ผู้ใช้:จิตเดิม/กระบะทราย

== ชีวประวัติ พระกรรมฐาน ลูกศิษย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต รุ่นที่ห้า วัดป่าเคียนพิง ธ. ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร.081 958 2324 , 081 893 5563

คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก

	เมื่อทราบว่าบรรดาศิษยานุศิษย์ อุบาสก อุบาสิกา ของพระครูสังฆรักษ์ศิลธรรม  วิมโล  จะจัดงานทำบุญฉลองอายุครบ ๗๒ ปี ก็รู้สึกมีความยินดี ดีใจ ที่ได้เห็น ความสำคัญของบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เมื่อถึงกาลอายุครบ ๗๒ ปี (๒๕๕๔) ต่างก็แสดงมุทิตาสักการะ ให้เป็นที่ปรากฏพระครูสังฆรักษ์ศิลธรรม  วิมโล เป็นพระเถระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จนปรากฏเป็นความรู้สึกใน จิตใจของผู้ที่พบเห็นเข้าใกล้ น่าไหว้ น่ากราบ น่าบูชา มีให้เห็นปรากฏแก่ผู้แสวงหาความดี พระดี อยู่เสมอ ท่านมีความสามารถบุกเบิกสร้างวัดป่าเคียนพิงจนสำเร็จได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส การเป็นเจ้าอาวาสของท่านก็เป็นการภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะวัดป่าเคียนพิงปรากฏชื่อในพระพุทธศาสนา จังหวัดสุราษฎร์ธานีนี้ขึ้นได้ก็โดยอาศัยท่านพระครูสังฆรักษ์ศิลธรรม  วิมโล เป็นผู้บุกเบิกพัฒนาก่อสร้างตั้งแต่เริ่มต้น ท่านดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ยังไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆเลย จนปัจจุบัน มีกุฏิวิหาร ถาวรวัตถุต่างๆขึ้นภายในวัดมากมาย ใช้เวลาพัฒนาก่อสร้างอยู่เพียง ๖ ปี ก็ได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนาให้ชื่อว่า “วัดป่าเคียนพิง” ข้อนี้ถือเป็นสำคัญเพราะแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถ พัฒนาให้วัดป่าเคียนพิงได้รับการปรับปรุงเจริญพัฒนาโดยลำดับจนถึงปัจจุบัน  พระครูสังฆรักษ์ศิลธรรม  วิมโล เป็นเจ้าอาวาสปกครองภิกษุ สามเณร แม่ชี ให้อยู่ในระเบียบและ ให้การศึกษาดีจนภิกษุสามเณร ศึกษาสอบธรรมสนามหลวงได้ทุกปี ฝึกสอนสมถะ-วิปัสสนาแก่ภิกษุ สามเณร แม่ชี ตลอดจนอุบาสก อุบาสิกา จนได้รับผลจากการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งยังบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์แก่สังคมไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือทางด้านอุปกรณ์การเรียนให้แก่โรงเรียนบ้านจำปาทอง การริเริ่มซ่อมแซมถนนเข้ามายังวัดให้สะดวกขึ้น การจัดอบรมคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักเรียน-นักศึกษาจากหลายๆสถาบัน การริเริ่มจัดทำโรงทานอาหารไปร่วมในงานบุญของวัดต่างๆโดยไม่ได้เลือกว่าจะอยู่นิกายไหน และในงานทำบุญอายุครบ ๗๒ ปีครั้งนี้ก็ยังปรารภนำรายได้จากการจัดงานไปบริจาคมอบให้แก่โรงพยาบาลอำเภอพนม เพื่อช่วยในส่วนงานทางด้านการดูแลผู้ป่วยของทางโรงพยาบาลอีกด้วย  ในโอกาสที่พระครูสังฆรักษ์ศิลธรรม  วิมโล อายุครบ ๗๒ ปีนี้ ทราบว่าได้จัดพิมพ์หนังสือโอวาท และคติธรรมของพระครูสังฆรักษ์ศิลธรรม  วิมโล แจกเป็นของที่ระลึกด้วย ก็หวังว่าหนังสือที่ท่านทั้งหลายที่ไปร่วมงานได้รับแจก คงมีประโยชน์ ไม่มากก็น้อย ชื่อว่าได้ให้ธรรมทาน อันเป็นทานอย่างยวดยิ่ง ตามพุทธภาษิตที่ว่า สพฺพ ทานํ ธมฺม ทานํ ชินาติ(ผู้ให้ธรรมะย่อมชนะการให้ทั้งปวง)  จึงขออนุโมทนาสาธุการด้วย
     ในที่สุด  ขอตั้งสัตยาธิษฐาน   อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย   และคุณพระอุปัชฌาย์อาจารย์   ได้โปรด ประทานจตุรพิธพรชัย ให้ท่านพระครูสังฆรักษ์ศิลธรรม  วิมโล จงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณและคุณสารสมบัติ เกียรติคุณเกียรติยศชื่อเสียง ถึงซึ่งความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนายิ่งๆขึ้นไปตลอดกาลนาน เทอญ.

พระราชไพศาลมุนี เจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ( ธ ) เจ้าอาวาสวัดโมกขธรรมาราม(ดอนเกลี้ยง)

คำนำ (พิมพ์ครั้งที่ ๒) สะมะณานัญ จะ ทัสสะนัง เอตัมมัง คะละมุตตะมัง การได้พบเห็นสมณะ คือ ผู้สงบระงับเป็นอุดมมงคล (การเข้าหาท่าน การบำรุงท่าน การตามระลึกถึงท่าน การฟังเรื่องของท่าน ตัวอย่างเช่น การที่พระสารีบุตรได้เห็นพระอัสสชินั้นเป็นเหตุให้นำมาซึ่งประโยชน์ใหญ่หลวงแก่พระสารีบุตร ถือว่าเป็นอุดมมงคลโดยแท้) เมื่อปลายปี ๒๕๕๖ ได้มีโอกาสไปร่วมทอดกฐินที่วัดป่าเคียนพิง ในบริเวณวัดนั้นมีโรงทานมากมาย ซึ่งเป็นภาพเจนตาที่มักจะได้เห็นเวลาไปทำบุญที่วัดป่าต่างๆ ในบรรดาญาติโยมที่มาออกโรงทาน และที่ช่วยงานวัดอยู่นั้น หลายๆคนสวมเสื้อยืดสกรีนว่า “ศิษย์หลวงตาพร” จึงสันนิษฐานว่า พระคุณเจ้าผู้เป็นใหญ่ในอาวาสและเป็นที่เคารพเลื่อมใสของอุบาสกอุบาสิกาเหล่านี้ คือ “หลวงตาพร” ต่อเมื่อถึงเวลาพิธีการพระสงฆ์และญาติโยมพร้อมเพรียงกันบนศาลา หลังจากกราบพระและสมาทานศีลแล้ว หลวงตาจึงขึ้นธรรมาสน์แสดงธรรมเทศนาในวันนั้น ด้วยเหตุว่าพระผู้ใหญ่ที่หลวงตาได้กราบนิมนต์ไว้มีข้อติดขัดบางประการไม่สามารถมาได้ ซึ่งนั่นกลับเป็นลาภอันประเสริฐที่ได้มีโอกาสฟังธรรมเทศนาที่จับใจของหลวงตา คิดในใจว่าพี่น้องในละแวกนี้ช่างมีบุญเหลือเกินที่มีพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาโปรดสร้างวัดอยู่ที่นี่ เป็นเนื้อนาบุญที่จะยังประโยชน์ให้ทักษิณาทานมีอานิสงส์ไพศาล นับแต่วันนั้นมา จึงไปทำบุญที่วัดป่าเคียนพิงอยู่เสมอ ตามแต่โอกาสจะอำนวย ทำให้ได้มีโอกาสเข้าหา ได้นั่งใกล้ ได้ฟังธรรม ได้สนทนาธรรมกับหลวงตา ยิ่งมั่นใจในเมตตาธรรมอันบริบูรณ์ขององค์หลวงตาพร ส่วนธรรมเทศนาและคำสอนของหลวงตานั้น จำแนกธรรมตามกำลังของผู้ฟังเป็นลำดับขั้นไป ยังผู้ไม่ศรัทธาให้เกิดศรัทธา ผู้มีศรัทธาแล้วให้มีจาคะการให้ทาน ผู้รู้จักบริจาคทานให้รักษาศีล จนถึงให้รู้จักภาวนาให้ถึงทางพ้นทุกข์ รวมทั้งยังเป็นคำสอนที่แจ่มแจ้ง เข้าใจง่าย เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟัง จึงมักจะแนะนำมิตรสหายที่รู้จักให้ไปทำบุญที่วัดป่าเคียนพิง ด้วยเห็นประโยชน์ที่เขาจะได้ฟังธรรมจากหลวงตา ในโอกาสที่จะได้มีการจัดพิมพ์หนังสือ วิมโลวาท ที่ได้รวบรวมโอวาทและคติธรรมของท่านพระครูสังฆรักษ์ศิลธรรม วิมโล หรือที่สาธุชนญาติโยมเรียกท่านว่า “หลวงตาพร” นี้ ถือว่าเป็นบุญกุศล และความเมตตาของคณะผู้จัดทำ ที่เห็นประโยชน์ของผู้อ่านที่จะได้รับจากโอวาทและคติธรรมคำสอนของหลวงตา ย่อมมีอานิสงส์ประมาณมิได้ จึงขออนุโมทนาบุญกับคณะผู้จัดทำ มาในโอกาสนี้ด้วย

ชัยวัฒน์ มานะพันธุ์พงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนรัชชประภา-บริหาร

ประวัติย่อพระครูสังฆรักษ์ศิลธรรม วิมโล พระครูสังฆรักษ์ศิลธรรม วิมโล นามเดิมคือ ศิลธรรม สิงห์คลาน เกิดวันพุธที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๘๒ เกิดที่หมู่บ้านหอคอย ต.คอทราย อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี บิดาชื่อ นายผิว สิงห์คลาน มารดาชื่อ นางกลี่ สิงห์คลาน มีพี่น้องทั้งหมด ๗ คน เป็นชาย ๓ หญิง ๔ ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ ครอบครัวของท่านมีอาชีพทำนา

         อายุได้ ๘ ขวบได้เข้ารับการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดหนองโขลงจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ (สมัยนั้นมีถึงแค่ประถม ๔) 

อายุได้ ๑๒ ขวบได้บวชเป็นสามเณรเรียนหนังสือ ๕ ปี ในสำนักเรียนวัดกลางท่าข้าม ต.ท่าข้าม อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี จนสอบได้นักธรรมชั้นโทและได้เข้ามาศึกษาต่อนักธรรมชั้นเอกในสำนักเรียน วัดพระมหาธาตุ กทม. อายุ ๒๐ ปี บวชพระ ๑ พรรษาต่อมาก็มีเหตุให้ได้ลาสิกขาออกมาช่วยงานของทางครอบครัว ครั้นเมื่อช่วยงานของครอบครัวจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ได้แต่งงานมีครอบครัวของตนเองกับนางยุพิน อินทร์อารี (ปัจจุบันบวชเป็นแม่ชี) และสร้างฐานะครอบครัวจนมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง ท่านมีบุตร ธิดาทั้งหมด ๕ คน ได้แก่ ๑.นางลำพอง ทองรอด อาชีพขับรถโดยสารประจำทาง ๒.นาวาอากาศโทสมโภช สิงห์คลาน ผู้หัวหน้าแผนกกิจการพลเรือน บน.๒๓อุดรธานี ๓.นางสุธาสินี ฉลองชาติ เจ้าของกิจการร้านไทยเจริญรับซื้อของเก่า-พืชไร่ ๔.นายสิทธร สิงห์คลาน ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมไฟฟ้าและควบคุม บริษัทคริสตรอล่า จำกัด ๕.นายรุ่งเพชร สิงห์คลาน (วิศวกรไฟฟ้า) เทศบาลกุมภวาปี

          เมื่อท่านสร้างครอบครัวได้พอสมควรแล้วจึงได้ย้ายถิ่นฐานมาทำอาชีพค้าขายที่ภาคอีสานในหลายจังหวัดและตั้งหลักปักฐานที่จังหวัดอุดรธานี ทำกิจการร้านรับซื้อข้าวเปลือกและพืชไร่ต่างๆ จนฐานะทางครอบครัวมีความร่ำรวย พอสมควรแต่ความร่ำรวยนั้นก็ยังมีความทุกข์เข้ามาเสมอ ซึ่งในตอนแรกท่านเข้าใจว่ารวยแล้วก็จะมีแต่ความสุขเท่านั้น

อายุได้ ๔๕ ปีท่านได้มีโอกาสพบพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายวัดป่ากรรมฐาน จึงได้เริ่มปฏิบัติธรรม ทางด้านจิตตภาวนาและเริ่มได้รับผลจากการปฏิบัติมาเรื่อยมา จึงเกิดความเลื่อมใสและศรัทธาใน พระพุทธศาสนา เป็นอย่างมากและปฏิบัติธรรมด้านจิตตภาวนามาอย่างต่อเนื่อง ๑๓ ปี อายุได้ ๕๘ ปีจึงได้ตัดสินใจเข้าอุปสมบทที่อุโบสถวัดป่าสุขเกษมนิราศภัย อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร โดยมีพระครูวชิรคุณาภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

พรรษาที่ ๑-๒ จำพรรษาที่วัดป่าสุขเกษมนิราศภัย โดยมีหลวงปู่สนั่น รักขิตสีโลเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ให้การอบรมแนะนำในการปฏิบัติธรรม จนท่านได้รับผลจากการปฏิบัติอย่างอัศจรรย์
พรรษาที่ ๓-๔ ได้มาจำพรรษาที่วัดป่าหลวงตามหาบัวธรรมเจดีย์ (วัดป่าภูหินร้อยก้อน) ซึ่งเป็นวัดสาขาของวัดป่าบ้านตาด  ในองค์หลวงตามหาบัว    ญาณสัมปันโน   โดยมีพระอาจารย์สุนทร   ฐิติโก เป็นเจ้าอาวาส และเป็นครูอาจารย์   
         ออกพรรษาที่๔ แล้วท่านได้จาริกมาทางภาคใต้และได้มาพัก ณ โรงเรียนบ้านเคียนพิง (ซึ่งร้างแล้ว)หลังจากที่พิจารณาแล้วว่าที่นี่ไม่เคยมีวัดมาก่อน จึงตัดสินใจสร้างวัดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ในปี ๒๕๔๔ นับจากนั้นท่านได้ทำการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆมากมาย อีกทั้งทำการเผยแผ่ธรรมะชองพระพุทธเจ้า ตามแนวทางหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานไทย ให้แก่บรรดา ผู้ที่สนใจด้านจิตตภาวนา จนมีผู้ได้ผลจากการปฏิบัติเป็นจำนวนมาก

วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๙ ท่านได้รับความเมตตาจาก พระราชไพศาลมุนี เจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ธ) แต่งตั้งท่านเป็นพระฐานานุกรมในตำแหน่ง ที่ “ พระครูสังฆรักษ์ศิลธรรม วิมโล ” ๒๕๕๐ ท่าน ได้ทำเรื่องขอตั้งวัดขึ้นและได้รับการประกาศเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนามีชื่อว่า “ วัดป่าเคียนพิง ” และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส วัดป่าเคียนพิง มาจนถึงปัจจุบัน.

บนเส้นทางแห่งความเมตตาธรรม

          เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางมาจาริกทางภาคใต้ไม่มีใครคาดคิดว่านี้คือจุดเริ่มต้นของ “วัดป่าเคียนพิง” นับย้อนหลังไปเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา (๒๕๔๔-๒๕๕๘) ที่นี่เต็มไปด้วยป่าหญ้าคารกชัฏ เป็นเส้นทางที่พระสงฆ์ที่มาจาริกใช้เป็นที่พักสงฆ์ชั่วคราว จากพื้นที่ติดเชิงเขาเป็นสวนสาธารณะหมู่บ้านประมาณ ๑๕ ไร่โดยได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากชาวใต้ในพื้นที่และชาวอีสาน ที่มาทำงานในละแวกใกล้เคียง โดยความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจและความเมตตาของ    “พระครูสังฆรักษ์ศิลธรรม วิมโล”   หรืออีกชื่อที่ทุกคนเรียกขานว่า “ตาหลวงพร” ตามภาษาท้องถิ่น
         จากวันนั้นถึงวันนี้เสนาสนะภายในวัดได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับจากอาคารเอนกประสงค์หลังเล็กที่เคยใช้เป็นอาคารโรงเรียนได้เริ่มก่อสร้างเสนาสนะเป็นศาลาการเปรียญและอื่นๆจนเพียงพอแก่พระเณร และ แม่ชี แม่พราหมณ์ที่อยู่ประจำเพื่อปฏิบัติธรรม โดยภายในวัดมีต้นตะเคียนขนาดใหญ่ที่ล้มพิงกับภูเขาหินและถ้ำมรกต โดยรูปแบบของวัดบ่งบอกถึงความสงบร่มเย็นเมื่อได้เข้ามาสัมผัสซึ่งเป็นสถานที่สัปปายะที่เอื้อเฟื้อต่อการภาวนาหรือผู้ที่เริ่มต้นปฏิบัติธรรมได้เข้ามาใช้สถานที่มาสัมผัสกับความเป็นวัดป่าอย่างแท้จริง
         ความมุ่งมั่นบวกกับความเมตตาของท่านแม้ว่าในปัจจุบันด้วยวัย ๗๒ ปี(๒๕๕๔) แต่ท่านยังแข็งแรงแจ่มใสให้ความเป็นกันเองที่พร้อมจะให้ธรรมะกับคนทุกเพศทุกวัยที่เข้ามาสัมผัสด้วยท่าทางง่ายๆ สบายๆ ขององค์หลวงตาที่ใครๆได้รู้จักท่านจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ประทับใจในบุคลิกภาพและความเมตตาขององค์หลวงตา
         จากปณิธานอันแน่วแน่ในการทดแทนคุณพระพุทธศาสนาและทดแทนคุณพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ได้ให้ธรรมะอันสูงสุดแก่ท่านและอยู่เพื่อดูแลวัดป่าเคียนพิง ท่านพูดเสมอว่า 

“เราจะสร้าง ๒ วัด คือ วัดนอกและวัดใน วัดนอกก็คือ สิ่งปลูกสร้างที่เป็นศาลา อาคารวัตถุต่างๆ เพื่อเอาไว้รองรับญาติโยมที่จะมาประพฤติปฏิบัติธรรม หรือ ทำบุญ สร้างบารมี และเพื่อเป็นพยานวัตถุ ว่าได้มีวัดป่าในสายหลวงปู่มั่นมาตั้งที่นี่เป็นวัดแรกในจังหวัดสุราษฯ ส่วน วัดใน คือวัดที่จะมีธรรมะของพระพุทธเจ้าหยั่งลึกลงในจิตใจของเราชาวพุทธทั้งหลาย” และท่านจะสร้างวัดนี้เป็นวัดสุดท้ายในชีวิตของท่าน ด้วยความเมตตาและต้องการให้ธรรมะขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าหยั่งรากฐานในดินแดนภาคใต้และอยู่คู่พระพุทธศาสนาสืบต่อไป.

      • บทลำนำจากใจเมื่อแรกเริ่มสร้างวัด ***
         ใครจะรู้ใจเรา สู้ไม่เบา เพื่อศาสนา ไกลอาจารย์ ที่เคยเมตตา

ลำบากแค่ไหนไม่ว่า เพื่อศาสนารุ่งเรือง พิโธ่ พิถัง คำใต้นั้นเข้าใจยาก ลำบากลำบน พูดมาหลายหน รู้เพียงบางคำ

          เหนื่อยแรงอ่อนล้า  พะว้าพะวัง ทรุดกายลงนั่ง    บางครั้งท้อใจ …..

สู้ .... เราจะสู้ต่อไป สู้ด้วยใจ ที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา

          คงมีสักวัน ชาวใต้ซึ้งในอุรา   สว่าง  สดใส   เจิดจ้า   ธรรมะ ชโลมจิตใจ.

พระธรรมเทศนา เรื่อง ธรรมะของผู้เริ่มปฏิบัติ

            ณ บัดนี้อาตมาภาพ จักได้แสดงพระธรรมเทศนา   อันเป็นคำสั่งสอนของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์แก่สาธุชนทั้งหลาย  ที่ได้ฟังธรรมในวันนี้  การฟังธรรม  อาตมาไปแสดงธรรมที่ไหนก็ตาม จะเน้นอยู่เสมอ  เตือนสติผู้ฟังอยู่เสมอว่าในการฟังธรรมนั้น  เกิดประโยชน์  เกิดกุศล  เกิดผลบุญ แก่ผู้ฟัง  ถ้าผู้ฟังนั้นฟังเป็น  ฟังด้วยใจเคารพ  ฟังด้วยใจจดจ่อ  ตั้งสติฟังธรรม  เพื่อจะได้รับธรรมนั้นเข้าสู่จิตสู่ใจ  ถ้าผู้ฟังฟังด้วยความตั้งใจด้วยความเคารพ  ฟังแล้วเข้าใจแล้วเอาไปประพฤติปฏิบัติตาม  ผู้ฟังก็จะได้ประโยชน์  คุ้มค่าแก่การสละเวลามาฟังธรรม  แต่ถ้าผู้ฟังมานั่งฟังธรรมอยู่นี้  ฟังธรรมไปพอเป็นพิธี  ฟังโดยที่จิตใจไม่ได้ตั้งใจฟัง บางคนฟังธรรมแล้วคุยกันไป  ซึ่งไปกวนสมาธิของบุคคลอื่นที่ฟังอยู่  ก็จะทำให้เกิดโทษเกิดบาปแก่ตัวเอง เสียเวล่ำเวลาที่มาฟังธรรมนี้ด้วย ซึ่งไม่คุ้มค่ากันเลย  ไหนจะเสียเวลา  ไหนจะเกิดโทษแก่ตนเองอีกด้วย  ฉะนั้น  การฟังธรรมนั้น  ขอให้ญาติโยมสาธุชนทั้งหลาย  จงตั้งสติ  ตั้งจิตตั้งใจฟังธรรม  กำหนดสติอยู่ที่จิต เสียงของอาตมา   ที่ได้แสดงไปนี้  ก็จะเข้าไปสู่จิตสู่ใจเอง  เพราะเสียงนั้นเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง  หูของญาติโยมนั้นก็เป็นธรรมชาติ  ซึ่งเสียงไปกระทบหู  ก็จะเกิดการได้ยินเสียงส่งเข้าไปสู่จิตเอง  เมื่อตั้งสติกำหนดฟังอยู่พิจารณาตามคำที่ได้แสดงไปนี้  ก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้น  เมื่อเกิดความรู้ความเข้าใจ  เกิดความศรัทธาเชื่อมั่นขึ้น  ก็จะนำไปประพฤติปฏิบัติ  ผลแห่งการนำไปประพฤติปฏิบัตินั้นนั่นแหละจะส่งผลให้ญาติโยมได้รับความสุขความเจริญ  ในศาสนธรรม  ในจิตในใจของเจ้าของ  อาตมามาแสดงธรรมในวันนี้ ก็ได้แสดงบาลีขึ้นว่า  
         “จิตฺตํ ทนฺตํ สุขฺขาวหํ   ผู้ใดฝึกจิตดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้”    
               อันคนเราเกิดมาในโลกนี้  ทุกคนล้วนแต่ปรารถนาความสุขด้วยกันทั้งนั้น  แต่เหตุไฉนละ จึงหาคนที่จะพบความสุขแท้แน่นอนนั้นไม่มีเลย    จะพบสุขบ้าง    ก็ประเดี๋ยวประด๋าว    แล้วก็พบทุกข์    แต่ต่างคน ต่างตะเกียกตะกาย  ดิ้นรนไขว่คว้าหาความสุข  ด้วยกันทุกคน   พระพุทธองค์  ทรงค้นพบหนทางแห่งความสุข  คนเรามีทุกข์  พระองค์ทรงค้นพบหนทางดับทุกข์ พระองค์ค้นพบแล้วจึงได้เอามาสอนโลก  เอามาสอนชาวพุทธ  ให้รู้จักการปฏิบัติ  การปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์  เพื่อดับทุกข์  เมื่อดับทุกข์ได้สุขก็เกิด  แต่คนเราชาวพุทธทุกคนส่วนใหญ่  ไม่ค่อยสนใจในการประพฤติปฏิบัติ  แต่ก็ไขว่คว้าอยากได้ความสุข  เราเป็นชาวพุทธ  เรานับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรานับถือพระองค์ท่านเราก็ต้องฟังคำสอนของพระองค์ท่าน  แล้วเอามาประพฤติปฏิบัติ  นี้จึงจะเรียกว่าเรานับถือพระพุทธองค์จริง  นับถือศาสนาพุทธจริง  คนเราเกิดมามีกายกับจิต  จิตกับกาย  กายของเรานี้เกิดขึ้นมาแล้ว  มันก็ต้องแตกสลายไปในที่สุด เกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมชาติ  เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่ง  ซึ่งเมื่อเกิดมาแล้วไม่มีผู้ใดจะหลีกเลี่ยง  ความแก่ความเจ็บความตายไปได้สักคนเดียว  เกิดมาแล้วก็มีกาย  กายของเรานี้  เกิดมาแล้วเป็นเด็กน้อย  กระทั่งโตเป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นคนแก่  นั่นคือกาย  จิตซึ่งมาอาศัยกายอยู่  กายกับจิต  ต่างคนต่างเป็นต่างหากกัน  แต่ปุถุชนธรรมดาแยกกายแยกจิตไม่ออก  กายกับจิตจึงรวมเป็นเนื้อเดียวกัน  คิดว่ากายกับจิตเป็นเนื้อเดียวกัน  มันแยกกันไม่ออก เพราะจิตเป็นของละเอียดกายเป็นของหยาบ  กายนี้ก็เหมือนบ้านเช่าที่จิตมาอาศัย  หรือจะว่ากายนี้ก็เป็นสมบัติของจิต  กายเรานี้ถ้าไม่หายใจก็เรียกว่าตาย  จิตก็อาศัยไม่ได้  จิตเข้ามาอาศัยกายนี้  จึงใช้กายเคลื่อนไหวได้เมื่อหัวใจยังเต้นอยู่  ถ้าหัวใจหยุดเต้นเมื่อไหร่ก็เรียกว่าตาย  จิตก็ต้องออกจากกายไปอาศัยที่อื่น  จิตนี้ไม่ตาย  จิตนี้เผาไฟไม่ไหม้  เมื่อคนตายแล้วเผามันก็ไหม้แต่กาย  จิตไม่ไหม้  จิตนั้นจะต้องไปเกิด  ตามผลของกรรมที่จำแนกไป  ต่างไปตามที่ต่างๆ  กรรมดีก็ไปเกิดในที่ดีไปเสวยสุขใน สวรรค์  พรหม  แม้แต่ถึงนิพพาน  ถ้ากรรมชั่วมีมาก  ก็ไปเป็น สัตว์เดรัจฉาน  สัตว์นรก  เปรต อสูรกาย  แต่ในระยะที่เรายังมีชีวิตอยู่  เราเกิดมาเรามีชีวิตอยู่นี้  เราพบศาสนาพุทธ นับว่าเราเป็นคนที่โชคดีที่สุดแล้ว  ถ้าเราเกิดมาเป็นฝรั่ง  เป็นแขก  เป็นคนต่างประเทศ  ที่เขาไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ  ก็จะห่างไกลคำสอนของพระพุทธองค์ยิ่งขึ้นไปอีก  เราเกิดเป็นคนไทย  นับว่าเราโชคดีแล้ว  เพราะธรรมะของพระพุทธองค์ดับทุกข์ได้จริง  ถ้าผู้ใดปฏิบัติดี    ปฏิบัติชอบ  ปฏิบัติตรง  ตามคำสอนของพระพุทธองค์  จะเป็นพระก็ดี  เป็นเณรก็ดี  เป็นฆราวาสญาติโยมก็ดี  ธรรมะของพระพุทธองค์มีให้ปฏิบัติอยู่แล้ว  ศีลพระพุทธองค์ก็วางไว้แล้ว  ถ้าใครประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์  ด้วยความเชื่อด้วยความศรัทธาอันแน่วแน่  แน่นอนที่สุด  ความสุขจะเกิดขึ้นเป็นลำดับลำดา  ความทุกข์จะลดน้อยถอยลง  ถ้าปฏิบัติไปจนถึงที่สุดของธรรมแล้ว  ความทุกข์ทั้งหลายจะดับสนิท  ความสุขของปุถุชนธรรมดา  สุขของโลกีย์มนุษย์  ก็จะหมดไป  จะเกิดสุขอมตะธรรม ธรรมที่เป็นบรมสุข อันนั้นคือดับทุกข์ได้สนิท  จะไม่มีทุกข์เลย  จะหมดทุกข์ไปเลย  แต่เมื่อยังไม่หมดทุกข์  ผู้ใดปฏิบัติย่อมนำสุขมาให้แก่ผู้ปฏิบัติเป็นลำดับลำดา  
           คนเราเกิดมาอย่างที่กล่าวไว้แล้วมีกายกับจิต  จิตกับกาย  สุขมันก็มีสองอย่างเหมือนกันคือสุขกายกับสุขจิต  ทุกข์มันก็มีสองอย่างคือทุกข์กายกับทุกข์จิต  แต่ปุถุชนธรรมดาเมื่อทุกข์ขึ้นมาจะแยกไม่ออกเลย  ทุกข์กายก็เอาเป็นทุกข์จิต  ทุกข์จิตก็เอาเป็นทุกข์กาย  คือเป็นทุกข์อย่างเดียวมันแยกกันไม่ออก  เราต้องมาเข้าใจกายของเราให้ชัดก่อน  เราเกิดมาแล้วมาพบพุทธศาสนา  มาแยกกายของเรา  แยกกายกับจิตให้ออก  แยกทุกข์ของกายทุกข์ของจิตให้ออก  เราถึงจะดำเนินการปฏิบัติไปถูกต้อง  เราต้องการความสุข  สุขของกายหรือสุขของจิต นั้นต่างกัน  ทุกข์ของกายทุกข์ของจิตก็ต่างกัน  เราต้องการความสุขเราก็ต้องดับทุกข์  เมื่อดับทุกข์ได้  สุขก็เกิด  ทุกข์นั้นก็ไม่เที่ยงสุขนั้นก็ไม่เที่ยง  สุขเกิดแล้วเมื่อสุขดับไปทุกข์ก็เกิด  แต่วิธีการดับทุกข์ของกายจะให้สุขเกิดนั้น  ถ้าเราดับทุกข์อยู่ตลอดเวลาปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา  สุขก็จะทวีเพิ่มมากขึ้นทุกข์ก็จะน้อยลง  ทุกข์ของกาย  การดับทุกข์ของกายนั้นก็คือดับด้วยอามิส  ดับด้วยสิ่งของ ทุกข์ของกายคือเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็หายามากินมารักษาโรคภัยไข้เจ็บหายไป  มันก็หมดทุกข์  ก็สุขขึ้นมา  หรือเป็นบาดแผลเราก็หายามารักษา  หิวเราก็เอาข้าวมากินเอาอาหารมากินเมื่อมันอิ่ม ทุกข์ของความหิวมันก็หายไป  ทุกข์ของกาย  เช่นว่าเราตากแดดเราก็เอาร่มมากาง  ทุกข์ของกายก็หายไป  ทุกข์ของกายสรุปแล้ว  ดับด้วยอามิสสิ่งของ  สิ่งของอามิสที่กายเราอาศัยคืออาศัยยารักษาโรค  อาศัยอาหารการกิน  อาศัยเครื่องนุ่งห่ม  อาศัยที่อยู่อาศัย  อันนี้เป็นเครื่องดับทุกข์ของกาย  เราจึงจำเป็นต้องหาโภคทรัพย์  หาเงินทอง  มาเพื่อรักษากายมาเพื่อบำรุงกายให้มีความเป็นอยู่ไปได้  เพื่อคลายทุกข์ของกายไปได้  แต่อามิสที่มาดับทุกข์ของกายทั้งมวลนี้จะดับได้เป็นครั้งเป็นคราว  พอให้ชีวิตเรายืนยาวไปได้  แต่ท้ายที่สุดแล้ว  ทรัพย์สมบัติทั้งมวลนี้จะมาดับทุกข์ของกายก็ไม่ได้ในครั้งสุดท้าย  เพราะเมื่อถึงเวลาจะตาย  จะเอาแก้วแหวนเงินทองซักเท่าไรก็ตาม มาดับความทุกข์ของกายที่เกิดจาก ความเจ็บ ความตายนั้น  ครั้งสุดท้ายดับไม่ได้ มันเอาไม่อยู่  จะรักษาเท่าไรจะถนอมเท่าไร  มันก็ตาย  เพราะหลักนี้เป็นหลักธรรมชาติ  เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป  แก่เจ็บตายไม่มีผู้ใดหนีพ้น  เกิดมาจะจน จะรวยก็ตาย  จะดีจะชั่วก็ตาย  ตายทั้งนั้น  ไม่มีที่จะสามารถยืนอยู่ไปได้  ความทุกข์ของกายนี้เกิดมาแล้วต้องทุกข์  แต่เราก็รักษากันไปเพื่ออยู่ อยู่เพื่ออะไร  ถ้าเราจะอยู่ไปวันๆหนึ่ง  เลี้ยงกายไปวันๆหนึ่ง  เราจะได้ประโยชน์อะไรจากการที่เราเกิดมา  เกิดมาแล้วมีผัวมีเมีย  มีไร่นาสาโท  มีแก้วแหวนเงินทองทั้งมวลทั้งหมด  มีนาร้อยไร่พันไร่มีเงินเป็นแสนล้านพันล้านก็ตาม  มีบริวารแก้วแหวนเงินทองขนาดไหน  ท้ายที่สุด  ของสิ่งนี้เป็นของบำรุงกาย  เมื่อตายไปแล้วเอาไปไม่ได้เลย  เราหามาเพื่อบำรุงกาย  เพื่อรักษากายให้ดำเนินไปได้  
            ฉะนั้น  เราจึงต้องมาพิจารณาดูว่า  ทุกข์ของกายนี้เราดับด้วยอามิส  เราก็จำเป็นต้องหา  แต่การหานี้เราก็ต้องหาให้เป็นสัมมาอาชีวะ  ถ้าเราไปหาในทางที่เป็นทุจริต  ไม่เป็นสัมมาอาชีวะ  ไปหาโดยการโกงการลักการขโมย  ไม่ชอบธรรม  ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน  มันก็เกิดโทษ  เกิดบาป  อันนี้อาตมาพูดแยกไปว่า  ทุกข์ของกายดับด้วยอามิส  เราจึงต้องหาทรัพย์  พระพุทธองค์ก็สอนให้คนขยัน  หาอยู่หากินให้เป็นคนขยัน  แต่ไม่ให้เป็นคนโลภ  ขยันทำงานเป็นสัมมาอาชีวะ  ทุกข์ของกายดับด้วยอามิส  ทีนี้เราก็รู้แล้วว่าทุกข์ของกายดับด้วยอามิส  เราก็ต้องขยันหาทรัพย์หาสมบัติหาแก้วแหวนเงินทอง ตามที่ถูกที่ควร   แต่ทุกข์ของจิตล่ะ  ทุกข์ของจิตเป็นแบบไหน  ทุกข์ของจิตก็ลักษณะที่ว่า  ลูกตายจาก ผัวตายจาก  ของหายของเสีย  ก็เป็นทุกข์ของจิต  พลัดพรากจากของรักของเจริญใจ  อย่างนี้ก็เป็นทุกข์  ทุกข์ของจิต  อยากได้สิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์  ทุกข์ของจิต  ได้มาแล้วเสียไป  ซื้อรถมา  ได้มาพอใจ  พอรถหายไป  ก็ทุกข์  มันก็เป็นทุกข์ของจิต  ข้าวแพงชอบใจ  พอข้าวถูกทุกข์อีกแล้ว  นั่นก็เป็นทุกข์ของจิต  กายเราก็ดีพอไม่ได้อย่างใจก็ทุกข์  นั่นเรียกว่าทุกข์ของจิต  ญาติเราตายญาติเราป่วยเราก็ทุกข์  นั่นคือทุกข์ของจิต  เป็นห่วงไม่อยากให้ญาติตาย  ไม่อยากให้ของหาย  อยากได้สิ่งใดไม่ได้มาอย่างใจก็เป็นทุกข์  นี่คือทุกข์ของจิตทั้งนั้น  รักคนนั้นเขาไม่รักตอบก็ทุกข์  อย่างนี้ก็เป็นทุกข์ของจิต  ทุกข์ของจิตนี่มันแสนสาหัส สากัน  บางคนมีทุกข์ของจิตจนฆ่าตัวตาย  ผู้ครองเรือนบางคนร่างกายก็ดีๆ  เช่นภรรยาพอสามีไปกินเหล้าเมายา ไม่ทำมาหากิน  ก็เป็นทุกข์  ทุกข์ของจิต  ตัวเองก็ร่างกายดีๆ  ผัวไปมีเมียน้อย  ยิ่งทุกข์หนักอีก  ร่างกายก็ดีๆ  นี่คือทุกข์ของจิต  ทุกข์ของจิตนี้จะดับด้วยอะไร  จะแก้ด้วยอะไร  จะแก้ได้ไงพระพุทธองค์ทรงสอนไว้แล้ว  ทุกข์ของกายอาตมาก็กล่าวไว้แล้วว่า  ดับด้วยอามิส  ก็คงจะเข้าใจกัน  แต่ทุกข์ของจิตเราจะแก้ด้วยอะไร  พระพุทธองค์ค้นพบวิธีดับทุกข์ของจิตแล้ว  ก็ทรงเอามาสอนชาวพุทธมาตั้งสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว  ก็มีชาวพุทธ ทั้งพระทั้งเณรทั้งแม่ชีได้พากันปฏิบัติตาม  จนดับทุกข์ได้สนิทก็มีจำนวนไม่ใช่น้อยๆ  ทั้งพระอรหันตสาวก  ทั้งผู้หญิงผู้ชายมากมาย  ที่ดับทุกข์ได้เป็นลำดับลำดา  ก็มีผู้ปฏิบัติตาม  แต่ชาวพุทธอีกจำนวนมากมายมหาศาล  ที่มีมากมายเหลือเกินที่ยังไม่รู้วิธีดับทุกข์ของจิต  
          อาตมามาวันนี้ก็อยากจะมาอธิบายชี้แจงบอกทางให้ชาวพุทธที่นั่งฟังอยู่นี้  ได้หันมาประพฤติปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้  อาตมาเองเมื่อก่อนนี้ก็ไม่รู้หรอกวิธีการดับทุกข์ของจิต  ไม่รู้เลย  ทุกข์แค่ไหนก็ได้แต่ร้องไห้เสียใจ  บางครั้งก็จะอยากฆ่าตัวตาย  อาตมาก็เคยเป็นทุกข์มาเหมือนกัน  เพราะว่าเราเป็นผู้มีกิเลส  เราจึงทุกข์  ความโลภก็ทำให้เราทุกข์  ความโกรธก็ทำให้เราทุกข์  ความหลงนี้ก็ทำให้เราทุกข์  ใครเป็นผู้หลง  จิตเรานี้แหละเป็นผู้หลง  มันจึงทุกข์  จิตเรานี้แหละเป็นผู้หลง  จิตกับกายกายกับจิต  จิตเรานี้มาหลงกาย  จิตมาหลงกายจึงทุกข์  จิตมาหลงรูปจึงทุกข์  จิตมาหลงเสียงจึงทุกข์  จิตมาหลงกลิ่นจึงทุกข์  จิตมาหลงสัมผัสจึงทุกข์  การที่เราดับทุกข์ของจิตได้  ทำให้จิตมีความสุขขึ้น  จิตฺตํ ทนฺตํ  สุขฺขาวหา  ผู้อบรมจิตแล้วเป็นสุข  การอบรมจิตการดับทุกข์ของจิต  ไม่มีอย่างอื่นเลยที่จะมาดับได้ในโลกนี้  นอกจากธรรมะ  เพราะธรรมะนี้แหละคือยาดับทุกข์ของจิต  ซึ่งประกอบไปด้วยหลัก ๓ อย่าง    คือหลักทาน  ศีล  ภาวนา  
          แต่ถ้ามีแต่ทานอย่างเดียว  ก็ยังดับทุกข์ของจิตไม่ได้อย่างแท้จริง  มีทานมีศีลก็ยังดับทุกข์ไม่ได้อย่างแท้จริง  ทานเป็นฐานเบื้องต้น  ศีลคือข้อกำหนดรักษากายกับวาจา  ให้อยู่ในขอบเขตของการไม่ก่อโทษภัยให้เป็นบาปเป็นเวร  อันนั้นปิดทางความชั่วไว้ก่อน  การที่จะดับทุกข์ของจิต  รักษาจิตไม่ให้ขุ่นมัว  ไม่มีความโศกเศร้าเสียใจ  ให้มีความผ่องใสเบิกบาน  มีภาวนาเท่านั้นที่จะดับทุกข์ของจิตได้  สรุปแล้วก็มีทานศีลภาวนาเท่านั้นที่จะดับทุกข์ของจิตได้  ที่จะดับไฟโลภไฟโกรธไฟหลงได้ ก็คือการภาวนาเท่านั้น  
          กล่าวถึงการภาวนา  ซึ่งก็คือการฝึกจิต  การอบรมจิต  ให้จิตเกิดความรู้ขึ้น  ให้จิตคลายความหลงเป็นลำดับลำดา  รู้ตามความเป็นจริงขึ้น  รู้สภาวธรรมอันเป็นจริงขึ้น  จิตก็จะคลายหลง  ก็จะเกิดสุขขึ้น  ญาติโยมทั้งหลาย  จิตของเรานี้เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง  ที่แส่ส่าย  วันหนึ่งคืนหนึ่ง  คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้  เป็นพันๆหมื่นๆเรื่อง  ล้วนแต่ส่งส่ายคิดไป  เรื่องดีบ้างเรื่องไม่ดีบ้าง  ปรุงแต่งคิดไป  เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่ไม่ยอมอยู่นิ่ง  จิตไม่ได้พักผ่อน  คนที่ไม่ได้ฝึกจิต  ไม่ได้ฝึกสมาธิภาวนา  จะไม่สามารถรู้ทันอาการของจิตได้เลย  จิตก็จะไหลไปตามความนึกคิดความต้องการ  ไม่มีการยับยั้งจิต  รู้ทันจิต  ว่าจิตนั้นคิดดีหรือคิดชั่ว  คิดในเรื่องที่เป็นโทษ  ไม่เป็นประโยชน์  ก็ไม่รู้ทัน  คิดโกรธก็โกรธไปจะแก้แค้น  คิดอยากได้อะไรก็ดิ้นรนอยากจะได้สิ่งนั้นมา  โดยที่ไม่ได้พิจารณาเลยว่า  สิ่งที่คิดไปนั้น  สิ่งที่จะทำนั้น  มันเกิดโทษหรือเกิดประโยชน์  เรามาฝึกจิต  มาฝึกสมาธิภาวนา  ก็เพื่อจะให้จิตของเรานี้ได้พักเข้าสู่ความสงบ  เมื่อจิตได้เข้าสู่ความสงบแล้ว  สติผู้กำหนดจิตนั้น  ก็จะรู้ทันอาการของจิต  ที่เราคิดที่เราปรุงนั้น  ว่าเราคิดเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดี  ธรรมดาจิตที่มาอาศัยกายนั้น  กายจะทำอะไรลงไป  กายนั้นจะเป็นลูกน้องของจิต  จะพูดอีกอย่างคือเป็นผู้รับใช้จิต  จิตคิดดีก็ไปทำในสิ่งที่ดี  จิตคิดไม่ดีก็จะใช้กายไปทำในสิ่งที่ไม่ดีเกิดโทษ  เราไม่รู้  จิตเรายังไม่รู้จิตเราเป็นผู้หลง  ไม่รู้ว่าเหตุที่เราทำนั้น  เหตุดีผลก็ต้องออกมาก็ดี  เหตุชั่วผลก็ต้องออกมาชั่ว  เป็นทุกข์เป็นบาปเป็นกรรม  จิตของเรา  ถ้าคิดดีแล้วก็จะใช้กายทำในสิ่งที่ดีๆ  เกิดประโยชน์เกิดบุญเกิดกุศลซึ่งจะนำสุขมาให้  
