ประวัติ พราหมณ์พิธี ในประเทศไทย


เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๓๕๒) ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นเมืองหลวงแห่งพระราชอาณาจักรโดยได้ทรง สร้างพระนครใหม่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความเหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงปลอดภัย และความเจริญรุ่งเรืองของพระนคร และด้วยสภาพของลำน้ำที่เป็นคุ้งเช่นนี้ทำให้ลำน้ำโอบรอบบริเวณที่จะสร้าง เป็นพระนครใหม่ทางด้านตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง และขุดคูทางด้านตะวันออกของพระบรมมหาราชวังให้มาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศเหนือและทิศใต้ คือ คลองรอบกรุง และสร้างกำแพงพระนครตามแนวคูที่ขุดขึ้น เพื่อให้เป็นพระนครที่แข็งแรงมั่นคง

               พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  โปรดให้รักษาแบบแผนของการสร้างกรุงแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีคือการ สร้างหลักเมืองขึ้นมาก่อน  ในวันอาทิตย์  เดือนหก  ขึ้น  ๑๐  ค่ำ  ตรงกับวันที่  ๒๑  เมษายน  พุทธศักราช  ๒๓๒๕  ฤกษ์เวลาย่ำรุ่งแล้ว  ๕๔  นาที  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ทำพิธียกเสาหลักเมือง  ชัยภูมิที่ตั้งหลักเมืองนั้น  อยู่ประมาณใจกลางพระนครใหม่  จากนั้นจึงสร้างพระบรมมหาราชวังเป็นศูนย์กลางของพระราชอำนาจ  และสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล  เป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระราชวังบวร  และสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่พระนครอยู่ใน พระบรมมหาราชวังชั้นนอก  สำหรับพื้นที่ระหว่างพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรฯ  ได้กำหนดให้เป็นทุ่งพระเมรุหรือท้องสนามหลวง  เพื่อใช้ในการประกอบพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมืองเช่น  พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์  พระราชพิธีแรกนาขวัญ  และพระราชพิธีอื่นๆ สำหรับพระนคร
               พุทธศักราช  ๒๓๒๖  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายขอบเขตของพระนครออกไปทางตะวันออก  ให้กว้างออกไปกว่าเก่า  โดยขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออก  ตั้งแต่บางลำพูนมาออกแม่น้ำเจ้าพระยาด้านใต้  เหนือวัดสามปลื้ม  (วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร)  พระราชทานชื่อว่าคลองรอบกรุง  แล้วขุดคลองหลอดจากคลองคูเมืองเดิม  ๒  คลอง  คือคลองหลอดวัดเทพธิดา  และคลองหลอดวัดราชบพิธ ออกไปบรรจบคลองรอบกรุงที่ขุดใหม่  และขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแกอีกคลองหนึ่ง  พระราชทานนามว่า  คลองมหานาค  เป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนครจะได้ลงเรือ  ไปประชุมเล่นเพลงและสักวาในเทศกาลฤดูน้ำเหมือนเมื่อครั้งกรุงเก่า และวัดสะแกนั้น    พระราชทานนามใหม่ว่า  วัดสระเกศ      เมื่อได้ขยายเมืองจากการกำหนดเขตเมืองใหม่  ด้วยการขุดคลองรอบกรุง  (คลองบางลำพู - คลองโอ่งอ่าง)  ในพุทธศักราช  ๒๓๒๖  ทำให้กรุงรัตนโกสินทร์ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ได้มีการกำหนดจุดศูนย์กลางของพระนครขึ้นเรียกว่า  “สะดือเมือง”  และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เป็นที่ตั้งของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ 
