จันทปริตตปาฐะ หรือจันทปริตร เป็นบทสวดหนึ่งที่รวบรวมไว้ในภาณวารหรือหนังสือบทสวดมนต์หลวง จันทปริตรนี้มิได้รวมไว้เป็นหนึ่งในพระปริตรที่นิยมสวดสาธยายกันในบทสวดมนต์เจ็ดตำนาน หรือสิบสองตำนาน พบว่า มีเฉพาะในภาณวารเท่านั้น เนื้อหาเป็นการประกาศขอให้พระพุทธองค์ทรงเป็นที่พึ่ง แล้วบรรยายว่า ผู้ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งนั้นจะรอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวง และผู้ปองร้ายจะพบกับภัยพิบัติ

ที่มา แก้

จันทปริตตปาฐะ หรือจันทปริตร มีเนื้อหามาจากจันทิมสูตร อยู่ในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เนื้อหาระบุเพียงว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพระสูตรนี้ที่นครสาวัตถี ครั้งนั้น "จันทิมเทวบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้ว ครั้งนั้นจันทิมเทวบุตรระลึกถึงพระผู้มีพระภาค" [1] ซึ่งมีการตีความกันว่า จันทิมเทวบุตร หรือจันทิมาเทวบุตร คือเทพบุตรที่อาศัยอยู่บนดวงจันทร์ ถูกราหูอสุรินทร์จะทำร้าย (คือทำจันทรคราส) เทพบุตรจึงรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า [2]

ครั้นพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงตรัสให้อสุรินทราหูปล่อยตัวจัมทิมเทวบุตร เพราะเทพบุตรนี้ได้ประกาศให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นที่พึ่ง อสุรินทราหูได้สดับดังนั้นจึงปล่อยตัวเทพบุตร "แล้วเร่งรีบเข้าไปหาท้าวเวปจิตติจอมอสูร แล้วก็เป็นผู้เศร้าสลด เกิดขนพอง ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง" [3] ท้าวเวปจิตติจอมอสูรจึงไถ่ถามว่า เหตุใดอีกฝ่ายจึงแสดงท่าทีหวาดกลัวเช่นนั้น อสุรินทราหู จึงตอบว่า ได้สดับพระคาถาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงหนีมา และว่า "หากข้าพเจ้าไม่พึงปล่อยจันทิมเทวบุตร ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยงมีชีวิตอยู่ ก็ไม่พึงได้ความสุข" [4] ดังนี้

เนื้อหา แก้

เนื้อหาของจันทปริตตปาฐะ หรือจันทปริตร ยกเนื้อหาและคาถาจากมาทั้งหมดจันทิมสูตร ทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็นส่วนร้อยแก้วเป็นการเล่าเรื่องราว และส่วนของคาถา ซึ่งมีทั้งหมด 4 บาท เป็นของจัมทิมเทวบุตร 1 บท ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 1 บท ของท้าวเวปจิตติ 1 บท และของอสุรินทราหู 1 บท โดยมีเนื้อหา ดังนี้

จนฺทิมสุตฺตํ (ปาฬี) แก้

สาวตฺถินิทานํ ฯ เตน โข ปน สมเยน จนฺทิมา เทวปุโตฺต ราหุนา อสุริเนฺทน คหิโต โหติฯ อถ โข จนฺทิมา เทวปุโตฺต ภควนฺตํ อนุสฺสรมาโน ตายํ เวลายํ อิมํ คาถํ อภาสิ –

‘‘นโม เต พุทฺธ วีรตฺถุ, วิปฺปมุโตฺตสิ สพฺพธิ;

สมฺพาธปฎิปโนฺนสฺมิ, ตสฺส เม สรณํ ภวา’’ติฯ

อถ โข ภควา จนฺทิมํ เทวปุตฺตํ อารพฺภ ราหุํ อสุรินฺทํ คาถาย อชฺฌภาสิ –

‘‘ตถาคตํ อรหนฺตํ, จนฺทิมา สรณํ คโต;

ราหุ จนฺทํ ปมุญฺจสฺสุ, พุทฺธา โลกานุกมฺปกา’’ติฯ

อถ โข ราหุ อสุริโนฺท จนฺทิมํ เทวปุตฺตํ มุญฺจิตฺวา ตรมานรูโป เยน เวปจิตฺติ อสุริโนฺท เตนุปสงฺกมิ; อุปสงฺกมิตฺวา สํวิโคฺค โลมหฎฺฐชาโต เอกมนฺตํ อฎฺฐาสิฯ เอกมนฺตํ ฐิตํ โข ราหุํ อสุรินฺทํ เวปจิตฺติ อสุริโนฺท คาถาย อชฺฌภาสิ –

‘‘กิํ นุ สนฺตรมาโนว, ราหุ จนฺทํ ปมุญฺจสิ;

สํวิคฺครูโป อาคมฺม, กิํ นุ ภีโตว ติฎฺฐสี’’ติฯ

‘‘สตฺตธา เม ผเล มุทฺธา, ชีวโนฺต น สุขํ ลเภ;

พุทฺธคาถาภิคีโตมฺหิ, โน เจ มุเญฺจยฺย จนฺทิม’’นฺติฯ [5]

จันทิมสูตร (แปล) แก้

พระผู้มีพระภาคประทับ ... เขตพระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้น จันทิมเทวบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้ว ครั้งนั้นจันทิมเทวบุตรระลึกถึงพระผู้มีพระภาค ได้ภาษิตคาถานี้ในเวลานั้นว่า

"ข้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์ พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ข้าพระองค์ถึงเฉพาะแล้ว ซึ่งฐานะอันคับขัน ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแห่งข้าพระองค์นั้น ฯ"

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงปรารภจันทิมเทวบุตรได้ตรัสกะอสุรินทราหูด้วยพระคาถาว่า

"จันทิมเทวบุตร ถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นที่พึ่งดูกรราหู ท่านจงปล่อยจันทิมเทวบุตร พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้อนุเคราะห์แก่โลก ฯ"

ลำดับนั้นอสุรินทราหู ปล่อยจันทิมเทวบุตรแล้ว มีรูปอันกระหืดกระหอบ เข้าไปหาอสุรินทเวปจิตติถึงที่อยู่ ครั้นแล้วก็เป็นผู้เศร้าสลด เกิด ขนพอง ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ อสุรินทเวปจิตติ ได้กล่าวกะอสุรินทราหู ผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ด้วยคาถาว่า

"ดูกรราหู ทำไมหนอ ท่านจึงกระหืดกระหอบปล่อยพระจันทร์เสีย ทำไมหนอ ท่านจึงมีรูปสลด มายืนกลัวอยู่ ฯ"

อสุรินทราหูกล่าวว่า

"ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า หากข้าพเจ้าไม่พึงปล่อยจันทิมเทวบุตร ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยงมีชีวิตอยู่ ก็ไม่พึงได้รับความสุข ฯ"

วิเคราะห์พระสูตร แก้

พระสูตรนี้มักถูกนำไปอธิบายปรากฎการณ์จันทรคราส และมีพระสูตรที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือสุริยสูตร ใช้อธิบายปรากฎการณ์สุริยคราสเช่นกัน ว่า เกิดจากการกลืนกินของราหู อย่างไรก็ตาม เสฐียรพงษ์ วรรณปก ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาได้แสดงความเห็นไว้ว่า จันทิมสูตรอาจเป็นสูตรที่แต่งขึ้นใหม่ และเป็นของแปลกปลอมมิใช่พระสูตรดั้งเดิม โดย เสฐียรพงษ์ แสดงความเห็นเรื่องนี้ไว้การบรรยายเรื่อง "ความเป็นมาของพระไตรปิฎก" ความว่า