            ฉะนั้น  การฝึกสมาธิ  การฝึกจิต  จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ชาวพุทธทุกคน  ควรหันมาให้ความสนใจในการฝึกสมาธิภาวนา  คำว่าภาวนานี้  คำว่าจิตตภาวนานี้  ยังมีปุถุชน  ทั้งหลาย  ชาวพุทธทั้งหลาย  ญาติโยมทั้งหลายอีกเป็นจำนวนมาก  หลงเข้าใจว่า  สิ่งนี้เราเป็นฆราวาสไม่สามารถประพฤติปฏิบัติได้  เป็นธรรมชั้นสูง  เป็นธรรมที่เกินวิสัยที่ผู้ครองเรือนจะกระทำได้  ทำได้แต่พระเท่านั้น  แม้แต่พระบางองค์ยังคิดว่าสูงไม่สามารถทำได้  ทำได้ยากได้เย็น  แท้ที่จริงแล้ว  การฝึกสมาธินี้  อาตมาขอบอกว่า  ไม่ได้ยากได้เย็นอะไรเลย  เพียงแต่ญาติโยม  ให้ความสนใจ  ให้ความศรัทธาความเชื่อ  หันมาสนใจในการฝึกสมาธิภาวนา  เพื่อดับทุกข์ของจิต  เพื่อสร้างจิตให้เป็นผู้รู้  การภาวนาไม่ใช่เป็นของยากของเย็น  อาตมานั้นสมัยก่อนก็ไม่รู้  แต่เมื่อได้มาฝึกสมาธิภาวนาประพฤติปฏิบัติ  ตอนนั้นอายุประมาณสี่สิบห้าปี  จนจิตเข้าสู่ความสงบ  จนมีความตื่นตัวในสมาธิธรรม  ได้รับความสุขของสมาธิ เย็นจิต ชุ่มเย็นใจ  ความสุขอันนี้ไม่เคยพบมาก่อน  จนอายุสี่สิบห้าจึงได้มาพบ  เมื่อก่อนเป็นฆราวาส  ก็ดิ้นรนสร้างเนื้อสร้างตัว เหมือนญาติโยมที่ไม่เคยฝึกปฏิบัตินี่แหละ  ในเมื่ออาตมาประพฤติปฏิบัติเข้าสู่ความสงบแล้ว  จึงเห็นคุณค่าของสมาธิธรรมซึ่งทำให้จิตเรานี้มีความสุข  มีความเย็น  มีความรู้ความเข้าใจความฉลาดในจิตขึ้น  จึงได้ชวนลูกชายคนเล็ก  ตอนนั้นเขาอายุเพียงสิบปีอยู่โรงเรียนชั้น ป. ๔  พอวันเสาร์-อาทิตย์  ก็จะชวนเขาไปวัด  สอนให้เขาภาวนา  มาที่บ้านก็มาสอนให้ลูกภาวนา  ลูกคนนี้ฝึกไม่นานจิตก็เข้าสู่ความสงบ  เขาไปวัดกับอาตมา  พอวันอาทิตย์ขึ้นมาแกก็ไปวัดกับอาตมา  แกก็ยังกินข้าวเวลาเดียวได้  แสดงว่ากำลังจิตของแกกำลังสมาธิของแกมี  แกจึงไม่หิวข้าว  ความเอิบอิ่มในความสงบของสมาธิธรรม 
            ญาติโยมทั้งหลาย เราจะเห็นได้ว่าสมาธินั้น  ถ้าผู้ใดสนใจ  มีความศรัทธาตั้งใจประพฤติปฏิบัติ  เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ไม่ยากเย็นเลย  ขอเพียงเรามีความศรัทธา  มีความจริงใจ  มีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติเท่านั้น  แล้วการปฏิบัติให้ปฏิบัติแบบเสมอต้นเสมอปลาย  ทำไปทุกวันๆทุกคืนๆ  โดยเฉพาะญาติโยม ต้องประกอบสัมมาอาชีพ  มีเวลาน้อยในการปฏิบัติ  แต่เราก็ยังมีเวลาอยู่ที่จะปฏิบัติได้เพียงเราให้เวลาซักวันละประมาณอย่างน้อยสิบนาทีก่อนนอน  ก่อนนอนนี้ให้เราปฏิบัติทุกคืนๆก่อนนอนเป็นนิจ  การปฏิบัติอย่าไปลองปฏิบัติ  บางคนอาตมาแนะนำให้ปฏิบัติ  บางคนอ้างว่าไม่มีเวลา  แท้ที่จริงแล้วเวลามันพอมี  หรือบางคนบอกว่าลองปฏิบัติแล้วมันไม่ได้ผล  สมาธิธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของจริง  เราจะมาลองปฏิบัติเล่นๆไม่ได้  ต้องปฏิบัติด้วยใจศรัทธา  มีความแน่วแน่มีความตั้งใจจริง  มีความเสมอต้นเสมอปลายในการปฏิบัติ  ผลรับรองว่าได้แน่นอน  เพียงแต่ญาติโยมปฏิบัติให้เสมอต้นเสมอปลายทุกคืนก่อนนอน  คนเราทุกคนต้องนอนทุกคนไม่มีใครหรอกไม่นอน  ก่อนนอนให้เราสละเวลาซักสิบนาที  ซักสิบนาทีเท่านั้น  เมื่อเราได้ความสงบแล้วเราจะมีความศรัทธาเพิ่มขึ้น  เห็นความสำคัญของพุทธศาสนา  เห็นคุณค่าของพุทธศาสนาที่เราได้นับถือศาสนาพุทธ  เราจะเห็นประโยชน์จากพุทธศาสนาจากธรรมะแน่นอน  เมื่อเราปฏิบัติไปแล้วเมื่อจิตเข้าสู่ความสงบแล้ว  กำลังมีมาก  เราก็จะปฏิบัติเพิ่มไปเองโดยอัตโนมัติ  เพราะเราเห็นคุณค่าแล้ว  ก่อนที่เราจะปฏิบัติเราก็ยังไม่เห็นคุณค่า  พอเราปฏิบัติจิตเข้าสู่ความสงบ  ได้รับความสุข  เราก็จะปฏิบัติมากขึ้นเพียรมากขึ้น  อาจจะกลางวัน  ไปไร่ไปนาไปสวน  พักเหนื่อยก็ยังภาวนาได้  การปฏิบัติภาวนาไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ ยืนเดินนั่งนอนภาวนาได้ทั้งนั้น  เพียงแต่เรายังไม่รู้วิธีการเท่านั้น  การที่ให้ปฏิบัติก่อนนอนนั้นเพราะคนเราต้องนอน  เอาตรงนี้ปฏิบัติตรงนี้ให้ได้ก่อน  เมื่อเรามีกำลังจิต  มีความสงบแล้วเราจะเพิ่มขึ้นเองโดยอัตโนมัติ  
            การปฏิบัติภาวนาเราก็ต้องมาตั้งใจถามตัวเราเองก่อนว่า  เราจะปฏิบัติภาวนาเพื่ออะไร  ภาวนานี่เราภาวนาเพื่อให้จิตสงบ  จิตของเรานี้มันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งมันแส่ส่าย  วันหนึ่งคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้  ไม่มีหยุด  คิดเป็นพันๆหมื่นๆครั้งไม่ได้หยุดเลย  กายของเรานี้  ยังให้เวลามันพักมันผ่อนนอนหลับ  เหนื่อยขึ้นมายังนั่งพัก  แต่จิตของเรานี้มันจะไม่พักผ่อนเลย  มันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง  คิดโน่นคิดนี่ปรุงแต่งไปในเรื่องต่างๆนาๆ  คิดดีคิดเรื่องดีๆก็ทำให้ใจสดชื่นมีความสุขขึ้น  คิดเรื่องไม่ดีก็ทำให้ใจมีความขุ่นมัวเศร้าหมอง  แต่ส่วนใหญ่ปุถุชนคนธรรมดา  จะคิดไปในเรื่องกิเลสอันเป็นสิ่งบังคับใจให้ใจขุ่นมัวมากกว่า  ไม่มีสติพิจารณารู้ทันเลยว่าเราคิดไปในเรื่องอะไรมั่ง  ปล่อยอารมณ์ของใจ  ไหลไปตามอารมณ์ที่คิดปรุงแต่ง  ไม่มีการเบรก  เบรกของจิตไม่มีปล่อยไหลไปตามสภาวะของจิตเท่านั้น  โกรธขึ้นมาก็โวยวายด่าว่า  ชอบขึ้นมาก็หัวเราะดีอกดีใจ  ปล่อยไปตามอารมณ์  ไม่มีการยับยั้ง  ปรารถนาสิ่งใดไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้นมันเป็นธรรมะ  เป็นคุณหรือเป็นโทษ  เป็นบาปหรือเป็นบุญ  อยากได้อะไรก็ทำไปในตามที่จิตต้องการเลย  ไม่ได้พิจารณาเหตุผลซะก่อนว่าสิ่งที่คิดนั้นถูกหรือผิด  ที่จะทำนั้นถูกหรือผิด  ไม่มีสติ  เรามาฝึกสมาธิก็คือฝึกสติ  ให้จิตของเราพัก  เมื่อจิตพักแล้วจิตจะมีกำลัง  สติจะจับอาการของจิตที่ปรุงแต่งนึกคิดนั้น  รู้ทันว่าเราคิดเรื่องอะไร  ถ้าเรารู้ทันว่าคิดเรื่องไม่ดี  เราก็จะได้ตั้งสติเบรกแก้ไขไม่ให้จิตคิดไปในเรื่องไม่ดี  คิดจะรักก็รัก  คิดจะฆ่าก็ฆ่า  คิดจะด่าก็ด่า  ไม่มีเบรก  ถ้าเราฝึกสติ  ฝึกสมาธินี้ก็คือฝึกสติ  ให้มีกำลังสมาธิ  เมื่อจิตสงบแล้ว  ความหนักแน่นของจิตจะทำให้สติของเรานี้รู้ทันอาการของจิต นึกคิดปรุงแต่ง  มันจะเป็นประโยชน์ต่อเรามาก  ทำให้เรานี้มีความคิดมีเหตุผลขึ้น  การฝึกสมาธินี้ก็เพื่อจะให้จิตนั้นพัก  เมื่อจิตพักแล้วจิตจะมีความสงบชำนาญขึ้น ชำนาญขึ้น  เราก็จะเป็นคนมีเหตุผลขึ้น  จะทำสิ่งใดก็ทำด้วยความรอบคอบ  ผิดกับคนที่ไม่ได้ฝึก ถ้าเป็นนักเรียนฝึกสมาธิได้ก็จะเรียนเก่งเพราะจิตเขาจะไม่แส่ส่ายมาก  การฝึกสมาธิ  ก็เพื่อให้จิตสงบ  