คดีระหว่างโรกับเวด

คดีระหว่างโรกับเวด (อังกฤษ: Roe v. Wade), 410 U.S. 113 (1973) เป็นคำวินิจฉัยหลักหมุดของศาลสูงสุดสหรัฐ โดยศาลฯ วินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐคุ้มครองเสรีภาพของหญิงมีครรภ์ในการเลือกทำแท้งได้โดยปราศจากข้อจำกัดของรัฐบาลเกินควร คำวินิจฉัยนี้ยกเลิกกฎหมายทำแท้งกลางและหลายรัฐของสหรัฐ[1][2] คดีโรนี้เป็นชนวนให้เกิดการถกเถียงเรื่องการทำแท้งที่กำลังดำเนินอยู่ในสหรัฐว่าการทำแท้งควรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือควรมีขอบเขตเพียงใด ผู้ใดควรตัดสินใจว่าการทำแท้งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และบทบาทของทัศนะทางศีลธรรมและศาสนาในวงการเมืองควรเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการถกเถียงว่าศาลสูงสุดควรใช้วิธีการใดในการชี้ขาดตัดสินรัฐธรรมนูญ

คดีระหว่างโรกับเวด
Roe v. Wade
ตราศาลสูงสุดสหรัฐ
สาระแห่งคดี
คำร้อง ขอให้วินิจฉัยว่า กฎหมายทำแท้งทางอาญาของรัฐเท็กซัสซึ่งห้ามการทำหรือพยายามทำแท้งเว้นแต่มีคำแนะนำทางการแพทย์เพื่อช่วยชีวิตของมารดา ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
คู่ความ
ผู้ร้อง เจน โร กับพวก
ผู้ถูกร้อง เฮนรี เวด อัยการเขตเทศมณฑลดัลลัส
ศาล
ศาล ศาลสูงสุดสหรัฐ
ตุลาการ ประธาน: Warren E. Burger
ตุลาการสมทบ:
  • William O. Douglas
  • William J. Brennan Jr.
  • Potter Stewart
  • Byron White
  • Thurgood Marshall
  • Harry Blackmun
  • Lewis F. Powell Jr.
  • William Rehnquist
วินิจฉัย
" วรรควิถีทางที่ถูกต้องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐครั้งที่ 14 กำหนด "สิทธิภาวะเฉพาะส่วนตัว" ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐาน อันคุ้มครองเสรีภาพของหญิงมีครรภ์ในการเลือกว่าจะทำแท้งหรือไม่ สิทธินี้ไม่เด็ดขาด และต้องรักษาสมดุลกับผลประโยชน์ของรัฐบาลในการคุ้มครองสุขภาพของสตรีและคุ้มครองชีวิตของทารกในครรภ์ กฎหมายทำแท้งทางอาญาของรัฐซึ่งยกเว้นเฉพาะการช่วยชีวิตของมารดานั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ "
ลงวันที่ 22 มกราคม 1973
กฎหมาย

  • การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐครั้งที่ 14
  • ประมวลกฎหมายอาญารัฐเท็กซัส มาตรา 1191–94, 1196
เว็บไซต์
410 U.S. 113
หมายเหตุ
ถูกพิพากษากลับในคดีระหว่างด็อบส์กับองค์การสุขภาพสตรีแจ็กสัน (2022)

คำวินิจฉัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคดีของนอร์มา แม็กคอร์วีย์ หรือรู้จักกันในนามแฝงทางกฎหมาย "เจน โร" ในปี 1969 เธอตั้งครรภ์บุตรคนที่ 3 แม็กคอร์วีย์ต้องการทำแท้งแต่อาศัยอยู่ในรัฐเท็กซัส ซึ่งกฎหมายระบุว่าการทำแท้งไม่ชอบด้วยกฎหมายเว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อช่วยชีวิตมารดา ทนายความของเธอ ซาราห์ เว็ดดิงตันและลินดา คอฟฟี ยื่นฟ้องคดีในนามของเธอในศาลกลางสหรัฐ ต่ออัยการเขตท้องถิ่น เฮนรี เวด โดยอ้างว่ากฎหมายทำแท้งของรัฐเท็กซัสไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ องค์คณะผู้พิพากษา 3 คนของศาลแขวงสหรัฐสำหรับแขวงเหนือของรัฐเท็กซัสไต่สวนคดีและวินิจฉัยให้โรชนะคดี จากนั้นรัฐเท็กซัสอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลสูงสุดสหรัฐ

ในเดือนมกราคม 1973 ศาลสูงสุดมีคำวินิจฉัย 7–2 ให้แม็กคอร์วีย์ชนะคดี โดยให้เหตุผลว่าวรรควิถีทางที่ถูกต้องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐครั้งที่ 14 กำหนด "สิทธิภาวะเฉพาะส่วนตัว" ซึ่งคุ้มครองสิทธิของหญิงมีครรภ์ในการเลือกว่าจะทำแท้งหรือไม่ แต่ศาลฯ ยังวินิจฉัยด้วยว่าสิทธินี้ไม่เด็ดขาด และต้องรักษาสมดุลกับผลประโยชน์ของรัฐบาลในการคุ้มครองสุขภาพสตรีและชีวิตของทารกในครรภ์[3][4] ศาลฯ ระงับการทดสอบรักษาสมดุลนี้โดยผูกข้อบังคับของรัฐต่าง ๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ไว้กับไตรมาสของการตั้งครรภ์ โดยในไตรมาสแรก รัฐบาลไม่อาจห้ามการทำแท้งได้โดยสิ้นเชิง ในไตรมาสที่สอง รัฐบาลอาจกำหนดข้อบังคับด้านสุขภาพที่สมเหตุสมผลได้ และระหว่างไตรมาสที่สาม รัฐอาจห้ามการทำแท้งได้โดยสิ้นเชิงตราบเท่าที่กฎหมายมีข้อยกเว้นสำหรับกรณีที่มีความจำเป็นในการช่วยชีวิตหรือสุขภาพของมารดา[4] ศาลฯ จำแนกสิทธิในการเลือกว่าจะทำแท้งหรือไม่เป็นสิทธิ "ขั้นพื้นฐาน" ซึ่งกำหนดให้ศาลต้องประเมินกฎหมายทำแท้งที่ถูกคัดค้านภายใต้มาตรฐาน "การพินิจอย่างเข้มงวด" (strict scrutiny) ซึ่งเป็นการทบทวนโดยศาลระดับสูงสุดในสหรัฐ[5]

คำวินิจฉัยของศาลฯ ในคดีโรถูกวิจารณ์ในแวดวงกฎหมายบางส่วน[6] และบ้างเรียกคำวินิจฉัยนี้ว่าเป็นตัวอย่างของการทำกิจกรรมการเมืองของตุลาการ (judicial activism)[7] ศาลสูงสุดกลับมาทบทวนและแก้ไขคำวินิจฉัยทางกฎหมายของคดีโรในคำวินิจฉัยปี 1992 ระหว่างเพลนด์เพเรนต์ฮูดกับเคซีย์[8] ในคดีเคซีย์ ศาลฯ ยืนยันคำวินิจฉัยว่าสิทธิสตรีในการเลือกทำแท้งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่ยกเลิกกรอบไตรมาสในคดีโรแล้วให้ใช้มาตรฐานที่อาศัยการมีชีวิตของทารกในครรภ์แทน และกลับมาตรฐานการพินิจอย่างเข้มงวดสำหรับทบทวนข้อจำกัดด้านการทำแท้ง[3][9]

ในปี 2022 มีความเห็นฝ่ายข้างมากฉบับร่างรั่วไหลออกมาในสื่อซึ่งส่อว่าศาลสูงสุดกำลังเตรียมกลับคำวินิจฉัยของคดีโรกับเคซีย์ในคดีระหว่างด็อบส์กับองค์การสุขภาพสตรีแจ็กสัน[10] จนวันที่ 24 มิถุนายน 2022 มีคำพิพากษาออกมากลับคดีโรกับคดีเคซีย์อย่างเป็นทางการโดยมีเสียงผู้พิพากษา 5–4[11]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Mears, William; Franken, Bob (January 22, 2003). "30 years after ruling, ambiguity, anxiety surround abortion debate". CNN. In all, the Roe and Doe rulings impacted laws in 46 states.
  2. Greenhouse 2005, p. 72
  3. 3.0 3.1 Nowak & Rotunda (2012), § 18.29(a)(i).
  4. 4.0 4.1 Chemerinsky (2019), § 10.3.3.1, p. 887.
  5. Nowak & Rotunda (2012), § 18.29(b)(i).
  6. Dworkin, Roger (1996). Limits: The Role of the Law in Bioethical Decision Making. Indiana University Press. pp. 28–36. ISBN 978-0253330758.
  7. Greenhouse 2005, pp. 135–36
  8. Chemerinsky (2019), § 10.3.3.1, pp. 892–95..
  9. Chemerinsky (2019), § 10.3.3.1, pp. 892–93.
  10. Gerstein, Josh; Ward, Alexander (May 2, 2022). "Exclusive: Supreme Court has voted to overturn abortion rights, draft opinion shows". Politico. สืบค้นเมื่อ 2022-05-03.
  11. Breuninger, Dan Mangan,Kevin (June 24, 2022). "Supreme Court overturns Roe v. Wade, ending 50 years of federal abortion rights". CNBC.