"จันทิมสูตรและสุริยสูตร ในเทวปุตตสังยุตต์ มีสูตรแปลกอยู่ 2 สูตร คือ จันทิมสูตร และสุริยสูตร กล่าวถึงจันทิมเทวบุตร (พระจันทร์) และสุริยเทวบุตร (พระอาทิตย์) ถูกราหูจับได้ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า กล่าวขึ้นว่า "ข้าขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้หลุดพ้นแล้วจากสิ่งทั้งปวง ข้าพระพุทธเจ้าอยู่ในฐานะคับขันขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพเจ้าด้วย" พระพุทธเจ้าตรัสบอกอสุรินทราหูว่า "จันทิมเทวบุตรและสุริยเทวบุตรได้ถึงเราตถาคตเป็นที่พึ่งแล้ว ท่านจงปล่อยพวกเขาไปเถิด อสุรินทราหูปล่อยเหยื่อแล้วกระหืดกระหอบไปเฝ้าเวปจิตติจอมอสูร เมื่อถูกถามจึงรายงานให้จอมอสูรทราบว่า กลัวพระพุทธเจ้าจึงรีบปล่อยพระจันทร์และพระอาทิตย์หนีมา ... มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า พระสูตรนี้แปลกปลอมเข้ามา (ดังมีอีกหลายสูตรที่เข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น) มีเค้าว่าถูกสอดแทรกเข้ามาในยุคที่นำเอาพระสูตรไปสวดเป็นปริตรป้องกันภยันตรายต่างๆ ซึ่งเป็นยุคหลังพุทธกาลมา"[6]

วิเคราะห์อสุรินทราหู แก้

เรื่องอสุรินทราหูมีปรากฎเรื่องราวในตำนานปางโปรดอสุรินทราหู นอกจากนี้ ยังมีการพยากรณ์อนาคตของอสุรินทราหูไว้ในคัมภีร์อนาคตวงศ์ ว่า ในอนาคตราหูจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในบทว่าด้วยพระนารทะ (พระยาอสุรินทราหู )ดังนี้เนื้อความดังนี้ว่า

สตฺถา สมเด็จพระบรมครูสัพพัญญูเจ้าของเราตรัสพระธรรมเทศนาว่า ในกาลเมื่อสิ้นศาสนาพระยามาราธิราช ผู้เป็นธรรมสามีสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว โลกทั้งหลายจะสูญจากสมเด็จพระพุทธเจ้าสิ้นกาลช้านานถึง ๘ กัปป์ แผ่นดินตั้งขึ้นมาใหม่ได้แสนแผ่นดิน แผ่นดินนั้นสูญเปล่าเป็นสุญญกัปป์ หาบังเกิดสมเด็จพระพุทธเจ้าไม่

ในเมื่อสุญญกัปนับได้แสนแผ่นดินล่วงไปแล้ว จึงบังเกิดแผ่นดินมาใหม่ มีชื่อว่ามัณฑกัปนั้น เป็นแผ่นดินทรงพระพุทธเจ้าได้ตรัส ๒ พระองค์ คือ พระยาอสุรินทราหู ๑ โสณพราหมณ์ ๑ อันว่าพระยาอสุรินทราหูจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน ลำดับนั้นโสณพราหมณ์จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าสืบไป ฯ

เมื่อพระยาอสุรินทราหูได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงพระนามว่า พระนารทะ มีพระองค์สูงได้ ๒๐ ศอก มีพระชนมายุยืนได้หมื่นปีเป็นกำหนด มีไม้จันทร์เป็นพระมหาโพธิ ประกอบไปด้วยรัศมีสว่างรุ่งเรืองทั้งกลางวันและกลางคืน เปรียบประดุจดังว่าสายฟ้าในกลีบเมฆ พระพุทธรัศมีที่เป็นแผ่นแผ่ทึบเป็นแท่งเดียวนั้น ปรากฏสัณฐานดุจดอกปทุมชาติอันตั้งขึ้นมา ครั้นศาสนาพระยาอสุรินทราหูนั้น ในแผ่นดินประเทศทั้งปวงเกิดรสภักษาหาร ๗ ประการ มนุษย์ทั้งหลายได้บริโภคภักษาหาร ๗ ประการ อันเกิดแก่แผ่นดิน ก็ประพฤติเลี้ยงชีวิตของอาตมาเป็นสุขสำราญมิได้ขาด