เมื่อจิตสงบแล้ว  เราก็เริ่มเดินปัญญา  เริ่มพิจารณาปัญญา  อันนี้ปัญญาพิจารณาเพื่ออะไร  เพื่อให้รู้จริงเห็นจริงตามสัจจะธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพื่อจะละความโลภความโกรธความหลงของเรา  ซึ่งมันเผาจิตใจของเราให้เร่าร้อน  เป้าหมายปลายทางของการปฏิบัติภาวนา  ก็เพื่อจะละกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เท่านั้น  การภาวนานี้เรียกว่าสมาธิ  สมาธินี้มันมีสองอย่าง  เมื่อเราฝึกสมาธิมีความสงบแล้วเราต้องเข้าใจสองอย่างคือเข้าใจสมาธิด้วย  พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนเรา  เพื่อให้เราออกจากทุกข์  กิเลสนี้เป็นศัพท์ธรรมะ มีความโลภความโกรธความหลงเป็นรากเหง้าตัวใหญ่  แต่แขนงมัน กิ่งก้านสาขามัน มีมากมายนะ  เราจะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ดับกิเลส  เป้าหมายสูงสุดธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ก็เพื่อให้เราพ้นทุกข์  กิเลสมันเป็นเหตุแห่งทุกข์  เราจึงมาปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์  เพื่อทำลายกิเลส  เพื่อสร้างบุญบารมีสะสมบุญบารมีของเรา  เพื่อเข้าสู่พระนิพพาน  อันเป็นการพ้นทุกข์  เราเกิดมาเรามีทุกข์  ทุกข์ทุกคน  เกิดมาแล้วต้องทุกข์  จะรวยจะจนจะดีจะชั่วก็ทุกข์  เกิดมาแล้วมาทุกข์  เกิดมาแล้วแก่  แก่แล้วเจ็บ  เจ็บแล้วก็ตาย  มีการพลัดพราก  ทุกข์กายทุกข์จิต มันต้องทุกข์ทุกคน  เกิดมาแล้วไม่มีใครหรอกไม่ทุกข์  สุขบ้างทุกข์บ้าง  อยู่ในนี้ตลอดเวลา  แล้วก็ตายไป  การสร้างบุญบารมีนี้ก็เพื่อสร้างบารมีไปสู่ความพ้นทุกข์  เราปฏิบัติสมาธิภาวนา  ก็ปฏิบัติเพื่อฆ่ากิเลสเพื่อความพ้นทุกข์  ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อเด่นเพื่อดังเพื่อมีอำนาจ  หากเอาไปใช้ในทางมิจฉาสมาธิ  สมาธิมี ๒ อย่าง  มี ๒ แง่  เมื่อปฏิบัติจิตสงบแล้วมันจะใช้ได้ ๒ ทาง  ทางหนึ่งเป็นสัมมาสมาธิ  เมื่อมีสมาธิแล้ว  เอามาพิจารณา  กายของเรา  จิตของเรา  ธรรมชาติของโลกทั้งสามนี้  ให้เห็นตามความเป็นจริง  เมื่อจิตรู้จริงแล้วจิตจะละ  จิตจะละสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย  จิตจะละโทษ  ในสิ่งที่จิตไปยึดไปเหนี่ยว  เราปฏิบัติเพื่อละกิเลส  ขอให้เข้าใจถ้าปฏิบัติสมาธิ  ปฏิบัติเพื่อละกิเลส  ปฏิบัติเพื่อละความโลภความโกรธความหลง  เป้าหมายแน่นอนเพื่อละกิเลส  ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อมีฤทธิ์มีเดช  หรือภาวนาขึ้นมาก็เพื่ออยากเห็นโน่นเห็นนี่  อยากเห็นเลข  อยากเหาะได้  อยากมีฤทธิ์  อยากเป็นหมอดูทางใน  อยากร่ำอยากรวย  อันนั้นมันเป็นเรื่องของมิจฉาสมาธิ  ตั้งเป้าหมายในการปฏิบัติไว้ไม่ถูก  สัมมาสมาธิปฏิบัติเพื่อละทุกข์เพื่อดับทุกข์เพื่อละกิเลส  มิจฉาสมาธิปฏิบัติแล้วจะใช้ไปในทางที่ไม่ใช่เป็นทางที่ละกิเลส  ฉะนั้น  จงตั้งเป้าหมายให้แน่นอนเลยว่า  เราปฏิบัติ ทาน ศีล ภาวนา นี้เพื่อสร้างบุญบารมี  เพื่อทำลายกิเลส  อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ของเรา  เราปรารถนามีความสุข  ปรารถนาพ้นทุกข์  เราก็ต้องปฏิบัติฆ่าทุกข์ดับทุกข์  เป้าหมายอันนั้น 
           ขอให้สาธุชนทั้งหลาย  ทุกคน  หันมาสนใจเถิด  หันมาสนใจการปฏิบัติภาวนา  ธรรมะของพระพุทธองค์ยังใหม่  ไม่มีการเสื่อมยังใหม่แจ๋ว ยังใหม่อยู่  ผู้ใดปฏิบัติย่อมได้ผลแน่นอน ไม่เลือกกาลไม่เลือกเวลา  พระพุทธองค์สอนสัตว์โลกมาสองพันกว่าปีแล้ว  ธรรมะไม่มีเสื่อม  กิเลสครั้งพุทธกาลมีอยู่  ปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่  กิเลสไม่เสื่อม ธรรมะก็ยังไม่เสื่อม  มันเป็นของคู่กัน  ในใจของเรานี้  กิเลสมายึดครอง  กิเลสก่อตัวขึ้นง่ายในใจ  โดยส่วนใหญ่ปุถุชนกิเลสมันเป็นเจ้านายของจิต  ธรรมะมีส่วนเข้าไปแทรกได้น้อย  คุณธรรมเข้าไปแทรกได้น้อย  เราจึงมาสร้างธรรมะให้เกิดที่จิตที่ใจ  ภาวนานี้จะไปสร้างธรรมะให้เกิดที่ใจ  เพื่อจะได้ไปสู้กับกิเลสที่มันเกิดที่จิตที่ใจเรานั้นให้ดับคลายหายลงไป  ในหลวงของเรา  บารมีของพระองค์มีมากมายแล้ว  พระองค์ก็ยังปฏิบัติธรรมมาตลอด  พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์  พระองค์ภาวนามาเป็นสิบๆปี  เดินจงกรมนั่งภาวนา  พระอรหันต์อยู่ที่ไหนพระองค์จะเสด็จไปกราบไปไหว้เสมอเพื่อฝึกภาวนา  มีหลวงปู่เหรียญซึ่งเป็นพระอรหันต์  ท่านถึงกับนิมนต์ไปจำพรรษาในวังเพื่อฝึกภาวนา  เราเป็นพสกนิกรของพระองค์  พระองค์สูงขนาดนั้นพระองค์ยังปฏิบัติธรรม  เราเป็นประชาชนธรรมดา  เป็นพสกนิกรของพระองค์  เรานับถือพระองค์  เราก็ควรประพฤติปฏิบัติตาม  ธรรมะไม่ใช่ของครึ ไม่ใช่ของเก่า ไม่ใช่ของโบราณ  ฉะนั้นญาติโยมทั้งหลาย  กลับจิตกลับใจมาสนใจในการสร้างสติสมาธิปัญญา  สร้างภาวนาให้เกิดขึ้นที่จิตเถิด  โลกเราเดี๋ยวนี้  มันร้อนแรงแข่งขัน  มันเต็มไปด้วยกิเลส  ที่สะสมเข้ามาเผาจิตใจของเรา  ผู้อื่นเขาจะดิ้นไปอย่างไร  ดิ้นไปตามกิเลส  ขอให้เราหันจิตหันใจ  หันความสนใจมายึดธรรมเป็นที่พึ่งของจิต  เป็นหลักของจิตเราจะไม่ร้อนนะ  เราจะมีความสุขในความเป็นอยู่ได้พอสมควรกับการปฏิบัติ  ถ้าเราปฏิบัติได้มากความชุ่มเย็นก็จะมีมากขึ้น  
           ญาติโยมทั้งหลาย  การปฏิบัติภาวนานี้  อาตมาจะแนะนำให้  การปฏิบัติจะมีครูบาอาจารย์หลายสำนักสอนภาวนากัน  บางสำนักก็สอนสัมมาอะระหัง  บางสำนักก็สอนยุบหนอพองหนอ  บางสำนักก็สอนพุทโธ  สอนไปหลายแขนง  สอนไปหลายอย่างสอนให้ภาวนา  แต่บางคนยังไม่เข้าใจว่าการภาวนาอย่างโน้นดีสำนักโน้นดีสำนักนี้ดี  ที่จริงแล้วอาตมาขอพูดว่า  การภาวนานี้จะเอาอะไรมาเป็นบทภาวนาก็ตามแต่  ถือว่าใช้ได้ทั้งหมด  การปฏิบัติภาวนากำหนดยุบหนอพองหนอก็เพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ  หรือภาวนาสัมมาอะระหังก็เพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ  หรือภาวนาพุทโธก็เพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิกันทังนั้น  ไม่มีใครผิด  แต่เมื่อปฏิบัติแล้วปฏิบัติเพื่อละกิเลส  สอนเพื่อให้ละกิเลส  สอนเพื่อให้ดับทุกข์  ถือว่าถูกต้องทั้งหมด  ญาติโยมทั้งหลายไปฟังธรรมสำนักโน้นสำนักนี้ได้ยินได้ฟังมาเยอะจากครูบาอาจารย์ผู้สอน  ขอให้ญาติโยมจับจุดให้ดีๆ  จะเป็นพระหรือจะเป็นสำนักไหนก็ตามแต่สอนธรรมะ  ถ้าสอนให้ละกิเลส  ถือว่าเราพอจะดำเนินตามได้แน่นอน  แต่ถ้าสอนไปในแนวทางอื่นขอให้ญาติโยมเข้าใจไว้เถิดว่า  นั่นไม่ใช้ทางที่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธองค์  การปฏิบัติภาวนาต้องปฏิบัติดีตามธรรม  ปฏิบัติชอบตามธรรม  ปฏิบัติตรงตามธรรม  เพื่อทำลายกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เท่านั้น  ก่อนที่เราจะภาวนา  หมายความว่าที่ญาติโยมฟังเดี๋ยวนี้  กลับไปบ้านจะเริ่มฝึกหัดภาวนาละ  ใครภาวนาอยู่แล้วก็ให้ภาวนาต่อไป  ผู้ที่ยังไม่เคยภาวนามีความศรัทธาจะภาวนาต่อไป  มีความศรัทธาที่จะสร้างบุญบารมีของตัวเองขึ้นมาโดยไม่เสียงานมากมายนัก  ไม่เสียเวลามากมายนัก ไม่เสียทรัพย์  การภาวนาได้อานิสงส์มากแล้วไม่เสียทรัพย์  เป็นธรรมะล้วนๆที่จะให้เกิดกับจิตโดยตรง  ก่อนที่เราจะภาวนา  ขอให้ญาติโยมทั้งหลาย  เช่นว่าเราจะภาวนาก่อนนอนละ  