คทาแอสคลีเพียส

สัญลักษณ์ของการแพทย์และการรักษา
(เปลี่ยนทางจาก คทาอัสคลิปิอุส)

คทาแอสคลีเพียส (Rod of Asclepius) หรือไม้เท้าของแอสคลีเพียส เป็นคทาของเทพแอสคลีเพียส ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการแพทย์และการรักษาในตำนานเทพปกรณัมกรีก คทาแอสคลีเพียสใช้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการแพทย์และการรักษามาจนปัจจุบัน แต่ยังมีการใช้สับสนกันระหว่างคทาของแอสคลีเพียสและคทาของเฮอร์มีส ที่ชื่อว่า คาดูเซียส[1]

คทา หรือไม้เท้าของแอสคลีเพียสที่มีงูพันรอบ

ตามตำนานเทพปกรณัมกรีก แอสคลีเพียส ซึ่งมีสถานะครึ่งเทพครึ่งมนุษย์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งการแพทย์และการรักษา จะมีคทาประจำตัวอันหนึ่ง มีลักษณะเป็นแท่งและมักจะมีงูหนึ่งตัวพันเกลียวรอบคทาเป็นสัญลักษณ์ แต่ในบางครั้งอาจจะพบว่างูไม่ได้พันเกลียวรอบ แต่มักจะอยู่ในบริเวณใกล้เคียง

แอสคลีเพียส ร่ำเรียนวิชาการรักษามาจากไครอน ซึ่งเป็นเซนทอร์ที่ชุบเลี้ยงแอสคลีเพียสมาตั้งแต่ยังเป็นทารก จนได้กลายมาเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงของกรีก แอสคลีเพียสได้ใช้สัญลักษณ์คทาที่มีงูพันเกลียวรอบแทนการแพทย์และการรักษา

สมัยกรีกโบราณมีสถานที่ที่เป็นศาสนสถานสำหรับรักษาโรค (Healing temple) มีชื่อเรียกตามเทพแอสคลีเพียสว่า อัสคลิเปียน (Asclepioen) ในตำนานกรีกโบราณมีเหตุการณ์ที่กล่าวถึงแอสคลีเพียสที่สำคัญ คือเมื่อฮิปพอคราทีส บิดาแห่งการแพทย์แผนตะวันตกจะกล่าวคำสัตย์สาบาน (Hippocrates oath) ได้กล่าวการสาบานตนด้วยประโยคว่า "ข้าขอสาบานแด่อะพอลโลผู้เป็นแพทย์ แด่แอสคลีเพียส แด่ไฮเจียและพานาเซีย และแด่เหล่าเทพทั้งมวล" คำสัตย์สาบานของฮิปพอคราทีส ได้เป็นต้นแบบของปฏิญญาอันเป็นจริยธรรมของวิชาชีพแพทย์มาจนถึงปัจจุบันนี้[2]

รูปปั้นของแอสคลีเพียส ที่คทามีงูพันเกลียว

งูที่พันรอบคทาของแอสคลีเพียส ได้ถูกตีความว่าอย่างหลากหลาย มาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณที่มีการใช้สัญลักษณ์งูพันรอบคทาของแอสคลีเพียส

การลอกคราบของงู เป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูหรือการกำเนิดใหม่ หรือถูกตีความว่าเป็นเหมือนการรักษาของแพทย์ที่ต้องทำงานที่คาบเกี่ยวกันระหว่างความเป็นและความตาย ความคลุมเครือของงูยังแสดงถึงความขัดแย้งในปัจจุบันของการใช้ยา ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยถ้าใช้เหมาะสมและอาจจะให้โทษเมื่อใช้ไม่เหมาะสม ซึ่งไกล้เคียงกับคำในภาษากรีกว่า Pharmakon ที่หมายถึง ยา (medicine) หรือ ยาพิษ (poison)[3] หรือแม้กระทั่งพิษของงูที่ใช้ในการรักษา ที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ระวัง

ยังมีข้อถกเถียงกันอย่างแพร่หลายว่า สัญลักษณ์ที่แสดงถึงการแพทย์ที่เชื่อว่าเป็นคทาแอสคลีเพียสนั้น ความจริงแล้วเป็นพยาธิที่ชื่อว่า Dracunculus medinensis ซึ่งมักจะชอนไชตามผิวหนังของผู้ป่วยในสมัยโบราณ แพทย์จะรักษาโดยการกรีดผิวหนัง เมื่อพยาธิออกมานอกผิวหนังแพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่เป็นแท่งเพื่อพันตัวพยาธิออกมาจนหมด โดยลักษณะที่พยาธิพันบนแท่งนั้น เหมือนกันกับสัญลักษณ์งูพันเกลียวบนคทาของแอสคลีเพียส[4]

