ปางภัตตกิจ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตรซึ่งวางอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาหย่อนลงในบาตร เป็นกิริยาเสวย

ประวัติ แก้

ในครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าได้โปรดยสกุลบุตรผู้หนีความวุ่นวายในเรือน ออกมา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน ต่อมาพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดบิดาของยสกุลบุตรได้แสดงตนเป็นอุบาสกขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง นับเป็นปฐมอุบาสกผู้ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งคนแรกในพระพุทธศาสนา การเทศนาครั้งที่ 2 นี้ ยังผลให้ยสกุลบุตร ผู้นั่งฟังอยู่ด้วยบรรลุอรหัตผล พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ยสกุลบุตร วันต่อมาทรงรับนิมนต์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านบิดาพระยสะ นับเป็นครั้งแรกที่เสด็จไปเสวยภัตตาหารตามบ้านและได้ทรงแสดงธรรมโปรดมารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ จนได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันและขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งเป็นอุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนา

ความเชื่อและคตินิยม แก้

เป็นพระพุทธรูปประจำเดือน 9

อ้างอิง แก้

  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี  : ศิลปาบรรณาคาร โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513.
  • เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษมบุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500)
  • สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
  • ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล