ประติมากรรมหินแดแกบาลุส

ประติมากรรมหินแดแกบาลุส (โรมาเนีย: Sculptura în stâncă a lui Decebal) หรือ รูปหน้าของกษัตริย์แดแกบาลุส (Chipul regelui dac Decebal) เป็นงานแกะสลักขนาดมหึมาแสดงรูปใบหน้าของกษัตริย์แดแกบาลุส (ครองราชย์ ค.ศ. 87–106) กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งเดเชีย ผู้ต่อสู้ต้านทานจักรพรรดิดอมิติอานุสและจักรพรรดิตรายานุสแห่งจักรวรรดิโรมัน เพื่อปกป้องเอกราชของอาณาจักรของตนซึ่งมีอาณาเขตใกล้เคียงกับประเทศโรมาเนียในปัจจุบัน

ประติมากรรมหินแดแกบาลุส ด้านล่างมองเห็นแม่น้ำดานูบ

ประติมากรรมนี้ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองออร์ชอวา เทศมณฑลเมเฮดินตส์ สร้างขึ้นในระหว่างปี 1994 ถึง 2004 บนพื้นที่หินโผล่ริมแม่น้ำดานูบในช่วงประตูเหล็กซึ่งทำหน้าที่เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศโรมาเนียกับประเทศเซอร์เบีย ประติมากรรมนี้ถือเป็นงานสลักหินนูนต่ำที่สูงที่สุดในยุโรป ด้วยความสูง 55 เมตร (180 ฟุต) และความกว้าง 25 เมตร (82 ฟุต)

การสร้าง แก้

ยอซิฟ กอนสตันติน เดรอกัน นักธุรกิจชาวโรมาเนีย มอบหมายว่าจ้างให้สร้างประติมากรรมนี้ขึ้น โดยใช้เวลา 10 ปี กับประติมากร 12 คน กว่าที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ หัวหน้าประติมากรคือฟลอริน กอตาร์ชา ชาวออร์ชอวา[1] นักธุรกิจผู้นี้ได้ซื้อบริเวณหินโผล่นี้ในปี 1992 และมอบหมายให้มารีโอ กาเลออตตี นักออกแบบชาวอิตาลี มาประเมินสถานที่จริงและสร้างแปลนแรกเริ่ม หกปีแรกของการก่อสร้างหมดไปกับการระเบิดหินให้เป็นรูปพื้นฐานอย่างง่าย และอีกสี่ปีที่เหลือเป็นการแกะสลักรายละเอียด[2]

ด้านล่างใบหน้าของกษัตริย์แดแกบาลุสมีจารึกภาษาละตินว่า "DECEBALUS REX—DRAGAN FECIT" ("กษัตริย์แดแกบาลุส — สร้างขึ้นโดยเดรอกัน") ประติมากรรมนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับป้ายระลึกแกะสลักที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำดานูบในเซอร์เบียและหันหน้าเข้าสู่โรมาเนีย ป้ายระลึกนี้มีชื่อว่าตราบูลาไตรยานา ซึ่งจารึกเชิดชูความสำเร็จของจักรพรรดิตรายานุสในการสร้างถนนทางทหารไปตามลำน้ำดานูบ จึงเป็นการระลึกถึงการที่กษัตริย์แดแกบาลุสปราชัยแก่จักรพรรดิตรายานุสในปี 105 เป็นผลให้อาณาจักรเดเชียตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน นอกจากนี้ เดรอกันยังต้องการให้ชาวเซอร์เบียฝั่งตรงข้ามแกะสลักรูปศีรษะของจักรพรรดิโรมันองค์นี้ให้ประจันหน้ากับใบหน้าของกษัตริย์แดแกบาลุส แต่ทางเซอร์เบียปฏิเสธ[3]

ความสำคัญ แก้

เดรอกันเป็นหนึ่งในผู้นำของขบวนการ protochronism และ Dacianism ซึ่งเป็นแนวคิดชาตินิยมที่พยายามจะแสดงภาพโรมาเนียในฐานะอู่อารยธรรมหลักผ่านการระบุโรมาเนียเป็นจักรวรรดิเดเชียและธราเชีย ซึ่งเข้าใจกันว่าในเวลานั้นครอบครองพื้นที่ยุโรปกลางได้[4][5]

อ้างอิง แก้

  1. Daniela Schily, Matthias Eickhoff, Donau: von Regensburg zum Schwarzen Meer, DuMont Reiseverlag, 2010, p.237.
  2. "Fundatia Europeana Dragan, DECEBALUS REX DRAGAN FECIT, History of the monument". Decebalusrex.ro. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-14. สืบค้นเมื่อ 2014-08-15.
  3. Thorpe, Nick, The Danube: A Journey Upriver from the Black Sea to the Black Forest, Yale University Press, 2014. p.336.
  4. Katherine Verdery, National Ideology under Socialism. Identity and Cultural Politics in Ceaușescu's Romania, University of California Press, 1991
  5. Lucian Boia, History and Myth in Romanian Consciousness, Central European University Press, Budapest, 2001, p.105

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

44°38′26″N 22°17′29″E / 44.64056°N 22.29139°E / 44.64056; 22.29139