การสูญขี้ผึ้ง (อังกฤษ: lost-wax casting) เป็นการหล่อโลหะโดยอาศัยแม่พิมพ์ที่เป็นวัตถุต้นแบบ หุ้มด้วยขี้ผึ้ง (หรือทำวัตถุต้นแบบด้วยขี้ผึ้งถ้าต้องการวัตถุเนื้อต้น) ปิดทับด้วยวัตถุแข็งเช่นปูนหรือเซรามิกด้านนอก นำไปเผาสำรอกขี้ผึ้งออก ก่อนหล่อโลหะลงไป ครั้นโลหะแข็งตัวช่างจะทุบทำลายแม่พิมพ์ด้านนอกและแม่พิมพ์ด้านใน (ถ้ามี) ออกให้ได้ชิ้นงานตามที่ต้องการ ในงานศิลปกรรมนั้น วัตถุต้นแบบนั้นโดยมากมักใช้วัสดุที่เปราะทำลายง่ายด้วยแรงสะเทือน อาทิ ดินเหนียวผสมมูลวัว ส่วนในทางอุตสาหกรรมมักจะทำแม่แบบด้วยขี้ผึ้งเป็นเนื้อเดียว นอกเหนือจากขี้ผึ้งแล้ว ช่างอาจจะใช้ไขวัว เรซิน น้ำมันดิน ผ้า กระดาษ หรือวัสดุอื่นที่ขึ้นรูปง่ายและสำรอกออกได้ง่ายด้วยความร้อน บางคนจึงเรียกการสูญขี้ผึ้งว่า การหล่อแบบลงทุน (investment casting) ปัจจุบันการสูญขี้ผึ้งยังพอมีใช้ในโรงงานบ้างแต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าการหล่อแม่พิมพ์ทราย (sand casting)[1][2][3] การสูญขี้ผึ้งนั้นนิยมใช้ในการหล่อพระพุทธรูปหรือเทวรูป โดยใช้ดินเหนียมผสมมูลวัวปั้นหุ่น หุ้มขึ้ผึ้ง ตอกด้วยหลักยึดเรียกว่าทอยก่อนพอกด้วยดินเหนียวผสมทราย มีลวดรัดไว้อีกชั้นหนึ่ง ครั้นจะเทโลหะช่างจะเผาแม่พิมพ์ให้ขี้ผึ้งไหลออกหมด อุดรูรั่ว ก่อนเทโลหะลงไป[4][5]

กระบวนการ แก้

ในการสูญขี้ผึ้งนั้น มีกระบวนการที่แตกต่างกันระหว่างช่างไทยและช่างตะวันตกบ้าง ช่างไทยซึ่งคุ้นกับการหล่อพระพุทธรูป จะใช้วิธีปั้นหุ่นด้วยดินผสมมูลวัวและทราย หุ้มด้วยขึ้ผึ้งตามด้วยดินชั้นนอก หุ้มลวด ตอกหลักโลหะ (เรียกว่าทอย) เพื่อให้พิมพ์ขั้นในไม่คลอน จากนั้นนำไปเผาเพื่อให้ขี้ผึ้งไหลออก ครั้นขี้ผึ้งไหลออกหมดแล้ว อุดรูรั่ว ก่อนเทโลหะลงไปทางรูที่เรียกว่าปากจอบ ครั้นโลหะเย็นตัวดีแล้วจึงทำลายพิมพ์ทั้งชั้นในและชั้นนอกออก[5] วิธีการนี้เรียกว่าวิธีโดยตรง

ส่วนช่างตะวันตก นิยมใช้วิธีทำต้นแบบด้วยขี้ผึ้งเนื้อตัน หรือใช้ต้นแบบที่เป็นวัตถุเดิมไปทำแบบปูนพลาสเตอร์ก่อน ครั้นได้แบบปูนแล้วจึงเทขี้ผึ้งลงไป ได้เป็นแม่แบบหลายอัน เสร็จแล้วจึงต่อแม่แบบนั้นด้วยแท่งขี้ผึ้งทรงกระบอกเพื่อช่วยให้โลหะไหลผ่านได้หลังจากขี้ผึ้งถูกสำรอก หุ้มด้วยทรายผสมเซรามิกจนหนาและแข็งแรง นำไปอบสำรอกขี้ผึ้งออก ก่อนนำไปเผาให้ร้อนและแข็งตัวดี นำโลหะหลอมเหลวเทลงปากจอบให้่ล้นบ้าง เวลาโลหะเย็นตัวจะหดลงไป เมื่อชิ้นส่วนแข็งตัวดีแล้วจึงทำลายแม่พิมพ์ นำไปตกแต่งตามกรรมวิธีต่อไป[6]

อ้างอิง แก้

  1. Agrawal, D. P. (2000). Ancient Metal Technology and Archaeology of South Asia. A Pan-Asian Perspective. New Delhi: Aryan Books International. ISBN 978-81-7305-177-7.
  2. McCreight, Tim (1991). The Complete Metalsmith: An Illustrated Handbook. Davis Publications. ISBN 978-0-87192-240-3.
  3. Maryon, Herbert (1954). Metalwork and Enamelling, a Practical Treatise on Gold and Silversmiths' Work and Their Allied Crafts (3rd ed.). Chapman & Hall.
  4. ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย, การ (2540). ช่างสิบหมู่.
  5. 5.0 5.1 "หัตถกรรมการหล่อพระพุทธรูปของชาวบ้านช่างหล่อ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-22. สืบค้นเมื่อ 2018-01-04.
  6. Lost Wax Casting Process. youtube.com.