม ตรีศก เจ้าพระยาวงศาสุร

ศักดิ์ ผู้วามีสมุหะพระกลาโหม ได้ส้างพระอารามนิแล้ว แต่ณะวันสุกร เดือนสิบ แรมสิบค่ำ

พุทธศักราชล่วงแล้วได้สองพันสามร้อยห้าสิบเจด ปิ์จอ ฉ้อศก"

หากถอดความเป็นภาษาไทยที่อ่านได้ง่ายๆ คือ
"วัน อาทิตย์ เดือนห้า ขึ้นหนึ่งค่ำ จุลศักราชหนึ่งพันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบสาม ปีมะแม ตรีศก

เจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ์ ผู้ว่าสมุหพระกลาโหม ได้สร้างพระอารามนี้แล้ว ณ วันศุกร์ เดือนสิบ แรมสิบค่ำ

พุทธศักราชล่วงแล้วได้สองพัน-สามร้อยห้าสิบเจ็ด ปีจอ ฉอศก"

คือ เจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ์ ได้สร้างวัดนี้เมื่อ พ.ศ.2357 อันเป็นช่วงต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี

พระศรีสมุทรพุทธโคดม (หลวงปู่ศรี)

พระประธานในโบสถ์ วัดบางแคใหญ่

ไฟล์:Http://watbangkaeyai.com/images/watbangkaeyai principleBuddha.png

พระศรีสมุทรพุทธโคดม (หลวงปู่ศรี) พระประธานในโบสถ์ วัดบางแคใหญ่
หลวงพ่อ "พระศรีสมุทรโคดม" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหรือปางชนะมาร มีความสูง ๘ ศอก หน้าตักกว้าง ๕ ศอก องค์พระพุทธรูปเป็นเนื้อศิลาแดง ผิวหน้าพระพักตร์เป็นแบบเรียวไข่ นิ้วกางแบบปาระ เช่นเดียวกับพระพุทธรูปโบราณรอบระเบียงคต ทั้ง ๕๖ องค์ สอปูน ลงรัก และปิดทอง มีพุทธลักษณะงดงาม รูปแบบศิลปะเป็นยุคต่อเนื่อง ระหว่างกรุงศรีอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระเนตรทอดลดลงต่ำแสดงถึงความเมตตา หากมองในระยะไกลจะเห็นพระโอษฐ์มีลักษณะยิ้มแย้ม แต่หากมองในระยะใกล้จะมีลักษณะเคร่งขรึมน่าเกรงขาม พระวรกายได้สัดส่วนและสง่างาม

ในส่วนของชื่อ "พระศรีสมุทรพุทธโคดม" นั้น พระครูโฆสิตสุตคุณ (กอน โฆสโก) อดีตเจ้าคณะอำเภออัมพวา และอดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๖ เป็นผู้เรียบเรียงถวาย


คาถาบูชา :
อิติปิโสภะคะวา ยาตรายามดี ฤทธิ์ดีชัยศรี สวัสดีลาโภ นะโมพุทธายะ

เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ผู้สร้างวัดบางแคใหญ่ และประวัติที่หายไป

โดย: ร.อ.ดร.อนุชิต วงศาโรจน์
เขียนเมื่อ: 16 พฤศจิกายน 2555

เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ผมต้องเขียนเอกสารบทความนี้ขึ้นมา ก็เนื่องจากความอยากจะสืบค้นสาระสำคัญที่เกี่ยวกับบรรพบุรุษต้นตระกูลวงศาโรจน์ของเรา ว่าก่อนหน้าที่ท่านจะได้เป็นสมุหกลาโหม ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดฝ่ายทหารนั้น ท่านได้รับราชการในตำแหน่งใดมาบ้าง เหตุใดจึงไม่มีการบันทึกเป็นสาระสำคัญไว้บ้างเลย จะมีก็แต่เพียงการบันทึกไว้ว่า ท่านได้เป็นพระยาสมุทรสงคราม พระยาราชบุรี และมาเป็นเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ ที่สมุหกลาโหม ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ดังที่พบอย่างชัดเจนใน "สมุดราชบุรี พ.ศ.2468"

นับว่าเป็นโชคดีของผม ที่ได้ไปพบเอกสารชื่อ "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เรียบเรียงโดย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำบุญนาค)" ซึ่งเป็นเอกสารที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้ตรวจชำระและทรงนิพนธ์อธิบาย เอกสารเล่มที่ผมได้อ้างถึงนี้ เป็นฉบับที่กรมศิลปากร ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ.2531

ข้อความสำคัญที่ผมพบจะอยู่ในหัวเรื่อง "ทวายเป็นกบฏ" จากย่อหน้าที่ 6 เป็นต้นมา ความว่า "ฝ่ายเจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนา พระยายมราชตั้งค่ายยังมิทันแล้ว กองทัพพม่ากับทวายพลเมืองสมทบกันยกมาเป็นอันมาก เข้ารบรุกบุกบันไล่ยิ่งไล่ฟันกลางแปลงเหลือกำลังที่จะต่อรบ ทัพไทยก็ล่าถอยรับมาจนถึงค่ายพระยาอภัยรณฤทธิ์ ซึ่งเป็นกองหน้าทัพหลวงตั้งค่ายปิดทางอยู่ พวกกองทัพเจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยารัตนาพิพิธ พระยายมราช ที่ล่าถอยลงไปจะขอเข้าอาศัยค่ายผ่อนพักรับทัพพม่า พระยาอภัยรณฤท์ก็ไม่ยอมให้เข้าค่ายว่าตัวเป็นทัพหน้าของทัพหลวง ถ้าเข้ามาในค่ายคนกำลงตื่นแตกพม่าเข้าไปในค่ายมิเสียหรือ ถ้าค่ายหน้าแตกแล้ว ข้าศึกก็จะถึงค่ายหลวงทีเดียว ศีรษะพระยาอภัยรณฤทธิ์จะมิปลิวไปหรือ ให้รับทัพพม่าอยู่แต่นอกค่ายเถิด"

"กองทัพเจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยารัตนาพิพิธ พระยายมราช เข้าค่ายมิทันก็ตั้งรับอยู่หน้าค่ายแต่จมื่นราชาบาล (กระต่าย) จมื่นสมุหพิมาน (แสง) บุตรเจ้าพระยาราชบุรี ได้ว่าให้พระยาอภัยรณฤทธิ์เปิดประตูรับให้เข้ามาเป็นหลายครั้ง พระยาอภัยรณฤทธิ์ก็ไม่ยอม พระอิทรเดช (บุญเมือง) พระยามหามนตรี (ปลี) เห็นด้วยพระยาอภัยรณฤทธิ์ว่าอย่าเปิดรับ คนจะละเล้าละลุมมาให้รับอยู่นอกค่ายก็จะได้ พม่าตามกองทัพมาถึงเข้ารบรุกบุกบันทัพไทยรับมิหยุดเพราะมิได้มีค่ายมั่นรักษาตัว ก็แตกพ่ายกระจายกันไป เสียเจ้าพระยามหาเสนาในที่รบ ศพก็มิได้ ค่ายพระยาอภัยรณฤทธิ์พม่าก็เข้าตีเอาได้ เสียไพร่พลครั้งนั้นมาก"

"ทรงพระราชดำริว่าจะทำการต่อไปไม่ตลอด จึงโปรดให้ถอยกองทัพทั้งปวงลงมาแม่น้ำน้อย ครั้นมาถึงแม่น้ำน้อยทรงทราบว่าเจ้าพระยามหาเสนาหายไป แล้วทราบว่ามาถึงค่ายพระยาอภัยรณฤทธิ์แล้ว เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยารัตนาพิพิธ พระยายมราช จะเข้าอาศัยยิงปืนับทัพพม่า พระยาอภัยรณฤทธิ์ก็ไม่ยอมให้อาศัยปิดประตูค่ายเสีย ทรงพระพิโรธพระยาอภัยรณฤทธิ์มาก ดำรัสว่าเสนาบดีผู้ใหญ่ทั้ง 3 นาย มาถึงแล้วควรจะให้เข้าพักอยู่ในค่าย นี่มันถือกฎหมายอะไรของมันไม่ให้เสนาบดีผู้ใหญ่เข้าอยู่ในค่าย จนเสียแม่ทัพนายกองและไพร่พลเป็นอันมาก ให้ทำกระทู้ซักถามพระยาอภัยรณฤทธิ์ๆ ก็รับสารภาพผิด จึงให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตพระยาอภัยรณฤทธิ์เสียที่ค่ายแม่น้ำน้อย และพระอินทรเดช พระยามหามนตรีที่เป็นด้วยพระยาอภัยรณฤทธิ์นั้น ให้ถอดเสียที่ค่ายแม่น้ำน้อย และพระอินทรเดช พระยามหามนตรีที่เป็นด้วยพระยาอภัยรณฤทธิ์นั้น ให้ถอดเสียจากที่เจ้ากรมพระตำรวจ แล้วลงพระราชอาญาจำไว้ทั้ง 2 คน และจมื่นราชาบาล จมื่นสมุหพิมานที่ว่าแก่พระยาอภัยรณฤทธิ์ให้เปิดประตูรับนั้น มีความชอบ ให้จมื่นราชาบาลเป็นที่พระอินทรเดช ที่พระราชรินทร์ว่าอยู่หามีตัวไม่ จึงให้จมื่นสมุหพิมานเป็นที่พระราชรินทร์"

