ประวัติวัดศาลาลอย (พระอารามหลวง) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

ที่ตั้ง

     วัดศาลาลอย   ตั้งอยู่เลขที่  ๔๙๐  ถนนหลักเมือง  ตำบลในเมือง   อำเภอเมือง  จังหวัดสุรินทร์   สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย   เนื้อที่ตั้งวัด   ๑๒  ไร่   ๓  งาน   ๘๓  ตารางวา   โฉนดที่ดินเลขที่  ๓๐๓๙   ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองชั้นนอกด้านตะวันออก   ปัจจุบันมี “ พระธรรมโมลี “ (ดร.พระมหาทองอยู่  ญาณวิสุทฺโธ  พิศลืม  น.ธ.เอก,ป.ธ. ๙, พ.ม.,พธ.บ. , M.A.,Ph.D.) เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์  เป็นเจ้าอาวาส

อาณาเขต

- ทิศเหนือติดกับถนนวิภัชนุสรณ์

- ทิศไต้ติดกับที่ดินเอกชน หนองโตนดและถนนหลักเมือง

- ทิศตะวันออกติดกับถนนเทศบาล ๔

- ทิศตะวันตกติดกับถนนเทศบาล ๒

ความเป็นมา

     วัดศาลาลอย เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในตัวเมืองจังหวัดสุรินทร์ ก่อสร้างเมื่อใด ใครสร้างปรารภอะไรจึงสร้างไว้ ไม่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่พอเป็นหลักฐานได้ แต่จากการบอกเล่าของคนรุ่นก่อน ๆ และเล่าสืบทอดกันต่อ ๆมา พอเรียบเรียงความได้ดังนี้ วัดศาลาลอยเป็นวัดโบราณ สร้างมานานแล้ว อายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี จากประวัติเมืองสุรินทร์บันทึกไว้ว่า พระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์ (สุ่น) เจ้าเมืองคนที่ ๔ ครองเมืองสุรินทร์เมื่อปีมะแม จุลศักราช ๑๑๗๒ พุทธศักราช ๒๓๔๕ รัตนโกสินทร์ศก ๓๐ ถึงปีกุน จุลศักราช ๑๒๑๓ พุทธศักราช ๒๓๙๔ รัตนโกสินทร์ศก ๗๐ ภรรยาของท่านเจ้าเมืองคือนางดาม พร้อมบุตรธิดาและบริวารประกอบอาชีพเกษตรกรรมบริเวณที่เรียกภาษาถิ่นว่า เวียลเวง (เวียล แปลว่า ทุ่ง, เวง แปลว่า ยาว, เวียลเวง แปลว่า ทุ่งยาว) ซึ่งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านตะวันออกของวัด ในปัจจุบันนี้คือบริเวณที่ตั้งบ้านพักผู้พิพากษา โรงเรียนสิรินธร โรงเรียนสุรวิทยาคาร โรงเรียนอนุบาลสุรินทร์ โรงเรียนเมืองสุรินทร์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ โรงพยาบาลสุรินทร์ และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนอกจากนี้นางดามพร้อมด้วยบุตรธิดาและบริวารยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมประเภทไร่ ณ บริเวณสนามบิน แถวสนามกีฬาศรีณรงค์ในปัจจุบัน นางดามเป็นคนใจบุญ ค้ำจุนอุปถัมภ์วัดและถวายความอุปการะพระภิกษุสามเณรวัดศาลาลอยเป็นประจำ พร้อมกันนั้นก็ได้ฝากบุตรหลานและบริวารให้ดูแลบำรุงวัดตลอดมา 

การปกครอง

     วัดศาลาลอย  มีเจ้าอาวาสปกครองดูแลพระภิกษุสามเณรติดต่อกันมาหลายรูป   เท่าที่จดจำจากการเล่าสืบต่อกันมา   มีดังนี้ 

