ถนนลาซาล

ถนนในกรุงเทพมหานคร

ถนนลาซาล เป็นถนนสายหนึ่งในพื้นที่เขตบางนา กรุงเทพมหานคร เป็นถนนที่เชื่อมต่อถนนสุขุมวิทกับถนนศรีนครินทร์

ถนนลาซาล

พ.ศ. 2506 ภาครัฐได้ก่อสร้างและเปิดใช้ ซอยสุขุมวิท 105 ซึ่งแยกจากถนนสุขุมวิทที่เปิดใช้เมื่อ พ.ศ. 2479 ถนนลาซาลเป็นถนนที่ขนานไปกับคลองบางนา โดยถนนตัดผ่ากลางนาของชาวมอญคลองบางนาหลายครอบครัว สภาพเดิมเป็นถนนรถไถ รัฐมาขอที่ริมถนนจากชาวนาครอบครัวละ 8 เมตร โดยเจ้าของที่ขุดดินทำถนนกันเอง จ้างคนขุดดินไร่ละ 700 บาท จากนั้นกลายเป็นถนนดิน พอถึงโรงเรียนลาซาลจึงเป็นถนนลูกรัง[1]

ชื่อซอยลาซาลมาจาก "โรงเรียนลาซาล" เปิดทำการสอนเเมื่อ พ.ศ. 2506 สภาพเดิมล้อมรอบด้วยทุ่งนา นอกจากนั้นภายในซอยยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนบางกอกพัฒนา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2500 แต่เดิมอยู่บนถนนเพลินจิต ต่อมาย้ายมาที่ช่องนนทรี และย้ายมายังถนนลาซาลราว พ.ศ. 2532[2] รวมถึงมีโรงพยาบาลศิครินทร์สร้างเมื่อ พ.ศ. 2522 บนพื้นที่ 11 ไร่ จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ถนนลาซาลเริ่มเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่มีประชากรอยู่ค่อนข้างหนาแน่น โดยเริ่มจากการเป็นย่านที่อยู่อาศัยแนวราบ อาคารพาณิชย์ แหล่งรวมหอพักพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมที่ราคาไม่แพง อพาร์ทเมนต์คนทำงานให้เช่าระดับกลาง ไปจนถึงเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์[3]

บริเวณใกล้ปลายถนนลาซาลทั้งสองฝั่งมีสถานีแบริ่งของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท และสถานีศรีลาซาลของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ซึ่งทั้งสองเป็นสถานีสุดท้ายในเขตกรุงเทพมหานคร ก่อนเข้าสู่เขตจังหวัดสมุทรปราการ

อ้างอิง แก้

  1. โศจิลักษณ์ กมลศักดาวิกุล. "กระบวนการสร้างและสืบทอดอัตลักษณ์ความเป็นมอญในพื้นที่เมือง : กรณีศึกษาชุมชนมอญคลองบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร" (PDF). กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.
  2. "ตามเสด็จเจ้าชายแอนดรูว์ ดู "บางกอกพัฒนา" สอนแบบผู้ดีอังกฤษ". ผู้จัดการออนไลน์.
  3. "Start You Life in Lasalle ลาซาล ทำเลที่อยู่ใหม่สำหรับคนวัยตั้งตัว สะดวกสบาย น่าอยู่ ดูดีขึ้นทุกปี และมีศักยภาพเติบโตทางธุรกิจน่าสนใจ". PROPHOLIC.