คืนนี้กลับไปบ้านเราจะภาวนา  พอใกล้จะนอน  ลูกหลานก็หลับกันแล้ว  คือว่าเราขยักเวลาไว้ซักหน่อยหนึ่ง  หิ้งพระที่เราจะภาวนาขอให้จัดให้ดีอย่าให้รกรุงรัง  ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยให้สะอาด  อย่างน้อยอาทิตย์นึงให้จัดหิ้งพระให้ดีๆ  อย่าให้มีหยากเยื่อหยากใย่  บางบ้านอาตมาเคยไปเห็นพระหลายองค์หยากเยื่อหยากไย่เต็มไปหมด  ระเกะระกะพระบางองค์ล้มตะแคงบ้าง  ซึ่งแสดงว่ามีแต่พระเปล่าๆไม่ให้ความสนใจเลย  อันนั้นไม่ได้ผลเลยนะ  พระตั้งไว้เฉยๆเดินไปเดินมาวันคืนเป็นเดือน  ไม่เคยให้ความสนใจ  เรามีพระพุทธมีพระไว้ที่บ้านจัดหิ้งพระไว้เราต้องเคารพกราบไหว้  อย่างบางคนเนี่ยยังภาวนาไม่เป็น  อย่างน้อยๆกราบพระ  สอนให้ลูกให้หลานกราบก่อนนอน  ก็ยังนับว่าดี  บางคนมีพระอยู่ไม่สนใจ  ที่นี้ญาติโยมที่ฟังธรรมอยู่นี้อาตมาคิดว่ามีพระพุทธรูปอยู่ทุกบ้านทุกหลังคาเรือนแน่นอน  น้อยนักที่จะไม่มีพระพุทธรูปไว้  แต่ที่จะสนใจจัดแต่งปฏิบัติดูแลให้สะอาดนั่งภาวนานี่สังเกตดูแล้วนะมีน้อย  ถ้าเราจะภาวนาเราก็ต้องจัดหิ้งพระให้ดีๆ  ตอนเย็นๆเราก็จัดหิ้งพระให้เรียบร้อย  เราจะเริ่มฝึกภาวนาละ  เราจะเริ่มเอาจริงละ  เราจัดไว้เรียบร้อยแล้ว  ก่อนนอนเรากราบพระ  จุดธูปจุดเทียนถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร  ถ้ามีก็จุด  แต่จุดแล้วก็วางให้ดีๆ  เลิกภาวนาก็ดับซะเพราะมันจะเป็นโทษเรื่องของไฟ  พอเราจุดธูปจุดเทียนกราบพระ  เราไม่ต้องสวดมนต์มาก  สวดมากมันก็จะมากเวลาไป  บางคนมักสวดมากสวดเป็นชั่วโมงก็มี  บทสวดนั่นมันดีดีทุกบท  แต่ให้เราลดลงมาเพราะถ้าเราสวดมากไปเวลาที่เราจะภาวนาก็ไม่มี  เช่นว่าบางคนชอบสวดมนต์ก็ดี  แต่สวดไปเป็นชั่วโมงไม่รู้กี่บทต่อกี่บท  ถ้าเราชอบสวดมนต์  เช่นเราสวดอยู่วันละสิบบท  ก็ให้เราลดมาวันละสองบท  แล้วก็สวดเวียนไปพอถึงสิบบทก็มาขึ้นต้นใหม่  เอาเวลาส่วนนั้นประหยัดมาให้การกำหนดจิตภาวนา  ทำไปแบบนี้  พอเราจุดธูปจุดเทียนแล้ว  กราบพระสวด  อะระหังสัมมาฯ สวากขาโตฯ สุปะฏิปันโนฯ แล้วก็ ตั้งนะโมสามจบ เท่านี้ก็ได้  อาจจะแทรกบทอื่นไปซักบทสองบท  แล้วเราก็มานั่งกำหนดจิตอธิฐาน  ณ  บัดนี้ข้าพเจ้าจะขอปฏิบัติบูชาคุณพระพุทธเจ้า  คุณพระธรรมะเจ้า  คุณพระสงฆ์เจ้า  ขอให้จิตของข้าพเจ้าสงบเป็นสมาธิ  เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  จวบจนเข้าถึงนิพพานด้วยเถิด  สาธุ  พอกล่าวคำอธิฐานเสร็จ  เราก็จัดแจงนั่ง  ถ้าผู้หญิงก็ควรจะนั่งพับเพียบ  แต่ถ้านั่งพับเพียบไม่ถนัดจะนั่งขัดสมาธิ  ก็ไม่เป็นไร  ผู้ชายก็ควรขัดสมาธิ  เอาขาขวาทับขาซ้าย  มือขวาทับมือซ้าย  นั่งตัวตรงดำรงสติให้มั่น  อย่าเกร็งตัว  นั่งสบายๆ  มือก็ปล่อยสบายๆ  นั่งไม่ต้องเกร็งหัวไหล่  นั่งปล่อยมือปล่อยหัวไหล่ปล่อยขาตามสบายๆ  นั่งตัวตรงกระดูกคอกระดูกสันหลังตรงกัน  แต่ตรงธรรมดาๆอย่าเกร็ง  พอเราจัดที่นั่งไม่ต้องรีบร้อน  พอจัดกายของเราเรียบร้อยแล้ว  เราก็กำหนด  กำหนดสติลงที่ปากช่องจมูก  เอาผู้รู้คือความรู้ของเราที่รู้หิวรู้หนาวรู้ร้อน  เอาความรู้ตัวนี้ไปไว้ที่ปากช่องจมูก  แล้วก็กำหนดถอนหายใจสามครั้ง  ถอนให้หนักๆเต็มๆเลยสามครั้ง  ครั้งที่หนึ่งกำหนดว่า  พุทโธ  ครั้งที่สองกำหนดว่า  ธัมโม  ครั้งที่สามกำหนดว่า  สังโฆ  พอถอนหายใจแล้วก็เอาสติกำหนดไว้ที่ปากช่องจมูกของเรา  ลมเข้าหายใจเข้าให้รู้ว่าลมเข้าแล้วกำหนดว่า  พุท  หายใจออกให้รู้ว่าลมออกกำหนดว่า  โธ  เอาสติกำหนดรู้เข้ารู้ออก  ลมเข้าก็  พุท  รู้ว่าลมเข้า  ลมออกก็  โธ  รู้ว่าลมออก  เอาความรู้ไว้ที่ปากช่องจมูกให้รู้เข้ารู้ออกๆ  เท่านี้ ไม่ต้องไปอยากเห็นโน่นเห็นนี่   เพียงกำหนดรู้ลมเข้าลมออกๆ  ไว้ให้ตลอดเวลา  เวลาจิตมันออกไป  ไม่รู้กำหนดลม  ก็ให้ดึงเข้ามา  รู้เข้ารู้ออกพุทโธต่อไป  ทำแบบนี้อยู่ตลอดเวลา  อย่าไปโมโหเวลาจิตออกไป  เพราะทำใหม่ๆปฏิบัติใหม่ๆจิตชอบออก  แต่เราทำไปนานเข้าจิตจะเชื่อง  จิตจะเย็นลงๆ  เข้าสู่ความสงบได้  เมื่อเราชำนาญแล้วจะกำหนดได้ไวมาก  ชำนาญนั่งแป๊บเดียวก็สงบ  แต่ใหม่ๆนี้แน่นอนมันก็ต้องยังแส่ส่ายอยู่บ้าง  แต่ให้เข้าใจไว้เลยว่าเราภาวนาทุกครั้ง  เราได้อานิสงส์ทุกครั้งแล้วมากด้วย  อานิสงส์ที่ได้มากกว่าทาน  มากกว่าศีล  ถึงจิตไม่สงบก็ได้อานิสงส์มันเป็นการปฏิบัติบูชาพระพุทธองค์  พระพุทธเจ้าสรรเสริญ  
             ขอให้มั่นใจเราภาวนาทุกครั้งได้อานิสงส์ทุกครั้งถึงแม้จิตไม่สงบ  จิตสงบเมื่อไหร่เราจะรู้ขึ้นเอง  จิตสงบคือจิตเป็นจิตเดียวไม่แส่ส่าย  เป็นจิตดิ่งอยู่  ด้วยอารมณ์ไม่คิดปรุงแต่งเลย  เราจะรู้ด้วยตนเอง  การปฏิบัติ  พอนั่งภาวนาจิตมันไปคิดในอดีตก็ให้ตัดซะ  ตัดอดีตที่ล่วงแล้วไปแล้ว  อดีตที่เราทำมาตัดทิ้งให้หมด  เราอย่าไปคิดนึก  อดีตที่ล่วงมาแล้วดีบ้างชั่วบ้างเราอย่าไปคิดนึก  เราเพียงแต่กำหนดรู้ปัจจุบัน  คือรู้ลมเข้าลมออกๆ  ควรจะปฏิบัติทุกคืนอย่าเว้น  สิบนาทีห้านาทีขอให้อย่าเว้น  เพียงไม่นาน อาจจะเป็นเดือนเป็นปีนี้ยาก  ส่วนใหญ่เป็นเดือนก็เริ่มเห็นผล  บางคนก็เป็นเดือนบางคนก็เป็นปี  แต่ไม่มีผู้ใดหรอกที่จะปฏิบัติไม่ได้ผล  เราทำไปเรื่อยๆปฏิบัติไปเรื่อยๆ  วันหนึ่งเราจะรู้ผลแน่นอน  แล้วเราจะได้บุญบารมีมากคุ้มค่าแก่การเกิด     เมื่อเราเริ่มต้นศึกษา  หนังสือมีพอค้นคว้า  ปฏิบัติไปเรื่อยๆ  พระปฏิบัติมาทางไหน  ก็ให้สนใจถาม  เข้าศึกษา  วัดไหนมีสอนปฏิบัติเราไปก็ศึกษาเอา  แล้วมาพิจารณา  แล้วมาปฏิบัติ  ความก้าวหน้าต้องมีแน่นอนในการปฏิบัติ  ฆราวาสเนี่ยปฏิบัติได้ถ้าถือศีลห้าบริสุทธิ์  ปฏิบัติไปจริงจังจิตก็เป็นพระได้  จิตเป็นพระอริยสงฆ์ได้  เป็นโสดาปฏิผล  เป็นสกิทาคามีผลได้  ผู้ที่ปฏิบัติได้มีมากมายเหมือนกัน  
             ขอให้เริ่มต้นเถิด  เริ่มต้นตั้งแต่คืนนี้วันนี้  ผู้ใดปฏิบัติแล้วก็ให้ดำเนินต่อไป  ให้ปฏิบัติไปอย่าละวาง  ภาวนาเป็นอริยทรัพย์ เป็นบุญเป็นการสร้างบารมี  เราหาทรัพย์หยาบหาแก้วแหวนเงินทอง  นั่นเพื่อบำรุงกาย  เราภาวนาเพื่อบำรุงจิต เพื่อรักษาจิต  เพื่อดับทุกข์ของจิต  ขอให้ญาติโยมทั้งหลายเริ่มต้นปฏิบัติตลอดไป  เวลามันก็จะหมดแล้ว  
              อาตมาขอให้ญาติโยมทั้งหลาย  ที่ได้ฟังธรรมในวันนี้จงหันจิตหันใจ  ตั้งจิตตั้งใจมาสนใจในธรรมเถิด  แล้วญาติโยมทั้งหลายจะได้พบกับความสุข  อันเป็นสิ่งที่ญาติโยมไม่เคยพบ  ญาติโยมจะคุ้มค่าแก่การเกิด  เกิดมาแล้วต้องตาย  ทรัพย์สมบัติเราเอาไปไม่ได้  บุญบารมีที่เราปฏิบัติภาวนานี้จะติดจิตติดใจเราไปทุกภพทุกชาติ  ส่งเราให้มีความสุขทั้งในชาตินี้และชาติต่อๆไป  สมดังบาลีที่ว่า  จิตฺเต  สงฺกิลิตฺเฐ  สุขฺคติปาติกงํขา  ถ้าจิตเป็นสุขย่อมมีสุขคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า  จิตฺเต  อสงฺกิลิตเฐ  ทุกฺคติปาติกํขา  ถ้าจิตเป็นทุกข์ทุกคติก็เป็นที่ไปในเบื้องหน้า  
             ขอให้ญาติโยมสร้างทรัพย์สมบัติอันละเอียดนี้  ให้ติดจิตติดใจของญาติโยมถ้วนทั่วทุกคนเถิด  เพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง  ขอความสุขความเจริญ  มรรคผลนิพพาน   จงสำเร็จแก่ญาติโยม  ถ้วนทั่วทุกตัวคน   อาตมาแสดงธรรมมาก็สมควรแก่เวลา  เอวังก็มี  ด้วยประการะฉะนี้.             

วิมโลวาท ๑. ตัวศีล คือ ตัวเจตนางดเว้น รับศีลแล้วแต่ไม่มีเจตนารักษา มันก็ได้แค่ศีลประเพณี ศีลพิธีกรรมแล้วจะเอาอานิสงส์ของศีลมาจากไหน ๒. บุญ เกิดจากการทำทาน มหาบุญ เกิดจากการรักษาศีล อภิมหาบุญ เกิดจากการเจริญเมตตาภาวนา ๓. ทำทานให้ถูกต้อง รักษาศีลให้ถูกต้อง ภาวนาให้ถูกต้อง นิพพานคือความพ้นทุกข์อยู่ไม่ไกลเลย ๔. การปฏิบัติภาวนานั้น ตัวเจตนาเป็นสิ่งสำคัญมาก ส่วนสติ สมาธิ และปัญญานั้นมันเป็นสิ่งจำเป็นอยู่แล้ว เพราะการภาวนานั้นต้องมีเจตนาปฏิบัติเพื่อรู้แจ้งในธรรมเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ใช่มีเจตนาเพื่อเด่น เพื่อดัง เพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ๕. ความรวยนั่นดี แต่อย่าหลงความรวย ๖. ถ้ายิ่งให้ ก็ยิ่งเบา แต่ถ้ายิ่งเอา ก็ยิ่งหนัก ๗. อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค สิ่งเหล่านี้เป็นของบำรุงร่างกาย ส่วนสิ่งที่เครื่องบำรุงจิตใจ มีแต่ธรรมะของพระพุทธองค์เท่านั้น ๘. ชาวพุทธเราแค่การกราบพระก่อนนอนทุกวันยังทำกันไม่ค่อยได้ เพราะมักอ้างว่าไม่มีเวลาบ้าง ง่วงนอนบ้าง แต่พอเวลาดูทีวี ไปเที่ยวบ้าง นั่งเล่นบ้าง กลับไม่เคยอ้างว่าไม่มีเวลา แล้วตกลงเราเป็นชาวพุทธแน่แล้วเหรอ ๙. การภาวนาสำหรับฆราวาสใน ๒๔ ชั่วโมง ต้องมีอย่างน้อย ๑ ครั้ง มากกว่านั้นยิ่งประเสริฐ แต่สำหรับนักบวชแล้วใน ๒๔ ชั่วโมง ต้องมีมากกว่า ๑ ครั้ง ๑๐. หากในครอบครัวใดมีผู้รักษาศีลห้าบริสุทธิ์ตลอดเวลาอาศัยอยู่ ครอบครัวนั้นไม่ต้องนิมนต์พระเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้านก็ได้ เพราะบ้านนั้นเป็นมงคลแล้ว ๑๑. โลภมาก ก็จนมาก โลภน้อย ก็จนน้อย แต่ถ้าหมดโลภ ก็หมดจน ๑๒. คนที่ยังไม่สนใจในบุญกุศลมักคิดว่า ไปวัดก็เสียงาน ทำบุญก็เสียเงิน ๑๓. นกที่มีรังเล็กๆ เช้าก็บินไปหากิน ตกเย็นก็กลับมานอนรัง พอตายก็เอารังไปไม่ได้ นกที่มีรังใหญ่ๆ เช้าก็บินไปหากิน ตกเย็นก็กลับมานอนรัง พอตายก็เอารังไปไม่ได้ คนที่มีฐานะยากจน เช้าก็ไปหากิน ตกเย็นก็กลับมานอนบ้าน พอตายก็เอาบ้านไปไม่ได้ คนที่มีฐานะร่ำรวย เช้าก็ไปหากิน ตกเย็นก็กลับมานอนบ้าน พอตายก็เอาบ้านไปไม่ได้ ลองคิดดูสิว่า ถ้าคนเราไม่ยอมสร้างบุญกุศล แล้วจะต่างอะไรกับนก ๑๔. หลวงตาไม่ได้สงสารแค่คนจนนะ คนรวยๆหลวงตาก็สงสารเพราะหากเขาไม่สนใจบุญกุศลเลย เขาก็เพียงแค่เกิดมากินบุญเก่าเท่านั้น ๑๕. การหาอยู่หากินมันก็จำเป็น เพราะถ้ายังมีภาระครอบครัวอยู่ก็ต้องหาเงินทองหรือทรัพย์หยาบแต่บุญกุศลคือ ทรัพย์ละเอียด เป็นอริยทรัพย์มันก็ต้องหาควบคู่กันไปด้วย ๑๖. การปฏิบัติภาวนามันเหมือนการพายเรือสวนกระแสน้ำ กระแสกิเลส ฉะนั้นจึงต้องเพียรทำบ่อยๆ ไม่อย่างนั้นมันก็ถูกกระแสน้ำ กระแสกิเลส พาไหลกลับมาที่เดิมอย่างเก่า แล้วจะไปหวัง ความก้าวหน้าในการภาวนาได้อย่างไร ๑๗. ปุถุชนคนเรามันห่วงร่างกาย หลงร่างกายมาก เลยบำรุงแต่ร่างกาย เพราะเวลาไม่สบายก็กินข้าวเวลาเหนื่อยก็กินข้าว เวลายุ่งก็ยังกินข้าว เวลาอารมณ์ดีก็กินข้าว อารมณ์ไม่ดีก็กินข้าว เวลาสุขก็กินข้าว เวลาทุกข์ก็กินข้าว แต่พอจะภาวนาก็อ้างว่ายุ่งบ้าง อารมณ์ไม่ดีบ้าง เหนื่อยบ้าง ไม่สบายบ้าง ทุกข์บ้าง ง่วงบ้าง จิตใจก็เลยไม่ได้รับการบำรุงเลย ๑๘. รู้จริง เกิดจากการศึกษาแล้วนำมาปฏิบัติขัดเกลาจิตใจให้หมดไปจากกิเลส อาสวะ ส่วนรู้จำ เกิดจากการศึกษาค้นคว้าและพิจารณาแต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติ กิเลสซักตัวก็ไม่ได้หลุด หายไปจากใจแม้แต่น้อย ๑๙. ธรรมะชอบคนที่ปฏิบัติจริง เพราะถ้าไม่ปฏิบัติจริง มันก็ไม่เจอ ๒๐. เวลายางพาราแพงก็ดีใจ เวลาปาล์มแพงก็ดีใจ เวลาน้ำมันแพงก็น่าจะดีใจด้วยสิ ตกลงมันเป็นที่ยางพาราที่ปาล์มที่น้ำมัน หรือที่อะไรกันแน่ ลองพิจารณาดูสิ ๒๑. ผู้ใดเห็นจิตก็เหมือนเห็นเวทีต่อสู้กับกิเลสแล้ว อยู่ที่ว่าจะเอาชนะมันได้หรือเปล่าเท่านั้น ๒๒. ถามตัวเองบ้างหรือเปล่าว่าเราเกิดมาทำไม? หากตอบว่าเกิดมาเพื่อใช้กรรมถือว่าสอบตก หากตอบว่าเกิดมาเพื่อสร้างความดีอันนี้ได้คะแนนครึ่งเดียว แล้วตัวเองก็ต้องหมั่นสร้างความดีด้วยไม่ใช่แค่ตอบมาเฉยๆ แต่หากตอบว่าเกิดมาเพื่อสร้างบุญบารมีและตัวเองก็กำลังกระทำอยู่ อันนี้ได้คะแนนเต็มเลย ๒๓. ภาวนาทุกครั้งถึงแม้จิตยังไม่สงบ ก็ได้อภิมหาบุญทุกครั้ง แต่ต้องทำด้วยความเคารพและ เป็นไปเพื่อรู้แจ้งในธรรมะ ๒๔. จิตใจของคนเรามันสกปรกไปด้วยกิเลสอาสวะ จึงจำเป็นต้องใช้น้ำทาน น้ำศีล น้ำภาวนามา ช่วยในการทำความสะอาดจิตใจให้ผ่องใสบริสุทธิ์ แต่ต้องเป็นทาน ศีล ภาวนาที่ถูกต้องนะ ๒๕. ชาวพุทธเราแค่เรื่องทำทานก็ทำกันไม่ค่อยจะถูกต้อง อย่างเช่นจัดงานทำบุญอุทิศกุศลศพ หรือ งานบวชลูกบวชหลาน แล้วก็เอาวัวบ้าง หมูบ้าง มาฆ่าในงานแล้วมันเป็นบุญตรงไหน บางคนก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นจะเอาเนื้อสัตว์ที่ไหนมาทำกับข้าวเลี้ยงคนล่ะ อันนี้มันไม่ยากเลยก็ไปซื้อที่ เขามีวางขายที่ตลาดที่เขาทำมาแล้วหรือที่มันตายแล้ว แต่อย่าไปสั่งเขาให้ฆ่าให้ล่ะ ซื้อที่เขาทำวางขายแล้ว เพราะถ้าไปสั่งว่าพรุ่งนี้จะมาเอาเนื้อมันก็เหมือนจ้างวานเขาฆ่านั้นแหละ ๒๖. การภาวนานั้น บ้างครั้งมันก็สงบมาก บางครั้งมันก็สงบน้อย หรือบางครั้งมันก็ไม่สงบเลย สิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องธรรมดาเพราะสมาธิมันก็ไม่เที่ยงอยู่ใต้กฎพระไตรลักษณ์เหมือนกัน ๒๗. คนที่ไม่เคยภาวนาจนจิตสงบเป็นสมาธิ ก็เหมือนไม่เคยเอาใจเข้าห้องแอร์ ๒๘. การดูพระอย่าดูกันที่แค่กิริยาภายนอกให้ดูธรรมะที่อยู่ข้างในนั่น เช่นเปรียบเทียบพระเป็นรถเก๋งกับรถอีแต๋น ต่างก็มีของที่บรรทุกอยู่ภายในรถ คันที่ ๑ รถเก๋ง บรรทุกเพชรพลอย คันที่ ๒ รถเก๋ง บรรทุกยาบ้า คันที่ ๓ รถอีแต๋น บรรทุกเพชรพลอย คันที่ ๔ รถอีแต๋น บรรทุกยาบ้า ลองพิจารณาดูสิว่า รถคันไหนน่ากลัวที่สุด ๒๙. การปฏิบัติธรรมมันไม่ได้เลือกว่าจะอยู่นิกายไหน จะมหานิกายหรือธรรมยุต หากปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรงตามธรรมของพระพุทธองค์แล้วพ้นทุกข์ได้เหมือนกัน ๓๐. สบ๊าย สบาย อยู่มากก็สบาย อยู่น้อยก็สบาย ฝนตกหน๊าวหนาวก็สบาย ทำงานมากเช้าจนเย็นก็สบาย มันสบายของมันตรงใจ ใจมันสบาย ถ้าใจเข้าใจแล้วมันสบาย ๓๑. ตัดสินใจทำอะไรแล้วต้องทำให้เสร็จ จะช้าจะไวก็ต้องทำให้เสร็จ เพราะเมื่อเสร็จแล้วมันก็จบ ๓๒. การปฏิบัติธรรมมันต้องคอยด่าตัวเอง ติตัวเอง แก้ไขตัวเอง แล้วมันจะก้าวหน้าแต่ถ้ามัวแต่ไปด่าคนอื่น ติคนอื่น ติดข้องผู้อื่น ให้ปฏิบัติไป ๑๐ ชาติก็ไม่ก้าวหน้า ๓๓. ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าไม่มาเกิดก็ไม่เจอทุกข์ทั้งปวง ๓๔. คนส่วนมากเน้นหาแต่ทรัพย์ภายนอกคือทรัพย์สินเงินทอง แต่ทรัพย์ภายในซึ่งเป็นอริยทรัพย์ คือบุญกุศลกลับไม่ค่อยให้ความสนใจ ทั้งที่ทรัพย์ภายในนี่แหละที่คอยรักษาทรัพย์ภายนอก ไม่ให้วิบัติเสียหาย ๓๕. นักภาวนาให้พยายามสังเกตความคิดบ่อยๆ ไม่ว่าจะทำกิจการงานอะไรก็คอยสังเกตความคิดเสมอ เพราะความคิดนี่แหละที่เป็นตัวนำสุขนำทุกข์มาให้ใจ ๓๖. หากหวังได้รับผลจากการภาวนาก็ต้องภาวนาทุกวันอย่าได้เว้น อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะ ถ้าภาวนาแบบเด็กเล่นขายของ พอนึกสนุกก็เล่น เบื่อก็เลิก นึกอยากภาวนาก็ภาวนา พอไม่นาน ก็เว้น ก็เลิก ถ้าทำอย่างนี้ก็ยากที่จะได้รับผลที่แท้จริง ๓๗. ที่ว่าวัดนั้นเจริญ วัดโน้นเจริญ มันเจริญตรงวัตถุ หรือว่าเจริญในธรรมะกันแน่ ๓๘. สิ่งก่อสร้างต่างๆไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ ศาลา กุฏิ วิหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสมบัติของพุทธศาสนาเท่านั้น แต่พุทธศาสนาจริงๆคือธรรมะ ๓๙. วัดป่าเคียนพิงนี้สร้างขึ้นมาเพื่อให้พุทธบริษัทได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรม มิใช่สร้างขึ้นมา เพื่อให้เป็นที่แสดงการละเล่นของกิเลสทางโลกทั้งหลาย ๔๐. ธรรมะของพระพุทธองค์ยังใหม่เอี่ยมทันทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยเสื่อม แต่ที่เสื่อมก็คือใจของ คนต่างหากเพราะไม่นำธรรมะมาปฏิบัติกับใจตน ๔๑. การพิจารณาทางด้านปัญญานั้น เมื่อกำลังของสมาธิมั่นคงพอแล้วก็ให้พิจารณาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต และธรรม ๔๒. การพิจารณาธรรมเพื่อให้จิตยอมรับสิ่งนั้นตามความเป็นจริงมันต้องใช้ปัญญาธรรมไม่ใช่ใช้สัญญาการจำได้หมายรู้ เพราะถ้าเป็นสัญญาไม่ใช่ปัญญามันก็เป็นรู้จำไม่ใช่รู้จริง ๔๓. หากพิจารณาธรรมภายนอกก็ต้องน้อมเข้ามาภายในด้วย เพราะเมื่อจิตยอมรับภายในส่วนภายนอกก็ยอมรับไปโดยอัตโนมัติ ๔๔. กายเป็นด่านแรกในการพิจารณาทางด้านปัญญา เพราะหากจิตยังไม่เข้าใจกายตามความเป็น จริงก็อย่าหวังว่าจิตจะไปละอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณได้เลย ๔๕. การพิจารณาทางด้านปัญญาไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด อย่าได้ให้ความสำคัญกับจำนวนครั้งที่พิจารณา แต่ควรถามตัวเองว่าจิตละและยอมรับเรื่องนั้นตามความเป็นจริงหรือยัง ๔๖. การที่จะให้จิตยอมรับสิ่งนั้นตามความเป็นจริง ต้องทำให้กำลังของสติ สมาธิและปัญญาเท่ากัน ๔๗. ชาวพุทธที่แท้จริงซึ่งขอถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ซึ่งเรียกว่า ไตรสรณคมน์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก เขาไม่กราบไหว้บูชาจอมปลวก ต้นไม้ หรือแม้แต่สัตว์แปลกประหลาดกันหรอก ๔๘. พระอรหันต์ท่านก็เป็นที่ใจ ใช่ที่ร่างกายตัวตน เพราะร่างกายเป็นสิ่งสมมุติ แต่จิตที่เป็นวิมุติอยู่เหนือสมมุติทั้งมวล ๔๙. อยากหล่อ อยากรวย อยากสวย อยากสุข อยากพ้นทุกข์ ไม่ยากทำทานให้ถูกต้อง รักษาศีลให้ถูกต้อง ภาวนาให้ถูกต้อง ๕๐. ถ้าชนะใจตนเองได้แล้ว มารทั้งหลายจะทำอะไรเราได้ละ

วัดป่าเคียนพิง มีกฎข้อห้ามดังนี้

      ๑. ห้ามดื่มเหล้าภายในวัด
      ๒. ห้ามเล่นการพนันภายในวัด
      ๓. ห้ามนำมหรสพต่างๆมาแสดงภายในวัด
      ๔. ห้ามพระ-เณร-ชี บอกหวย ใบ้หวย
      ๕. ห้ามนำสัตว์มาฆ่าภายในวัด

ข้อมูลในการติดต่อ วัดป่าเคียนพิง (ธรรมเจดีย์) เลขที่ ๓๘๔ หมู่ที่ ๙ บ้านบางโก ต.ต้นยวน อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๕๐ โทรศัพท์ ๐๘๑ ๙๕๘ ๒๓๒๔ . ๐๘๑ ๘๙๓ ๕๕๖๓ Face Book : กลุ่มปฏิบัติธรรมวัดป่าเคียนพิง