จดหมายของนักบุญเปาโลถึงทิโมธี ฉบับที่ 1
จดหมายของนักบุญเปาโลถึงทิโมธี ฉบับที่ 1[1] (อังกฤษ: First Epistle of Paul to Timothy) เรียกโดยย่อว่าพระธรรมทิโมธี ฉบับที่หนึ่ง เป็นเอกสารฉบับที่ 15 ของคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาใหม่ เป็นหนึ่งใน "จดหมายฝากศิษยาภิบาล" อันได้แก่ 1 ทิโมธี, 2 ทิโมธี และ ทิตัส
แต่เดิมพระธรรมเล่มนี้เป็นจดหมายฉบับแรก ซึ่งนักบุญเปาโลเขียนถึงทิโมธี ทั้งข้อความภายในตัวจดหมายและคริสตจักรในยุคแรกต่างยืนยันตรงกันว่านักบุญเปาโลเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ ซึ่งน่าจะถูกเขียนขึ้นราวปี ค.ศ. 64 หรืออย่างน้อย 8 ปีหลังจากที่นักบุญเปาโลได้อาศัยอยู่ในเมืองเอเฟซัสเป็นเวลา 3 ปี
นักบุญเปาโลได้พบกับทิโมธีเมื่อครั้งนักบุญเปาโลกับสิลาสได้เดินทางมายังเมืองเดอร์บีกับเมืองลิสตรา ทิโมธีมีบิดาเป็นชาวกรีก มารดาเป็นชาวยิวและเป็นศิษย์พระเยซูด้วย[2] ในเมื่อทิโมธีมีชื่อเสียงดีในเมืองนั้นนักบุญเปาโลจึงชักชวนให้ร่วมงานด้วยกัน [3] หลังจากได้เดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ด้วยกันจนมาถึงเมือง เอเฟซัส ก็มีเหตุให้ นักบุญเปาโล ต้องเดินทางต่อไปยังแคว้นมาซิโดเนีย แต่ได้สั่งให้ทิโมธีอยู่ในเมืองเอเฟซัสเพื่อคอยดูแลและให้ความช่วยเหลือคริสตจักรในเมืองนั้นต่อไป เมื่อนักบุญเปาโลตระหนักว่าไม่สามารถจะเดินทางกลับไปยังเมืองเอเฟซัส ได้ในระยะเวลาอันใกล้นักบุญเปาโลจึงเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้น และจากข้อความที่ว่า ต้องการจะไปพบทิโมธี[4] แสดงว่าขณะที่เขียนจดหมายฉบับนี้นักบุญเปาโลไม่ได้ถูกจำคุก
แม้ว่าจดหมายฉบับนี้ถูกส่งถึงทิโมธีเป็นการส่วนตัว แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ในจดหมายเป็นเรื่องของคริสตจักร เช่น คุณลักษณะของผู้ที่จะปกครองคริสตจักรที่ดี[5] มัคนายกที่ดี[6] และผู้รับใช้ที่ดีเป็นอย่างไร[7] นักบุญเปาโล ต้องการให้ทิโมธีนำสิ่งเหล่านี้ไปสั่งสอนคริสตจักรในเมืองเอเฟซัสอย่างจริงจัง[8] ข้อความในจดหมายจึงมีลักษณะเป็นคำสั่งให้ปฏิบัติตาม
จุดประสงค์ในการเขียน 1 ทิโมธี ของ นักบุญเปาโล มีอยู่ 4 ประการ ประการแรกคือ ต้องการให้ยึดมั่นในหลักข้อเชื่อที่ถูกต้อง เนื่องจากมีการสอนเท็จเกิดขึ้นในคริสตจักร บางคนก็ใส่ใจในเรื่องนิยายไร้สาระ อันจะทำให้เกิดปัญหามากกว่าความเข้าใจในแผนการของพระเจ้า นักบุญเปาโล ต้องการป้องกันไม่ให้เกิดการสอนผิดจุดประสงค์ จึงเขียนในจดหมายว่า "แต่จุดประสงค์แห่งคำกำชับนั้นก็คือ ให้มีความรักซึ่งเกิดจากใจอันบริสุทธิ์ และจากจิตสำนึกว่าตนชอบ และจากความเชื่ออันจริงใจ"[9]
