คลองลาวน หรือ คลองละวน เป็นคลองธรรมชาติสายหนึ่งในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ตั้งต้นจากหมู่ที่ 8 บ้านแขมงคงมั่น ตำบลชากโดน[1] ไหลเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างตำบลกร่ำกับตำบลชากพง ก่อนไปลงทะเลที่อ่าวตาล มีความกว้างโดยเฉลี่ย 40 เมตร ความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร เหตุที่ชื่อว่า "คลองลาวน" เพราะลำคลองมีลักษณะโค้งวนไปมา[2] เดิมคลองมีความกว้างประมาณ 40 เมตร ภายหลังมีสภาพตื้นเขิน มีความกว้างราว 3–4 เมตร

สุนทรภู่บันทึกไว้ใน นิราศเมืองแกลง ว่าตนเองได้เดินทางจากแหลมทองหลางถึงปากคลองลาวน ดังความว่า[3]

แล้วภิญโญ โมทนา ลีลาลาศ ลงเลียบหาด ปรีดิ์เปรม เกษมสันต์
ถึงปากช่อง คลองน้ำ เป็นสำคัญ ตำแหน่งนั้น ชื่อชะวาก ปากลาวน

น้ำในคลองลาวนมี 3 ลักษณะคือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ชาวบ้านโดยรอบพื้นที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและเพาะเลี้ยงหอยนางรม บริเวณคลองถือเป็นแหล่งเพาะเชื้อหอยนางรมแหล่งใหญ่เพื่อส่งขายในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ตลอดแนวลำคลองนี้เนืองแน่นไปด้วยแท่งปูนปั้นที่เกาะบนเส้นเชือกยาวเป็นสาย[3] ต่อมาก็ได้มีการเพิกถอนการเพาะเลี้ยงหอยนางรมเนื่องจากเป็นการรุกล้ำป่าชายเลน[4] โดยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2543 ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าชายเลนประเภทที่ 1 ซึ่งเป็นป่าชายเลนเขตอนุรักษ์ ไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์หรือบุกรุกทำลายให้เกิดความเสื่อมสภาพได้[5]

อ้างอิง แก้

  1. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๔ (อักษร ย-ฮ) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2561.
  2. "โครงการ Fisherman's Village Resort วิสาหกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชุมชนคลองลาวน จังหวัดระยอง (Fisherman's Village Resort)". กรมประมง เกษตรกลาง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-30. สืบค้นเมื่อ 2022-10-30.
  3. 3.0 3.1 "'หอยนางรม'รุกคลองประวัติศาสตร์". คมชัดลึกออนไลน์. 21 July 2014. สืบค้นเมื่อ 30 October 2022.
  4. "ชุมชนคลองลาวน". องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง.
  5. "ฟ้องรัฐเปิดช่องเอกชนเลี้ยงหอยในคลองอนุรักษ์ ชาวระยองยื่นศาลปกครองเหตุทำสิ่งแวดล้อมพัง". GREENNEWS.AGENCY.