การกระทำอันเป็นโจรสลัดในโซมาเลีย
การกระทำอันเป็นโจรสลัดนอกชายฝั่งโซมาเลีย เป็นภัยคุกคามต่อการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศนับตั้งแต่ระยะที่สองของสงครามกลางเมืองโซมาเลียในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21[1] นับตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา องค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง รวมทั้งองค์การทางทะเลระหว่างประเทศและโครงการอาหารโลก ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับพฤติการณ์ดังกล่าวที่เฟื่องฟูขึ้น[2] การกระทำอันเป็นโจรสลัดดังกล่าวส่งผลให้ค่าขนส่งแพงขึ้นและกีดขวางการขนส่งสินค้าอาหารให้ความช่วยเหลือ กว่าร้อยละเก้าสิบของสินค้าโครงการอาหารโลกขนส่งทางทะเล และเรือที่แล่นเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันต้องได้รับการคุ้มกันจากทหาร[3]
รายงานของสหประชาชาติและแหล่งข่าวหลายแห่งได้เสนอว่าการกระทำอันเป็นโจรสลัดนอกชายฝั่งโซมาเลียบางส่วนเกิดขึ้นจากการประมงผิดกฎหมายและการที่เรือต่างประเทศทิ้งขยะของเสียในน่านน้ำโซมาเลีย ซึ่งตามข้อมูลของชาวประมงโซมาเลีย ได้จำกัดความสามารถของคนท้องถิ่นในการประกอบอาชีพอย่างรุนแรง ซึ่งได้บีบบังคับให้หลายคนต้องผันตนเองไปเป็นโจรสลัดแทน[4][5] โจรสลัดบางคนเสนอแนะว่า การขาดหน่วยยามฝั่งแห่งชาติที่มีประสิทธิภาพหลังจากสงครามกลางเมืองโซมาเลียปะทุขึ้น และการสลายตัวในเวลาต่อมาของกองทัพ ทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นโจรสลัดเพื่อป้องกันน่านน้ำของตน ความเชื่อดังกล่าวยังได้สะท้อนออกมาในชื่อที่ใช้โดยเครือข่ายโจรสลัดบางแห่ง อย่างเช่น อาสาสมัครยามฝั่งแห่งชาติ (NVCG) [5] กรมเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร ได้เปิดเผยรายงานใน พ.ศ. 2548 ซึ่งระบุว่า ระหว่าง พ.ศ. 2546–47 โซมาเลียสูญเสียรายได้กว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการประมงปลาทูน่าและกุ้งผิดกฎหมายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศ โดยเรือลากอวนจับปลาของต่างประเทศ[4]
กองกำลังผสม 150 กองกำลังผสมอันประกอบขึ้นจากความร่วมมือของหลายชาติ เข้ามามีบทบาทในการรับมือกับการกระทำอันเป็นโจรสลัดโดยการสร้างพื้นที่ช่องทางเดินเรือ (MSPA) ในอ่าวเอเดน[6] ภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นอันเป็นสาเหตุมาจากการกระทำอันเป็นโจรสลัดยังได้ก่อให้เกิดความกังวลแก่อินเดีย เนื่องจากการขนส่งทางเรือส่วนใหญ่จำเป็นต้องผ่านอ่าวเอเดน กองทัพเรืออินเดียจึงตอบสนองต่อความกังวลดังกล่าวด้วยการส่งเรือรบเข้ามาในภูมิภาคเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2551[7][8] ในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน รัสเซียได้ประกาศว่าตนปรารถนาจะเข้าร่วมความพยายามระหว่างประเทศในการต่อสู้กับการกระทำอันเป็นโจรสลัดนี้ด้วย[9] บางรายงานได้กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางคนในโซมาเลียมีส่วนรู้เห็นกับโจรสลัดด้วย[10] อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลของเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มูน ทั้งคณะบริหารในอดีตและปัจจุบันของภูมิภาคปกครองตนเองพุนต์แลนด์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโซมาเลียกลับมีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่าในการต่อสู้กับการกระทำอันเป็นโจรสลัด[10] มาตรการของคณะบริหารดังกล่าวรวมไปถึงการโจมตีสถานที่หลบภัยของโจรสลัดบนฝั่ง[11] และการก่อสร้างฐานทัพเรือใหม่ขึ้นร่วมมือกับซาราเซ็นอินเตอร์เนชันแนล ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยที่มีฐานอยู่ในสหราชอาณาจักร[12] ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2553 ความพยายามที่จะควบคุมที่เพิ่มมากขึ้นของทางการรัฐบาลโซมาเลียและเรือจากกองทัพเรือนานาประเทศได้ร่วมมือกันทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งสามารถลดจำนวนการโจมตีเรือของโจรสลัดในอ่าวเอเดนลงจาก 86 ลำ ใน พ.