              พุทธศักราช ๒๓๒๗ พระครูสิทธิชัยกระต่ายสันนิษฐานว่าน่าจะมีตำแหน่งหลวงสิทธิชัยบดีเจ้ากรม อยู่ในฝ่ายพราหมณ์พฤฒิบาศ ซึ่งเป็นพราหมณ์ฝ่ายช้าง เป็นพราหมณ์มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขอตั้ง เสาชิงช้า (ภาพที่ ๑) ขึ้นตรงบริเวณที่ถือว่าเป็นใจกลางกรุงเทพมหานคร หรือสะดือเมือง สำหรับประกอบพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายตามโบราณราชประเพณีของพราหมณ์มาแต่เดิมจึงโปรดเกล้าให้สร้างเทวสถาน สำหรับพระนครและเสาชิงช้า เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๓๒๗   เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ประกอบด้วยโบสถ์ ๓ หลังคือ
              สถานพระอิศวร (โบสถ์ใหญ่) ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูน ไม่มีพาไล โบสถ์หลังนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าโบสถ์หลังอื่นทุกหลัง มีเทวรูปพระอิศวรเป็นพระประทาน (ภาพที่ ๒) ทำด้วยสำริดประทับยืนขนาด ๑.๘๗ เมตร ปางประทานพร โดยยกพระหัตถ์ ๒ ข้าง บริเวณโดยรอบประกอบด้วยเทวรูปต่าง ๆ และเครื่องมงคลรูปสังข์ กลศ กุมภ์อยู่ภายในวิมาน ใต้รูปวิมานมีปูนปั้นเป็นรูปเมฆและโคนันทิ ตรงกลางโบสถ์มีเสาชิงช้า สูง ๒.๕๐ เมตร เรียกว่าเสาหงส์ ใช้สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์ในพระราชพิธีตรีปวาย  ในวันแรม ๑ ค่ำเดือนยี่ (พระอิศวร พระอุมา พระพิฆเนศ) ในวันแรม ๕ ค่ำเดือนยี่ (พระนารายณ์) และในวันแรม ๓ ค่ำเดือนยี่ (พระพรหม)  
               สถานพระพิฆเนศวร (โบสถ์กลาง) สร้างด้วยอิฐถือปูนมีพาไลทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ไม่มีเทวรูปปูนปั้นเหมือนสถานพระอิศวร ภายในโบสถ์มีเทวรูปพระพิฆเนศวร ๕ องค์ ทำด้วยหินคือ หินแกรนิต ๑ องค์ หินทราย ๑ องค์ หินเขียว ๑ องค์ ทำด้วยสำริด ๑ องค์ ประดิษฐานบนเบญจา ประทับนั่งทุกองค์ องค์ที่มีขนาดสูง ๑.๐๖  เมตร เป็นประธาน ประดิษฐานอยู่ด้านหน้า อีก ๔ องค์เป็นเทพบริวาร
              สถานพระนารายณ์ (โบสถ์ริม) สร้างด้วยอิฐถือปูนมีพาไลทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในทำชั้นยกตั้งบุษบก ๓ หลัง หลังกลางเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ ทำด้วยสำริด เทวรูปที่ประทับยืนบนบุษบกอีก ๒ ข้าง คือพระลักษมีและพระมเหศวร  (ภาพที่ ๓) ตรงกลางโบสถ์มีเสาหงส์ สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์เช่นเดียวกับโบสถ์ใหญ่
              เทวรูปต่าง ๆ ในเทวสถานนั้นสันนิษฐานว่าชลอมาจากสุโขทัย โดยเฉพาะเทวรูปที่เป็นประทานในโบสถ์นั้นน่าจะเป็นเทวรูปสมัยสุโขทัย เนื่องจากมีลักษณะใกล้เคียงกับสุโขทัย
               ส่วนการสร้างเสาชิงช้านั้นเพื่อเป็นคติในการทำบ้านเมืองให้แข็งแรง ใช้ในพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย  มีการบูรณะหลายครั้ง ล่าสุดบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑
               พุทธศักราช ๒๓๒๘ มีการสร้างหอพราหมณ์ ซึ่งเป็นหอสำหรับพราหมณ์ประกอบพิธีตามลัทธิในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและ พระราชพิธีอื่น ๆ เกี่ยวกับลัทธิพราหมณ์  สันนิษฐานว่าการสร้างครั้งนั้นคงสร้างด้วยไม้เป็นหอเล็ก ๆ เพื่อตั้งเป็นหอสำหรับพราหมณ์ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อครั้งสร้างกรุงแล้วเสร็จ เมื่อเสร็จพิธีแล้วคงมิได้รื้อถอน คงเป็นที่สำหนับเก็บเทวรูปไว้สำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในราชกาล อื่น ๆ  และคงใช้เป็นที่หัวหน้าพราหมณ์ผู้ใหญ่เช่นพระมหาราชครู ไปนั่งบริกรรมตามลัทธิ ภายหลังได้ตั่งชื่อนี้ว่า หอเวทวิทยาคม ดัง มีปรากฏนามในหนังสือทำเนียบนามภาค ๑ ฉบับหอสมุดวชิรญาณ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ว่า