หำยนต์

(เปลี่ยนทางจาก หัมยนต์)

หำยนต์ หรือ หัมยนต์ เป็นงานไม้แกะสลักติดอยู่เหนือประตูห้องนอนของเรือนล้านนา มีสองรูปทรง คือ สี่เหลี่ยมผืนผ้า และแบบขอบล่างโค้งเว้า ขอบบนตรง[1] ในส่วนของขนาดนั้นจะขึ้นอยู่กับความยาวเท้าของเจ้าของบ้าน หากประตูมีขนาดเล็กจะใช้ความกว้างเป็น 3 เท่าของความยาวเท้า หากขนาดใหญ่จะใช้ 4 เท่า ตามคติล้านนาแล้วนั้น หำยนต์จะถูกสร้างขึ้นเมื่อขึ้นบ้านใหม่ และจะถูกทำลายเมื่อย้ายบ้าน ขายบ้าน หรือเมื่อบ้านเดิมมีหำยนต์ติดอยู่แล้วมีเจ้าของบ้านใหม่ย้ายเข้ามา[2][3]

หนึ่งในหำยนต์ที่ถูกจัดแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง

รากศัพท์ แก้

คำว่า หำยนต์ ถูกสันนิษฐานถึงที่มาไว้ 2 แบบด้วยกัน

  1. มาจากการผสมคำว่า "หำ" และ "ยนต์" ในภาษาล้านนา โดยคำว่า "หำ" แปลว่า "อัณฑะ" มีความหมายถึงสิ่งรวมพลังของบุรุษชน และ "ยนต์" มีรากศัพท์สันสกฤตว่า "ยันตร์" หมายถึง สิ่งศักดิ์สิทธิ์สําหรับปกป้อง ป้องกันรักษา และภัยอันตรายได้
  2. การรวมคำ "หมฺมิย" กับ "อนุต" เข้าด้วยกัน แปลว่า ส่วนยอดของปราสาทโล้น[2]

ความเชื่อ แก้

 
หำยนต์ขณะถูกติดไว้เหนือประตูเรือนคำเที่ยง

หำยนต์ ตามทัศนคติของล้านนา เป็นยันต์ศักดิ์สิทธิ์ที่จะป้องกัน และขับไล่ภยันตรายต่าง ๆ ให้แก่ผู้ที่หลับนอนภายในห้องนั้น โดยที่ใช้เท้าที่เชื่อว่าเป็นของต่ำวัดขนาดก็เพื่อข่มความไม่ดี สิ่งชั่วร้าย ผู้คนที่มีจิตอกุศล รวมถึงผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่ให้เข้ามาได้ เพราะถ้ายังบุกเข้าไปจะถือว่าเป็นการผิดผี และจำเป็นต้องทำการขอขมาลาโทษ ส่วนการทุบตีหำยนต์ เปรียบเสมือนกับการทำหมันโดยการทุบตีไปยังลูกอัณฑะของวัวและควายในสมัยก่อน ซึ่งทำให้หมดความศักดิ์สิทธิ์ ทำลายความขลัง มักจะทำก่อนรื้อถอน หรือขายเรือนเหล่านี้ ก่อนย้ายเข้ามาหรือรื้อถอนเรือน

พิธีการสร้าง แก้

  1. หำยนต์จะทําขึ้นพร้อมกับการสร้างบ้านใหม่ เจ้าของบ้านจะกําหนดให้ความกว้างของประตูและความยาวของแผ่นไม้นั้นเท่ากัน โดยใช้ความยาวของเท้าเป็นมาตรวัด เช่น “บุคคลที่เป็นนายช้าง ให้ทําประตูกว้าง 5 ช่วงเท้า คนที่เป็นนายม้า พ่อค้า และไพร่น้อย ให้ทําประตู กว้าง 3 ช่วงเท้ากับอีก 3 ช่วงหัวแม่มือ”
  2. แผ่นไม้ที่จะทําหำยนต์ ส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้สัก เพราะมีเนื้อแข็งปานกลาง ง่ายต่อการขึ้นรูป
  3. เมื่อหาแผ่นไม้ได้แล้ว ให้ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยการรดน้ำมนต์ลงบนไม้ ผู้กระทําคืออาจารย์ผู้มีวิชาหรือพระเถระผู้เฒ่า
  4. เมื่อเสร็จสิ้น ให้นำแผ่นไม้ไปผูกกับเสาเอกของบ้านเพื่อทําพิธี "ถอน"[3]
  5. หลังจากนั้น ช่างและเจ้าของบ้านจะร่วมกันกําหนดลวดลายที่จะแกะสลักลงบนหำยนต์ ลวดลายนั้นสามารถจำแนกออกเป็น 5 กลุ่ม
    1. ลายพันธุ์พฤกษา ลายพันธุ์ไม้ต่าง ๆ
    2. ลายตัวภาพ มักทำเป็นรูปเทพและสัตว์
    3. ลายธรรมชาติ
    4. ลายมงคล มักใช้ลวดลายมงคล 108 และลายมงคลในพุทธศาสนา
    5. ลายฝรั่ง ซึ่งเป็นลายที่ได้อิทธิพลมาจากลายทางตะวันตก
  6. การแกะสลักหำยนต์เริ่มต้นจากช่างแกะสลักจัดเตรียมขันตั้งไหว้ครู และบอกกล่าวแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงในระหว่างที่แกะสลักนั้นต้องท่องคาถา “อิติปิโส...” 108 จบ หรือท่องคาถา 5 พระองค์ “นะ โม พุท ธา ยะ” ตลอดระยะเวลาในการแกะหำยนต์ เพื่อเสริมสร้างสิริมงคล เมื่อเสร็จแล้วก็ประพรมน้ำส้มป่อย เพื่อชะล้างสิ่งไม่ดีออกไป
  7. พิธียกขันตั้งหลวง ในพิธีนั้นจะต้องมีเครื่องคารวะอันประกอบไปด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน หมาก พลู ผ้าขาวผ้าแดง สุรา และอาหารคาวหวานตามอัตรา และให้ปู่อาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธีอัญเชิญเทวดาอารักษ์ให้มาปกป้องบ้านเรือน
  8. เมื่อสร้างบ้านนั้นเสร็จแล้วจึงจะนําหำยนต์ไปติดไว้เหนือประตู ห้องนอนดังกล่าว[2]

อ้างอิง แก้

  1. วัชรางกูร, รอยย่นของโมงยาม โดย ยุวดี (2018-06-23). "หำยนต์...มนต์ฉลุไม้ในเรือนกาแล". story.pptvhd36.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-08-27. สืบค้นเมื่อ 2023-08-27.
  2. 2.0 2.1 2.2 เครือระยา, ฐาปนีย์ (20 เมษายน 2021). "หำยนต์ (หัมยนต์) เเผ่นไม้เเกะสลัก - สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่". art-culture.cmu.ac.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. 3.0 3.1 "รู้จัก หัมยนต์ (หำยนต์) งานศิลปะชื่อแปลกของล้านนา". ศิลปวัฒนธรรม. 19 กุมภาพันธ์ 2023. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)