การท่องเที่ยว พำนักระยะยาว

                 การท่องเที่ยวพำนักระยะยาวนับว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของรูปแบบการท่องเที่ยวในศตวรรษที่ 21 

ที่มีวิวัฒนาการจากความต้องการของนักท่องเที่ยว ที่มีพื้นฐานของการดำรงชีวิตรวมทั้งความต้องการที่ไม่เหมือนกัน แต่มีจุดมุ่งหมายที่คล้ายกันคือ การพักผ่อนหย่อนใจ (Recreation) โดยที่การท่องเที่ยวพำนักระยะยาวก็เป็นผลมาจากโครงสร้างของประชากรโลกมีการเปลี่ยนแปลง (Kotler, et al., 2006: 121) เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) รวมทั้งมีการพยากรณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 จะมีประชากรที่เป็นผู้สูงอายุในโลก 340 ล้านคนซึ่งในปัจจุบันมีประชากรที่เป็นผู้สูงอายุอยู่ประมาณร้อยละ 28 โดยเฉพาะประชากรที่เกิดในปี พ.ศ.2489 – 2507 ในช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่เรียกคนในยุคนี้ว่า “Baby Boomer” หรือ “Gen X“ และคนกลุ่มนี้ในปัจจุบันจะเป็นกลุ่มคนที่เกษียณอายุจากการทำงานมีความสามารถในใช้จ่ายเงินเพื่อการพักผ่อนก การท่องเที่ยวจำนวนมาก ส่งผลทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทยผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี มีจำนวนสูงขึ้น จากปี พ.ศ. 2539 จำนวน 1,126,800 คน เพิ่มขึ้นเป็น 1,422,496 คนในปี พ.ศ. 2543 คิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.43 เป็นเหตุให้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2544 ให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว โดยมีคณะกรรมการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวแห่งชาติและให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสนับสนุนการท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวโดยเฉพาะ พร้อมทั้งยังได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศเรื่องการออก วีซ่าพิเศษ (O-A) โดยมีอายุวีซ่าได้ 1 ปี ในขณะนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวโดยปกติจะมีวีซ่าเพียง 1 – 3 เดือน (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2549: ระบบออนไลน์) (www2.tat.or.th/longstay/thai/ index.html)

ในปีพ.ศ. 2544 คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้มติจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวแห่งชาติ โดยได้มีการจัดตั้งบริษัท ไทยจัดการลองสเตย์ จำกัด เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2544 และให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยถือหุ้นร้อยละ 30 ส่วนร้อยละ 70 ถือหุ้นโดยภาคเอกชน การบริหารจัดการของบริษัทไทยจัดการลองสเตย์ จำกัดได้จัดทำการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว แบบเบ็ดเสร็จ โดยจัดให้มีการบริการนักท่องเที่ยวพำนักระยะยาว ที่เดินทางมาประเทศไทยผ่านระบบการสมัครสมาชิกของทางบริษัท และให้บริการจัดที่พักอาศัย การบริการเดินทาง ขนส่ง การบริการทางด้านการสุขภาพ การบริการนำเที่ยว และบริการข้อมูลการท่องเที่ยว รวมทั้งบริการให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในระบบสมาชิก (บริษัท ไทยจัดการลองสเตย์ จำกัด, 2550: ระบบออนไลน์) (www.thailongstay.co.th)

คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวแห่งชาติได้กำหนดจังหวัดและพื้นที่ที่จะรองรับนักท่องเที่ยวพำนักระยะยาวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในระยะแรกไว้ 5 แห่ง(สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,2545 : 35 - 43) ได้แก่ 1) จังหวัดเชียงใหม่ 2) จังหวัดสุโขทัย 3) หัวหิน-ชะอำ 4) จังหวัดกาญจนบุรี และ5) จังหวัดหนองคาย

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้สำรวจข้อมูลลงวันที่ 1 มกราคม 2548 เกี่ยวกับ ชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวในเมืองไทย มากกว่า 90 วัน ถึง 1 ปี โดยมิได้นับเรื่องการทำงานในเมืองไทย เป็นชาวอเมริกา จำนวน1,409 คน ชาวญี่ปุ่น 719 คน ชาวอังกฤษ 574 คน และชาติอื่นๆรวม 2,556 คน(จำนวน 62 ชาติ) โดยมีเหตุผลที่หลากหลาย อาทิเช่น การใช้ชีวิตบั้นปลาย การท่องเที่ยว การอยู่กับครอบครัวที่เป็นคนไทย รวมทั้งการดูแลบุตรที่เล่าเรียนในเมืองไทย หรือ เป็นอาสาสมัครในองค์กรต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ให้เหตุผลเพื่อการใช้ชีวิตบั้นปลาย หรือพำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่นั้น มีจำนวน 387 คนโดยได้รับวีซ่าพิเศษ (O-A) จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, 2549: ม.ป.น) และในปีพ.ศ. 2550 มีจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ให้เหตุผลเพื่อการใช้ชีวิตบั้นปลายในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 420 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จุดประสงค์ของการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวของประเทศไทย มีอยู่ 5 ประการ คือ 1) เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นสถานที่พำนักระยะยาวของนักท่องเที่ยวที่มีกำลังการใช้จ่ายสูง 2) เพื่อนำเงินตราต่างประเทศเข้าเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย 3) เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ในภาคอุตสาหกรรม และภาคการบริการที่เกี่ยวข้อง อันจะทำให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย 4) เพื่อขยายกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และ 5) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการท่องเที่ยวในพื้นที่ทางเลือกอื่น

