ความทรงจำอันตราตรึง
(กาตาลา: La persistència de la memòria; สเปน: La persistencia de la memoria) หรือที่รู้จักกันในชื่อ นาฬิกานิ่ม (กาตาลา: Els rellotges tous; สเปน: Los relojes blandos) และ นาฬิกาละลาย (กาตาลา: Els rellotges fosos; สเปน: Los relojes derretidos) เป็นภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบที่วาดโดยซัลบาโด ดาลี ศิลปินชาวสเปนในปี ค.ศ. 1931 ภาพได้รับการจัดแสดงครั้งแรกที่หอศิลป์จูเลียน เลวีในปี ค.ศ. 1932 ก่อนผู้บริจาคที่ไม่ออกนามจะมอบให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในนครนิวยอร์กในปี ค.ศ. 1934[1] ความทรงจำอันตราตรึง เป็นหนึ่งในภาพวาดที่เป็นที่รู้จักของดาลี และเป็นผลงานที่สำคัญของลัทธิเหนือจริง[2]
ความทรงจำอันตราตรึง | |
---|---|
ศิลปิน | ซัลบาโด ดาลี |
ปี | ค.ศ. 1931 |
สื่อ | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
มิติ | 24 เซนติเมตร × 33 เซนติเมตร (9.5 in × 13 in) |
สถานที่ | พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ นครนิวยอร์ก, สหรัฐ |
ความทรงจำอันตราตรึง เป็นภาพวาดขนาด 24 × 33 เซนติเมตรที่ประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง สิ่งที่เด่นชัดที่สุดในภาพคือนาฬิกาพกที่อ่อนตัว เป็นตัวแทน "ความอ่อน" และ "ความแข็ง" ซึ่งเป็นหัวข้อที่ดาลีคิดในขณะนั้น[3] ดอว์น อะเดส นักประวัติศาสตร์ศิลป์กล่าวว่า "นาฬิกานิ่มเป็นสัญญะทางจิตใต้สำนึกของเวลาและอวกาศ ดาลีอาจครุ่นคิดถึงการล่มสลายของกฎเกณฑ์ของจักรวาล"[4] การตีความนี้ทำให้เชื่อกันว่าดาลีพยายามเชื่อมโยงภาพนี้เข้ากับทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ที่กล่าวถึงการขยายขนาดของเวลา เมื่ออิลียา พรีโกจิน นักเคมีเชิงฟิสิกส์ถามดาลีถึงเรื่องนี้ ดาลีได้ตอบว่าแรงบันดาลใจของนาฬิกาเหลวไม่ได้มาจากทฤษฎีสัมพัทธภาพ แต่มาจากการสังเกตเนยแข็งกาม็องแบร์ละลายเมื่อถูกแสงแดด[5] ดาลีอาจใช้นาฬิกาดังกล่าวเป็นสิ่งล้อเลียนการเดินของเวลาที่เที่ยงตรงคงที่[6] ตรงกลางภาพเป็นวัตถุคล้ายใบหน้ามนุษย์ ซึ่งดาลีใช้แทนตัวเขาเองในผลงานหลายชิ้น มีการตีความว่าวัตถุดังกล่าวอาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรากฏตัวในความฝันของดาลีและเขาไม่สามารถชี้ชัดถึงลักษณะของสิ่งมีชีวิตนั้นได้ นอกจากนี้ ผู้ชมบางส่วนสังเกตเห็นว่าวัตถุนี้หลับตาหนึ่งข้าง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ความทรงจำอันตราตรึง แสดงภาพในความฝัน[7] ด้านซ้ายล่างของภาพมีนาฬิกาสีส้มที่มีมดตอมด้านบนแทนความเสื่อมโทรม[8] ถัดจากนาฬิกาสีส้มมีนาฬิกาอีกเรือนที่มีแมลงวันเกาะด้านบน เงาของแมลงวันแสดงภาพคล้ายร่างมนุษย์ ฉากหลังของภาพเป็นกับดาแกร็วส์ คาบสมุทรทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นกาตาลุญญา ซึ่งดาลีใช้เป็นฉากในหลาย ๆ ภาพของเขา[9]
อ้างอิง
แก้- ↑ Pushkin, Kristy (May 21, 2018). "15 Things You Didn't Know About The Persistence Of Memory". Mental Floss. สืบค้นเมื่อ August 26, 2019.
- ↑ Farthing, Stephen (2016). 1001 Paintings You Must See Before You Die. London, Great Britain: Octopus Publishing Group. p. 685. ISBN 9781844039203.
- ↑ Bradbury, Kirsten (1999). Essential Dalí. ;Dempsey Parr. ISBN 978-1-84084-509-9.
It includes the first appearance of what is perhaps his most enduring image: the 'soft watch'.
- ↑ Ades, Dawn. Dalí. Thames and Hudson, 1982.
- ↑ Salvador Dali (2008). The Dali Dimension: Decoding the Mind of a Genius (DVD). Media 3.14-TVC-FGSD-IRL-AVRO.
Surprisingly, Dalí said that his soft watches were not inspired by the theory of relativity, but by the surrealist perception of a Camembert cheese melting in the sun. The painter insisted on this explanation in his reply letter to Prigogine, who took it as Dalí's reaction to Einstein's coldly mathematical theory.
- ↑ "Salvador Dali's The Persistence of Memory explained". Phaidon. สืบค้นเมื่อ August 26, 2019.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "The Persistence of Memory". Google Sites. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-18. สืบค้นเมื่อ August 26, 2019.
- ↑ "Dalinian symbolism I Salvador Dalí I Espace Dalí". daliparis.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 กันยายน 2014. สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2015.
- ↑ Richman-Abdou, Kelly (July 1, 2019). "Exploring Salvador Dalí's Strange and Surreal 'Persistence of Memory'". My Modern Met. สืบค้นเมื่อ August 26, 2019.