ถ้ำจาม ตั้งอยู่บริเวณเขางู ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี[1] เป็นถ้ำที่อยู่ด้านในสุดบนเขาลูกเดียวกับถ้ำจีน

ศิลปกรรม

แก้

ภายในด้านขวาของถ้ำพบภาพพระพุทธรูปแสดงปางต่าง ๆ และภาพต้นไม้ สันนิษฐานว่าเป็นภาพพุทธประวัติตอน ยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี โดยพุทธองค์ทรงปรากฏพระองค์ในปางต่าง ๆ เป็นคู่ ๆ ภาพพุทธประวัติตอนนี้มีความนิยมสร้างทั่วไปในทุกนิกาย แต่เป็นที่สังเกตว่าในที่นี้ปรากฏผลมะม่วงแทรกอยู่ตามต้นไม้ แสดงให้เห็นว่า การแสดงยมกปาฏิหาริย์นี้ทรงแสดงบนต้นมะม่วงซึ่งสอดคล้องกับคัมภีร์ ชาดกอรรถกถา ของนิกายเถรวาท กล่าวว่า ครั้นเมื่อพระพุทธองค์เสวยผลมะม่วงแล้วได้ทรงนำเมล็ดไปปลูกทันที ทันใดนั้นเมล็ดได้เติบโตขึ้นออกผลให้ภิกษุเก็บไปฉัน เมื่อพระพรหมประทับข้างขวา พระอินทร์ประทับข้างซ้ายแล้ว พญานาคชื่อนัทะ และอุปนัทะ ได้เนรมิตดอกบัวขึ้น มีพระพุทธเจ้าประทับอยู่อีกองค์หนึ่ง และพระพุทธองค์ยังทรงเนรมิตพระพุทธเจ้าอีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน บางพระองค์ทรงจงกรม บางพระองค์ประทับ บางพระองค์ยืน บางพระองค์บรรทม ดังนั้น พระพุทธรูปองค์นี้จึงน่าจะอยู่ในนิกายเถรวาทนี่เอง

นอกจากภาพยมกปาฏิหาริย์ มีภาพปูนปั้นรูปต้นมะม่วงแล้ว ด้านซ้ายของถ้ำยังพบพระพุทธรูปสลักนูนต่ำปางมหาปรินิพพานใต้ต้นสาละซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับที่ถ้ำฝาโถ พระพุทธรูปองค์นี้จึงน่าจะเป็นภาพพุทธประวัติตอนเดียวกันและอยู่สมัยเดียวกัน ซึ่งก็คือ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14

ถัดมาพบรูปบุคคลยืนซ้อนกันเป็นแนวยาว อาจเป็นรูปสาวกที่มายืนเฝ้าพระพุทธองค์ตอนปรินิพพานก็เป็นได้ ส่วนรูปพญานาคที่อยู่ถัดมา คาดว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปนาคปรก แต่ไม่พบองค์พระพุทธรูป เหตุผลที่คาดว่ารูปนาคนี้น่าจะเป็นรูปนาคปรก เนื่องจากในศิลปทวารวดีนี้ ก็มีการสร้างพระพุทธรูปนาคปรกเช่นเดียวกัน ดังที่พบที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ นั้นก็เป็นพระพุทธรูปนาคปรกที่นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่าเป็นพระพุทธรูปนาคปรกที่เก่าที่สุดในศิลปะทวารวดี และหัวนาคนั้นจะมีลักษณะคล้ายลิง ซึ่งต่างจากแบบเขมรที่จะหน้ายื่นกว่า คล้ายหมู

อ้างอิง

แก้