ดูก่อนสำแดงสารีบุตร อันว่าพระนารทะผู้ทรงพระภาคนั้น มีพระรัศมีเห็นปานดังนี้ คือพระยาอสุรินทราหูแต่ก่อนได้สร้างบำเพ็ญพระบารมีทั้งหลาย ๑๐ ประการมาเป็นอันมากแล้ว จึงได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ฯ แต่กองบารมีอันหนึ่ง พระยาอสุรินทราหูได้กระทำเป็นปรมัตถบารมีอันยิ่ง ปรากฏเป็นอัศจรรย์ พระองค์มีพระพุทธฎีกาดังนั้นแล้ว จึงนำมาซึ่งอดีตนิทานมาตรัสพระธรรมเทศนาว่า

อตีเต กาเล ในอดีตกาลล่วงแล้วช้านาน ในเมื่อพระสาสนาพระพุทธกัสสปทศพลญาณ พระยาอสุรินทราหูนี้ได้เสวยพระชาติเป็นบรมกษัตริย์ เสวยศิริราชสมบัติอยู่ในมัลลนคร เป็นเอกราชอันประเสริฐ ทรงพระนามว่า พระยาสิริคุตตมหาราช มีพระราชอัครมเหสีพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ลัมภุราชเทวี มีพระราชบุตร พระราชธิดา ๒ พระองค์ พระราชบุตรมีนามว่า เจ้านิโครธกุมาร พระราชธิดามีนามว่า นางโคตมี อยู่มาวันหนึ่งยังมีพราหมณ์ ๘ คน พากันมาสู่สำนักแห่งพระยาสิริคุตต์ กราบทูลขอพระนคร

พระองค์ก็ทรงโสมนัสบังเกิดพระราชศรัทธาโปรดพระราชทานพระนครให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๘ ยังแต่พระราชอัครมเหสีและพระราชโอรสกับพระราชธิดาทั้ง ๒ ก็พากันออกจากพระนครเข้าไปในอรัญประเทศ กระทำอาศรมอาศัยอยู่บนยอดเขาใหญ่ พร้อมกันทั้งสี่กษัตริย์ทรงเพศเป็นบรรพชิตอยู่ในอาศรมบท ฯ

ในกาลครั้งนั้นยังมียักษ์ตนหนึ่ง มีนามว่ายันตะ ยักษ์ใหญ่สูงได้ ๑๒๐ ศอก ออกจากประเทศราวป่ามาเฉพาะต่ออาศรมแห่งกษัตริย์ทั้ง ๔ องค์ ยืนอยู่ในที่นั้นแล้วจึงกล่าววาจาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์อันประเสริฐ ข้าพเจ้านี้เกิดมาเป็นยักษ์รักษาพนาลี มีแต่เลือดและเนื้อเป็นภักษาหารเลี้ยงชีวิต ข้าพเจ้ามาทั้งนี้ ปรารถนาจะขอพระราชโอรสและพระราชธิดา ทั้ง ๒ องค์ เป็นภักษาหาร ถ้าพระองค์ทรงพระราชศรัทธาโปรดพระราชทานให้แล้ว ไปในอนาคตเบื้องหน้า พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งเป็นแม่นมั่น

เมื่อหน่อพระชินวงศ์ได้ทรงฟังยันตะยักษ์ทูลขอพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๒ นั้น พระยาสิริคุตตราชฤาษีผู้แสวงหาพระโพธิญาณก็ชื่นบานในกมลหฤทัยแสนทวี ท้าวเธอจึงมีสุนทรสารทีตรัสแก่ยันตะยักษ์ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญเอ๋ย พระราชกุมารและพระราชกุมารีทั้ง ๒ องค์นี้ ใช่ว่าเราจะไม่มีความเสน่หาอาลัยหามิได้ ด้วยเรารักใคร่ในพระโพธิญาณยิ่งกว่ากุมารทั้ง ๒ ได้ แสนเท่าพันทวี เราจะสละพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๒ ศรี ให้เป็นทานแก่ท่านในกาลบัดนี้

ตรัสแล้วเท่านั้นก็เสด็จลุกจากอาสน์ จูงเอาข้อพระหัตถ์พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๒ ผู้ร่วมพระราชหฤทัย มาพระราชทานให้แก่ยันตะยักษ์ แล้วหล่อหลั่งอุทกธาราให้ตกลงเหนือมือแห่งยักษ์ พระองค์จึงประกาศแก่ฝูงเทพเจ้าและนางพระธรณีให้เป็นสักขีพยานว่า “เดชะแห่งผลทานนี้จงสำเร็จแก่พระสร้อยเพชุดาญาณในอนาคตกาลด้วยเถิด” พอสิ้นความปรารถนาก็บังเกิดมหัศจรรย์ทั่วโลกทุกห้องจักรวาล ปานแผ่นพสุธาจะทรุดจะทำลาย ฯ

เบื้องหน้ายันตะยักษ์ครั้นได้รับพระราชทานพระราชกุมารและพระราชกุมารีแล้ว ก็บังเกิดมีความชื่นชมยินดี พาตรุณสองศรีไปยังหลังพระบรรณศาลา ก็ก้มศีรษะลงกัดเอาคอกุมารและกุมารีทั้งสองให้ขาดด้วยอำนาจของอาตมา แล้วก็ดื่มโลหิตกินเป็นภักษาหาร แล้วก็เคี้ยวซึ่งเนื้อและกระดูกกลืนเข้าไป เสียงเคี้ยวนั้นดังกร้วมๆ พระฤๅษีผู้เป็นบิดาและมารดาเห็นเห็นหยาดเลือดย้อยลงจากปากยันตะยักษ์ในขณะเมื่อเคี้ยวนั้น มิได้มีพระทัยไหวหวาดด้วยโลกธรรม จึงร้องประกาศแก่ฝูงเทพเจ้าทุกหย่อมหญ้าลดาวัลย์ทั้งปวง จงมาชื่นชมด้วยทานของเราบัดนี้เป็นอันประเสริฐแล้ว ฯ

ดูก่อนสำแดงสารีบุตร ในเมื่อพระศาสนาของของพระยาอสุรินทราหูได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ฝูงชนทั้งปวงประกอบไปด้วยรูปศิริวิลาสเป็นอันงาม ควรจะนำมาซึ่งความสิเนหา ด้วยเดชะผลานิสงส์ที่ให้ลูกทั้งสองเป็นทาน ฯ ซึ่งพระองค์ประกอบได้ด้วยพระพุทธรัศมีส่องสว่างสิ้นทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นด้วยเดชะผลานิสงส์ที่เห็นโลหิตกุมารทั้ง ๒ หยดย้อยลงจากปากยักษ์ มิได้มีความหวาดหวั่นไหวในมหาทานเลย

แสดงมาด้วยเรื่องราบพระยาอสุรินทราหูบรมโพธิสัตว์คำรบ ๕ ก็ยุติแต่เพียงนี้ ฯ [7]

อ้างอิง แก้

  1. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 - หน้าที่ 340
  2. ปุ้ย แสงฉาย. จันทปริตร ใน บทสวดมนต์หลวง. หน้า 204
  3. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 - หน้าที่ 4340
  4. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 - หน้าที่ 341
  5. พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา. สุตฺตปิฎก สํยุตฺตนิกาย สคาถาวคฺคปาฬิ เทวปุตฺตสํยุตฺตํ จนฺทิมสุตฺตํ
  6. เสฐียรพงษ์ วรรณปก (2555) คำบรรยายในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ ธรรมสภา.
  7. กิม หงศ์ลดารมภ์. (2475). พระอนาคตวงศ์. พระนคร โรงพิมพ์พระจันทร์.

บรรณานุกรม แก้

  • พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา. สุตฺตปิฎก สํยุตฺตนิกาย สคาถาวคฺคปาฬิ เทวปุตฺตสํยุตฺตํ จนฺทิมสุตฺตํ
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 .
  • สารัตถปกาสินี อรรถกาสังยุตตนิกาย ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่ม 1 ภาค 2 .
  • กิม หงศ์ลดารมภ์. (2475). พระอนาคตวงศ์. พระนคร โรงพิมพ์พระจันทร์.
  • ปุ้ย แสงฉาย. จันทปริตร ใน บทสวดมนต์หลวง.
  • เสฐียรพงษ์ วรรณปก (2555) คำบรรยายในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ ธรรมสภา.