คลองบางนา

คลองในกรุงเทพมหานคร

คลองบางนา เป็นคลองธรรมชาติในเขตบางนา กรุงเทพมหานคร และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยเริ่มจากการแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใกล้ ๆ กับกรมสรรพาวุธทหารเรือ ไหลผ่านถนนทางรถไฟสายเก่า ถนนสุขุมวิท ไหลผ่านถนนลาซาล (สุขุมวิท 105) จากนั้นไหลตรงเข้าไปทางทิศตะวันออก ก่อนจะเป็นเส้นแบ่งระหว่างเขตบางนากับอำเภอบางพลี หลังจากนั้นไหลผ่านถนนศรีนครินทร์ ก่อนจะไหลไปทางทิศเหนือ และไหลผ่านถนนบางนา-ตราด และไปสิ้นสุดที่จุดตัดระหว่างคลองเคล็ดและคลองสาหร่าย คลองบางนาในปัจจุบันนี้มีความกว้างต่ำสุดที่ 2 เมตร และมีความกว้างสูงสุดประมาณ 12–14 เมตร คลองมีความยาว 8 กิโลเมตร[1]

คลองบางนา

ประวัติ แก้

มอญคลองบางนา แก้

คลองบางนาเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวมอญที่ย้ายถิ่นฐานมาจากนครเขื่อนขันธ์ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยชาวมอญนครเขื่อนขันธ์ย้ายเข้าเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อชาวมอญมากขึ้น พื้นที่ในการทำการเกษตรไม่เพียงพอ ชาวมอญกว่า 100 ครอบครัว ทั้งที่เป็นแม่ทัพนายกองและประชาชนที่เป็นเครือญาติกัน ได้ขยับขยายพื้นที่ทำกินมายังปลายคลองบางนา (ไม่ตั้งถิ่นฐานต้นคลองเพราะมีคนไทยจับจองพื้นที่แล้ว) ได้สร้างบ้านพักชั่วคราวและเถียงนาขึ้น ใช้เวลาทำมาหากินในพื้นที่คลองบางนา 6 เดือนคือประมาณพฤษภาคมถึงสิงหาคม

ในหนังสือ ไม่มีนาที่บางนา (พิมพ์ พ.ศ. 2561) เล่าเรื่องราวคุณยายที่เกิดเมื่อ พ.ศ. 2411 ว่าคลองบางนามีปลาน้ำจืดเช่น ปลาตะเพียน ปลาหมอ ปลากระดี่ ปลาสลิด ปลากา ปลาหมู ปลากราย ปลาดุก ปลาช่อง กุ้งต่าง ๆ ดินริมคลองริมตลิ่งจะเป็นที่อยู่อาศัยของปูแสม ปูก้ามดาบ ปลากระจังและปลาเขือ พบหอยหลายชนิด เช่น หอยลาย หอยกาบ หอยแครง หอยขม คลองบางนายังเป็นแหล่งอาหารประเภทผักต่าง ๆ เช่น ผักบุ้งสายบัว ผักกะเฉด ผักแว่น ผักหนาม ผักกูด

ชาวมอญพระประแดงได้ย้ายถิ่นฐานมาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรบริเวณคลองบางนาราว พ.ศ. 2508 เนื่องจากการขยายตัวทางอุตสาหกรรมในอำเภอพระประแดง รวมถึงยังเกิดอาชีพใหม่คือพ่อค้าคนกลาง เกิดโรงสีข้าว 2 แห่งบริเวณคลองบางนา จากข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2560 ครอบครัวชาวมอญริมคลองบางนามีอยู่ 57 ครอบครัว จาก 100 ครอบครัวที่ย้ายมา[2]

อ้างอิง แก้

  1. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 3 (อักษร น-ม) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร : เดอะ เบสท์ เพรส แอนด์ ครีเอชั่น, 2560. (แก้ไขปรับปรุงข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2563)
  2. โศจิลักษณ์ กมลศักดาวิกุล. "กระบวนการสร้างและสืบทอดอัตลักษณ์ความเป็นมอญในพื้นที่เมือง : กรณีศึกษาชุมชนมอญคลองบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร" (PDF). กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.