คริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอแห่งบรันเดินบวร์ค-ไบร็อยท์

สมเด็จพระราชินีแห่งโปแลนด์

คริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอแห่งบรันเดินบวร์ค-ไบร็อยท์ (เยอรมัน: Christiane Eberhardine von Brandenburg-Bayreuth) เป็นชายาในเจ้านครรัฐผู้คัดเลือกซัคเซินและสมเด็จพระราชินีแห่งเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย โดยการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าออกัสตัสที่ 2 แห่งโปแลนด์ ในระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชินี พระองค์ไม่เคยเสด็จเยือนเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียเลย ทรงประทับอยู่ในซัคเซินตลอดรัชสมัย ทรงดำรงพระอิสริยยศ มาร์คกราฟวีน ตั้งแต่แรกประสูติ พระองค์มีพระราชสมญานามว่า "เสาหลักแห่งความเชื่อของแซกโซนี" (เยอรมัน: Sachsens Betsäule อังกฤษ: Saxony's pillar of prayer) อันเนื่องมาจากการปฏิเสธที่จะเข้ารีตในนิกายคาทอลิกของพระองค์ ในขณะที่พระราชสวามีและพระราชโอรส เจ้าชายฟรีดริช เอากุสท์ ต่างเข้ารีตในนิกายคาทอลิกทั้งสิ้น

คริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอแห่งบรันเดินบวร์ค-ไบร็อยท์
สมเด็จพระราชินีแห่งโปแลนด์
แกรนด์ดัชเชสแห่งลิทัวเนีย
ระยะเวลาครองราชย์ค.ศ. 1697– ค.ศ. 1727
ประสูติ19 ธันวาคม ค.ศ. 1671(1671-12-19)
ไบร็อยท์
สวรรคต4 กันยายน ค.ศ. 1727(1727-09-04) (55 ปี)
พรีคเซน อัน เดอ เอ็ลเบอ
ฝังพระศพโบสถ์อีวานเจลิคัลแห่งนักบุญนิโคลัส
พรีคเซน อัน เดอ เอ็ลเบอ
พระราชสวามีพระเจ้าออกัสตัสที่ 2 แห่งโปแลนด์
พระราชบุตรพระเจ้าออกัสตัสที่ 3 แห่งโปแลนด์
ราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น
พระราชบิดาคริสเตียน แอ็นสท์ มาร์คกราฟแห่งบรันเดินบวร์ค-ไบร็อยท์
พระราชมารดาโซฟี ลูอีเซอแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค

พระราชประวัติ แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้น แก้

พระองค์เป็นพระราชธิดาใน คริสเตียน แอ็นสท์ มาร์คกราฟแห่งบรันเดินบวร์ค-ไบร็อยท์ และพระชายาองค์ที่สอง โซฟี ลูอีเซอ พระราชธิดาของ อีเบอฮารด์ที่ 3 ดยุกแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค พระองค์ถูกตั้งพระนามตามพระราชบิดา คริสเตียน และ พระอัยกา อีเบอฮารด์ ในฐานะพระราชธิดาของมาร์คกราฟแห่งราชรัฐไบร็อยท์ พระองค์ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ มาร์คกราฟวีน ตั้งแต่แรกประสูติ พระองค์ทรงมีพี่น้องที่ทรงพระเยาว์กว่าอีกห้าพระองค์ มีเพียงสองพระองค์เท่านั้นที่ทรงเจริญพระชนม์มายุถึงวัยผู้ใหญ่ พระองค์ทรงใกล้ชิดกับพระประยูรญาติในไบร็อยท์ และเสด็จกลับมาเยี่ยมบ่อย ๆ หลังจากทรงอภิเษกสมรสแล้ว

การอภิเษกสมรสและรัชทายาท แก้

พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับ ฟรีดิช เอากุสท์ ดยุกแห่งซัคเซิน พระอนุชาของเจ้าผู้คัดเลือกโยฮัน เกออรค์ที่ 4 ในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1693 เมื่อพระชนม์มายุ 21 ชันษา การอภิเษกสมรสเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองและไม่ค่อยราบรื่นนัก ดยุกเอากุสท์ทรงเห็นว่าพระองค์น่าเบื่อ ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงเจ็บปวดจากการนอกใจของพระราชสวามี[1]

