จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวกาลาเทีย

จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวกาลาเทีย [1] (อังกฤษ: Epistle to the Galatians) เรียกโดยย่อว่าพระธรรมกาลาเทีย เป็นเอกสารฉบับที่ 9 ของคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาใหม่

บทแรกของพระธรรมเล่มนี้ระบุว่าผู้เขียนคือนักบุญเปาโล ซึ่งเป็นจดหมายที่นักบุญเปาโลเขียนถึงคริสตจักรทั้งหลายในแคว้นกาลาเทีย[2] เมื่อศึกษาและวิเคราะห์จากหลักฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่ เชื่อได้ว่า กาลาเทีย น่าจะเป็นจดหมายฉบับแรกที่นักบุญเปาโลเขียนขึ้น แต่ไม่สามารถยืนยันช่วงเวลาที่เขียนอย่างแน่นอนได้ ประมาณกันว่า น่าจะราว ๆ ปีค.ศ. 50

จากการเดินทางไปประกาศข่าวประเสริฐของนักบุญเปาโลในแคว้นกาลาเทีย นักบุญเปาโลเลือกที่จะประกาศข่าวประเสริฐตามเมืองต่าง ๆ เช่น อันติโอก ลิสตรา เดอร์บี[3] และอิโคนียูม[4] เพราะความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากเมืองดังกล่าวเป็นศูนย์กลางที่สำคัญทางการค้า และเป็นแหล่งรวมประชากรหลายเชื้อชาติ ผู้ที่ได้เดินทางมายังเมืองเหล่านี้ เมื่อได้ยินข่าวประเสริฐแล้วก็นำกลับไปบอกกล่าวในบ้านเมืองของตนเอง เกิดผลเป็นอย่างมาก ทำให้มีการรวมตัวกันตั้งคริสตจักรขึ้นหลายแห่งในแคว้นกาลาเทีย

นักบุญเปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้น เพราะหลังจากที่นักบุญเปาโลได้เดินทางต่อไปยังเมืองอื่นแล้ว เกิดปัญหาขึ้นหลายประการในคริสตจักร เช่น คริสเตียนที่เคยเป็นชาวยิวปฏิเสธความเป็นอัครทูตของนักบุญเปาโล บางกลุ่มกล่าวหาว่า นักบุญเปาโลประกาศข่าวประเสริฐเพื่อเอาใจชาวต่างชาติ โดยละเว้นการประพฤติตามธรรมบัญญัติบางประการ นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งระหว่างคริสเตียนที่เดิมเคยเป็นชาวยิว กับคริสเตียนที่เดิมเคยเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโต้แย้งกันในเรื่องของธรรมบัญญัติ เช่น ผู้ที่จะเป็นคริสเตียนต้องเข้าสุหนัต (การตัดส่วนปลายของหนังหุ้มอวัยวะเพศชาย) เป็นต้น

ในหลายตอนของพระธรรม กาลาเทีย นักบุญเปาโลเขียนอย่างคารมคมคายแต่เข้มแข็งอยู่ในตัว เช่น ตอนที่นักบุญเปาโลต่อว่านักบุญเปโตรว่า "ถ้าท่านเองซึ่งเป็นพวกยิว ประพฤติตามอย่างคนต่างชาติ ไม่ใช่ตามอย่างพวกยิว เหตุไฉนท่านจึงบังคับคนต่างชาติให้ประพฤติตามอย่างพวกยิวเล่า"[5] หรือตอนที่นักบุญเปาโลโต้แย้งว่า การจะเข้าสุหนัตหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ[6] โดยสรุปว่า "ข้าพเจ้าอยากให้คนเหล่านั้น ที่ทำให้ท่านยุ่งยากตอนตนเองเสียเลย"[7] เป็นต้น

วัตถุประสงค์ในการเขียนพระธรรม กาลาเทีย ของนักบุญเปาโลมีอยู่ 3 ประการ ประการแรกคือ เพื่อยืนยันความจริงในพันธสัญญาใหม่ว่า คริสเตียนจะถูกตัดสินจากความเชื่อในพระเยซูเท่านั้น ไม่มีอะไรน้อยหรือมากไปกว่านี้ มนุษย์จะพ้นความบาปได้โดยการเชื่อฟัง ที่ไม่ได้มาจากธรรมบัญญัติแต่มาจากความเชื่อในงานของพระเจ้า ซึ่งเกิดขึ้นโดยพระคุณและฤทธิ์อำนาจของพระเยซูและพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้น

ประการที่สองคือ นักบุญเปาโลต้องการยืนยันในความเป็นอัครทูตของตน ดังที่เขียนไว้ว่า "เมื่อยากอบกับเคฟาสและยอห์นผู้ที่เขานับถือว่าเป็นหลัก ได้เห็นพระคุณซึ่งประทานแก่ข้าพเจ้าแล้ว ก็ได้จับมือขวาของข้าพเจ้ากับบารนาบัส แสดงว่าเราเป็นเพื่อนร่วมงานกัน เพื่อให้เราไปหาคนต่างชาติ และท่านเหล่านั้นจะไปหาพวกที่ถือพิธีเข้าสุหนัต"[8] ซึ่งความเป็นอัครทูตไม่ใช่มีไว้สำหรับโอ้อวดหรือประโยชน์ส่วนตน แต่เพื่อทำให้นักบุญเปาโลสามารถประกาศข่าวประเสริฐหรือเทศนาได้ด้วยสิทธิอำนาจที่พระเยซูได้ประทานให้

ประการที่สามคือ นักบุญเปาโลต้องการกำชับให้คริสเตียนดำเนินชีวิตในทางที่ถูกต้อง ในตอนท้ายของจดหมาย หลังจากที่ได้เขียนข้อความต่างๆตามสองวัตถุประสงค์แรกไปแล้ว นักบุญเปาโลลงท้ายจดหมายด้วยการเน้นถึงสิ่งที่ควรกระทำและสิ่งที่ต้องไม่กระทำ เนื้อหาส่วนนี้ นักบุญเปาโลใช้ถ้อยคำง่าย ๆ ตรงไปตรงมาและเข้าใจได้ชัดเจน เช่น "เราอย่าถือตัว อย่ายั่วโทสะกัน และอย่าอิจฉาริษยากันเลย"[9] หรือ "จงช่วยรับภาระของกันและกัน ท่านจึงจะได้ประพฤติตามพระบัญญัติของพระคริสต์"[10] เป็นต้น

โครงร่าง

แก้

1. บทนำ 1:1 - 9

2. เปาโลปกป้องการเป็นอัครทูตของตน 1:10 - 2:10

3. เปาโลปกป้องพระกิตติคุณ 2:11 - 21

4. ความรอดกับผลประโยชน์ของความรอด 3:1 - 4:31

5. เสรีภาพที่พระคริสต์นำเข้ามา 5:1 - 6:18


อ้างอิง

แก้

Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998

Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997

  1. พระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่, คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกพระคัมภีร์: กรุงเทพฯ, หน้า 620
  2. กาลาเทีย 1:2
  3. กิจการของอัครทูต 14:6 - 7
  4. กิจการของอัครทูต 14:1
  5. กาลาเทีย 2:14
  6. กาลาเทีย 5:6
  7. กาลาเทีย 5:12
  8. กาลาเทีย 2:9
  9. กาลาเทีย 5:26
  10. กาลาเทีย 6:2

ดูเพิ่ม

แก้