หอเวทวิทยาคมเป็นหอพราหมณ์ตั้งอยู่ริมโรงเรียนราชกุมาร หรือ เยื้องโรงกษาปณ์เก่าด้านเหนือ ชิดมุมกำแพงแก้วด้านตะวันออก มุมทิศเหนือของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ปัจจุบันด้านหลังตึกมีที่ทำการส่วนหนึ่งของสำนักพระราชเลขาธิการ ปัจจุบันได้มีการรื้อถอนเพื่อเป็นลานเข้าออกของตึกที่ทำการสำนักพระราชวังละ สำนักราชเลขาธิการที่สร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๑๓  ปัจจุบัน หอเวทวิทยาคม เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ จัดเป็นห้องสมุดเฉพาะกิจ เก็บรวบรวมสรรพวิชาการต่าง ๆ หนักไปทางวรรณคดี พิธีกรรม ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี ด้วยไมโครฟิลม์ สไลด์ และยังเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บำเพ็ญกุศล แสดงพระธรรมเทศนา ปาฐกถา อภิปรายสนทนา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและกันตามโอกาส อันควร เพื่อให้หอเวทวิทยาคมเป็นศูนย์ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และรวบรวมสรรพวิทยาการด้านประเพณีและพิธีกรรมแห่งหนึ่งของประเทศไทย
               ความสำคัญของพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ในเรื่องการยกฐานะบุคลให้เป็นดั่งสมมติ เทพ เป็นการแสดงความสิทธิอันชอบธรรมในการได้มาซึ่งพระราชอำนาจของราชวงศ์ใหม่ เห็นได้จากการประกอบพระราชพิธีการขึ้นครองราชย์ถึง ๒ ครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กล่าวคือ เมื่อครั้งสิ้นกรุงธนบุรี พระองค์ทรงให้พราหมณ์ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นอย่างเร่งด่วน  ทั้งที่ยังอยู่ในระหว่างการสร้างกรุงและติดพันธ์กับสงคราม เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า
                “ถึง ณ วันจันทร์ เดือน ๘ ปฐมาสาธ ขึ้น ๑ ค่ำ ให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป...ชีพ่อพราหมณ์ถวายตรีสังข์หลั่ง มงคลธารา...พระราชครูปโรหิตาจารย์ก็กราบบังคมทูลถวายไอสุริยราชสมบัติ และเครื่องเบญจพิธราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ อัญเชิญเสด็จขึ้นปราบดาภิเษกเสวยสวรรคาธิปัตย์ ถวัลย์ราชดำรงแผ่นดินสืบไป” 
                เมื่อบ้านเมืองและพระบรมหาราชวังแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงให้พราหมณ์ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มรูปแบบขึ้นเพื่อเป็นการตอกย้ำการได้มาซึ่งพระราชอำนาจโดยชอบธรรมในการครองราชย์ ในการนี้พระองค์โปรดให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ๔ ท่านซึ่งเป็นผู้รับแบบแผนพระราชประเพณีครั้งปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี มีพระยาเพชรพิชัยเป็นประธาน ไปประชุมปรึกษาหารือกับพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ สมเด็จพระสังฆราช ให้ช่วยกันค้นคัมภีร์และแบบแผนเก่า ๆ มาจัดทำเป็นตำราว่าด้วยระเบียบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นไว้สำหรับพระ นคร โดยยึดแบบแผนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งรัชสมัยพระเจ้าอุทุมพรเป็นหลักตำรา พระราชพิธีว่าด้วยบรมราชาภิเษกนี้ใช้เป็นแบบแผนในการพระราชพิธีสืบต่อมา การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ได้มีพราหมณ์เข้าร่วมถวายการประกอบพระราช พิธีหลายคน เช่น พระครูอัษฎาจารย์ พระมหาราชครูพิธี พระมหาราชครู พระยาราชโกศา พระหมอเฒ่า หลวงราชวงศา หลวงศิวาจารย์ หลวงราชมุนี หลวงโลกทีป หลวงสิทธิชัย พราหมณ์ (มีชื่อ) ขุนรักษ์นารายณ์ ขุนราชธาดา และขุนหมื่น (มีชื่อ)   พราหมณ์ที่เข้ามาประกอบพิธีนี้มีคุณวุฒิและวัยวุฒิอย่างสูง ปรากฏตำแหน่งข้างต้นส่วนใหญ่มาจากเมืองนครศรีธรรมราชทั้งหมดทั้งมวล เพื่อสมบูรณ์ของพระราชพิธีและการขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์แบบและชอบธรรม
               ในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๖๗ – ๒๓๙๔) ปรากฏเรื่องราวของพราหมณ์ชื่ออัจจุตะนันนำเดินทางมาจากรามนครเมืองพาราณาสี สู่กรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๓   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงให้ความสนใจพราหมณ์ท่านนี้ โปรดให้ผู้รู้ซักถามเรื่องราวเกี่ยวต่าง ๆ  เช่นศาสนาพุทธและธรรมเนียมต่างรวมถึงพระราชพิธีสิบสองเดือนในมัชฌิมประเทศ แล้วจดบันทึกไว้ ต่อมาภายหลังสมเด็จกรมฯดำรงราชานุภาพทรงได้บันทึกนี้จากพราหมณ์มณฑลภูเก็ต ใน พ.ศ. ๒๔๗๑ ทรงให้พราหมณ์ปัญจมทีศวร สุพรหมัณยศาสตรี (ป.ศาสตรี) ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตตรวจทาน ปรากฏว่า เรื่องราวที่พราหมณ์อัจจุตะนันนำเล่านั้น มีหลายเรื่องเป็นเท็จ หลายเรื่องบิดเบือนความจริง
                “...ว่าเป็นคำลวงของพราหมณ์อัจจุตะนันนำ เพราะได้อ่านหนังสือภาษาอังกฤษรู้เรื่องว่าที่เมืองพาราณาสีไม่มีใครนับถือ ศาสนาพุทธ พากันถือศาสนาพราหมณ์เสียหมดแล้วช้านาน แต่นั่นก็ชอบเอาเรื่องไปเป็นภาษิตในเมื่อเห็นหนังสือเรื่องอันใดไม่น่าเชื่อ ออกอุทานว่า “เป็นเรื่องอัจจุตะนันนำ” ดังนี้ และไม่มีผู้ใดถือว่าคำให้การพราหมณ์อัจจุตะนันนำนั้นมีแก่นสารถึงการอ่านแก่ นั้นมา” 
                สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดให้พราหมณ์ปัญจมทีศวร สุพรหมัณยศาสตรีตรวจสอบเรื่องราวใหม่ทั้งหมด ให้เขียนเปรียบเทียบตีพิมพ์ในหนังสือวชิระญาณวิเศษ ฉบับที่ ๒๑ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๙ และรวมเล่มในหนังสือคำให้การอัจจุตะนันนำ กับคำอธิบายของพราหมณ์       ป.สุพรหมัณย ศาสตรีใน พ.ศ. ๒๔๗๒ นับว่าเป็นการสืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ครั้งสำคัญ ในรัชกาลปัจจุบันยังปรากฏงานวรรณกรรมเรื่องละเด่นลันไดของพระมหามนตรี (ทรัพย์) เป็นเรื่องชาวฮินดูเดินทางเข้ามาอาศัยบริเวณเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานคร  (ราวรัชกาลที่ ๒ – ๓) แสดงให้เห็นบรรยากาศของชุมชนพราหมณ์ที่ประกอบด้วยพราหมณ์-ฮินดู หลายเชื่อชาติในยุคนี้ได้พอสมควร 
               รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ (พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๑๑) ถึงแม้พระองค์ทรงเป็นผู้นำทางศาสนาพุทธที่สำคัญ แต่ก็ไม่ได้ยกเลิกพระราชพิธีเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ แต่ทรงใช้วิธีเจือพิธีกรรมทางศาสนาพุทธเข้าไปในพระราชพิธีสำคัญเนื่องใน ศาสนาพราหมณ์ทั้งทางด้านการปกครอง และพระราชพิธีสิบสองเดือน  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชบรรยายในเรื่องนี้ว่า
                “...การพิธีทั้งปวงนั้น ก็ย่อมเลือกเฟ้นแต่การสุจริตในไตรทวาร ไม่รับลัทธิซึ่งเป็นทุจริตชองพวกพราหมณ์ฮินดูบางพวกซึ่งมีลัทธิร้ายกาจ เช่นฆ่าสัตว์บูชายัญเป็นต้น...และการพระราชพิธีอันใดซึ่งมีแต่พิธีพราหมณ์ อย่างเดียว ก็ย่อมเพิ่มเติมตามพระราชกุศลเป็นส่วนทานมัย ศีลมัย ภวนามัย เจือปนเข้าไปในพระราชพิธีนั้นยกเป็นเหตุผล การบูชาเซ่นสรวงเทพยดา พระอิศวร และพระนารายณ์เป็นต้น เปลี่ยนแปลงลงไปเป็นปลายเหตุ ทำไปตามเคย   ตกอยู่ในเคยทำมาแล้วก็ทำดีกว่าไม่ทำ และการที่นำนั้นก็ไม่เป็นการมีโทษอันใด และไม่เปลืองเบี้ยหอยอะไรมากนัก...” 
                รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓)  สืบเนื่องจากพราหมณ์จากอินเดียรัฐปัญจาบเข้ามาค้าขายผ้าในกรุงเทพฯ และบางส่วนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารประกอบกิจการรับจ้างและรับราชกาล รวมถึงพราหมณ์ จากอินเดียเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมาก ชาวอินเดียเหล่านั้นได้ร่วมกันสร้างศาลาเล็ก ๆ เรียกว่า ศรีมรีอันนัม สำหรับประดิษฐานเทวรูปพระอุมาเทวีใน พ.ศ. ๒๔๒๒ ณ ถนนสีลม ชาวบ้านสมัยนั้นนิยมเรียกเทวสถานที่แห่งนี้ว่า วัดแขกสีลม สมัย ต่อมาได้มีการนำเทวรูปองค์ต่าง ๆ เข้ามาจากอินเดียประดิษฐาน ณ เทวสถานแห่งนี้ วัดแขกสีลมได้รับการสร้างต่อเติมเรื่อยมา  ปัจจุบัน มีพิธีสำคัญ เป็นเทศกาลประจำปีเรียกว่า ดูเซรา หรือ นวราตรี จะมีพิธีบูชาเทพเจ้า ๑๐ วัน ๑๐ คืน    ในคืนสุดท้ายมีการอัญเชิญเทวรูปพระอุมาออกมาแห่บริเวณถนนสีลมด้วย  ส่วนพราหมณ์ชาวปัญจาบนั้นแรกเริ่มก็ปฏิบัติศาสนากิจที่บ้านบริเวณวังบูรพา ร่วมกับชาวซิกข์ เมื่อมีจำนวนสาวกมากขึ้นจึงแยกไปปฏิบัติศาสนากิจ โดยไปสร้างฮินดูสมาชขึ้นที่บริเวณใกล้กับเสาชิงช้า (ติดกับโรงเรียนเบ็ญจมราชานุสรณ์) เพื่อปฏิบัติศาสนกิจตามศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู
               รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๗๗) เกิดวิกฤตการณ์ทางการคลัง เงินในท้องพระคลังร่อยหล่อ อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจทั่งโลกตกต่ำ จึงมีความจำเป็นจะต้องลดรายจ่ายของราชสำนักลง หนึ่งในวิธีการคือลดและเลิกพระราชพิธีที่ไม่สำคัญไป เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ (พ.ศ. ๒๔๗๕) ได้มีการยกเลิกกรมพิธีพราหมณ์ กระทรวงวัง จึงส่งผลถึงพราหมณ์ในราชสำนักโดยตรง  มีการลดจำนวนพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีในราชสำนักเหลือเพียง ๕ ตำแหน่ง  และในปี พ.ศ. ๒๕๗๗ มีการยกเลิกพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย พิธีกรรมที่สำคัญสำหรับพระนครไปเนื่องจากเป็นพระราชพิธีที่สิ้นเปลืองเป็น อย่างมาก
               รัชกาลปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๔๘๙ – ปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าให้แต่งตั้งพราหมณ์ในพระราชสำนักขึ้นมาเป็น ๙ ตำแหน่ง  ทรงพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้พราหมณ์ปฏิบัติในพระราชพิธีสำหรับพระองค์ และประเทศชาติต่อไป โดยให้ขึ้นตรงสำนักพระราชวังและปฏิบัติศาสนกิจที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้เพื่อฟื้นฟูโบราณพระราชประเพณีตามธรรมเนียมพระราชประเพณีโบราณ อาทิ พระราชพิธีบรมราชิภิเษก พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช   พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยา (ศรีสัจจาปานกาล) พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรง ๓ ฤดู พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระราชพิธีสมโภชหลักเมือง พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชและเทศกาลตรุษ พระราชพิธีรัชดาภิเษก พระราชพิธีสมโพชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ปี และ ๒๒๒ ปี พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระราชพิฑีกาญจนาภิเษก พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พระราชพิธีสถาปนาพระนามาภิไธยและพระอิสริยยศพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชพิธีสมโภช ๓ วัน พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ นอกจากนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พราหมณ์ประกอบพระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปที่สำคัญ ๆ พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ หิรัญบัฏ พิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระสุริโยทัยและอดีตพระมหากษัตริยาธิราชพระองค์อื่น ๆ  ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภ์ราชานุเคราะห์ในงานพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย (แต่ปัจจุบันจัดไว้เป็นพิธี) อันเป็นพิธีสำคัญทางศาสนาพราหมณ์ ซึ่งประกอบขึ้นเป็นประจำทุกปีประมาณเดือนธันวาคม – มกราคม 

พราหมณ์ในพระราชสำนัก

            พราหมณ์ในอินเดียที่กล่าวในข้างต้นนั้นต่างกับพราหมณ์ในประเทศไทยหลาย ประการ  เช่นไม่เข้มงวดในระบบวรรณะ ไม่ได้วางตนว่าอยู่ในวรรณะสูงกว่าแต่อย่างใด เป็นต้น โดยเฉพาะพราหมณ์ในราชสำนักไทยมีหน้าที่ถวายงานแด่พระมหากษัตริย์ สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม รวมถึงสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชนเป็นหลัก คุณสมบัติของพราหมณ์ในพระราชสำนักในประเทศไทย ได้สรุปถึงคุณสมบัติสำคัญ ๓ ประการดังนี้
           ๑.       มีเชื่อสายเป็นพราหมณ์ การสืบเชื่อสายของกลุ่มพราหมณ์ในราชสำนักมีข้อกำหนดผ่อนปลนกว่าพราหมณ์ในอินเดียที่กำหนดว่า ผู้ที่จะบวชเป็นพราหมณ์จะต้องสืบสายเลือดจากบิดาและมารดาอยู่ในวรรณะพราหมณ์เท่านั้น สำหรับประเทศไทยเนื่องจากมีจำนวนพราหมณ์ค่อนข้างจำกัด จึงกำหนดเพียงแค่มีบิดาหรือมารดาข้างใดข้างหนึ่งมีเชื่อสายพราหมณ์ หรือทั้งสองฝ่ายก็ได้คือ เชื่อสายทางบิดา ได้แก่ ชายที่มีปู่ทวด ปู พ่อ ลุง อา พี่หรือน้องชายเป็นพราหมณ์มาก่อน และเชื้อสายทางมารดา ได้แก่ ชายที่มีคาทวด ตา ลุง น้า พี่ชายหรือน้องชายเป็นพราหมณ์มาก่อน ผู้ทีจะขอบวชเป็นพราหมณ์ต้องแสดงหลักฐานการสืบเชื่อสายให้ชัดเจน เช่นมีหนังสือรับรองว่ามีญาติเป็นพราหมณ์มาก่อน
           ๒.     ได้รับความเห็นชอบจากพราหมณ์ โดยมีประทานครูพราหมณ์เป็นผู้คัดเลือก โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ๔ ข้อคือคือ (๑) ต้องมีชาติวุฒิมีเชื่อสายพราหมณ์โดยกำเนิด (๒) วัยวุฒิต้องเหมาะสมสำหรับการบวช แต่ไม่กำหนดตายตัวว่าอายุเท่าใด จะพิจารณาความเหมาะสมเป็นเกณฑ์ คุณวุฒิ (๓) ต้องมีคุณวุฒิถึงพร้อมคือมีความประพฤติดี ไม่มีประวัติเสียหายมาก่อน (๔) ถึงพร้อมด้วยปัญญาวุฒิ พิจารณาในความรู้ความสามารถในการอ่าน เขียน สวด และศึกษาในคัมภีร์พระเวท