อนึ่ง เจ้าพระยามหาเสนาที่เสียชีวิตในที่รบนี้ คือเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) นับเป็นเจ้าพระยามหาเสนาคนแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 ดังสาระสำคัญที่กล่าวว่า ครั้นปี พ.ศ.๒๓๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จยกพยุหยาตราทัพหลวงขึ้นไปตีเมืองทวาย เจ้าพระยายมราชได้เป็นกองหน้า เจ้าเมืองทวายขอสวามิภักดิ์ และต่อมาเมืองทวายรวมกับพม่ากลับแข็งข้ออีก จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) น้องต่างมารดาของท้าววรจันทร์ (แจ่ม) ไปตีเมืองทวาย เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๖ แต่ไม่สำเร็จ ต้องล่าทัพกลับ เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สูญหายในที่รบ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) เป็นเจ้าพระยามหาเสนา ที่สมุหพระกลาโหม

จากข้อความดังกล่าวข้างต้นนี้ ทำให้ผมสามารถเรียบเรียงต่อเนื่องได้ว่า "จมื่นสมุหพิมาน (แสง) บุตรเจ้าพระยาราชบุรี ท่านนี้ก็คือบุคคลเดียวกันกับ เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง) นั่นเอง" เนื่องจากในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 นั้น เจ้าพระยาราชบุรีมีเพียงท่านเดียว คือเจ้าพระยาราชบุรี (เสม) บิดาท่าน แสง วงศาโรจน์ ดังที่ได้ระบุไว้ในหนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพคุณปู่จรัส (พล.ต.ต. จรัส วงศาโรจน์) เมื่อปี พ.ศ.2536 ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้มีสาระสำคัญซึ่งอ้างถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับตระกูลวงศาโรจน์และเครือสกุลที่เกี่ยวดองอีกมากมาย

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น เอกสารประวัติทหารไทย หลักการสงคราม เล่มที่ 1 ของสถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง (2549) กล่าวว่า ทหารเดินเท้าประจำการหรือทหารราบ มีอยู่ 3 พวกคือ 1) กรมพระตำรวจหลวง 2) กรมอาสาใหญ่ และ 3) ทหารร่วมราชหฤทัย กรมพระตำรวจหลวงเป็นส่วนราชการในพระราชสำนักขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีหน้าที่สำคัญคือ ถวายอารักขาแต่พระมหากษัตริย์และเป็นทหารเข้าสู้รบกับอริราชศัตรู

1) กรมพระตำรวจหลวง แบ่งเป็น 8 เหล่า เรียกกันว่า 8 ตำรวจ คือ
  • กรมพระตำรวจหลวงใน ขวา ซ้าย
  • กรมพระตำรวจหลวงใหญ่ ขวา ซ้าย
  • กรมพระตำรวจหลวงนอก ขวา ซ้าย
  • กรมพระตำรวจหลวงสนมทหาร ขวา ซ้าย
กรณีของคำว่าจมื่นสมุหพิมาน เมื่อสืบค้นสาระสำคัญเพิ่มเติมแล้ว หมายถึงตำแหน่ง "ปลัดกรมพระตำรวจสมุนทหารขวา" และเพื่อนร่วมรบของท่านคือ จมื่นราชาบาล หมายถึงตำแหน่ง ปลัดกรมพระตำรวจนอกซ้ายนั่นเอง อีกทั้งการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 1 เลื่อนตำแหน่งให้ในคราวศึกทวายดังกล่าวแล้วข้างต้นก็คือ จมื่นสมุหพิมานได้เป็น พระราชวรินทร์ จมื่นราชาบาลได้เป็นพระอิทรเดช สาระสำคัญของตำแหน่งทั้งสองนี้ก็คือ
  • พระราชวรินทร์ หรือที่ในพงศาวดารเขียนว่าพระราชรินทร์ คือ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา
  • พระอินทรเดช คือ เจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย

ช่วงเวลาที่ท่านได้รับตำแหน่งพระราชวรินทร์ดังกล่าวในพงศาวดารนี้คือ ปี พ.ศ.2336 (จ.ศ.1155) ซึ่งในช่วงเวลานี้ท่านมีอายุ 25 ปี ซึ่งจัดอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์สมกับที่เป็นนายทหารหนุ่มระดับปลัดกรมพระตำรวจฯ (ท่านเกิดปี พ.ศ.2311) โดยสาระสำคัญในขั้นตอนนี้จะค้านกับที่สารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดียได้นำเสนอไว้ โดยกล่าวว่าท่านได้รับตำแหน่งพระยาสมุทรสงครามเมื่อปี พ.ศ.2325 ซึ่งการนำเสนอของวิกิพิเดียดังกล่าวนี้ น่าจะเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะในปี พ.ศ.2325 ดังที่สารานุกรมวิกิพีเดียได้นำเสนอนั้น ท่านจะมีอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น การจะไปรบศึกหนักที่เมืองทวาย ประกอบกับต้องเป็นผู้ถึงพร้อมในการบังคับบัญชาและดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาคงไม่สอดคล้องกับช่วงอายุเพียง 14 ปี

อย่างไรก็ตาม ในเอกสาร "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เรียบเรียงโดย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำบุญนาค)" กลับมีข้อผิดพลาดในส่วนนี้เช่นกัน ซึ่งผมเองขอแสดงความเห็นว่าน่าจะเป็นข้อผิดพลาดในการเขียนเอกสารที่เป็นลักษณะของการสรุปประโยคต่อเนื่องกันในช่วงแรก ที่กล่าวถึงการตั้งข้าราชการในส่วนต่างๆ หลังจากที่รัชกาลที่ 1 ได้ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเมื่อพิจารณาอ่านดูแล้วสาระสำคัญในรายละเอียดแต่ละหัวข้อสำคัญของการศึกครั้งต่างๆ จะแสดงให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนมากกว่า

ข้อผิดพลาดนี้เองที่ส่งผลให้การนำเสนอในสื่อสารานุกรมออนไลน์มีความผิดพลาดไปด้วย เนื้อหาที่ผิดพลาดมีดังนี้ "ครั้งทรงตั้งขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยในกรุงเสร็จแล้ว...ให้หลวงสิทธิสงคราม เป็นพระยาปราจีนบุรีให้หลวงเมือง เป็นพระวิไชย ให้นายแสงเป็นพระยาสมุทรสงคราม ภายหลังได้เป็นที่สมุหพระกลาโหม ให้พระศรีสงครามเป็นพระพรหมบุรินทร์...ให้ขุนด่านเป็นพระสวรรคโลก ให้พระยาราชบุรีเลื่อนเป็นเจ้าพระยาราชบุรี" ในส่วนที่ขีดเส้นใต้ดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่น่าคิดพิจารณาเป็นอย่างมากครับ ข้อพิจารณาก็คือ

ก) ในช่วงที่รัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกนั่นตรงกับปี พ.ศ.2325 นายแสงมีอายุเพียง 14 ปี ท่านจะได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสมุทรสงคราม พร้อมกับที่บิดาตนเองคือพระยาราชบุรีได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาราชบุรี เลยหรืออย่างไร?

ข) จากประเด็น "ทวายเป็นกบฏ" ที่มีสาระสำคัญว่า "กองทัพเจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยารัตนาพิพิธ พระยายมราช เข้าค่ายมิทันก็ตั้งรับอยู่หน้าค่าย แต่จมื่นราชาบาล (กระต่าย) จมื่นสมุหพิมาน (แสง) บุตรเจ้าพระยาราชบุรี ได้ว่าให้พระยาอภัยรณฤทธิ์เปิดประตูรับให้เข้ามาเป็นหลายครั้ง พระยาอภัยรณฤทธิ์ก็ไม่ยอม"

จากสาระสำคัญเช่นนี้ ผมจึงมีความเชื่อในกรณีที่ว่า ในปี พ.ศ.2325 ท่านแสงคงจะยังไม่ได้เป็นพระยาสมุทรสงคราม สิ่งที่ควรจะสอดคล้องมากที่สุดคือ "รับราชการเป็นมหาดเล็กในกรมพระตำรวจ" ซึ่งทำหน้าที่อารักขาพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ดังที่ในปัจจุบันคือ "กรมทหารรักษาพระองค์" นั่นเอง

