ช่องตะโก เป็นช่องเขาตามธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก ในท้องที่จังหวัดสระแก้ว เป็นเส้นทางคมนาคมกันมาตั้งแต่สมัยโบราณระหว่างเขมรกับไทย ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างชุมชนที่ราบสูงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยกับชุมชนพื้นที่ราบในเขตจังหวัดสระแก้ว ประเทศไทยและชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ประเทศกัมพูชา จากภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าทั้งปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น ตั้งอยู่บนเส้นทางของช่องตะโก ที่มาของชื่อเรียกช่องตะโกน่าจะมาจากต้นตะโกซึ่งเป็นต้นไม้ยืนต้น

ปรากฏในหลักฐาน

แก้

ในจดหมายเหตุของโจว ต้ากวาน ราชทูตชาวจีนที่เดินทางเข้าไปในราชสำนักเขมร เมื่อ พ.ศ. 1839–1840 ได้บันทึกไว้ว่าเขมรกับไทยมีการติดต่อค้าขายกันโดยเฉพาะมีสินค้าที่มีชื่อเสียงคือผ้าไหม (จากอำเภอปักธงชัยในปัจจุบัน)[1]

เส้นทางช่องเขาตะโก เป็นเส้นทางเดินทัพสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏในแผนที่ระวางที่ชื่อว่า เขมรในนี้ (Khmer Nai Ni) จัดทำขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 1–3 เส้นทางช่องตะโกในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังใช้เป็นเส้นทางจากกรุงเทพไปสู่หัวเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เอกสารราชการได้ระบุถึงการเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญระหว่างภูมิภาคจนถึงกับมีข้อเสนอในการซ่อมบำรุงเมื่อ พ.ศ. 2451 เพราะมีช่องเขาที่กว้างพอให้เกวียนขนขึ้นลงได้ และสะดวกในการขนย้ายจากทางบกมาลงเรือเพื่อล่องลงมาอ่าวไทยหรือส่งเข้ากรุงเทพตามคลองต่าง ๆ[2]

ปัจจุบัน

แก้

ในช่วงทศวรรษ 2510 ช่องตะโกได้รับการพัฒนาจากภาครัฐส่วนกลางโดยการตัดถนนเชื่อมระหว่างพื้นที่อำเภอละหานทราย (ปัจจุบันคือ อำเภอโนนดินแดง) จังหวัดบุรีรัมย์ กับอำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสระแก้ว) แต่การสร้างถนนก็เผชิญจากการต่อต้านของกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ แรงงานและเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างถนนถูกโจมตีได้รับความเสียหาย จนในที่สุดสามารถตัดถนนได้เสร็จและได้มีการสร้างอนุสาวรีย์เราสู้ ในปี พ.ศ. 2523

ในปัจจุบันเส้นทางผ่านช่องตะโกคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 348 หรือ ถนนธนะวิถี เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ กับอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มีระยะทางประมาณ 143 กิโลเมตร[3] บริเวณเขาช่องตะโกมักเกิดอุบัติเหตุเป็นประจำ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เพราะเป็นทางแคบทั้งช่วงขึ้นเขาและลงเขา ลักษณะถนนไม่มีไหล่ทาง คันทางแคบ ลาดชัน และคดเคี้ยว[4]

อ้างอิง

แก้
  1. เรือนอินทร์ หน้าพระลาน. ""ช่องตะโก" ช่องทางคมนาคมโบราณกว่า 3,000 ปี". คมชัดลึก.
  2. พิมพ์อุมา โตสินธพ. "คลองเชื่อมกับพัฒนาการของชุมชนในลุ่มแม่น้ำบางปะกง ระหว่าง พ.ศ. 2420-2500" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 44.
  3. "ปราสาทหนองหงส์ – ปราสาทเขาโล้น บนเส้นทาง... ช่องตะโก". พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร.
  4. "อุบัติเหตุตายซ้ำตายซาก เขาช่องตะโก-สระแก้ว รถบรรทุกเกลือเหยื่อรายล่าสุด". ผู้จัดการออนไลน์.