ปางทรงรับอุทกัง

ปางทรงรับอุทกัง เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทรงบาตรวางบนพระชานุ (เข่า) เป็นกิริยายื่นบาตรออกรับอุทกัง คือ รับน้ำ

ประวัติ แก้

ในครั้งที่พระพุทธเจ้าประทับที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ นายจุนทะได้จัดภัตราหารอันประณีตไว้ถวายพร้อมสุกรมัททวะ หลังจากที่เสวยภัตตาหารของนายจุนทะแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงพระประชวร แต่ก็เสด็จไปยังเมืองกุสินารา ระหว่างทางทรงกระหายน้ำเป็นกำลัง จึงรับสั่งให้พระอานนท์นำน้ำมาถวาย พระอานนท์กราบทูลว่า มีเกวียน 500 เล่มเพิ่งข้ามแม่น้ำไป ทำให้น้ำขุ่นไม่ควรเสวย และเชิญเสด็จไปยังแม่น้ำอีกสายที่อยู่ใกล้ๆ แต่มีรับสั่งให้พระอานนท์ไปนำน้ำมา พระอานนท์ทูลทัดทานถึง 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 จึงทำตามพระบัญชา เมื่อพระอานนท์นำบาตรไปตักน้ำมาถวาย น้ำกลับใสสะอาดไม่ขุ่นมัวเป็นอัศจรรย์ พระพุทธองค์จึงเสวยน้ำนั้น

ความเชื่อและคตินิยม แก้

เป็นพระพุทธรูปประจำปีมะเส็ง

อ้างอิง แก้

  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี  : โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513.
  • เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษมบุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500)
  • สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
  • ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล