ตลาด (เศรษฐศาสตร์)
ในทางเศรษฐศาสตร์ ตลาด หมายถึงสถาบันทางสังคมที่ผู้คนหลายฝ่ายสามารถค้าขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้ โดยไม่ระบุเจาะจงว่าเป็นสถานที่ทางกายภาพที่ใดที่หนึ่ง[1] ตลาดอาจมีการแลกเปลี่ยนสินค้ากันโดยตรงหรือมีเงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และมีราคาเป็นตัวชี้วัดมูลค่าของสินค้าหรือบริการในการแลกเปลี่ยนนั้นๆ
แนวคิดเรื่องตลาดในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมีลักษณะค่อนข้างเป็นนามธรรม โดยมักใช้แนวคิดที่อ็องตวน-โอกุสแต็ง กูร์โนอธิบายว่า การที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถแลกเปลี่ยนได้โดยสมัครใจ และราคาสินค้ามีแนวโน้มที่จะกลายเป็นราคาเดียวกันได้โดยง่าย[1] นักเศรษฐศาสตร์ยังใช้แนวคิดตลาดอธิบายความสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การซื้อขายทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว[1]