- พระอธิการยุง ระหว่างปี ๒๔๔๕

- พระอธิการเขมา ระหว่างปี ๒๔๘๔

- พระอธิการมี (กิม) ระหว่างปี ๒๔๖๐

- พระครูธรรมธัชวิมล (ดัน เจริญสุข) เจ้าคณะอำเภอ ระหว่างปี ๒๔๖๑ – ๒๔๘๕

- พระครูวิภัชกัลยาณธรรม (จันทร์ กลฺยาณมุตฺโต) เผยแผ่จังหวัดสุรินทร์ ระหว่างปี ๒๕๘๖ – ๒๕๑๘

- พระมหาสุรพงษ์ เตมิโย ป.ธ.๕, นักธรรมชั้นเอก ระหว่างปี ๒๕๑๙ – ๒๕๒๒

- พระธรรมโมลี (ดร.พระมหาทองอยู่ ญาณวิสุทฺโธ (พิศลืม) น.ธ. เอก, ป.ธ.๙ พ.ม, พ.ธ.บ, M.A,Ph.D.) ระหว่างปี ๒๕๒๓ - ๒๕๓๓ (ในขณะสมณะศักดิ์พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ “ พระศรีธีรพงศ์ ” และ “ พระศรีธีรพงศ์ ” รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระอารามหลวง เมื่อวันที่ ๑ เดือนตุลาคม ปี ๒๕๓๓

- เมื่อวันที่ ๔ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกทรงมีพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส พระอารามหลวง โดยเจ้าประคุณ สมเด็จพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราชมอบพระบัญชาแต่งตั้ง( ปัจจุบัน “ พระศรีธีรพงศ์ “ ได้เลื่อนสมณะศักดิ์พระราชาคณะชั้นธรรม เป็น “ พระธรรมโมลี ” เมื่อวันที่ ๕ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘)

การจัดการศึกษา

     ก. การศึกษาพระปริยัติธรรม

วัดศาลาลอยได้เริ่มดำเนินการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมมาช้านานแล้ว สำหรับแผนกบาลีได้เริ่มทำการเรียนการสอนเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ เป็นต้นมา การศึกษาทั้งสองแผนกคือธรรมกับบาลี ได้รับการสืบต่อกันเป็นช่วง ๆ ปรากฏว่ามีพระภิกษุสามเณรมีความรู้เข้าสอบนักธรรมได้ทั้งตรี โท เอก แผนกบาลีได้ส่งเข้าสอบสนามหลวงตั้งแต่ประโยค ๑ - ๒ ถึงประโยค ป.ธ.๙ รวมกันแล้วปีหนึ่ง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๗๐ รูป และเป็นสำนักศาสนศึกษาแห่งเดียวที่มีนักเรียนสามารถสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ในสนามหลวงเป็นรูปแรกของสำนักเรียนคณะจังหวัดสุรินทร์ ๓ การที่มีนักเรียนจำนวนมากเช่นนี้ และสอบได้มากทุกปี กรมการศาสนาจึงยกย่อง ตั้งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมประจำจังหวัดสุรินทร์ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๕

     ข. แผนกสามัญ

นอกจากจะให้บริการการเรียนการสอนแก่พระภิกษุสามเณรในด้านพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลีแล้ว วัดศาลาลอยได้เปิดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมสายสามัญขึ้นโดยมีนักเรียนที่เป็นพระภิกษูสามเณรเรียนตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้น ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และในระดับอุดมศึกษา ได้ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดสุรินทร์และทางราชการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์ เปิดทำการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ๒ คณะ คือ คณะสังคมศาสตร์และคณะครุศาสตร์

     ค. การศึกษาสงเคราะห์

การศึกษาสงเคราะห์เป็นกิจกรรมที่วัดให้บริการทางการศึกษาปริยัติธรรมรูปแบบหนึ่งโดยวิธีการให้เปล่าคือ การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ภายในวัด และธรรมศึกษาตรี โท และเอก การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ได้ดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ได้เปิดทำการเมื่อปี ๒๕๓๔ ในปัจจุบันมีครูพี่เลี้ยง ๕ คน เด็กเล็ก ๑๒๗ คน ปริยัติธรรมแผนกธรรมศึกษา ได้ส่งครูไปช่วยสอนในโรงเรียนต่าง ๆ แล้วนำนักเรียนเหล่านั้นเข้าสอบธรรสนามหลวง ในนามของสำนักศาสนศึกษาวัดศาลาลอย เริ่มดำเนินการเมื่อปี ๒๕๓๙ ในปัจจุบันมีนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ เช่น สุรวิทยาคาร ส่งชื่อเข้าสอบธรรมสนามหลวงในนามวัดศาลาลอยปีละประมาณ ๓๐๐ - ๕๐๐ คน

