ครีมเทียม (อังกฤษ: Non-dairy creamer, coffee whitener) หรือบางครั้งที่เรียกกันจนติดปากว่า คอฟฟีเมต[1][2][3] เป็นครีมผงหรือน้ำที่ใช้ทดแทนนมหรือครีม เพื่อจะเติมรสชาติในกาแฟและเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแล็กโทสและดังนั้นจึงถือกันว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ทำจากนม แม้ว่าจะมีสารเคซีน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำมาจากนม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ได้ระบุคำจำกัดความของครีมเทียมไว้ว่า "ผลิตภัณฑ์ที่มิได้ทำจากนมและมีไขมันอื่นนอกจากมันเนยเป็นส่วนประกอบที่สำคัญหรือครีมที่มีมันเนยผสมอยู่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของไขมันทั้งหมด"[4][2]

กาแฟพร้อมกับน้ำตาลซองหนึ่งและคอฟฟีเมตน้ำถุงหนึ่ง

ประวัติ

แก้

ครีมผง (ไม่เทียม) เริ่มมีการขายเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1952 เรียกว่า พรีม ซึ่งทำมาจากครีมอบแห้งและน้ำตาล ครีมผงนี้ละลายน้ำไม่ค่อยได้เพราะเหตุที่มีโปรตีนนม[5] หกปีต่อมาในปี ค.ศ. 1958 บริษัทคาร์เนชันได้สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถละลายในน้ำร้อนได้ง่ายเพราะว่า มีการทดแทนไขมันนมด้วยไขมันพืช และลดระดับการใช้โปรตีนนมออกไป เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายใช้ชื่อการค้าว่า คอฟฟีเมต (อังกฤษ: Coffee-Mate)[5]

ตราสินค้า คาร์เนชั่น คอฟฟีเมต เริ่มต้นจากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นสินค้าเพื่อใช้ทดแทนนมสำหรับใส่ในกาแฟโดยเฉพาะ เพื่อให้ได้รสชาติที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม หลังจากที่เริ่มวางจัดจำหน่ายในปี ค.ศ. 1961 คอฟฟีเมตได้รับความนิยมเนื่องจากสินค้าช่วยให้กาแฟลดความขมเฝื่อน จากความแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น ตราสินค้าได้ปรับเป็น เนสท์เล่ คอฟฟีเมตในปี ค.ศ. 1985 จากการควบรวมกิจการ เพื่อใช้ตราสินค้านี้ในการจัดจำหน่ายไปทั่วโลก ในประเทศไทย โรงงานผลิตเริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1983 และสินค้าออกจำหน่ายในปี ค.ศ. 1985

ปัจจุบันมีวางจำหน่ายทั่วโลกไปกว่า 70 ประเทศ ทุก ๆ 1 วินาที คนทั่วโลกจะดื่มกาแฟที่ใส่คอฟฟีเมต 1,000 แก้ว และ 88 แก้วเกิดขึ้นในประเทศไทย

ส่วนผสม

แก้

เพื่อจะให้มีรสชาติและสัมผัสเหมือนกับไขมันนม ครีมเทียมมักจะมีไขมันพืชแปรสภาพ (hydrogenated) หรือที่เรียกว่าไขมันทรานส์ ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์ครีมเทียมที่ไม่มีไขมัน (nonfat) ก็มีอยู่เหมือนกัน องค์ประกอบอย่างอื่น ๆ ที่มีทั่วไปรวมทั้งน้ำตาลจากข้าวโพด (corn syrup) และสารปรุงแต่งกลิ่นหรือรสอื่น ๆ รวมทั้งกลิ่นวานิลลา, ถั่วเฮเซิล (hazelnut) และโซเดียมแคซีเนต (sodium caseinate) คือโปรตีนอนุพันธ์ที่ได้มาจากเคซีนซึ่งเป็นโปรตีนของนม (ไม่มีแล็กโทส) แต่ว่าการใช้โปรตีนที่มาจากนมทำให้กลุ่มชนและองค์กรบางกลุ่มเช่น กลุ่มที่ทานอาหารเจแบบเคร่งครัด (vegan) และองค์กรที่กำหนดความสมควรของอาหารของชาวยิว (kashrut) ทำการกำหนดว่าครีมเทียมชนิดนี้เป็นผลิตภัณฑ์มีนม หรือไม่ใช่ไม่มีนม มีผลเป็นการไม่บริโภคครีมเทียมของกลุ่มผู้กินเจแบบเคร่งครัด หรือไม่บริโภคร่วมกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ ของชาวยิวที่ถือศีลกลุ่มนี้[6]

ปัจจุบันผู้ผลิตได้ใช้กรรมวิธีในการผลิตโดยใช้วัตถุดิบไขมันพืชแบบเติมไฮโดรเจนชนิดเต็มรูป (Fully Hydrogenation) ซึ่งช่วยทำให้พันธะคู่ของไขมันไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือที่เรียกว่าปราศจากไขมันทรานส์ (trans fat) และไม่มีโคเลสเตอรอล

การใช้นอกแบบ

แก้

เหมือนกับอนุภาคเล็ก ๆ หลายประเภทอย่างอื่น ครีมเทียมมีโอกาสที่จะก่อการระเบิดเนื่องจากผง[a] เมื่อลอยอยู่ในอากาศเป็นจำนวนมาก นักถ่ายหนังสมัครเล่น[7] และช่างเทคนิคการระเบิด[8] ได้ใช้คุณสมบัติเช่นนี้ในการสร้างเทคนิคพิเศษของลูกไฟหลายอย่าง

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการใช้ครีมเทียมในการทำผ้าให้ขาว (หลังจากที่ผสมครีมเทียมกับน้ำ โดยใช้เพื่อชุบผ้า) การเอาฟองออกจากถังเพาะเลี้ยงปลา การทำความสะอาดกระดานขาว และการทำหิมะปลอม ในรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์[5]

ดูเพิ่ม

แก้

เชิงอรรถ

แก้
  1. การระเบิดเนื่องจากผง (dust explosion) เป็นการเผาไหม้อย่างรวดเร็วของอนุภาคที่ลอยอยู่ในอากาศในที่คับแคบ การระเบิดเนื่องจากผงถ่านเป็นอันตรายอย่างหนึ่งในเหมืองถ่านหิน แต่การระเบิดเนื่องจากผงสามารถเกิดได้ทุกแห่งที่มีผงติดไฟได้ลอยอยู่ในอากาศในที่คับแคบ โดยทั่ว ๆ ไปแล้วคือ มีผงติดไฟได้จำนวนมากลอยอยู่ในอากาศ หรือในแก๊สอย่างอื่น ๆ เช่นในแก๊สออกซิเจน

อ้างอิง

แก้
  1. "ครีมเทียม หรือเรียกกันติดปากว่า คอฟฟี่เมต อันตรายกว่าที่คิด". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2015. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2015.
  2. 2.0 2.1 วิสิฐ จะวะสิต. "ครีมเทียม". นิตยสารหมอชาวบ้าน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2015. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2015.
  3. "ลองรวบรวม ชื่อยี่ห้อสินค้า ที่ใช้แทนนามสามัญ". สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2015.
  4. "อุตสาหกรรมครีมเทียมของไทย" (PDF). National Food Institute. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2015. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015.
  5. 5.0 5.1 5.2 Carolyn Wyman (2004). Better than homemade: amazing foods that changed the way we eat. Quirk Books. p. 61. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011.
  6. "Wired 15.01: START". Wired Magazine. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011.
  7. "Detonation Films - Why Coffee Creamer?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2020. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2011.
  8. "How to Make Coffee Creamer Fireballs". สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้