เมื่อได้ทราบข้อมูลเช่นนี้แล้ว จึ่งเปรียบเหมือนกับการตอบคำถามให้กับผม อีกทั้งยังได้สร้างความต่อเนื่องของการรับราชการของท่านบรรพบุรุษของเราได้อย่างชัดเจน ดังนี้

[[|thumbnail|http://watbangkaeyai.com/images/founder-history-01.jpg]]

เมื่อได้อ่านเอกสารที่เกี่ยวข้อเพิ่มเติม ก็ได้พบเหตุการณ์ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ในคราวผลัดแผ่นดินคือในช่วงที่ รัชกาลที่ 1 สวรรคตได้เพียง 3 วัน ก็เกิดกรณีกบฏกรมขุนกษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น) ขึ้นมากรมขุนฯ ท่านนี้เป็นโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและเป็นพระเจ้าหลานเธอของรัชกาลที่ 1 สาระสำคัญของการกบฏก็ยังเป็นที่ชวนให้สืบค้นและแถลงกันในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ซึ่งผมจะไม่ขอกล่าวถึงในประเด็นนี้

แต่สิ่งที่ผมขอนำเสนอในบทความนี้ก็คือ พระอินทรเดช (กระต่าย) เพื่อนร่วมรบของท่านเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ ในคราวได้มีชื่อเป็นกำลังสำคัญของการกบฏครั้งนี้ด้วย ในเอกสารหลายแห่งเรียกกบฏครั้งนี้ว่า "กบฏเจ้าฟ้าเหม็น", "กรณีกาคาบข่าว" ในคดีนี้รัชกาลที่ 2 โปรดให้ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ชำระความ ซึ่งพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสอบสวนทวนความได้ว่า มีขุนนางผู้ใหญ่เข้าร่วมด้วยคือ เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค บ้านแม่ลา) พระยาเพ็ชรปาณี (กล่อม) พระยาราม (ทอง) พระอินทรเดช (กระต่าย) นอกนั้นเป็นชั้นผู้น้อย รวมผู้ต้องหาในคดีนี้ 40 คน กับพระราชวงศ์อีก 3 พระองค์

กบฏเจ้าฟ้าเหม็นนี้เกิดในปี พ.ศ. 2352 เป็นปีที่รัชกาลที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์ ซึ่งเมื่อเทียบดูแล้วจะเป็นช่วงเวลาที่ท่านแสง อายุได้ 41 ปี ซึ่งข้อมูลตรงนี้ ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ทำให้ผมต้องมาเทียบเคียงดูกับหลักฐานของกระทรวงกลาโหม ที่กล่าวถึงลำดับเสนาบดีกระทรวงกลาโหมตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ซึ่งช่วงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษของเราจะอยู่ในลำดับเสนาบดีคนที่ 1-6 ดังนี้

รายนามสมุหพระกลาโหม เวลาที่ดำรงตำแหน่ง
1. เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) พ.ศ.2325 – พ.ศ.2336
2. เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) พ.ศ.2336 – พ.ศ.2348
3. เจ้าพระยามหาเสนา (ปิ่น) พ.ศ.2348 – พ.ศ.2352
4. เจ้าพระยามหาเสนา (บุญมา) พ.ศ.2348 – ?
5. เจ้าพระยาวรวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโรจน์) ? – พ.ศ.2352
6. เจ้าพระยามหาเสนา (สังข์) พ.ศ.2365 – ต้นรัชกาลที่ 3


ที่มา: กระทรวงกลาโหม (2555) “ทำเนียบเสนาบดี” http://www.mod.go.th/content/md/

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงพระราชสมภพ เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2310 สวรรคตเมื่อ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2367 ทรงครองราชย์ 7 กันยายน พ.ศ.2352

จากตารางรายนามสมุหกลาโหมฯ เมื่อพิจารณาเพิ่มเติมกับประวัติเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ ซึ่งท่านเกิดเมื่อ 13 มกราคม พ.ศ.2311 อสัญกรรม เมื่อ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2365 ผนวกกับสาระสำคัญในเอกสาร “สมุดราชบุรี พ.ศ.2468”

“ในรัชกาลแห่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่าเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว...ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระยาราชบุรี (แสง วงศาโรจน์) เป็นเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ที่สมุหกลาโหม ซึ่งเปนลำดับเจ้าเมืองราชบุรีคนที่ ๒ ที่ได้รับถานันดรศักดิ์เปนเจ้าพระยา ท่านเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโรจน์) ผู้นี้ เป็นบุตรท่านเจ้าพระยาราชบุรี (เสม วงศาโรจน์) และมารดาชื่อ ท่านอิน ก่อนที่จะมาเปนเจ้าเมืองราชบุรี ได้เป็นเจ้าเมืองสมุทสงครามอยู่ก่อน และมีนามบรรดาศักดิ์ว่า พระยาแม่กลอง ตามนามเมือง แลท่านได้ถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๒ นั้นเอง"

จะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นเลยว่า เมื่อรัชกาลที่ 2 ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2352 ท่านแสง วงศาโรจน์ ก็ได้เป็นเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ ที่สมุหกลาโหมต่อจากเจ้าพระยามหาเสนา (บุญมา) และได้ดำรงตำแหน่งนี้จนถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ.2365 สิริอายุได้ 54 ปี ด้วยเห็นนี้ ตารางรายนามสมุหกลาโหมฯ จาก "ทำเนียบเสนาบดี" <a href="http://www.mod.go.th/content/md/%20%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7">http://www.mod.go.th/content/md/</a> ดังกล่าวข้างต้นจึงน่าจะมีข้อผิดพลาด ในกรณีที่ระบุระยะเวลาดำรงตำแหน่งของเจ้าพระยามหาเสนา (บุญมา) ว่าเป็น พ.ศ.2348 ซึ่งไปซ้ำซ้อนกับ เจ้าพระยามหาเสนา (ปิ่น) อีกทั้งยังขัดแย้งกับข้อมูลในเอกสาร "สมุดราชบุรี พ.ศ.2468" รวมทั้งยังขัดแย้งกับเอกสารพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 2 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ที่ได้แสดงข้อความเอกสารที่เป็นลักษณะของการสรุปประโยคต่อเนื่องกันในช่วงแรกหลังจากที่รัชกาลที่ 2 ได้ขึ้นครองราชย์และแต่งตั้งข้าราชบริพาร ว่า

"...แล้วจึ่งพระราชทานตำแหน่งเสนาบดี มุขมนตรีซึ่งขาดตำแหน่งยังว่างอยู่ โปรดให้เลื่อนเจ้าพระยาพระคลังกุนขึ้นเปนเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ที่สมุหนายก เลื่อนเจ้าพระยายมราชบุญมาขึ้นเปนเจ้าพระยาอรรครมหาเสนาที่สมุหกลาโหม เลื่อนพระยาอนุชิตราชาน้อยซึ่งเกบหนังสือที่กาคาบได้มานั้นเปนเจ้าพระยายมราช ครั้งภายหลังมาเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ถึงแก่กรรมลง โปรดให้เจ้าพระยายมราชน้อย เลื่อนขึ้นเปนเจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายก จึ่งโปรดให้เจ้าพระยาศรีสุริยดาน้อยเปนเจ้าพระยายมราช ท่านทั้งสองนี้อยู่มาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วโปรดให้พระยากรโกษาข้าหลวงเดิมมาเปนพระยาพระคลัง ภายหลังมาพระยาพระคลังถึงแก่อนิจกรรมแล้วจึ่งโปรดให้พระยาศรีสุริยวงษ์จางวางเปนเจ้าพระยาพระคลัง เขาเรียกว่าเจ้าคุณโกษาสัง ครั้งเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบุญมาถึงอนิจกรรมแล้วโปรดให้พระยาราชบุรีแสงมาเปนเจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ์ที่สมุหพระกระลาโหม ครั้งถึงอนิจกรรมแล้ว จึ่งโปรดเลื่อนเจ้าพระยาพระคลังขึ้นเป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา อยู่ตลอดมาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ที่โกษานั้นว่าจนถึงปลายแผ่นดิน จึ่งได้ตั้งให้พระยาสุริยวงษมนตรีเปนที่โกษาเข้าเรียกว่าเจ้าคุณพระคลัง..."

จากรูปแบบสำนวนการเขียนโดยสรุปในช่วงแรกเช่นนี้ เป็นไปได้ในลักษณะเดียวกันกับที่ได้เขียนไว้ในเอกสาร "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เรียบเรียงโดย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำบุญนาค)" ที่ผมได้นำเสนอเปรียบเทียบการแต่งตั้งนายแสงเป็นพระยาสมุทรสงคราม ดังกล่าวแล้วในช่วงต้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันให้ผมมั่นใจได้ว่า ลำดับการรับราชการของท่านตามที่ผมได้พบและนำเสนอในบทความนี้จะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนเชื่อถือได้