สามปีต่อมา ในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1696 ทรงให้กำเนิดพระราชโอรส เจ้าชายฟรีดริช เอากุสท์ ในกรุงเดรสเดิน นี้เป็นการทรงพระครรภ์ครั้งเดียว ตลอดระยะเวลา 34 ปี แห่งการอภิเษกสมรส พระราชโอรสองค์น้อยถูกเลี้ยงดูโดยพระอัยกี เจ้าหญิงอันนา โซฟีแห่งเดนมาร์ก พระองค์และพระสัสสุเข้ากันได้ดี ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จไปเยี่ยมพระราชโอรสบ่อยครั้ง

สมเด็จพระราชินีและชายาในเจ้าผู้คัดเลือกแห่งซัคเซิน แก้

พระองค์กลายมาเป็นชายาในเจ้าผู้คัดเลือกเมื่อดยุกเอากุสท์สืบตำแหน่งเป็นเจ้าผู้คัดเลือกต่อจากพระเชษฐาในปี ค.ศ. 1694 ในพิธีเฉลิมฉลองการขึ้นเป็นเจ้าผู้คัดเลือกของดยุกเอากุสท์ เหล่าข้าราชบริพารและเชื้อพระวงศ์ต่างแต่งตัวเป็นเทพและเทพี รวมทั้งพระสนมของพระราชสวามี มาเรีย ออโรร่า ฟ็อน เคอนิจมารค์ รวมในขบวบพิธีด้วยในฐานะเทพีออโรร่า

ในขณะที่พระองค์รับบทเป็นสาวพรหมจารีที่ติดตามเทพีเวสต้า[1] ใน ค.ศ. 1696 พระองค์ทรงให้กำเนิดพระราชโอรสและรัชทายาทองค์เดียว เจ้าชายฟรีดิช เอากุสท์ นับว่าเป็นการทรงพระครรภ์ครั้งเดียวตลอดระยะเวลาแห่งการอภิเษกสมรส[1]

ใน ค.ศ. 1697 ดยุกเอากุสท์เข้ารีตเป็นคาทอลิกและได้รับการเลือกให้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ดยุกเอากุสไม่ได้บอกเรื่องเหล่านี้กับพระองค์ การเข้ารีตของดยุกเอากุสท์ก่อให้เกิดคำครหาไปทั่วดินแดนซัคเซิน[1] และพระองค์ก็ถูกบังคับให้รับรองเสรีภาพทางศาสนาของซัคเซิน ตามหลักการแล้ว พระองค์ต้องตามเสด็จดยุกเอากุสไปยังโปแลนด์เพื่อราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเครือจักรภพ ในนครกรากุฟ และจากฤดูร้อน ค.ศ. 1697 จนถึงวันบรมราชาภิเษกในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1697 ดยุกเอากุสท์พยายามให้พระองค์เสด็จมาโปแลนด์ อย่างไรก็ตามพระองค์ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพิธีราชาภิเษก ถึงแม้พระราชบิดาและดยุกเอากุสท์จะพยายามเกลี้ยกล่อมพระองค์มากแค่ไหนก็ตาม[1]ตามเงื่อนไขในกฏบัตรที่ดยุกเอากุสท์ลงนามหลังการขึ้นครองราชย์ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าพระองค์ จะต้องทำให้พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอ มาเข้ารีตนิกายคาทอลิก[1] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1698 พระเจ้าออกัสตัสทรงเชิญพระนางมายังนครดันท์ซิช

ซึ่งมีชาวโปรเตสแตนท์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและเป็นจุดที่พระราชบิดาจะมารับพระองค์ พระเจ้าออกัสตัสสัญญาว่าจะให้พระองค์นับถือนิกายโปรเตสแตนต์เช่นเดิม และอนุญาตให้พระองค์มีศิษยาภิบาลโปรเตสแตนต์ประจำพระองค์ ตราบใดที่ความศรัทธานิกายโปรเตสแตนต์ของพระนางถูกเก็บเป็นความลับจากสาธารณะชน[1]

พระเจ้าออกัสตัสยังให้การรับรองว่า พระราชโอรสจะไม่ถูกบังคับให้เข้ารีต โดยเจ้าชายฟรีดิช เอากุสท์ จะอยู่ในความปกครองของพระอัยกี เจ้าหญิงอันนา โซฟีแห่งเดนมาร์ก

พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเหล่านั้น และปฏิเสธที่จะตามพระราชบิดาไปยังนครดันท์ซิช.[1] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1698 พระราชสวามีและพระราชบิดาลงนามในเอกสารที่กรุงวอร์ซอ เพื่อรับรองเสรีภาพทางศาสนาให้แก่พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอในนครดันท์ซิชและทอร์น พระราชบิดาทรงกลับมายังเดรสเดินแบบลับ ๆ พร้อมเอกสาร และพยายามให้พระองค์เสด็จไปโปแลนด์ ถึงแม้พระราชบิดาจะพยายามอยู่หลายครั้ง และคำขอร้องจากพระราชสวามี พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอ ก็ปฏิเสธที่จะเสด็จไปยังโปแลนด์ และพระองค์ก็ไม่เคยเสด็จเยือนเครือจักรภพเลย ตลอดรัชสมัยของพระเจ้าออกัสตัส[1]

ตลอดรัชสมัยของพระองค์ พระเจ้าออกัสตัสเสด็จไป-มาระหว่างโปแลนด์และซัคเซิน ในระหว่างที่พระราชสวามีทรงประทับในซัคเซิน พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอมักจะปรากฏพระองค์เคียงข้างพระราชสวามี เช่น การประพาสซัคเซินของพระราชสวามีหลังการขึ้นครองราชบัลลังก์โปแลนด์ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1699 และทรงปรากฏพระองค์เคียงข้างกันในโรงละครในกรุงเดรสเดิน แต่ก็บางครั้งเช่นกันที่ทั้งสองพระองค์ไม่ได้พบกันเป็นเวลานาน เช่นช่วงปี ค.ศ. 1700–ค.ศ. 1703 และ ค.ศ. 1714–ค.ศ. 1717 ซึ่งพระเจ้าออกัสตัสทรงใช้เวลาอยู่ในโปแลนด์ อันเนื่องมาจากทรงติดพันการรบใน มหาสงครามเหนือ แต่อย่างไรก็ตามพระเจ้าออกัสตัสจะเสด็จมาเยี่ยมพระองค์เป็นประจำทุกปีที่พรีคเซน ระหว่างทางที่จะเสด็จไปเดรสเดิน

พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอ ทรงแยกกันอยู่กับพระราชสวามี เสด็จไปประทับ ณ ปราสาทฮาร์เทนเฟรด ในทอร์เกา ตลอดถดูหนาวและปราสาทส่วนพระองค์ในพรีคเซน ตลอดถดูร้อน ซึ่งอยู่ใกล้ตำหนักของพระสัสสุและพระราชโอรส พระองค์เสด็จไปเยี่ยมทั้งสองพระองค์บ่อยครั้ง และบางครั้งก็เสด็จประพาสไปยังไบร็อยท์ และบางครั้งก็เสด็จไปที่เอมม์เพื่อทรงสปา เสด็จไปยังกรุงเดรสเดินในช่วงเทศกาลและคริสต์มาส พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอ ยังทรงมีบทบาทในราชสำนักเสมอๆ โดยจะทรงปรากฏพระองค์ในพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น การเสด็จเยือนซัคเซินของพระมหากษัตริย์เดนมารก์ ในปี ค.ศ. 1709 และพระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระราชโอรสในปี ค.ศ. 1719

หลังจากการที่ทรงแยกกันอยู่กับพระราชสวามี ทำให้พระองค์หันไปสนใจกิจกรรมทางการกุศลและวัฒนธรรมแทน ทรงสนใจและเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของเด็กกำพร้า และทรงอุปถัมภ์การศึกษาของพระประยูรญาติหลายพระองค์ เช่น ชาร์ล็อต คริสทีนแห่งบรันสวิก ผู้ซึ่งต่อมาได้อภิเษกสมรสกับ อเล็กเซย์ เพโทรวิช ซาเรวิชแห่งรัสเซีย พระราชโอรสใน จักรพรรดิปีเตอร์มหาราช โซฟี มักดาเลเนอ แห่งบรันเดินบวร์ค-คูล์มบาค ผู้ซึ่งต่อมาได้อภิเษกสมรสกับ มงกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก และโซฟี คาโรไลเนอแห่งบรันเดินบวร์ค-คูล์มบาค ผู้ซึ่งต่อมาได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายแห่งโอสไฟร์ลันด์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสนใจในการทำธุรกิจอีกด้วย ในปี ค.ศ. 1697 พระองค์ทรงซื้อกิจการโรงงานกระจกจากคอนสแตนติน ฟรีเมล พระองค์โปรดการเล่นไพ่และบิลเลียด ซึ่งก่อให้เกิดภาระหนี้สินเป็นจำนวนมากในปี ค.ศ. 1711 อีกทั้งยังทรงสร้างเรือนส้ม และในบั่นปลายพระชนม์ชีพทรงวางแผนที่จะสร้างคอนแวนต์โปรเตสแตนต์สำหรับสตรีชนชั้นสูง

พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอ และพระสัสสุ เจ้าหญิงอันนา โซฟีแห่งเดนมาร์ก ทรงได้รับความนิยมอย่างสูงในซัคเซิน ในฐานะสัญลักษณ์แห่งนิกายโปรแตสแตนท์และผู้ปกป้องแซกโซนีจากการครอบงำของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ด้วยเหตุนี้นักเทศน์โปรแตสแตนต์จึงมองภาพลักษณ์ของพระองค์ในฐานะคริสต์ชนโปรเตสแตนต์ผู้เศร้าโศก ผู้ถูกคุมขังอยู่ปราสาทของพระองค์เอง ซึ่งสะท้อนออกมาชัดเจนยิ่งขึ้นหลังจากที่พระราชโอรสเสด็จไปยังโปแลนด์และเข้ารีตในนิกายคาทอลิก[1]

พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอ สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ 55 ชันษา และมีพิธีฝังพระบรมศพในโบสถ์ประจำเขตที่พรีคเซนในวันที่ 6 กันยายน พระราชสวามีและพระราชโอรสไม่ได้เสด็จมาร่วมพิธี โยฮัน เซบัสทีอัน บัค ได้ประพันธ์คันตาตาเพื่อระลึกถึงพระองค์ ออกแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1727 ที่โบสถ์ประจำ มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช

พงศวลี แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 Clarissa Campbell Orr: Queenship in Europe 1660–1815: The Role of the Consort. Cambridge University Press (2004)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • Watanabe-O'Kelly, Helen. "Enlightenment, Emancipation, and the Queen Consort." Enlightenment and Emancipation. Ed. Susan Manning and Peter France. Lewisburg, Pa.: Bucknell UP, 2006. 119–25. Print.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ คริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอแห่งบรันเดินบวร์ค-ไบร็อยท์

  • Stichart, Franz Otto: Galerie der sächsischen Fürstinnen; biogr. Skizzen sämtlicher Ahnfrauen des kgl. Hauses Sachsen, Leipzig 1857
  • Blanckmeister, Franz: Kurfürstin Christiane Eberhardine von Sachsen: eine ev. Bekennerin, Barmen 1892
  • Meyer, Johannes: Frauengestalten und Frauenwalten im Hause Wettin, Bautzen 1912
  • Haake, Paul: Christiane Eberhardine und August der Starke: eine Ehetragödie, Dresden 1930
  • Lauckner, Martin: Eine alte Unterschrift von zarter Hand, in: Sächs. Heimat, Hamburg, Jg. 1981
  • Czok, Karl: August der Starke und Kursachsen, Leipzig 1987. Aufgeklärter Absolutismus und kirchlich-religiöse Toleranzpolitik bei August dem Starken, In: Sachsen und die Wettiner. Chancen und Realitäten (Sondernummer der Dresdner Hefte) ; Dresden 1990
  • Fellmann, Walter: Prinzessinnen. Glanz, Einsamkeit und Skandale am sächsischen Hof, Leipzig 1996
  • Böttcher, Hans-Joachim: Christiane Eberhardine Prinzessin von Brandenburg-Bayreuth, Kurfürstin von Sachsen und Königin von Polen, Gemahlin August des Starken, Dresden 2011.
ก่อนหน้า คริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอแห่งบรันเดินบวร์ค-ไบร็อยท์ ถัดไป
มารี เครซิเมียร์ หลุยส์ซ่า เดอ ลา กราซ เดอ อาร์เควลา    
สมเด็จพระราชินีแห่งโปแลนด์และแกรนด์ดัชเชสแห่งลิทัวเนีย
ครั้งที่หนึ่ง

(15 กันยายน ค.ศ. 1697 - ค.ศ. 1706)
  แคทเธอรีน โอปาลินสกา
แคทเธอรีน โอปาลินสกา    
สมเด็จพระราชินีแห่งโปแลนด์และแกรนด์ดัชเชสแห่งลิทัวเนีย
ครั้งที่สอง

(ค.ศ. 1709 - 4 กันยายน ค.ศ. 1727)
  แคทเธอรีน โอปาลินสกา