           ๓.      เป็นผู้มีความยินดีสมัครใจ
                 เมื่อมีคูณสมบัติตามที่กำหนด พราหมณ์ผู้ใหญ่จะมอบสายสิญจน์รับพราหมณ์ใหม่ หรือทวิชาติ ซึ่งหมายถึงการเกิดครั้งที่ ๒ ซึ่งการบวชพราหมณ์ไม่ได้มีกฎปฏิบัติจำนวนมากเหมือนกับการบวชพระ โดยถือศีล ๕ เป็นศีลปฏิบัติ สามารถแต่งกายสุภาพเหมือนผู้ชายทั่วไปในเวลาปกติ และสวมเครื่องแบบเป็นเสื้อราชปะแตน (ราชประทาน) และโจงกระเบนสีขาวในยามประกอบพิธีกรรม รวมถึงสามารถมีภรรยาเพื่อมีทายาทสืบตระกูลพราหมณ์ต่อไปได้ กระนั้นก็ยังมีข้อห้ามบางประการที่พราหมณ์ไม่สามารถทำได้ อาทิ ห้ามรับประทานเนื้อวัว ปลาไหล และงูต่างๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบริวารของเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และห้ามตัดแต่งผม ต้องไว้ผมยาวแล้วมุ่นเป็นมวยไว้ที่ท้ายทอย เพราะตามหลักศาสนาเชื่อว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของเทวดา เมื่อเป็นพราหมณ์แล้วมีหน้าที่สำคัญดังนี้ ต้องได้รับการศึกษาขั้นสูง ให้การศึกษาแก่ผู้อื่นต่อไป  ทำพิธีตามลัทธิเพื่อตนเองและผู้อื่น ทำบุญให้ทาน และรับบุญรับทานจากผู้มีจิตศรัทธา
               หน้าที่ของพราหมณ์ในราชสำนักนั้นมีข้อแตกต่างออกไปในแต่ละยุคสมัย กล่าวโดยสรุปแล้วสามารถจำแนกได้ดังนี้ เป็นให้กับพระมหากษัตริย์ ถวายการใช้ศาสตราวุธ และเวทย์มนต์ต่าง ๆ เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ถวายคำแนะนำในเรื่องการบริหารบ้านเมือง ทำนายดวงชะตาและเหตุการณ์บ้านเมือง ประกอบพิธียัญญะเพื่อพระมหากษัตริย์ อำนวยความสวัสดีในการรบ เป็นผู้พิพากษา ตัดสินคดีความ และเป็นราชทูต
       ประเภทของพราหมณ์ในราชสำนัก  
               พราหมณ์ในพระราชสำนักมีการแบ่งประเภทตามความชำนาญในด้านต่าง ๆ ตามความรู้ในคัมภีร์พระเวทตามศาสนาพราหมณ์ดังนี้ 
               ๑.       พราหมณ์โหรดา เป็นพราหมณ์ที่มีความชำนาญในคัมภีร์ฤคเวท ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทำนายทายทักเรื่องราวต่าง ๆ รวมถึงโชค ลาง และฤกษ์งามยามดี
               ๒.     พราหมณ์อรรถวรรยุ เชี่ยวชาญคำภีร์ยชุรเวท
               ๓.      พราหมณ์อุทาคาดา เชี่ยวชาญคัมภีร์สามเวท ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสดุดีสังเวย และเครื่องดนตรีสำคัญในพระราชพิธี
               ๔.      พราหมณ์พรหมหมัน เชี่ยวชาญคัมภีร์อาถรรพเวท               
               พราหมณ์ในราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยามีการแบ่งประเภทของพราหมณ์ตามความเชี่ยว ชาญในการปฏิบัติหน้าที่ สามารถแบ่งได้ดังนี้ 
               ๑.       พราหมณ์โหรดาจารย์ ทำหน้าที่บูชา และทำนายโชคลาง ฤกษ์ เป็นต้น
               ๒.     พราหมณ์อุทาคาดา ทำหน้าที่สวดและขับดุษฎีสังเวย หรือสวดคาถาในพระราชพิธี
               ๓.      พราหมณ์อรรถธวรรยุ   ทำหน้าที่ประกอบพิธี
               ๔.      พราหมณ์พรหมา คือผู้เชี่ยวชาญในการประกอบพิธีกรรม และคำสอนของศาสนา
              โดยแบ่งหน้าที่ในราชสำนักดังนี้. 