กลุ่มนักท่องเที่ยวเกษียณอายุการทำงานหรือผู้สูงอายุ มีรูปแบบและพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เฉพาะคือ 1) เน้นการท่องเที่ยวและบริการที่มีคุณภาพดี 2) มีความสามารถในการซื้อบริการในราคาสูง ขณะเดียวกันคำนึงถึงความคุ้มค่ามาก 3) ความมั่นใจด้านความปลอดภัย 4) ความมั่นใจด้านบริการ ดูแลสุขภาพที่ดี และ 5) กิจกรรมที่เหมาะกับวัยและสุขภาพ อีกทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไม่ต้องกังวลกต่อค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เนื่องจากเป็นผู้มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิต จึงมีความละเอียดรอบคอบในการเลือกซื้อสินค้าและบริการต่างๆมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในการรองรับตลาดเหล่านี้จึงต้องมีการศึกษาในรายละเอียดค่อนข้างมาก และมีการเตรียมการที่ดี

สำหรับประเทศไทยได้มีจุดแข็งในการทำตลาดการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว คือ 1) ระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญไทยที่มีความมั่นคงและเสถียรภาพเพราะเป็นประเทศประชาธิปไตย 2) วัฒนธรรมไทยอันดีงามที่ตกทอดสืบมา เช่นประเพณีการเคารพผู้ใหญ่ การไหว้ที่งดงาม 3) ทรัพยากรธรรมชาติที่มีมากมายและหลากหลายเป็นที่น่าสนใจในสายตาของชาวต่างชาติ 4) ความเป็นมิตร เอื้อเฟื้อ ยิ้มง่าย และนิสัยต้อนรับขับสู้ของคนไทย 5) ค่าครองชีพที่ไม่แพงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินตราต่างประเทศ 6) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 7) การยอมรับความแตกต่างเพราะโดยพื้นฐานประเทศไทยเป็นสังคมเปิดไม่กีดกันศาสนา และสีผิว 8) อุปกรณ์ทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานสากล 9)การแพทย์ทางเลือกใหม่ที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจกันมาก 10) อาหารไทยที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก 11) มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกด้านที่พักมากมาย 12) การได้รับการสนับสนุนโครงการจากรัฐบาล 13) เป็นศูนย์กลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้เหมาะในการเดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ 14) เป็นศูนย์กลางการบินนานาชาติ 15) มีปริมาณบุคลากรด้านการท่องเที่ยวจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีทรัพยากรหนุ่มสาวที่พร้อมจะให้บริการผู้สูงอายุ 16) มีสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมและได้มาตรฐาน เช่น ที่พัก สถานพยาบาล เป็นต้น 17) มีประวัติความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศ 18)เป็นสังคมที่มีระเบียบ และ 19)การได้รับการสนับสนุนโครงการจากรัฐบาล

สำหรับจุดอ่อนของ โครงการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว คือ 1) ความสามารถทางด้านภาษาเพราะผู้มีความสามารถในการสื่อสารภาษาต่างประเทศได้ดี (ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอื่นๆ) มีอยู่น้อย 2) การคมนาคมเพื่อสาธารณะยังไม่ดีพอ 3) ด้านการสาธารณูปโภคต่างๆ เช่นการสื่อสารผ่านดาวเทียม การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การเข้าถึงระบบเครือข่ายทางคอมพิวเตอร์ได้ล่าช้า และป้ายประกาศส่วนใหญ่จะเป็นภาษาไทยเท่านั้น 4)ระบบการทำงานของฝ่ายราชการและระเบียบการในการติดต่อกับทางราชการล่าช้าและซับซ้อน เช่น ปัญหาต่างๆที่มักเกิดในกระบวนการขอวีซ่า การขอใบอนุญาตทำงาน การโอนเงินข้ามประเทศ การประกันภัย และการจัดเก็บภาษีอากรเป็นต้น 5) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขาดความเข้าใจและขาดทิศทางในการดำเนินงาน รวมทั้งขาดความรู้ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีของกลุ่มเป้าหมายของตน 6) ขีดความสามารถของบุคลากรยังต่ำ 7) ขาดการประชาสัมพันธ์ที่เพียงพอ 8) มาตรฐานด้านการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่ได้มาตรฐานตามที่กลุ่มเป้าหมายคาดหวัง 9) ขาด One Stop Service Center 10) ขาดการศึกษาด้านการจัดการและการพัฒนาเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นระบบ และ 11)ขาดความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนา และควบคุมดูแลกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวเนื่องทำให้โครงการดำเนินได้ล่าช้า

โอกาสการท่องเที่ยว คือ 1) มีทรัพย์สินมากมายที่น่าก่อให้เกิดรายได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ 2) จะก่อให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการการท่องเที่ยวพำนักระยะยาวในรูปแบบใหม่ๆ เช่น ชุมชนเพื่อผู้เกษียณอายุ และบ้านพักเพื่อดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น 3)ในปัจจุบันจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้ชีวิตแบบผู้เกษียณอายุเพิ่มมากขึ้น และผู้เกษียณอายุเหล่านี้เป็นผู้ที่มีรายได้คงที่จึงต้องการแสวงหาที่อยู่ซึ่งไม่แพงเกินรายได้ตน 4) มีความต้องการด้านการดูแลและฟื้นฟูสุขภาพมากขึ้นในปัจจุบัน 5) เป็นการสร้างงานและจะก่อให้เกิดการพัฒนาทักษะรูปแบบใหม่ๆขึ้น 6) จะก่อให้เกิดความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ได้มีเป้าหมายในการทำโครงการนี้ เช่นประเทศสิงคโปร์ ในการรับนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่แบบพำนักระยะยาวในประเทศไทยภายหลังจากที่ได้ท่องเที่ยวในประเทศอื่นในภูมิภาคแล้ว 7) ต่างประเทศให้ความสนใจกับศักยภาพของประเทศไทยในปัจจุบันมาก 8) การทำโครงการนี้จะช่วยนำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศเพิ่มมากขึ้น 9)เป็นการกระจายรายได้สู่ชนบท 10) สภาพเศรษฐกิจของโลกมีการชะลอตัว ประชาชนที่อาศัยในประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจแต่มีค่าครองชีพสูงจะเกิดความต้องการในการเดินทางไปพำนักยังต่างประเทศที่ค่าครองชีพเหมาะสมและยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี และ 11)ชาวตะวันตกให้ความสนใจกับวัฒนธรรมของโลกตะวันออกมากขึ้น ทั้งทางด้านศาสนา วิถีการดำรงชีวิต วิธีการออกกำลังกาย ศิลปะ เป็นต้น ทำให้เกิดแนวโน้มการเดินทางมายังประเทศทางซีกโลกตะวันออกมากขึ้น

อุปสรรค คือ 1) เกิดความไม่พอใจของประชาชนเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น และจากการเสียสิทธิประโยชน์ที่ตนควรได้ในฐานะที่เป็นคนไทยให้แก่ Longstayers 2) การกระทำผิดศีลธรรมของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การหลอกลวง การโกง ผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็น Longstayers ในอนาคตและความเป็นไปได้ที่ Longstayers จะหลอกลวงผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการที่ไม่ทราบเกี่ยวกับโครงการเพียงพอ เป็นต้น 3) การแข่งขันระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนิเซียที่มีทรัพยากรและศักยภาพที่ใกล้เคียงและสามารถแข่งขันกับประเทศไทยได้ 4) ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ไม่คุ้นเคยกับนโยบายเชิงรุก 5) หากจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับความต้องการไม่ได้ตามที่กลุ่มเป้าหมายคาดหวัง จะเกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของโครงการและผลกระทบทำให้โครงการล้มเหลวได้ 6) ความเปราะบางทางความคิดในเชิงสังคมของชาวไทยบางกลุ่มที่มีต่อโครงการ 7) ความผันผวนทางสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศกลุ่มเป้าหมายซึ่งอาจทำให้แนวโน้มเปลี่ยนแปลงได้ 8) การนำมาซึ่งโรคติดต่อจากต่างถิ่นที่ไม่เคยมีในประเทศมาก่อน และ 9) การแฝงตัวเข้ามาของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติและการค้ายาเสพย์ติด

โดยสรุป มีผู้ให้ความหมาย การท่องเที่ยวพำนักระยะยาวไว้จำนวนมาก

1. กระทรวงการต่างประเทศ หมายถึง นักท่องเที่ยวที่พำนักอยู่ในเมืองไทยเกิน 90 วันขึ้นไป และได้วีซ่า O-A

2. สำนักธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ หมายถึง ธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพระยะยาว ( long-stay and health care ) เป็นการให้บริการร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล รีสอร์ท โรงแรมตามสถานที่พักผ่อนทั่วประเทศ โดยใช้บริการด้านสุขภาพเป็นจุดขาย ให้บริการพักผ่อนระยะยาวพร้อมทั้งบริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร ทั้งนี้เพื่อให้บริการแก่ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายผู้สูงอายุชาวต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาพักผ่อนระยะยาวแบบพำนักระยะยาวนี้เป็นลักษณะการไปพำนักในต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้หมายความถึง การไปอยู่อาศัยเป็นการถาวรในประเทศนั้นๆ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายผู้สูงอายุ หรือวัยเกษียณอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน แล้วมีกำลังซื้อสูงจะสามารถเดินทางออกนอกประเทศเป็นเวลานานๆ ได้ และต้องการหลบเลี่ยงอากาศหนาวจัดในฤดูหนาวมาพักในประเทศที่อบอุ่นกว่า มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีกับประชาชนในท้องถิ่น มีการท่องเที่ยวเปลี่ยนบรรยากาศเป็นครั้งคราว รวมทั้งต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เมื่อเจ็บป่วยก็ได้รับการดูแลรักษาอย่างมีมาตรฐาน

3. McIntosh and Goeldner, 2002: 25 จะให้แนวความคิดเป็นส่วนหนึ่งของ รูปแบบการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษ (special interest tourism)โดยมีความหมายคือ การท่องเที่ยวพำนักระยะยาว (longstay) หมายถึงกลุ่มผู้ใช้ชีวิตในปั้นปลายหลังเกษียณอายุจากการทำงานที่ต้องการมาใช้ชีวิตต่างแดนเป็นหลัก เพื่อเพิ่มปัจจัยที่ห้าของชีวิตคือ การท่องเที่ยว โดยเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเฉลี่ย 3 - 4 ครั้งต่อปี คราวละนาน ๆ อย่างน้อย 1 เดือน

4. บริษัท Northern Heritage Valley ได้ให้คำจำกัดความของการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว (longstay) ว่า การท่องเที่ยวพำนักระยะยาว คือ การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางให้นักท่องเที่ยวมาอาศัยอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งหมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ จนถึง 2-3 เดือน หรือ 2-3 ปี โดยทั่วไปแล้วการท่องเที่ยวประเภทนี้จะมีความหมายโดยนัยว่า เป็นการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวผู้เกษียณอายุ หรือผู้ที่มีฐานะดี

5. หน่วยงานมูลนิธิการพำนักระยะยาว (Longstay Foundation) ของประเทศญี่ปุ่นนั้นให้ความหมายว่า การท่องเที่ยวพำนักระยะยาว (longstay) หมายถึง การพักผ่อนระยะเวลานานในต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่การอพยพย้ายถิ่น หรือไปมีถิ่นฐานที่ถาวรในต่างประเทศลักษณะโดยทั่วไปของ Longstay คือ 1.)ต้องอาศัยอยู่เป็นระยะเวลานาน คือ จะอยู่นานกว่าการอยู่ในต่างประเทศโดยทั่วไป แต่ต้องกลับมายังประเทศญี่ปุ่น 2.)มีจุดมุ่งหมายที่จะทำกิจกรรมเพื่อเป็นการพักผ่อน 3.)เน้นการอาศัยอยู่กับที่มากกว่าการเดินทางท่องเที่ยว โดยการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศคือ การหาประสบการณ์ ในต่างประเทศที่ไม่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ การพำนักระยะยาว คือ การหาประสบการณ์ที่พบได้ในชีวิตประจำวันซึ่งจะมีลักษณะที่เหมือนกับการใช้ชีวิตประจำวันในต่างประเทศ 4.)ต้องมีหรือเช่าที่พักในต่างประเทศเพื่ออยู่อาศัยในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่อยู่โรงแรมแบบนักท่องเที่ยวทั่วไป 5.)ต้องมีเงินทุนในประเทศญี่ปุ่นเพียงพอที่จะอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับรายได้ที่ได้รับจากต่างประเทศเท่านั้น

6. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้คำจำกัดความของนักท่องเที่ยวที่พำนักระยะยาว ว่า หมายถึง นักท่องเที่ยวที่พำนักอยู่ในเมืองไทยเกิน 30 วันขึ้นไป โดยจำแนกเป็น 4 ประเภทคือ 1) นักท่องเที่ยวพำนักระยะยาว โดยเฉพาะฤดูหนาว รวมทั้งผู้ที่มารักษาสุขภาพในเมืองไทยเป็นครั้งคราว 2) นักท่องเที่ยวกลุ่มหลังเกษียณที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเน้นกลุ่มที่มีสุขภาพดีและช่วยเหลือตนเองได้ 3) กลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่มาศึกษาภายในประเทศไทย และ 4) กลุ่มนักกีฬาที่เข้ามาเก็บตัวฝึกซ้อมในประเทศไทย

วารัชต์ มัธยมบุรุษ