งานบริการชุมชน
งานบริการชุมชน หรือกฎหมายไทยเรียก งานบริการสังคมหรืองานสาธารณประโยชน์ (อังกฤษ: community service) เป็นงานบริการหรือกิจกรรมที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลทำให้เปล่าเพื่อประโยชน์สาธารณะ[1]
ผู้ทำงานบริการชุมชนอาจเรียก "อาสาสมัคร" (volunteer) แต่ใช่ว่าทุกคนที่ทำงานบริการชุมชนจะเป็นอาสาสมัคร บางคนอาจถูกบังคับให้ทำงานบริการชุมชนตามคำสั่งศาลเพื่อแทนโทษทางอาญา เช่น ทำงานบริการชุมชนแทนค่าปรับที่ไม่มีเงินชำระ หรือตามคำสั่งของรัฐเพื่อแทนการเป็นทหาร หรือตามคำสั่งของสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสำเร็จวิชาศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น
สำหรับกรณีบริการชุมชนตามคำสั่งศาลนั้น ผู้ต้องโทษทางอาญาจะต้องทำงานบริการชุมชนหรือหน่วยงานสาธารณะภายในเขตอำนาจศาลนั้น ๆ แทนการไม่ต้องรับโทษหรือวิธีการบังคับอย่างอื่นทางอาญา ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เช่น กักขัง หรือปรับ เป็นต้นว่า ค่าปรับอาจลดลงตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานบริการชุมชนแล้วแต่ศาลจะกำหนดอัตรา ในบางกรณี งานบริการชุมชนอาจมีลักษณะเป็นโทษทางอาญาอยู่ในตัว เป็นต้นว่า ผู้ทิ้งขยะเรื่อยเปื่อยอาจต้องทำความสะอาดสวนสาธารณะหรือทางหลวง หรือผู้ขับรถยนต์ขณะเมาสุราอาจต้องไปอธิบายให้นักเรียนฟังว่าเป็นไฉนพฤติกรรมของเขาจึงเป็นโทษต่อสังคม
ศาลอาจให้ผู้ต้องโทษเลือกประเภทงานบริการชุมชนเองก็ได้ แต่มักให้ผู้นั้นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรหรือเจ้าพนักงานที่เชื่อถือได้ เช่น พนักงานคุมประพฤติ หรือองค์การสาธารณประโยชน์ และบางครั้ง ศาลอาจห้ามผู้ต้องโทษทำงานบางประเภท เช่น ทนายความที่ต้องโทษอาจต้องห้ามให้บริการทางกฎหมายบางประการต่อสังคม
ในสหรัฐอเมริกา ศาลหลายศาลวางรายการสำหรับให้ผู้เยาว์ที่กระทำความผิดได้ทำงานเพื่อบ้านเมืองหรือหน่วยงานราชการบ้านเมืองโดยมีเจ้าพนักงานตำรวจหรือนายอำเภอคอยกำกับ เพื่อไม่ต้องรับโทษจำคุก และในบางโอกาส ผู้ต้องขังอาจได้รับอนุญาตให้ทำงานบริการสังคมภายนอกที่คุมขังก็ได้ เช่น งานผลิตแสงสว่าง งานซ่อมบำรุง งานเอกสาร งานในไร่ งานสงวนที่ดิน หรืองานโยธาอื่น ๆ โดยอาจได้รับการลดวันในที่คุมขังด้วยก็ได้ การบริการของผู้ต้องขังเช่นนี้มักจัดว่าเป็นแรงงานนักโทษประเภทหนึ่ง มากกว่าจะเป็นการบริการสังคม
ทฤษฎีเกี่ยวกับการเลือกให้ทำงานบริการชุมชนแทนการลงโทษนั้นอย่างน้อยมีอยู่ว่า งานบริการชุมชนจะสร้างคุณประโนชน์ให้แก่สังคมมากกว่าการลงโทษผู้กระทำความผิด ทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการคุมขัง และเป็นหนทางหนึ่งในการอบรมสั่งสอนผู้กระทำความผิดให้เห็นแก่ส่วนรวมและเป็นพลเมืองดีอีกด้วย
อ้างอิง
แก้- ↑ "community service". Memidex/WordNet Dictionary. สืบค้นเมื่อ 2011-07-25.[ลิงก์เสีย]