ศ. 2552 ลงเหลือ 33 ลำ บีบบังคับให้โจรสลัดต้องหันความสนใจไปยังพื้นที่อื่น อย่างเช่น แอ่งโซมาเลียและมหาสมุทรอินเดียที่กว้างใหญ่กว่า[11][13][14] ตามข้อมูลของอีโคเทอร์รา เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 สมาชิกลูกเรือมากกว่า 500 คน และเรือต่างประเทศอย่างน้อย 31 ลำ ยังคงอยู่ในมือของโจรสลัดโซมาเลีย[15] จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2554 โจรสลัดจัดการยึดเรือได้เพียงสี่ลำนอกชายฝั่งโซมาเลีย และยึดเรือได้ 18 ลำ น้อยกว่าที่เคยยึดได้ปีละ 26 ลำในช่วงสองปีที่ผ่านมา พวกโจรสลัดยังพยายามโจมตีเรืออื่นไม่สำเร็จอีก 52 ลำ น้อยกว่าปีก่อน 16 ลำ[16] จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555 โจรสลัดยึดเรือใหญ่อยู่ประมาณ 5 ลำ มีตัวประกันที่ประเมินไว้ 136 คน[17] ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ไม่มีเรือลำใหญ่หรือตัวประกันที่ยังคงเป็นเชลยของโจรสลัด โดยก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปี 2560 มีรายงานของเหตุโจรสลัดจำนวนหนึ่ง เนื่องจากกองทัพเรือของชาติในเอเชียและยุโรป เริ่มให้ความช่วยเหลือเรือที่ถูกจับเป็นตัวประกันมากขึ้นรวมถึงเรือบรรทุกขนาดใหญ่ OS35[18]
อ้างอิง
แก้- ↑ Sanayo. "Piracy in Somali Waters: Rising attacks impede delivery of humanitarian assistance". UN Chronicle. United Nations Department of Public Information, Outreach Division.
- ↑ "Piracy in waters off the coast of Somalia". International Maritime Organization. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-04. สืบค้นเมื่อ 2011-01-02.
- ↑ Wadhams, Nick (10 October 2008). "Pirates in Standoff Threaten Food Aid, Global Shipping". National Geographic. National Geographic News. สืบค้นเมื่อ 2008-10-11.
- ↑ 4.0 4.1 Dagne, Ted (2009), Somalia: Conditions and Prospects for Lasting Peace
- ↑ 5.0 5.1 Axe, David (2009), Somalia Redux: a more hands off approach
- ↑ Commander, Combined Maritime Forces Public Affairs (2008-09-29). "Combined Task Force 150 Thwarts Criminal Activities". US Africa Command. สืบค้นเมื่อ 2008-11-17.
- ↑ "Indian navy showcases rising might". Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-18 – โดยทาง CNN.com/asia.
- ↑ "Chemical tanker hijacked off lawless Somalia". CNN. 20 November 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03.
- ↑ "Russia to fight piracy off Somalia coast". RIA Novosti. 2008-09-23. สืบค้นเมื่อ 2008-09-23.
- ↑ 10.0 10.1 Charbonneau, Louis (March 18, 2009). "UN cites reports of govt links to Somalia pirates". Reuters. สืบค้นเมื่อ 10 September 2010.
- ↑ 11.0 11.1 Pirate on US wanted list arrested in Somalia
- ↑ SOMALIA: Puntland to start construction of new Navy base
- ↑ World pirate attacks drop 18%
- ↑ "Somalia: Puntland forces arrest wanted pirates in Garowe". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-22. สืบค้นเมื่อ 2011-01-02.
- ↑ "Seychelles seamen seized by Somali pirates rescued". Agence France-Presse (www.afp.com). 2010-11-20. สืบค้นเมื่อ 2010-11-20.
- ↑ Somali pirates struggle against international crackdown
- ↑ European Union Naval Force Somalia (2012-12-03). "Pirated vessels" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-12-31.
- ↑ "Chinese Navy Hands Pirates Over to Somali Authorities". Maritime executive. 8 May 2017. สืบค้นเมื่อ 22 October 2018.