เซ็พเพอลีน

(เปลี่ยนทางจาก เซพเพลิน)

เซ็พเพอลีน (เยอรมัน: Zeppelin) เป็นเรือเหาะมีโครง (rigid airship) ประเภทหนึ่ง บุกเบิกโดยกราฟแฟร์ดีนันท์ ฟ็อน เซ็พเพอลีน วิศวกรชาวเยอรมัน ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แนวคิดของเซ็พเพอลีนร่างไว้ครั้งแรกใน ค.ศ. 1874 และสรุปรายละเอียดใน ค.ศ. 1893 จดสิทธิบัตรในเยอรมนีใน ค.ศ. 1895 และในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1899 หลังแบบเซ็พเพอลีนประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น คำว่า เซ็พเพอลีน ก็ได้ถูกใช้หมายถึงเรือเหาะมีโครงทุกประเภทอย่างไม่เป็นทางการ เซ็พเพอลีนบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1910 โดยบริษัทเรือเดินอากาศเยอรมัน (DELAG) สายการบินเชิงพาณิชย์แรกของโลก จนถึงกลาง ค.ศ. 1914 DELAG รับส่งผู้โดยสารกว่า 34,000 คน ในกว่า 1,500 เที่ยวบิน หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุ กองทัพเยอรมันใช้เซ็พเพอลีนอย่างกว้างขวางเพื่อทิ้งระเบิดและสอดแนม

เมื่อเยอรมนีพ่ายสงครามใน ค.ศ. 1918 ธุรกิจเรือเหาะหยุดชะงักชั่วคราว แต่ภายใต้การนำของฮูโก เอ็คเคินเนอร์ ผู้สืบเชื้อสายของกราฟเซ็พเพอลีนผู้ล่วงลับ เซ็พเพอลีนพลเรือนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ใน ค.ศ. 1919 DELAG ตั้งบริการรายวันที่มีกำหนดการระหว่างกรุงเบอร์ลิน มิวนิก และฟรีดริชชาเฟน สมัยรุ่งเรืองที่สุด คือ ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1930 เมื่อเรือเหาะ เอ็ลเซ็ท 127 เซ็พเพอลีน และเอ็ลเซ็ท 129 ฮินเดินบวร์ค ดำเนินการเที่ยวบินข้ามแอตแลนติกจากเยอรมนีสู่ทวีปอเมริกาเหนือและบราซิล ยอดอลังการศิลป์ของตึกเอ็มไพร์สเตทเดิมได้รับออกแบบให้ใช้เป็นเสาผูกยึดสำหรับเซ็พเพอลีนและเรือเหาะอื่นเพื่อจอด แต่ปฏิบัติไม่ได้จริง วินาศภัยฮินเดินบวร์คใน ค.ศ. 1937 ร่วมกับปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจ เร่งให้เซ็พเพอลีนถึงคราวสิ้นสุด