ประการที่สองคือ ต้องการให้คัดเลือกผู้ที่จะทำงานในคริสตจักรให้เหมาะสม นักบุญเปาโล จึงกล่าวถึงคุณลักษณะที่ดีของผู้ปกครอง[10], มัคนายก[11] และผู้รับใช้[12]ไว้ละเอียด
ประการที่สามคือ ต้องการให้คริสเตียนทราบแนวทางในการปฏิบัติตนต่อกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่เป็นแม่ม่าย ซึ่ง นักบุญเปาโล เจาะจงเป็นพิเศษ เนื่องจากในตอนนั้นผู้หญิงมักไม่ได้ทำงาน แต่มีหน้าที่ดูแลลูกและทำงานบ้าน เมื่อสามีเสียชีวิตจะไม่มีผู้ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว นักบุญเปาโล ต้องการให้ญาติพี่น้องของแม่ม่ายเหล่านั้นช่วยเหลือกันเอง เพื่อให้คริสตจักรรับภาระเลี้ยงดูแม่ม่ายที่ไม่มีที่พึ่งจริงๆ[13]
ประการสุดท้ายคือ ต้องการให้ทิโมธีเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง และแนะนำแนวทางในการสั่งสอนผู้อื่น ไม่ใช่ นักบุญเปาโล กลัวว่าทิโมธีไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพราะทิโมธีอายุน้อย นักบุญเปาโล จึงบอกทิโมธีว่า "อย่าให้ผู้ใดหมิ่นประมาทความหนุ่มแน่นของท่าน แต่จงเป็นแบบอย่างแก่คนที่เชื่อทั้งปวง ทั้งในทางวาจาและการประพฤติ ในความรัก ในความเชื่อ และในความบริสุทธิ์"[14] ส่วนแนวทางการสั่งสอนนั้น นักบุญเปาโล แนะนำว่า "ในการตักเตือนนั้น อย่าตำหนิชายผู้อาวุโส แต่จงขอร้องเขาเสมือนเป็นบิดา จงถือว่าคนหนุ่ม ๆ ทั้งหลายเป็นเสมือนพี่หรือน้อง"[15] เป็นต้น
โครงร่าง
แก้1. คำทักทายและคำกำชับทิโมธี 1:1 - 20
2. ตำแหน่งต่างๆในคริสตจักรและการนมัสการ 2:1 - 3:16
3. กฎเกณฑ์ทั่วไป 4:1 - 16
4. กฎเกณฑ์เฉพาะและคำสั่งสอน 5:1 - 6:10
5. การกำชับส่งท้ายแก่ทิโมธี 6:11 - 21
อ้างอิง
แก้- Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998
- Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997
- ↑ พระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่, คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกพระคัมภีร์: กรุงเทพฯ, หน้า 690
- ↑ กิจการของอัครทูต 16:1
- ↑ กิจการของอัครทูต 16:2 - 3
- ↑ 1 ทิโมธี 3:14 - 15
- ↑ 1 ทิโมธี 3:1 - 7
- ↑ 1 ทิโมธี 3:8 - 13
- ↑ 1 ทิโมธี 4:6 - 16
- ↑ 1 ทิโมธี 4:15
- ↑ 1 ทิโมธี 1:5
- ↑ 1 ทิโมธี 3:1 - 7
- ↑ 1 ทิโมธี 3:8 - 13
- ↑ 1 ทิโมธี 4:6 - 16
- ↑ 1 ทิโมธี 5:3 - 16
- ↑ 1 ทิโมธี 4:12
- ↑ 1 ทิโมธี 5:1