อุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า
อุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า ตั้งอยู่ที่ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเชียงราย อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่อิงฝั่งขวาและป่าแม่งาว ฟ้าทอง มีพื้นที่ประมาณ 58,069 ไร่ ใน 4 อำเภอ ของ จ.เชียงราย ได้แก่ อ.เชียงของ เวียงแก่น ขุนตาล และเทิง โดยกรมป่าไม้ได้มีคำสั่งจัดตั้งเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 พื้นที่วนอุทยานเป็นยอดเขาสูงในเทือกเขาดอยผาหม่น ติดชายแดนไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว[2]
อุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า | |
---|---|
ที่ตั้ง | จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย |
พิกัด | 19°51′0″N 100°27′15″E / 19.85000°N 100.45417°E |
พื้นที่ | 92.91 ตารางกิโลเมตร (58,070 ไร่) |
ความสูงสูงสุด | 1,442 |
จัดตั้ง | 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 |
ผู้เยี่ยมชม | 289,755[1] (2562) |
หน่วยราชการ | สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช |
ประวัติ
แก้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ดำเนินการสำรวจ อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ (Latitude) ที่ 19 องศา 39 ลิปดา 58 ฟิลิปดา ถึง 20 องศา 9 ลิปดา 36 ฟิลิปดา และเส้นแวง (Longitude) ที่ 100 องศา 11 ลิปดา 32 ฟิลิปดา ถึง 100 องศา 34 ลิปดา 43 ฟิลิปดา มีเนื้อที่รวมประมาณ 58,069 ไร่ หรือประมาณ 92.91 ตารางกิโลเมตร คลอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ คืออำเภอเทิง อำเภอเวียงแก่น อำเภอขุนตาล และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ทิศเหนือ จด สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทิศตะวันออก จด สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทิศใต้ จด อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ทิศตะวันตก จด อำเภอเทิง อำเภอขุนตาล และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
ภูชี้ฟ้า ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงทางตะวันออกของจังหวัดเชียงราย อยู่ระหว่างรอยตะเข็บชายแดนไทย–ลาว ลักษณะเป็นหน้าผาสูงเป็นแนวยาวไปตามแนวชายแดน บริเวณปลายสุดของหน้าผามีลักษณะแหลมคล้ายกับนิ้วมือชี้ยื่นออกไปในอากาศ จึงเป็นที่มาของชื่อ "ภูชี้ฟ้า" จุดที่สูงสุดของภูชี้ฟ้าอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,200 ถึง 1,628 เมตร เบื้องล่างของหน้าผาเป็นแอ่งหุบเขา เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเชียงตอง แขวงไชยบุรี ประเทศลาว
ลักษณะภูมิประเทศ
แก้ป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 3 ป่าประกอบไปด้วยพื้นที่ราบสลับกับเนินเขาเตี้ยๆ ตลอดไปจนถึงภูเขาสูงชัน พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาสลับกันไป มีพื้นที่ราบเล็กน้อยอยู่ระหว่างภูเขาสูง ซึ่งจะทอดตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีความลาดชันประมาณ 30-70 องศามีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 400-1,700 เมตร เป็นต้นกำเนิดลำน้ำหลายสาย ได้แก่ ลำน้ำหงาว ลำห้วยลึก ลำห้วยชมพู ลำห้วยป่าแดง ลำห้วยคุ ลำห้วยหาน ซึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำสายสำคัญ 2 สาย แม่น้ำหงาวไหลลงไปทางทิศใต้ลงสู่แม่น้ำอิงที่อำเภอเทิงแล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขงบริเวณบ้านปากอิง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ส่วนแม่น้ำงาวจะไหลไปทางทิศเหนือไหลลงสู่แม่น้ำโขงบริเวณบ้านห้วยลึก อำเภอเวียงแก่นจังหวัดเชียงราย
ลักษณะภูมิอากาศ