และเมื่อเราพิจารณากันต่อในกรณีศึกเมืองทวาย ที่กล่าวว่า "เจ้าพระยายมราชได้เป็นกองหน้า" มาพิจารณาร่วมกับการแต่งตั้งของรัชกาลที่ 2 ที่ว่า "เลื่อนเจ้าพระยายมราชบุญมาขึ้นเปนเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาที่สมุหกลาโหม" ก็จะเห็นภาพการสิบทอดตำแหน่งของสมุหกลาโหมในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้ชัดเจนขึ้น โดยสามารถสันนิษฐานได้อีกเช่นกันว่า

  • เจ้าพระยามหาเสนา (บุญมา) คงจะชราภาพพอควร และอาจถึงแก่อนิจกรรมหลังจากได้รับตำแหน่งสมุหกลาโหมได้ไม่นาน เนื่องจากท่านเป็นพี่ชายต่างมารดาของเจ้าพระยามหาเสนา (บุญนาค) ผู้เป็นต้นสกุลบุนนาค ซึ่งถึงอสัญกรรมเมื่อปี พ.ศ.2348 สิริอายุ 68 ปี
    ดังนั้น ท่านบุญมาเมื่อคราวที่ได้รับตำแหน่งสมุหกลาโหมในปี พ.ศ.2352 จึงน่าจะชราภาพพอควร (ข้อมูลจากเอกสารเรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์, 2545)
  • พระยาราชบุรี (แสง) จึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสมุหกลาโหมสืบทอดต่อมา โดยมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ และได้ดำรงตำแหน่งมาจนถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ.2365 สิริอายุได้ 54 ปี
  • จากนั้นผู้สืบทอดตำแหน่งสมุหกลาโหมจึงเป็นเจ้าพระยาคลัง (สัง) หรือที่เรียนกว่า เจ้าคุณโกษา (สัง) โดยใช้ชื่อราชทินนามเป็นเจ้าพระยามหาเสนา (สังข์) ดังที่ได้ระบุไว้ในตารางทำเนียบเสนาบดีของกระทรวงกลาโหม นั่นเอง

จากการสืบค้นข้อมูลครั้งนี้ ส่งผลให้ผมเกิดข้อสันนิษฐานขึ้นมาว่า ท่านเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง) น่าจะเป็นข้าราชบริพารที่รับใช้ใกล้ชิดใต้เบื้องยุคลบาทรัชกาลที่ 2 มาตั้งแต่เยาว์วัย ตั้งแต่การเริ่มชีวิตวัยเด็กที่อัมพวา รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระชนมายุมากกว่าท่านแสง 1 ปี รัชกาลที่ 2 ทรงขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ท่านแสงได้เป็นมหาดเล็กวังหลวง อีกทั้งการรบทัพจับศึกในครั้งต่างๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ท่านแสงก็คงจะได้ตามเสด็จไปในการรบแทบทุกครั้ง เพียงแต่ไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เป็นหลักฐานเอกสาร ผมจึงทดลองเทียบเคียงสาระสำคัญและช่วงเวลา มาดังนี้

<tbody> </tbody>
ปี พ.ศ. เหตุการณ์ อายุของท่านแสง (ปี) ตำแหน่ง
2328 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรมาประทับที่พระราชวังเดิมธนบุรี และเกิดศึกพม่าครั้งที่ 1 โดยกรมพระวังบวรมหาสุรสิงหนายกทัพหลวงไปรับศึกพม่าที่กาญจนบุรี 17 มหาดเล็กวังหลวง*
2330 ทัพหลวงยกไปตีเมืองทวาย โดยกรมหลวงอิศรสุนทรทรงเป็นยกกระบัติทัพ 19 มหาดเล็กวังหลวง*
2331 กรมหลวงอิศรสุนทรทรงผนวช 20 มหาดเล็กวังหลวง*
2332 กรุงเทพฯ ยกทัพไปปราบเมืองรายาตานี 21 มหาดเล็กวังหลวง*
2335 ทัพหลวงยกไปตีเมืองทวาย 24 จมื่นสมุหพิมาน
2336 ยกทัพหลวงไปตีเมืองพม่า และทวายเป็นกบฏ 25 จมื่นสมุหพิมาน
และได้เลื่อนขึ้นเป็นพระราชวรินทร์
2346 กรมหลวงอิศรสุนทรต้องขึ้นไปจัดการพิพาทในวังหน้า เนื่องจากกรมพระราชวังบวรฯ ประชวรหนัก 35 พระราชวรินทร์
2349

อุปราชาภิเษกกรมหลวงอิศรสุนทรขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวร 38 พระยาสมุทรสงคราม
2352 รัชกาลที่ 1 สวรรคต 41 พระยาราชบุรี
2352 (3 เดือนหลังจาก ร.1 สิ้นพระชนม์) เกิดกรณีกาคาบข่าว กบฏกรมขุนกษัตรานุชิต จากนั้นกรมหลวงอิศรสุนทรได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 และได้ทรงแต่งตั้งเจ้าพระยายมราช (บุญมา) เป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหกลาโหม 41 พระยาราชบุรี
2352 (น่าจะเป็นช่วงปลายปี) รัชกาลที่ 2 โปรดให้พระยาราชบุรี (แสง) มาเป็นเจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ์ที่สมุหกลาโหม 41 เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์


ที่มา: พิเคราะห์จากเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามที่อ้างในเอกสารอ้างอิง
หมายเหตุ: * หมายถึงข้อสันนิษฐานส่วนตัว

เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ได้ดำรงตำแหน่งสมุหกลาโหมสืบมาจนถึงอสัญกรรมเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 12 ค่ำ ปีมะเมีย จ.ศ.1184 ตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2365 สิริอายุได้ 53 ปี 4 เดือน (ข้อมูลจากเอกสารเรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์, 2545) การยกทัพไปออกศึกครั้งสุดท้ายของท่านที่มีการบันทึกไว้ก็คือ ปี พ.ศ.2346 ก่อนถึงแก่อสัญกรรมเพียง 1 ปี ดังข้อความที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 2 เรียบเรียงโดย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ชำบุญนาค) ความว่า “ลุศักราช 1183 ปีมเสงตรีศกเปนปีที่ 13...สมเดจพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่า พม่าปลูกยุ้งฉางถ่ายเสบียงอาหารมาไว้ แล้วทำไร่นาคิดเปนการปี ในปีมเสงนี้คงจะมีราชการมาเปนแน่ แต่เดี๋ยวนี้เข้าระดูฝนแล้ว จะให้กองทัพเลิกกลับมาเสียคราวหนึ่งก่อน ให้เจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ์ พระยากลาโหมราชเสนา พระยามหาโยธา คุมคนแปดพันสองร้อยไปตั้งขัดทัพอยู่เมืองราชบูรี จึ่งมีตราให้กากองทัพกลับ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิ์พลเสพ ทราบท้องตราแล้วก็ยกทัพกลับเข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร”

ในที่สุดบทความชื่อ "เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์และประวัติที่หายไป" ครั้งนี้ก็ได้ดำเนินการสืบค้นข้อมูลและเขียนออกมาได้เสร็จสิ้น ผมขอขอบพระคุณเครือญาติสกุลวงศาโรจน์และสกุลที่เกี่ยวดองทุกท่านที่ได้อ่านบทความชิ้นนี้ หากมีข้อผิดพลาดประการใดในการเรียบเรียง วิเคราะห์และนำเสนอ ผมขอยอมรับคำตำหนิติเตียนจากทุกท่านด้วยความเต็มใจครับ

เอกสารประกอบการเรียบเรียง

  • กระทรวงกลาโหม (2555) “ทำเนียบเสนาบดี” <a href="http://www.mod.go.th/content/md/" style="font-size: small; line-height: 1.3em;">http://www.mod.go.th/content/md/</a>
  • คณะกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช“เรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์”. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ 2545.
  • โครงการเผยแพร่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ศาสนา และการเมือง “เจ้าครอกวัดโพธิ์ พระประวัติในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี และ พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. บรรณาธิการโดย อนันต์ อมรรตัย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ พี.เค. พริ้นติ้งเฮาส์ 2545.
  • เอกสารงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี จรัส วงศาโรจน์. มปท. 2536.
  • ทิพากรวงศ์ (ชำ บุญนาค), เจ้าพระยา “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2” ชำระต้นฉบับโดย นฤมล ธีระวัฒน์. บรรณาธิการโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์ 2548.
  • สมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-ไทย “สมุดราชบุรี: สมามรัฐพิพิธภัณฑ์ พ.ศ.2468”. หนังสือลำดับที่ 6 ของชุดหนังสือหายากในโครงการมิตรภาพญี่ปุ่น-ไทย บรรณาธิการโดย ฉลอง สุนทราวาณิชย์. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง 2550.
  • ส่วนวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง “เอกสารประวัติทหารไทย หลักการสงคราม เล่มที่ 1”. กรุงเทพฯ: สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง 2549.