1 พราหมณ์ในศาล ๒ พราหมณ์ผู้ประกอบพระราชพิธี ๓ พราหมณ์ในกรมคชบาล

              พราหมณ์ในราชสำนักกรุงรัตนโกสินตอนต้นแบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ  

๑ พราหมณ์พระราชพิธี ทำหน้าที่สืบทอดธำรงรักษาและประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ในราชสำนัก คือพวกที่มาจากนครศรีธรรมราช ๒ พราหมณ์โหสดาจารย์ หรือพราหมณ์ปุโรหิต ทำหน้าที่เป็นโหรประจำราชสำนักถวายฤกษ์ยามที่ดีในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ รวมทั้งถวายคำทำนายทางโหราศาสตร์ ๓ พราหมณ์พฤฒิบาศ คือพราหมณ์ที่ทำหน้าที่ดูแลกรมช้าง และพิธีกรรมเกี่ยวกับการคล้องช้าง มาจากเมืองเขมร

                หน้าที่ของพราหมณ์ในราชสำนักคือการรักษาวัฒนธรรมในการประกอบพระราชพิธีถวาย ตามโอกาสต่าง ๆ โดยงานพระราชพิธีจะแบ่งออกเป็น ๒ รูปแบบ คือ งานประจำปี ได้แก่ งานเฉลิมพระชนมพรรษา วันฉัตรมงคล วันพืชมงคล การเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต เป็นต้น และงานตามวาระ อาทิ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี  พระราชพิธีถวายเพลิงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น แต่จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมส่งผลให้พิธีกรรมของพราหมณ์ในราชสำนักเปลี่ยนไป ในปัจจุบันการทำหน้าที่ของพราหมณ์ในราชสำนักขยายขอบเขตไปสู่สังคมที่กว้าง ขึ้น ไม่จำกัดอยู่แต่ในราชสำนักเท่านั้น เช่นงานที่ถูกเชิญมาจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น วางศิลาฤกษ์ ยกเสาเอก งานวันเกิด งานตัดจุก ตั้งศาลพระภูมิ ซึ่งจะมีเงินทักษิณามอบให้พราหมณ์ตามศรัทธา เทวสถานโบสถ์พราหมณ์มีบทบาทในการตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มคนใน สังคม โดยเฉพาะการตอบสนองทางด้านจิตใจให้กับผู้คนในสังคมเมืองในยุคแห่งการแข่งขัน เข้มข้น เป็นการปรับบทบาทของพราหมณ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมในยุคที่กำลัง เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 

อ้างอิง บำรุง คำเอก. รายงานการวิจัยเรื่องอิทธิพลของศาสนา พราหมณ์-ฮินดูในรัชสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น.ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดีได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยและการพัฒนามหาวิทยาลัย ศิลปากร, มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐. สุพาภรณ์ ไผ่แก้ว. “สถานะและบทบาทของพราหมณ์ในราชสำนักในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช (พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๓๕๒).” สารนิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตย์(ประวัติศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๙. ศิลปากร, กรม. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. สารานุกรมพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรอบ ๖๐ ปีแห่งการครองราชย์. กรุงเทพฯ : กรมศิลากร. ๒๕๕๑. พงศาดิศรมหิป, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่น. คำให้การอัจจุตะนันนำ กับคำอธิบายของพราหมณ์ ป.สุพรหมัณย ศาสตรี. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ. ๒๔๗๒. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. ๒๕๑๔. จารึกหน้าวัดแขกสีลม, บันทึกเมื่อ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๒ ขอขอบคุณ วาทิน ศานติ์ สันติ ศศบ.ประวัติศาสตร์



โดย พราหมณ์พิธี วิภีษณพราหมณ์ พราหมณ์ดอทเน็ต เว็บไซต์ข้อมูลพราหมณ์ไทย