ปัจจุบันคทาแอสคลีเพียสถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งสัญลักษณ์ขององค์กรนานาชาติเกี่ยวกับการแพทย์ เช่น องค์การอนามัยโลก สมาคมแพทย์อเมริกัน สมาคมแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร สมาคมแพทย์ออสเตรเลีย[5]

ความสับสนระหว่างคทาของแอสคลีเพียส และคทาคาดูเซียส แก้

คทาคาดูเซียส เป็นสัญลักษณ์ที่ผิดและมักใช้สับสนกับคทาของแอสคลีเพียสซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกต้อง[6] เพื่อใช้แทนสัญลักษณ์ของการแพทย์ โดยถูกใช้อย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา และในหลาย ๆ ประเทศ คทาคาดูเซียส เป็นคทาของเฮอร์มีส เทพผู้แจ้งข่าวของเหล่าเทพเจ้ากรีก ซึ่งมีลักษณะเป็นคทามีปีก 2 ข้างและมีงูพันไขว้กัน คทาคาดูเซียส ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการค้า ความมั่งคั่ง การลักขโมย และบางครั้งทางการแพทย์ แทนคทาของแอสคลีเพียสที่เป็นคทาที่ไม่มีปีกและมีงูพันเกลียวเพียงตัวเดียว

 
ธงสัญลักษณ์ขององค์การอนามัยโลก

การใช้สับสนนี้พบตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 3 เมื่อนักจักษุวิทยาใช้ตรารูปคทาคาดูเซียสบนฉลากยาที่ใช้กับตา เหตุผลที่นำคทาคาดูเซียส มาใช้แทนการแพทย์เนื่องจากเห็นว่า เฮอร์มีสมีความเชื่อมโยงกับการเล่นแร่แปรธาตุ รวมถึงวิชาเคมีและการปรุงยา ซึ่งในภายหลังมีผู้ให้เหตุผลว่า การเล่นแร่แปรธาตุไม่มีความเกี่ยวพันกับการแพทย์

หลักฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งสัณนิษฐานว่าในศตวรรษที่ 18 หน่วยแพทย์ของกองทัพสหรัฐ ได้ใช้คทาคาดูเซียสแทนสัญลักษณ์ และได้ถูกถกเถียงอย่างแพร่หลายถึงความถูกต้อง แต่กองทัพได้ออกมากล่าวว่าสัญลักษณ์คทาคาดูเซียสที่ใช้ในหน่วยแพทย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ทางการแพทย์ แต่คทาแสดงถึงอำนาจ งูสองตัวแสดงถึงความรู้ ปีกแสดงถึงความขยัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับหน่วยแพทย์ของกองทัพ[7]

อย่างไรก็ตาม มีการใช้สัญลักษณ์คทาคาดูเซียส เป็นสัญลักษณ์ทางการแพทย์ และบางแห่งปรับเปลี่ยนจากคทาเป็นคบเพลิง แต่ยังคงความหมายเดิม เช่น สมาคมแพทย์แห่งอินเดีย สมาคมแพทย์แห่งมาเลเซีย และกระทรวงสาธารณสุขของไทย[8]

อ้างอิง แก้

  1. Medical Symbols in Practice: Myths vs Reality
  2. Farnell, Chapter 10, "The Cult of Asklepios" (pp. 234–279)
  3. Albert R. Jonsen, The New Medicine and the Old Ethics, Harvard University Press, 1990, p122-123
  4. https://www.doctor.or.th/clinic/detail/6957 สัญลักษณ์ทางการแพทย์
  5. https://stanglibrary.wordpress.com/2014/08/27/คทาคาดูซัส-สัญลักษณ์แห/ คทาคาดูซัส : สัญลักษณ์แห่งวิชาแพทย์
  6. Bohigian GM. The staff and serpent of Asclepius. Mo Med. 1997;94:210–11.
  7. Emerson, William K (1996). Encyclopedia of United States Army Insignia and Uniforms. University of Oklahoma Press. pp. 181–182. ISBN 0-585-19489-0.
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-18. สืบค้นเมื่อ 2018-10-08.