ผู้ใช้:ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ/กระบะทราย

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

๑.   ประวัติความเป็นมา

๒.   เขตอำนาจศาล

๓.   แผนกคดีในศาล

๓.๑ แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

                - ประเภทคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของแผนกฯ

       ๓.๒ แผนกคดีภาษีอากร

                - ประเภทคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของแผนกฯ

       ๓.๓ แผนกคดีศาลแรงงงาน

                - ประเภทคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของแผนกฯ

       ๓.๔ แผนกคดีล้มละลาย

                - ประเภทคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของแผนกฯ

       ๓.๕ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

                - ประเภทคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของแผนกฯ

๔.   โครงสร้างผู้บริหารศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

๕.   กฎหมาย

๑. ประวัติความเป็นมา  

                   สืบเนื่องจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ กำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาว่าคดีที่ได้ ยื่นฎีกาเรื่องใดสมควรอนุญุาตให้ขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกา อันเป็นการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงระบบการฎีกาจากระบบสิทธิมาเป็นระบบอนุญาตในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของประเทศไทย และหากศาลฎีกาไม่อนุญาต ให้ฎีกาแล้วคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมถึงที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริงและรวดเร็วขึ้น

                    ดังนี้ เมื่อระบบการยื่นอุทธรณ์ฎีกาในคดีแพ่งทั่วไปได้เปลี่ยนแปลงแล้วจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระบบการยื่นอุทธรณ์ฎีกาของศาลชำนัญพิเศษทั้งหลายให้เหมือนกับคดีทั่วไปด้วย เพื่อจัดวางระบบการอุทธรณ์ฎีกาให้สอดคล้องกันทั้งประเทศ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีชำนัญพิเศษเป็นไปด้วยความรวดเร็วเป็นเอกภาพ ด้วยผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญและสอดคล้องกับระบบการอุทธรณ์ฎีกาคดีแพ่งที่มีการแก้ไขกฎหมายแล้ว

๒. เขตอำนาจศาล

                   พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ  พ.ศ. ๒๕๕๘ กำหนดให้จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษขึ้น โดยมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์มาจากศาลชำนัญพิเศษ อันได้แก่

                   - ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

                   - ศาลภาษีอากร

                   - ศาลแรงงาน

                   - ศาลล้มละลาย

                   - ศาลเยาวชนและครอบครัว

                   ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแบ่งออกเป็น ๕ แผนก ได้แก่ แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ แผนกคดีภาษีอากร แผนกคดีศาลแรงงงาน แผนกคดีล้มละลาย และแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ทั้งนี้ เริ่มเปิดทำการตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นไป อาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ตั้งอยู่ ณ ถนนราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

                  ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลภาษีอากร ศาลแรงงาน ศาลล้มละลาย และศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ ไม่ว่าปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นในศาลนั้นหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้เป็นที่สุด

๓. แผนกคดีในศาล                  

๓.๑ แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

                   เนื่องจากคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีความยุ่งยากซับซ้อน และมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งและคดีอาญาทั่วไป จึงได้มีการจัดตั้งแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศขึ้นในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เพื่อให้มีการพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยองค์คณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะ ทั้งนี้ เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น       

                - ประเภทคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของแผนกฯ    

                             (๑) คดีอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ คดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดทางการค้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๑ ถึง มาตรา ๒๗๕

                             (๒) คดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ คดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และคดีที่มีข้อพิพาทตามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ

                             (๓) คดีแพ่งหรือคดีอาญาเกี่ยวกับข้อพิพาทในการออกแบบวงจรรวม การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ชื่อทางการค้า ชื่อทางภูมิศาสตร์ที่แสดงถึงแหล่งกำเนิดของสินค้า ความลับทาง การค้า และการคุ้มครองพันธุ์พืช

                             (๔) คดีแพ่งเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ คดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าหรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ การให้บริการระหว่างประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยและนิติกรรมที่เกี่ยวเนื่อง คดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิต ทรัสต์รีซีส รวมทั้งการประกันภัยเกี่ยวกับกิจการดังกล่าว คดีแพ่งเกี่ยวกับการกักเรือ การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ

                             (๕) คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ                  

๓.๒ แผนกคดีภาษีอากร

                   คดีภาษีอากรในส่วนที่เป็นคดีแพ่งจะเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไป กล่าวคือ คดีภาษีอากรส่วนใหญ่จะเป็นคดีพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน อันเนื่องมาจากการประเมินหรือจัดเก็บภาษีอากรของเจ้าพนักงานของรัฐ นอกจากนี้ คดีภาษีอากรยังเป็นคดีที่มีลักษณะยุ่งยากทั้งในด้านตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และเป็นคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับ วิชาการด้านต่าง ๆ อาทิ เช่น หลักเศรษฐศาสตร์ ระบบเศรษฐกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น คดีภาษีอากรเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีอากรอันเป็นรายได้ของรัฐ จึงจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยผู้พิพากษา ที่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาทางด้านภาษีอากรโดยเฉพาะเพื่อให้การพิจารณาคดีภาษีอากรเป็นไปโดยรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรมแก่คู่ความมากที่สุด       

                - ประเภทคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของแผนกฯ

                             แผนกคดีภาษีอากรในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลภาษีอากร ในประเภทคดีแพ่ง ดังนี้

                             (๑) คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร

                             (๒) คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร        

                             (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร    

                             (๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร

                             (๕) คดีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจศาลภาษีอากร

               ๓.๓ แผนกคดีศาลแรงงงาน

               คดีแรงงานเป็นคดีที่มีลักษณะแตกต่างไปจากคดีแพ่งและคดีอาญาโดยทั่วไป เพราะเป็นข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานหรือเกี่ยวกับสิทธิของนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วย การคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวเนื่องกับข้อขัดแย้งดังกล่าวควรได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นผู้มีความรู้และความเข้าใจในปัญหาแรงงาน เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว       และเป็นธรรม       

                - ประเภทคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของแผนกฯ

                             แผนกคดีแรงงานในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอุทธรณ์คดีเกี่ยวกับการจ้างแรงงาน สิทธิหน้าที่ตามกฎหมายแรงงาน ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ที่ได้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น เช่น

                            (๑) คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง    

                            (๒) คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครอง แรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์        

                            (๓) กรณีที่จะต้องให้สิทธิทางศาลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครอง แรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์

                            (๔) คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือรัฐมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์

                            (๕) คดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างสืบเนื่องจาก ข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน

                            (๖) ข้อพิพาทแรงงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอให้ศาลแรงงานชี้ขาดตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์

               ๓.๔ แผนกคดีล้มละลาย

               แผนกคดีล้มละลายในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ. ๒๕๕๘ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คดีล้มละลายซึ่งมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไป ได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยองค์คณะผู้พิพากษาศาลอทุธรณ์ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยล้มละลายเป็นพิเศษ ทั้งนี้   เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ

                       - ประเภทคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของแผนกฯ

                       แผนกคดีล้มละลายในศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีล้มละลายตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย รวมไปถึงคดีแพ่งที่เกี่ยวพันกับคดีดังกล่าวด้วย ตลอดจนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอุทธรณ์คดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

               ๓.๕ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

                 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์คดดีชำนัญพิเศษ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ. ๒๕๕๘ มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัว โดยนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการอุทธรณ์แล้วแต่กรณีมาใช้บังคับโดยอนุโลม         เว้นแต่ใ่นกรณที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์

                   (๑) กำหนดให้ใช้วิธีการตามมาตรา ๗๔ (๑) และ (๕) แห่งประมวลกฎหมายอาญา

                   (๒) กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๔๒ เว้นแต่ในกรณีที่การใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นการพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปี        

                   (๓) กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๔๓ เว้นแต่การฝึกอบรมนั้นมีกำหนดระยะเวลาขั้นสูงเกินสามปี    

         (ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณา คดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๘๐)

         ทั้งนี้ ในคดีซึ่งห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้นถ้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป้นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษและอนุญาตให้อุทธรณ์      ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาได้    

         (ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธี พิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๘๑)

                       - ประเภทคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของแผนกฯ

                           แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวในคดีดังต่อไปนี้        

                             (๑) คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด    

                             (๒) คดีอาญาที่ศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้โอนมาตาม พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๙๗ วรรคหนึ่ง      

                             (๓) คดีครอบครัว

                             (๔) คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ  

                             (๕) คดีอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัว

                             (ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๐)        

๔. โครงสร้างผู้บริหารศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

                   พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหนึ่งคน และรองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษห้าคนในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

                   ให้คุณบุญเย็นเอาลิงค์มาใส่

๕. กฎหมาย

                 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ. ๒๕๕๘

                   พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ. ๒๕๕๙