ซิลเวีย แพลธ (อังกฤษ: Sylvia Plath, 27 ตุลาคม ค.ศ. 1932 – 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1963) เป็นกวีและนักเขียนชาวอเมริกัน เกิดที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ เป็นบุตรของออตโตกับออเรเลีย (นามสกุลเดิม โชเบอร์) แพลธ[1] ซิลเวียมีน้องชายหนึ่งคนชื่อ วอร์เรน (เกิด ค.ศ. 1935)[2] ต่อมาครอบครัวของซิลเวียย้ายไปอยู่ที่เมืองวินธรอป ที่ซึ่งซิลเวียในวัย 8 ปีได้ตีพิมพ์บทกวีแรกในหนังสือพิมพ์บอสตันเฮรัลด์[3]

ซิลเวีย แพลธ
A black-and-white photo of a woman with her hair up, looking to the left of the camera lens
แพลธในปี ค.ศ. 1961
เกิด27 ตุลาคม ค.ศ. 1932(1932-10-27)
บอสตัน, รัฐแมสซาชูเซตส์, สหรัฐ
เสียชีวิตกุมภาพันธ์ 11, 1963(1963-02-11) (30 ปี)
ลอนดอน, ประเทศอังกฤษ, สหราชอาณาจักร
ที่ฝังศพHeptonstall Church near Vermaak’s Farm, West Yorkshire, England
นามปากกาVictoria Lucas
อาชีพ
  • กวี
  • นักเขียน
ภาษาอังกฤษ
จบจากวิทยาลัยสมิธ (BA)
วิทยาลัยนิวน์แฮม เคมบริดจ์
ช่วงเวลาค.ศ. 1960–63
แนว
  • กวีนิพนธ์
  • บันเทิงคดี
  • เรื่องสั้น
แนวร่วมในทางวรรณคดีกวีนิพนธ์สารภาพ
ผลงานที่สำคัญในกรงแก้ว, แอเรียล
คู่สมรสเท็ด ฮิวส์ (สมรส 1956)
บุตร2 คน

ลายมือชื่อSylvia Plath

ในปี ค.ศ. 1950 ซิลเวียเข้าเรียนที่วิทยาลัยสมิธและเริ่มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เธอกลับไปเรียนหลังได้รับการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้าและอินซูลิน ห้าปีต่อมาซิลเวียเรียนจบด้วยเกียรตินิยมและได้รับทุนฟูลไบรต์เพื่อเรียนต่อที่วิทยาลัยนิวน์แฮมในอังกฤษ[4][5] ในปี ค.ศ. 1956 ซิลเวียแต่งงานกับเท็ด ฮิวส์ กวีชาวอังกฤษผู้ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งกวีแห่งสหราชอาณาจักร (Poet Laureate of the United Kingdom) ทั้งสองย้ายกลับไปสหรัฐในปีต่อมา โดยเธอทำงานที่ฝ่ายแผนกต้อนรับของโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์และใช้เวลาช่วงเย็นหารือเรื่องการเขียนกับรอเบิร์ต โลเอลล์, แอนน์ เซ็กซ์ตันและจอร์จ สตาร์บัก[4]

ในปี ค.ศ. 1959 ซิลเวียและเท็ดย้ายไปอยู่ที่ลอนดอน ทั้งสองมีบุตรด้วยกันสองคนคือ ฟรีดา (เกิด ค.ศ. 1960) และนิโคลาส (เกิด ค.ศ. 1962) ต่อมาทั้งสองแยกกันอยู่หลังซิลเวียพบว่าเท็ดมีความสัมพันธ์กับแอสเซีย วีวิล[6] ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ซิลเวียกลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอีกครั้งและพยายามจะฆ่าตัวตายหลายหน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1963 พยาบาลผู้ดูแลซิลเวียและบุตรพบเธอเสียชีวิตอยู่ในห้องครัว หลังซิลเวียเสียชีวิต ฮิวส์ถูกกระแสสังคมกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุและยิ่งถูกกลุ่มคตินิยมสิทธิสตรีประณามอย่างหนักเมื่อแอสเซีย คู่รักของฮิวส์ฆ่าตัวตายเช่นเดียวกับซิลเวียในอีก 6 ปีต่อมา[7]

ซิลเวียมีผลงานที่เป็นที่รู้จักคือ ในกรงแก้ว (The Bell Jar) นิยายกึ่งอัตชีวประวัติที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหญิงสาวผู้ประสบกับโรคซึมเศร้า[8] นอกจากนี้ซิลเวียยังเป็นกวีในกลุ่มกวีนิพนธ์สารภาพ (Confessional poetry) อันเป็นกลุ่มกวีช่วงทศวรรษที่ 1950 ในสหรัฐ ซึ่งนิยมนำเสนอประสบการณ์และความเจ็บปวดทางจิตใจผ่านบทกวี[9] ในปี ค.ศ. 1982 ซิลเวียได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากผลงานกวีนิพนธ์รวมเล่ม และเป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัลนี้หลังเสียชีวิต[10]

อ้างอิง แก้

  1. "Sylvia Plath - Poet". Academy of American Poets. สืบค้นเมื่อ May 7, 2019.
  2. Brown & Taylor (2004), ODNB
  3. Kirk (2004) p23
  4. 4.0 4.1 Kirk (2004) pxix
  5. Ragsdale, Melissa (April 13, 2018). "10 Facts About Sylvia Plath That Will Deepen Your Understanding Of The Iconic Author". Bustle. สืบค้นเมื่อ May 7, 2019.
  6. Kirk (2004) pxx
  7. Blair, Olivia (October 4, 2015). "Sylvia Plath's daughter criticises feminist activists who blamed her death on father Ted Hughes". The Independent. สืบค้นเมื่อ May 7, 2019.
  8. "The Bell Jar". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ May 7, 2019.
  9. "A Brief Guide to Confessional Poetry". Academy of American Poets. February 21, 2014. สืบค้นเมื่อ May 7, 2019.
  10. "Sylvia Plath". Biography.com. สืบค้นเมื่อ May 7, 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้