ถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง

ถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง หรือเรียกกันทั่วไปว่า ถนนกีบหมู เป็นถนนในแขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากถนนปัญญาอินทราบริเวณทางแยกลำกะโหลก ไปทางทิศตะวันออก ผ่านบึงแบนตาโพ คลองกีบหมู (คลองพระยาสุเรนทร์ 1) และมัสยิดย่ามีอะห์ ตัดกับถนนเจริญพัฒนา ก่อนจะไปสิ้นสุดที่ถนนหทัยราษฎร์บริเวณลำรางแชเจิม ระยะทางยาว 1.582 กิโลเมตร[1]

สันนิษฐานกันว่าชื่อ "กีบหมู" มีที่มาจากการที่ในอดีตได้มีชาวมุสลิมจากปัตตานีอพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่แถบมีนบุรีและคันนายาว และมีคนกลุ่มหนึ่งในจำนวนนั้นแยกออกมาตั้งบ้านเรือนในบริเวณนี้ จึงเรียกว่า ปลีกหมู่ ซึ่งแปลว่า "ปลีกตัวจากชุมชน" ต่อมาวลีนี้ได้เพี้ยนเป็น กีบหมู[2][3] ศูนย์กลางของชุมชนดังกล่าวคือมัสยิดย่ามีอะห์ซึ่งในปัจจุบันมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "สุเหร่าคลองหนึ่ง"[] และกลายเป็นที่มาของชื่อถนนที่ตัดผ่าน บริเวณถนนสุเหร่าคลองหนึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนสุเหร่าคลองหนึ่งซึ่งมีครัวเรือนจํานวน 185 ครัวเรือนตามทะเบียนราษฎร์เขตคลองสามวา[4] มีโรงเรียนสุเหร่าคลองหนึ่ง (มานะราษฎร์บำรุง) และตลาดสด

แต่เดิมชาวมุสลิมในละแวกถนนสุเหร่าคลองหนึ่งประกอบอาชีพทำไร่หญ้าสำหรับปูสนาม[5] ในยุคหนึ่งเมื่อมีความต้องการหญ้าเพิ่มขึ้นก็ต้องรับคนงานเพิ่มเติมจากถิ่นอื่น แต่ต่อมาการทำไร่หญ้าในพื้นที่มาถึงจุดอิ่มตัวในขณะที่ยังคงมีผู้ใช้แรงงานย้ายถิ่นเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ผู้ใช้แรงงานส่วนเกินจึงหันไปรับจ้างทำงานหลากหลายประเภท[2] ในที่สุดถนนสุเหร่าคลองหนึ่งก็ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีผู้ใช้แรงงานอิสระ (โดยเฉพาะช่างฝีมือและกรรมกรก่อสร้าง) รวมตัวกันมากที่สุดในเขตกรุงเทพมหานคร ในช่วงเวลาเช้ามืดตั้งแต่ประมาณ 4 นาฬิกา จนถึงช่วงสายประมาณ 9 นาฬิกา เหล่าผู้ใช้แรงงานนับพันคนจะมายืนริมสองข้างถนนสายนี้เพื่อรอผู้ว่าจ้างมาเลือกไปทำงาน[6] แรงงานส่วนใหญ่มาจากภาคอีสานและภาคเหนือ บางส่วนเป็นแรงงานต่างด้าว โดยมากเป็นชาวกัมพูชา ส่วนแรงงานชาวพม่าในย่านนี้มีจำนวนไม่มากนัก[7]

หมายเหตุ

แก้
  1. โรงเรียนสุเหร่าคลองหนึ่ง (มานะราษฎร์บำรุง) แต่เดิมใช้ชื่อว่า "โรงเรียนประชาบาล ตำบลบางชัน 4 สุเหร่ากีบหมู"

อ้างอิง

แก้
  1. กองนโยบายและแผนงาน. สำนักผังเมือง. กรุงเทพมหานคร. รายงานการศึกษา เรื่อง โครงข่ายถนนและทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร. [ม.ป.ท.], 2551.
  2. 2.0 2.1 "เอกสารประกอบการประชุมการสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ครั้งที่ 17" (PDF). ศูนย์บัณฑิตศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  3. "ถนนปลีกหมู่ (กีบหมู) "เส้นเลือดใหญ่ คนขายแรงงาน"". ไทยรัฐ.
  4. "ความเป็นมาถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง (ถนนกีบหมู)" (PDF).
  5. "โรงเรียนสุเหร่าคลองหนึ่ง (มานะราษฎร์บำรุง): สภาพชุมชนโดยรอบ". สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร.
  6. "ชะตากรรมที่สิ้นหวังของ 'แรงงานก่อสร้างตลาดกีบหมู'". เดอะโมเมนตัม.
  7. "ช่างมากที่สุดในไทย! ย่ำถนนกีบหมู ส่องดูค่าตัวกรรมกร ทำเลทองนักเร่ขายแรง". ไทยรัฐ.