วิธีส่งเสริมการศึกษา

- มอบรางวัลแก่ผู้ที่สอบได้บาลีในสนามหลวงตามความเหมาะสม

- ยกย่องผู้ที่สอบได้ในสนามหลวงให้ปรากฏ

- มอบหมายผู้ที่สอบได้เป็นเปรียญธรรมให้สอนนักเรียนรุ่นน้องต่อไป

- ส่งพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิไปช่วยสอนในโรงเรียนที่ขอความร่วมมือ

- ส่งพระเปรียญ สามเณรเปรียญไปช่วยสอนในสำนักศาสนศึกษาที่ขาดครูสอนทั้งนักธรรมและบาลี

     การเผยแผ่ 

- วัดศาลาลอยเป็นที่ตั้งศูนย์ครูปริยัตินิเทศจังหวัดสุรินทร์เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ในปัจจุบัน

- การจัดการแสดงธรรม

     ได้จัดวาระให้พระภิกษุสามเณรแสดงธรรมและฝึกสมาธิแก่ผู้สองอายุเป็นประจำทุกวันพระตลอดปี

- จัดพระธรรมกถึกแสดงธรรมทางสถานีวิทยุ

- โทรทัศน์ตลอดปี

- จัดส่งพระวิทยากรไปอบรมข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักเรียนนักศึกษาและผู้บริหารแผนกต่าง ๆ ตลอดปี

- จัดพิธีรับเด็กและเยาวชนแสดงตนเป็นพุทธมามกะทุกปี ตั้งแต่ระดับบริบาล อนุบาล จนถึงระดับอุดมศึกษา ปีละประมาณ ๑,๒๐๐ คน

- จัดพิธีมาฆบูชา วิสาขบูชาและวันอาสาฬหบูชา เป็นประจำทุกปีไม่มีขาด แต่ละครั้งจะมีผู้เข้าร่วมพิธีเป็นพระภิกษุสามเณรให้สังกัดไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ รูป และสาธุชน ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนทั่วไปประมาณ ๒๐๐ - ๒๕๐ ท่าน

- ตั้งศูนย์พุทธมามกะผู้เยาว์จังหวัดสุรินทร์

     การสาธารณูปการ 
     ตั้งแต่ปี  ๒๕๒๒   เป็นต้นมา   โดยเจ้าอาวาสเป็นประธานในการจัดการ   และจัดระเบียบวัด  
     ทั้งจัดสร้างใหม่และบูรณะปฏิสังขรณ์ของเดิมให้อยุ่ในสภาพที่ใช้การได้   วัดศาลาลอยจึงมีอาคารเสนาสนะและถาวรวัตถุ   เกิดขึ้นตามจุดประสงค์ของการใช้งานดังนี้

- ศาลาร้อยปี บูรณปฏิสังขรณ์จากเดิมเป็นเรือนไม้ทั้งหลัง รื้อออกแล้วสร้างใหม่ให้ทรงเดิม ย้ายไปทางฝั่งตะวันตกติดถนนสายเทศบาล ๒ ติดกำแพง ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนกั้นห้องใช้เป็นศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัดร้อยกว่าคน ครูพี่เลี้ยง ๕ คน ใช้เป็นสถานที่เรียนดนตรีไทยแผนกปี่พาทย์

- ศาลาการเปรียญ ในอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดา-มาตุ เริ่มต้นโดยกองทุนของนางกานดา เตชะไพบูลย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ปัจจุบันใช้เป้นห้องประชุมพระสังฆาธิการ เจ้าคณะอำเภอ, รองเจ้าคณะอำเภอ, ระดับเจ้าคณะตำบล, รองเจ้าคณะตำบลและพระเลขานุการเจ้าคณะอำเภอ และหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนขอใช้บางโอกาส

- กุฏีพรหมคุปต์ ทุนนางปลั่งศรี มูลศาสตร์ และญาติ (กุฏิเจ้าอาวาส)

- ศาลาเกตุสิริ ทุนนายดนัย นางพูนรัตน์ เกตุสิริ ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่เรียนดนตรีไทย แผนกอังกะลุง, เป็นสถานที่รับรองพระสังฆาธิการที่เข้าร่วมประชุม ณ วัดศาลาลอย, เป็นห้องประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะอำเภอ, รองเจ้าคณะอำเภอ และเลขานุการเจ้าคณะอำเภอ

- ศาลาสุนทร เปลี่ยน รัตนสุวรรณ สร้างโดยทุนนายสุนทร นางเปลี่ยน รัตนสุวรรณ ใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศล

- ศาลาพิน แผ้ว มูลศาสตร์ ทุนนายแผ้ว นางพิน มูลศาสตร์ ใช้เป็นศาลาบำเพ็ญกุศล

- ห้องสมุดทวีศรี มนูรังสรรค์ ทุนของตระกูลมนูรังสรรค์ ห้องสมุดประจำวัดศาลาลอย

- กุฏีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ทุนของอุบาสกอุบาสิกาคุ้มวัดศาลาลอย ใช้เป็นที่พักพิงของพระภิกษุสามเณร

- ที่พักสงฆ์เรือนยาว ทุนของอุบาสกอุบาสิกาคุ้มวัดศาลาลอย ใช้เป็นที่พักสำหรับพระภิกษุสามเณร ประมาณ ๓๐ รูป

- กุฏีสองประสาน ทุนนายประมวล นางวิไล วิเชียรรังสรรค์ ใช้เป็นเรือนรับรองพระผู้ใหญ่ตั้งแต่เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาคและสมเด็จราชาคณะ

- กุฏีเผยเมย นิยมตรง ทุนของนายเผย นางเมย นิยมตรง ปัจจุบันใช้เป็นอาคารรวมงานคณะสงฆ์จังหวัดสุรินทร์ ในด้านข้อมูล, สถิติ เป็นต้น

- กุฏีเจ้าคุณ ทุนของนายโสร์ นางปริก แก้วปลั่ง ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่พักของพระภิกษุและสามเณร ๑๗ รูป

- กุฏิกัมมัฏฐาน ๓ หลัง ทุนของนายนคร ๒ หลัง และตระกูลเภสัชชา ๑ หลัง ปัจจุบันใช้เป็นเรือนพักพระภิกษุสามเณรหลังละ ๑ รูป

- อาคารเรียนปริยัติธรรม ทุนของเทศบาลเมืองสุรินทร์ ปัจจุบันใช้เป็นอาคารเรียนปริยัติธรรมแผนกธรรม, แผนกบาลี, แผนกสามัญศึกษา ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และงานสารบัญเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์

- พระอุโบสถ ทุนของพุทธศาสนิกชน เป็นสถานที่ทำวัตรสวดมนต์ บำเพ็ญสมาธิภาวนาประจำวัน และใช้ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์

- มณฑปพระพุทธบาทจำลอง ทุนของนายซอติก นางงัก แซ่เตีย

- ห้องน้ำรวม ๓ แห่ง รวม ๑๘ ห้อง ทุนของวัดศาลาลอย

- หอระฆัง ทุนของตระกูลดีล้อม

- กูฏีประสพกฤชทอง ทุนนางประสพ กฤชทอง ใช้เป็นอาคารรับรองพระสังฆาธิการและอาคันตุกะทั่วไป

- ศาลาบัวแย้ม ทุนนางบัวแย้ม เทศไธสง ใช้เป็นสถานที่สันทนาการประจำวันของพระภิกษุสามเณร เป็นศาลาธรรมสากัจฉา

- ศาลาธวัช สงวนเสริมศรี ทุนนางอุทัยพันธ์ นางวรรณพร สงวนเสริมศรี ใช้เป็นอาคารสันทนาการประจำวันของพระภิกษุสามเณร เป็นศาลาธรรมสากัจฉา

- อาคารเรียนบาลีสาธิตวัดศาลาลอยสุรินทร์ ทุนของวัดและพุทธศาสนิกชนร่วมสร้าง

     การศึกษาสงเคราะห์
     วัดศาลาลอยได้บริการการศึกษาไม่เฉพาะแต่พระภิกษุสามเณรเท่านั้น   เพราะจากบันทึกปรากฏว่ามีงานบริการด้านการศึกษาดังนี้

- ตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ เป็นต้นมา ได้จัดกิจกรรมกวดวิชาภาษาบาลี, ธรรม ก่อนสอบสนามหลวง ๑๕ วันทุกปี มีนักเรียนที่เป็นพระภิกษุสามเณรเข้ารับการกวดทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ รูป

- จัดส่งครูช่วยสอนพระปริยัติธรรมทั้งนักธรรมและบาลีไปช่วยสอนในสำนักศาสนศึกษาที่ขาดครูสอน

- จัดส่งพระวิทยากรไปช่วยสอนศีลธรรมในโรงเรียนเสมอมา ตั้งแต่ระดับบริบาล อนุบาล ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย กระทั่งถึงระดับอุดมศึกษา

- ตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ เป็นต้นมา ได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มีนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมตอนปลายเข้าเรียนโดยเฉลี่ยปีละ ๒๕๐ - ๓๐๐ คน

- เป็นศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ชื่อ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์วัดศาลาลอย ในความอุปถัมภ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ

- จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมปีละไม่ต่ำกว่า ๓ ครั้ง เช่น การตอบปัญหาธรรมบาลีชิงความเป็นหนึ่งของสำนักศาสนศึกษาที่สังกัดสำนักเรียนคณะจังหวัดสุรินทร์ โดยจัดในวันที่ ๑๒ สิงหาคม , ๕ ธันวาคม เป็นต้น

- จัดอภิปราย สัมมนาทางวิชาการทั้งภายในวัดและนอกวัด ทั้งในส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง

- จัดอบรมครูสอนพระปริยัติธรรมของสำนักเรียนคณะจังหวัดสุรินทร์ ปีละ ๑ ครั้ง

- จัดทำหลักสูตรอบรมสามเณรฤดูร้อน

- ดำเนินการสอนพระนวกะที่เป็นราชภัฏลาบวช ทั้งในระยะยาว ๓ เดือน และระยะสั้น ๑๕ วัน หรือ ๑ เดือน

     การสาธารณสงเคราะห์
     วัดศาลาลอย   โดยเจ้าอาวาสเป็นประธาน

- ตั้งชมรมเปรียญธรรมเพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

- จัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนของทุกปี

- ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศผู้ที่บำเพ็ญประโยชน์ สงเคราะห์ผู้เจ็บป่วย

- ตั้งกองทุนสงเคราะห์เด็กยากจน

- ตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์

- ตั้งกองทุนพระศรีอริยะเมตไตรย์

     เกียรติฐานะของวัด 
     การจัดการวัดเป็นส่วนที่ทำให้เกิดผล   ดังต่อไปนี้
     พ.ศ. ๒๕๓๒  กรมการศาสนาประกาศให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง
     พ.ศ. ๒๕๓๓  กรมการศาสนาประกาศยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาดีเด่น   สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปริณายก  ประทานเกียรติบัตรและพัดพัฒนาดีเด่น
     พ.ศ. ๒๕๓๓  ได้รับเสาเสมาธรรมจักรทองคำ   สาขาการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมดีเด่น  จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา   สยามบรมราชกุมารี  ณ   มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
     พ.ศ. ๒๕๓๓   ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ยกวัดราษฎร์เป็น  พระอารามหลวงชั้นตรี   ชนิดสามัญ
     จำนวนผู้อาศัยในปัจจุบัน (๒๕๕๒)
     ๑. พระภิกษุจำนวน  ๒๕  รูป  สามเณร  ๗๕   รูป

- พระเปรียญ ๑๔ รูป

- สามเณรเปรียญ ๑ รูป

- พระภิกษุทรงปาติโมกข์ ๓ รูป

- พระธรรมกถึก ๕ รูป

- พระระดับดุษฎีบัณฑิต (ปริญญาเอก) ๑ รูป

- พระมหาบัณฑิต (ปริญญาโทอักษรศาสตรมหาบัณฑิต) ๒ รูป

- พระบัณฑิต (ปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต) ๗ รูป

- ครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ๓ รูป

- ครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ๓ รูป

- ครูสอนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ๑ รูป

- อาจารย์สอนมหาวิทยาลัย ๓ รูป

- พระครูสัญญาบัตร

- พระครูฐานานุกรม ๑ รูป

      ๒. อุบาสกอุบาสิกาจำศีลในวันพระเฉลี่ยวันพระละ   ๙ - ๑๓   ท่าน
     ๓. เด็กก่อนเกณฑ์   ๑๒๗   คน
      ๔. เด็กวัด   ๑๕   คน
      เหตุการณ์ครั้งสำคัญ
     พ.ศ. ๒๕๒๔   สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  (วาสน์   วาสนมหาเถร)   สมเด็จพระสังฆราช   วัดราชบพิธ   เสด็จเยี่ยมและประทานโอวาทแก่คณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาวัดศาลาลอย
     พ.ศ. ๒๕๒๔   สมเด็จพระธีรญาณมุนี  (ธีร์  ปุณณกมหาเถร)   วัดจักรวรรดิราชวาส  เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก   เยี่ยมคณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาวัดศาลาลอย
     พ.ศ. ๒๕๓๑   สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ  อาสภมหาเถร   ป.ธ. ๘)   เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออกวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์   ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชประกอบพิธีเปิดป้ายมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย   ในพระบรมราชูปถัมภ์   วิทยาเขตสุรินทร์   ณ   วัดศาลาลอย
     พ.ศ. ๒๕๓๒   สมเด็จพระธีรญาณมุนี  (สนิธ   ป.ธ.  ๙)   วัดปทุมคงคา   กรุงเทพมหานคร   แสดงพระธรรมเทศนาโปรดชาวสุรินทร์   ณ  วัดศาลาลอย
     พ.ศ. ๒๕๓๒   สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี   (ทองเจือ   ป.ธ.  ๖)   เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ   กรรมการมหาเถรสมาคม   ประธานเจริญพระพุทะมนต์ในพิธีสมโภชสมณศักดิ์  ณ  วัดศาลาลอย
     พ.ศ. ๒๕๓๔   สมเด็จพระญาณสังวร   สมเด็จพระสังฆราช   วัดบวรนิเวศวิหาร    เสด็จประทานสัญญาบัติพัดยศแก่พระสังฆาธิการ  ภาค   ๑๐ - ๑๑  รวม  ๙  จังหวัด  ณ   วัดศาลาลอย
     พ.ศ. ๒๕๓๔   สมเด็จพระพุฒาจารย์   (เกี่ยว   อุปเสณมหาเถร  ป.ธ.  ๙)  วัดสระเกศ   ราชวรมหาวิหาร  เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก   เป็นประธานอัญเชิญกฐินพระราชทานของบริษัทเซนทรัล   ทอดถวาย  ณ   วัดศาลาลอย
     พ.ศ. ๒๕๓๕  สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว   อุปเสณมหาเถร  ป.ธ. ๙)   วัดสระเกศ   ราชวรมหาวิหาร  เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก   เป็นประธานในพิธีเททองหล่อพระประธาน
     พ.ศ. ๒๕๓๖   สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว   อุปเสณมหาเถร  ป.ธ. ๙)   วัดสระเกศ   ราชวรมหาวิหาร  เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก   เป็นประธานสงฆ์ในพิธีสมโภชชนมายุครบ   ๕   รอบ   และสมโภชสมณะศักดิ์พระราชาคณะชั้นราช   “พระราชวิสุทธิเมธี”
     พ.ศ. ๒๕๓๗   พระเจ้าวรวงศ์เธอ   พระองค์เจ้าโสมสวลี   พระวรราชาทินัดดามาตุ   เสด็จเป็นประธานทอดผ้าป่า   ณ  วัดศาลาลอย 
     พ.ศ. ๒๕๓๘   สมเด็จพระพุฒาจารย์   (เกี่ยว   อุปเสณมหาเถร  ป.ธ. ๙)   วัดสระเกศ   ราชวรมหาวิหาร  เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก   ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชในพิธีประทานประกาศนียบัตรพัดยศเปรียญธรรม   ๓  ประโยค   ณ   วัดศาลาลอย 
     พ.ศ. ๒๕๔๐   สมเด็จพระพุฒาจารย์   (เกี่ยว   อุปเสณมหาเถร  ป.ธ. ๙)   วัดสระเกศ   ราชวรมหาวิหาร  เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก   เป็นประธานเปิดการประชุมพระสัง
     พ.ศ. ๒๕๔๑   สมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว   อุปเสณมหาเถร  ป.ธ. ๙)   วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร  เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก   เป็นประธานในพิธีผูกพัทธสีมา ณ  วัดสาริกาแก้ว   ตำบลบึง   กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์   แวะพักอิริยาบถ   ณ   วัดศาลาลอย 
     พ.ศ. ๒๕๔๓   สมเด็จพระพุฒาจารย์   (เกี่ยว   อุปเสณมหาเถร  ป.ธ. ๙)   วัดสระเกศ   ราชวรมหาวิหาร  เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก   เป็นประธานในพิธีสมโภชสมณศักดิ์   พระราชาคณะชั้นเทพ  “พระเทพปัญญาเมธี”

พ.ศ. ๒๕๕๒ ทรงตั้งเปรียญธรรม ๓ ประโยค ที่จังหวัดสุรินทร์ ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๒ ณ วัดศาลาลอยพระอารามหลวง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

    ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายสมเด็จพระสังฆราช  ทรงตั้งเปรียญธรรม ๓  ประโยค  ประเพณีสืบมา  ในปี ๒๕๕๒  สมเด็จพระพุฒาจารย์  ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชฯ  ได้มีบัญชากำหนดพิธีทรงตั้งเปรียญธรรม ๓  ประโยค ในเขตปกครองสงฆ์หนตะวันออก  ภาค ๑๐-๑๑-๑๒  รวม ๑๔  จังหวัด ในวันพุธที่ ๑๗  มิถุนายน ๒๕๕๒  ณ วัดศาลาลอย      พระอารามหลวง  อำเภอเมืองสุรินทร์  จังหวัดสุรินทร์  ซึ่งมีพระภิกษุสามเณร ได้รับทรงตั้งเปรียญธรรม ๓  ประโยค  จำนวน ๒๐๕  รูป และรับประกาศนียบัตรบาลีประโยค ๑-๒  จำนวน ๔๐๔ รูป  รวมทั้งสิ้น  ๖๐๙  รูป   ซึ่งในวันดังกล่าวเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เมตตามาปฏิบัติศาสนกิจในจังหวัดสุรินทร์  ดังนี้  ในช่วงเช้า เวลา ๑๐.๑๙ เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสำนักงานวิทยาเขตสุรินทร์  และเปิดป้ายอาคารหอสมุด   "สมเด็จพระพุฒาจารย์"  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตสุรินทร์  และในช่วงบ่ายเวลา ๑๓.๒๐ น. เป็นประธานทรงตั้งเปรียญธรรม  ๓ ประโยค ณ  วัดศาลาลอย  พระอารามหลวง  อำเภอเมืองสุรินทร์  จังหวัดสุรินทร์