แก้เป็นแบบมรสุมเขตร้อน โดยได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงฤดูฝน และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาว โดยอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดต่อปีประมาณ 7.5 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดต่อปีประมาณ 37.7 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี ประมาณ 1,985 มิลลิเมตร มี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือน มีนาคม – เมษายน ฤดูฝน ระหว่างเดือน พฤษภาคม – ตุลาคม และฤดูหนาว ระหว่างเดือน พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์
พืชพรรณและสัตว์ป่า
แก้สภาพป่า
แก้จากการสำรวจในพื้นที่ สอบถามราษฎรพื้นที่ และภาพถ่ายทางดาวเทียมพบว่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 3 ป่า ประกอบด้วยป่าชนิดต่าง ๆ ดังนี้
- ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) จะพบได้ทั่วไปตามที่ราบ เนินเขา ริมลำห้วย เชิงเขา และมักขึ้นปะปนกับป่าเต็งรัง และป่าดงดิบเป็นแห่งๆ โดยเป็นสังคมป่าผลัดใบที่มีพันธุไม้หลายชนิดผสมกัน มีไม้ยืนต้นและไผ่ขึ้นผสมกระจายตามพื้นที่มีพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆขึ้นปะปนกัน ได้แก่ สัก ประดู่ แดง ซ้อ เสลา สมอพิเภก มะแฟน กระพี้เขาควาย ส้มกบ เป็นต้น ไม้ไผ่ที่พบส่วนใหญ่เป็นไผ่ซาง (Dendrocalamus strictus) ไผ่บงเล็ก (Bambusa natans) ไผ่หก (Dendrocalamus hamiltonii) และไผ่ไร่ (Gigantochloa albociliata) เป็นต้น
- ป่าเต็งรัง (Deciduous Diperocarp Forest) พบว่าอยู่กระจัดกระจายทั่วพื้นที่ส่วนใหญ่จะขึ้นสลับกับป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้เด่นที่พบ ได้แก่ เต็ง รัง ยางเหียง ยางพลวง พะยอม กะบก เป็นต้น พันธุ์ไม้พื้นล่างที่พบได้แก่ ไผ่ไร่ กระชาย กระเจียว เป็น
- ป่าดงดิบ (Evergreen Forest) จะพบตามบริเวณริมห้วย ลำน้ำ หุบเขา ภูเขาสูง ที่มีความหนาแน่นของต้นไม้มาก และมักจะพบปะปนสลับกับป่าเบญจพรรณ ประกอบไปด้วยป่าดงดิบชื้นและป่าดงดิบเขา พันธุ์ไม้เด่นที่พบ ได้แก่ จำปีป่า จำปาป่า มะม่วงป่า ทะโล้ มะหาด ยมหอม หว้า สารภี นางพญาเสือโคร่ง ยาง ตะเคียน ก่อแพะ ก่อเดือย ก่อน้ำ ก่อข้าว ก่อแป้น อบเชย กำยาน เป็นต้น พันธุ์ไม้พื้นล่างที่พบ ได้แก่ หวาย เฟิร์นชนิดต่างๆ มอส เป็นต้น
- ป่าสนเขา (Pine Forest) เป็นป่าที่พบเห็นอยู่ตามสันเขาและภูเขาสูง โดยจะขึ้นอยู่กระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ไม่พบเห็นเป็นป่าผืนใหญ่ มักจะขึ้นปะปนกับป่าดิบเขา และป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้เด่นที่พบ ได้แก่ สนสามใบ เป็นต้น
สัตว์ป่า
แก้จากการสำรวจและสอบถามราษฎรในพื้นที่พบว่าสัตว์ป่าที่มีอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ดำเนินการสำรวจจำแนกออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
- กลุ่มนก กลุ่มที่พบเห็นได้ง่ายที่สุด ได้แก่นกกระปูด (Centropus spp.) นกกางเขนดง (Copsychus malabaricus) นกปรอดหัวโขน (Psynonotus blanfordi) ไก่ป่า (Gallus gallus) นกกะราง (Garrulax spp.) นกแอ่นบ้าน (Apus affinis) กลุ่มนกเหยี่ยว นกแสก นกเอี้ยง นกกางเขน นกขมิ้น นกขุนทอง นกแซงแซว นกเค้าแมว ไก่ป่า และกลุ่มนกกระจิบอีกหลายชนิด
- กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Wild mammals) ได้แก่เก้ง หมูป่า อีเห็น นิ่มหรือลิ่น กระต่ายป่า (Lepus pegvensis) อ้นเล็ก (Cannomys badius) กระจ้อน (Menetes berdmorei) กระแตธรรมดา (Tupaiaglis) และกระรอก (Calloseiurus spp.) กระจง หมูป่า หมูหริ่ง บ่าง เม่นพังพร อีเห็น ชะมด เป็นต้น
- กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน (Leptiles) ได้แก่เต่าปูลู งูชนิดต่างๆ ตุ๊กแก จิ้งจก จิ้งเหลน ตะกวด ลิ่น ตุ๊กแกป่า แย้ ตะขาบ กิ้งกือ กิ้งก่าบิน แมลงป่อง เป็นต้น
- สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก (Amphibians) ได้แก่ คางคกบ้าน กบห้วย ซาราเมนเดอร์ จิงโจ้น้ำ อึ่งอ่าง เขียด ปาด เป็นต้น