ปางนาคาวโลก เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาห้อยเยื้องมาข้างหน้าวางไว้ที่พระเพลา (ตัก) ด้านซ้าย พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระองค์ตามปกติ บางแบบพระหัตถ์ซ้ายห้อยมาข้างหน้า พระหัตถ์ขวาห้อยลงตามปกติ เอี้ยวพระวรกายผินพระพักตร์เหลียวไปข้างหลัง บางแบบพระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก)

ประวัติ แก้

วันหนึ่งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระชนมายุ 79 พรรษาแล้ว ทรงนำเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จออกจากรุงเวสาลี พร้อมรับสั่งว่า การเห็นกรุงเวสาลีครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนา คือ เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย การตรัสเช่นนี้ถือเป็นมรณญาณ เป็นลางบอกให้ทราบว่าพระพุทธองค์ใกล้ปรินิพพานแล้ว และทรงทราบด้วยพระญาณว่า แม้มหาชนทั่วไปก็ไม่อาจเห็นเมืองเวสาลีอีก เพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน กองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูจะเข้ายึดเมืองเวสาลีเพราะกษัตริย์ลิจฉวีไม่ได้ตั้งมั่นในอาปริหานิยธรรมที่พระพุทธองค์ประทานสำหรับใช้ปกครองร่วมกัน ซึ่งเคยต้านทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูไว้ได้ถึง ๒ ครั้ง การทอดพระเนตรครั้งนี้ เรียกว่า "นาคาวโลก" คือการเหลียวมองอย่างพญาช้าง สถานที่นี้มีผู้สร้างเจดีย์เอาไว้เรียกว่า "นาคาวโลกเจดีย์"

ความเชื่อและคตินิยม แก้

  • เป็นพระพุทธรูปประจำเดือน 4

อ้างอิง แก้

  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี  : โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513.
  • เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษมบุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500)
  • สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
  • ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล