สุวรรณ นภาพล มีชื่อจริงว่า สุวรรณ โสมบุญเสริม เป็นอดีตแชมป์มวยนักเรียนในรุ่นฟลายเวทหลายสมัย เป็นแชมป์มวยสากลสมัครเล่นเหรียญทองประเทศไทย และเป็นตัวแทนทีมชาติไทยเข้าร่วมในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2497 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ด้วย

สุวรรณ นภาพล เคยชกกับโผน กิ่งเพชรมาก่อน ในสมัยที่โผนยังไม่ได้เป็นแชมป์โลก โดยสามารถชกโผนนับ 8 ได้ในยกที่สอง และเมื่อครบ 6 ยก ก็ชนะคะแนนโผนไปแบบขาดลอย ที่เวทีราชดำเนิน ซึ่งเป็นการชกในกรุงเทพมหานครครั้งแรกของโผนด้วย

จากนั้นสุวรรณได้ไปอยู่ที่เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย โดยอยู่กับโปรโมเตอร์ โรเบิร์ต หลิม สุวรรณขึ้นชกที่เกาะปีนังผลัดแพ้ - ชนะกับ เฟลิกซ์ บอย นักมวยเจ้าถิ่น 2 ครั้ง 2 ครา จึงเดินทางกลับมาประเทศไทยและมาเป็นคู่ซ้อมให้กับโผน กิ่งเพชร คู่ปรับเก่า ซึ่งขณะนั้นโผนได้เป็นแชมป์โลกแล้ว แต่ทั้งคู่ไม่เคยได้พิสูจน์ฝีมือกันอีกครั้งบนผืนสังเวียนผ้าใบอีกเลย

ประวัติการชกมวยจากคำบอกเล่าของสุวรรณ (นภาพล) โสมบุญเสริม (22/11/2008)

โดย ธนาวรรณ โสมบุญเสริม (บุตรี)

เริ่มต้นชกมวยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๖ จึงเลิกชกมวย หลังจากทำงานให้บริษัทไฟสโตน จำกัด เพราะกรรมการผู้จัดการขอร้องให้เลิกชก รวมสถิติการชกมวยทั้งมวยนักเรียน มวยสากลสมัครเล่น และมวยอาชีพ ทั้งหมด ๙๘ ครั้ง ผลรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขัน คือ ๗ แชมป์ ในการชกมวยทั้งหมดทั้งมวยไทยและมวยสากล โดยได้แชมป์มวยสากลครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ในการแข่งขันมวยมวยสากลนักเรียน เมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ ๔ ครั้งแรกในชีวิตชกมวยไทย, ระยะทางที่เดินทางไปโรงเรียนปทุมคงคาต้องเดินผ่านวัดไตรมิตร เผอิญที่งานวัดไตรมิตรมีการแข่งขันชกมวยด้วย จึงได้ไปเปรียบและขึ้นชกมวยไทย ได้รับชัยชนะ K.O. (Knock out) ในยกแรก ได้รับเงินรางวัลจากชัยชนะในครั้งนั้นจำนวน ๑๒ บาท วันรุ่งขึ้นจึงขึ้นไปชกอีกครั้ง โดยได้รับเงินรางวัลจากชัยชนะในครั้งนี้จำนวน ๑๕ บาท ทำให้ดีใจมาก

จนมีการแข่งขันมวยนักเรียน ขึ้นชกในรุ่น ๑๐๘ ปอนด์ รุ่นเปเปอร์เวท ผลการแข่งขันชนะเลิศ ปีรุ่งขึ้นขึ้นชกอีกก็ได้รับชัยชนะอีก และชนะจนถึงวันชิงก่อนถึงซ้อมเชิงมวยที่บ้านซึ่งมีป่าไผ่และต้นไทรใหญ่ ระหว่างซ้อมถูกงูเขียวกัด เมื่อไปฉีดยาที่เสาวภา ปรากฏว่าแพ้ยาทำให้ตัวและมือบวม หมอสนามจึงห้ามขึ้นชกทำให้เสียใจมาก จนอาว์ผลพระประแดงครูมวยต้องพามาปลอบใจให้ปีหน้าแก้ตัวใหม่ ในปีนั้น เจริญ แดงเกษมจากโรงเรียนวัดสุทธิได้ไป ปี ๒๔๙๕ ขึ้นชกอีกและได้ชิงกับเจริญ แดงเกษม ผลที่ได้รับชนะเป็นปีที่ ๒ หลังจากนั้นไปชกที่สมุทรสงคราม มหาชัย ธนบุรี ชกมวยไทยทำให้มีเงินมาใช้จ่าย เข้าเรียนอยู่โรงเรียนช่างฝีมือกรมช่างอากาศทหารอากาศ ขึ้นชกมวยให้และได้แชมป์ถึง ๓ ปี และได้เสื้อสามารถถึง ๓ ตัว และปี ๒๔๙๗ ชนะมวยสากลสมัครเล่นทำให้ได้ไปแข่งขันในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่กรุงมนิลลา ประเทศฟิลิปปินส์

กลับมาเริ่มชกมวยอาชีพที่เวทีมวยราชดำเนิน ชนะครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๔ ก็ได้ขึ้นชกกับโผน กิ่งเพชร ในวันจันทร์ไปทำงานหัวหน้าจอม กุลละวนิชบอกให้ขึ้นชกกับโผน กิ่งเพชรในวันพฤหัสบดี ยกแรกต่อยโผนลงไปนับแปด ยก ๒ ปลายยกต่อยโผนลงไปนับอีกระฆังช่วยไว้ ยก ๓ ยก ๔ ต้องยอมปิดให้โผนชกเพราะหมดแรง จนถึงยก ๖ ได้ชกโผนลงไปนับอีก และได้ชัยชนะกลับลงมา รวมชกได้แชมป์ ๗ แชมป์ ได้รับเสื้อสามารถ ๔ เสื้อ คือ ได้จากกองทัพอากาศ ๓ เสื้อ และ ๑ เสื้อจากกรมพลศึกษา เมื่อครั้งไปชกเอเชียนเกมส์ ปี พ.ศ. ๒๔๙๗

ผลจากการชกมวย เหมือนได้เดินทางไปเที่ยวจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศที่ผ่านมาที่สมุทรสงคราม ไปชกหลายครั้ง นครราชสีมา นครสวรรค์ หลังใกล้เลิกชกมวยเพื่อนชวนไปเที่ยว ไปพบกับปทุมคงคารุ่นพี่ ซึ่งเป็นนายทหารบกอยู่ที่ค่ายจีรประวัติ ทั้งที่ไม่ได้ซ้อมไปเลย ตอนนั้นโผนอยู่รองอันดับ ๑ ใกล้จะชิงแชมป์โลก กับเปเลต การชกในยกที่ ๒ ต่อยขวาตรงเข้าปลายคางของโผนลงไปนอน ตอนนั้น คนเงียบทั้งสนาม กรรมการจึงให้เลิก วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ประโคมข่าว โผนถูกเผาเครื่อง

เคยไปชนะที่นครพนม ๒ คืนซ้อน จันทบุรีก็เคยชนะยกหนึ่ง ๒ คืนซ้อน มหาชัยก็เคยไปชนะยก ๑ ชลบุรีก็ไปชนะแทบทุกปีในงานประจำจังหวัด รวมทั้งที่จังหวัดระยอง ปราจีนบุรี ที่อรัญประเทศก็เคยไปชกชนะพีระ วีระชัย ยกแรก บ้านโป่งก็ไปชนะยกหนึ่ง

ต่างประเทศก็ไปได้แชมป์ที่สิงคโปร์ มาเลเซีย เขมร ฟิลิปปินส์ ชก ๒ ครั้ง จำได้ว่าสมัยที่แม่มีชีวิตอยู่ ชกชนะทุกครั้งทั้งหมด ๖๕ ครั้ง กระทั่งที่เสียแม่ไปจึงมีแพ้บ้าง – ชนะบ้าง ในชีวิตที่ผ่านมาเคยไปชกมวยไทยที่ประเทศลาว ชนะ K.O. ยกแรก และได้รับการว่าจ้างให้เป็นผู้ฝึกสอนมวยที่เวียงจันทน์อยู่ ๒ ปี และเคยเป็นผู้ฝึกสอนมวยสากลให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย อยู่ ๓ ปี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ – ๒๕๓๓ ทำให้นักกีฬามวยสากลสมัครเล่นของทีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เหรียญรางวัลทั้ง ๓ ปี ทั้งที่ ๑๘ ปีที่ผ่านมา จุฬาฯ ไม่เคยได้รับเหรียญรางวัลจากการแข่งขันกีฬาประเภทนี้เลยจากอธิการบดีของจุฬาฯ เล่าให้ฟัง โดยมาได้เหรียญทองในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นเจ้าภาพ โดยในวันชิงได้บอกเทคนิคการชกให้กับนักกีฬา โดยบอกให้นักกีฬามวยชกเพียง ๓ หมัด คือ แยบ ๒ หมัด และปล่อยหมัดขวาตรง นักกีฬามวยได้ทำตามเทคนิคที่บอกและได้รับชัยชนะ T.K.O. นักกีฬามวยถึงลงมากราบเท้าเพราะชนะตามคำที่บอก นักกีฬาผู้นั้นคือ สุรวุฒิ สุตตรา เมื่อกีฬามหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ สิ้นสุดลง จึงได้บอกทางอธิการบดีขอหยุดการสอน เพราะบ้านอยู่ไกลเหลือเกิน เดินทางไปกลับใช้เวลามาก ปัจจุบัน อายุ ๗๖ ปี พักอาศัยกับภรรยา และบุตรสาว 2 คน ที่บ้านลาดพร้าว 101 บางกะปิ กรุงเทพฯ


ชีวิตจากการเริ่มต้นเป็นนักมวย

แก้

พ่อเกิดเมื่อวันที่ 31 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2476 จากคุณปู่ชื่อ แช่ม (แสวง โสมบุญเสริม) กับคุณย่าทองดี โสมบุญเสริม ที่บ้านเลขที่ 16 ตรอกสวนหลวง 1 ตำบลวงใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร มีพี่น้องทั้งหมด 11 คนพ่อเป็นคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด นับตั้งแต่

  • คนที่ 1 พี่พุทธ (กรุณา โสมบุญเสริม) หญิง เสียชีวิตแล้ว
  • คนที่ 2 พี่ชายชื่อเที่ยง (ณรงค์ โสมบุญเสริม) เสียชีวิตแล้ว
  • คนที่ 3 พี่บุญมาก หญิง เสียชีวิตแล้ว
  • คนที่ 4 พี่ชู (สนั่น โสมบุญเสริม) ชาย เสียชีวิตแล้ว
  • พ่อเป็นคนที่ 5 เล็ก (สุวรรณ โสมบุญเสริม)
  • คนที่ 6 เฮียง (สมสุข) หญิง เสียชีวิตแล้ว
  • คนที่ 7 แอ๊ว (ยุพา) หญิง เสียชีวิตแล้ว
  • คนที่ 8 แป๊ว (สวัสดี โสมบุญเสริม)
  • คนที่ 9 เปี๊ยก (ศรีสวัสดิ์ โสมบุญเสริม)
  • คนที่ 10 เกิด (ยุพิน) หญิง เสียชีวิตแล้ว
  • คนที่ 11 นครัตน์ (ชาย) เสียชีวิตแล้ว

เป็นผู้ชาย 6 คน หญิง 5 ครอบครัวก็อยู่ด้วยกันด้วยความอบอุ่น ถึงแม้จะมีพี่น้องจำนวนถึง 11 คน แต่คุณปู่และคุณย่าไม่เคยปล่อยให้ได้รับความอดอยาก
พ่อเกิดวันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2476 เป็นลูกชายคนที่ 3 ในจำนวน ลูกผู้ชายทั้งหมด 6 คน ตระกูลของพ่อมีพี่น้องมากพอสมควร และได้อยู่ด้วยความอบอุ่นตลอดมา ในครอบครัวเดียวกันไม่มีใครที่แยกจากกัน เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่สอง ปู่ต้องพาครอบครัวทั้งหมดหนีภัยสงคราม ไปอยู่ที่คลองบางพลับ อำเภอปากเกล็ด รู้สึกว่าจะเป็นจังหวัดปทุมธานี ตอนนั้นพ่ออายุคงจะราว 9 – 10 ขวบ ปู่ทำงานอยู่โรงงานยาสูบ พร้อมด้วยพี่พุทธ พี่สาวคนโต วันศุกร์ตอนเย็นปู่จะต้องไปเยี่ยมทุกครั้ง และกลับมาบ้านกรุงเทพฯเพื่อทำงานในเย็นวันอาทิตย์ พ่ออยู่กับยายที่ช่วยทำขนมขาย หาปลา หากุ้งไปตามเรื่อง ปลา กุ้งหาง่ายมาก กุ้งยาจะทำเป็นกุ้งเค็ม เอาเนื้อล้วนๆ ส่วนมันและแก้วกุ้งทำแยกตะหาก เพื่อให้ตาเอามาไว้กินที่กรุงเทพฯ แต่ยังไม่ทันเลิกก็ต้องอพยพกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ระหว่างขนของบรรทุกเรือ และเอาเรือพ่วงมากลางแม่น้ำเจ้าพระยายังเห็นเครื่องบินฝรั่งไล่ตามมายิงเครื่องบินญี่ปุ่นเลย มาอยู่กรุงเทพฯตอนนั้น เครื่องบินฝรั่งยังมาทิ้งระเบิดอยู่เป็นประจำ ปู่และพี่สาวได้ปลูกบ้านขึ้นอีกหลังอยู่ใกล้กัน สมัยเด็กๆ พ่อชอบหาปลา ช่วยยายขายของ เอาทุกอย่าง ขนมหาบก็เคยขาย ลูกโป่งก็ไปรับข้างบ้านเขาไปขายได้ค่าขนม แค่สิบเปอร์เซ็นต์ที่ขายได้ ได้วันละ 4-5 บาท เป็นค่าขนมไปโรงเรียน ตอนหลังคิดขายเองโดยยืมเงินทุนยายเพียง 15 บาท สมัยนั้นเมื่อโรงเรียนปิดเทอมหาซื้อลูกโป่งอเมริกันมาเป่าขายเอง ชั่วโรงเรียนปิดเทอมมีกำไรถึง 400 – 500 บาท การเรียนของพ่อไม่เคยเสีย สมัยก่อนตรุษจีนลูกโป่งสวรรค์ขายดีมาก ชั่ว 3 – 4 วันพ่อได้เปอร์เซ็นต์ 4-5 ร้อยบาท สมัยนั้นทองหนักหนึ่งบาทแค่สองร้อยกว่าเท่านั้น

ชีวิตจากการเริ่มต้นเป็นนักมวย ถ้าพูดถึงความเป็นนักมวยของพ่อคงน่าสนใจมาก เอาย่อๆก่อนพ่อชกมวย ตั้งแต่มวยนักเรียน มวยกองทัพ มวยสมัครเล่น รวมทั้งมวยอาชีพ เคยชนะเลิศมาถึง 7 ครั้ง ได้เสื้อสามารถถึง 4 เสื้อ พ่อนึกไม่ถึงเหมือนกันว่าในชีวิตพ่อจะเป็นนักมวยกับเขา เพราะตอนเด็กเล็กๆ ขึ้นชื่อว่าเป็นเด็กขี้แย คนหนึ่งจนปู่ตั้งฉายาว่า “นนทุกข์” หรือ “สังข์ทอง” ตอนโดนถ่วงน้ำ เพราะชอบร้องไห้ จะมีเรื่องกับใครถ้าไม่เจ็บตัวก่อนไม่อยากจะสู้ แต่ถ้าสู้แล้วไม่ชนะไม่ยอมเลิกเหมือนกัน

เหตุจูงใจถึงการชกมวย

แก้

แถวบ้านมีค่ายซ้อมมวยคือค่ายพระประแดงมีอาว์ผลพระประแดงฝึกซ้อมอยู่ พ่อชอบดูมาก ดูตั้งแต่ยังเด็กเสื้อผ้าไม่ได้นุ่ง อาว์ผลพระประแดงมีความเคารพนับถือกับปู่และรู้จักสนิทกับปู่จนปู่ให้พ่อเรียกว่าอาว์ ที่พ่อขึ้นชกครั้งแรกทั้งที่ยังไม่เคยฝึกซ้อมมวย เพียงแต่อยากได้สตางค์เท่านั้น สมัยที่พ่อเรียนอยู่โรงเรียนปทุมคงคา พ่อต้องเดินจากบ้านสวนหลวงไปโรงเรียนและกลับทุกวัน เห็นที่วัดไตรมิตรเขามีงานวัดและมีมวย เลยลองไปเปรียบขอชกได้คู่กับ “ราชัญ เจนณรงค์ไ เป็นนักมวยที่เคยชกเวทีราชดำเนินมา พ่อขึ้นชกทั้งที่ยังไม่เคยหัด เคยดูแต่เขาซ้อมมา พ่อชกชนะน๊อคยก 1 ได้เงินรางวัลมา 12 บาท ตอนนั้นอายุคงราว 14 – 15 ติดใจรุ่งขึ้นไปชกอีกต่อยกับ “ตี๋ ศิษย์ยอดฟ้า” เขาเป็นมวยที่เคยผ่านเวทีมาแล้วเช่นกัน พ่อชนะคะแนนได้เงินรางวัลมา 15 บาท หลังจากนั้นไม่กี่วันพ่อก็ไปชกกับ “อุดม สวนหลวง” ที่วัดพลับพลาชัย พ่อชนะ K.O. ยก 1 ได้เงิน 15 บาทเช่นกัน

หลังจากนั้นพ่อจึงได้สมัครเข้าฝึกซ้อมที่ค่ายศิษย์ผล หรือเจริญเมืองสมัยนี้ พ่อเริ่มหัดอย่างจริงจังในปีนั้นพ่อได้ขึ้นชกมวยนักเรียน พ่อจำได้ว่าปี 2493 พ่อก็ได้ชนะเลิศรุ่นเปเปอร์เวท เป็นนักมวยเหรียญทองของโรงเรียน สำหรับรายการชกมวยสากลของพ่อนั้น พ่อเคยได้ชิงชนะเลิศถึง 7 ครั้ง และก็ชนะทุกครั้ง คือชนะเลิศมวยนักเรียน 2 ปี ชนะเลิศมวยกองทัพอากาศ 3 ปีซ้อน ชกมวยชนะเลิศมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในปี 2497 ได้เป็นตัวแทนไปชกแข่งขัน เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 2 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ไปแพ้ตัวแชมป์เปี้ยนในรอบแรก เพราะผิดอากาศและเป็นหวัดอย่างรุนแรง
หลังจากนั้นพ่อขึ้นชกมวยอาชีพ ก็ชนะมาเรียบ จนได้อยู่อันดับรองอันดับหนึ่งของเวทีราชดำเนิน และรองอันดับ 3 ภาคตะวันออกไกล คู่ต่อสู้ที่เคยแพ้พ่อ โดยโดนพ่อต่อยนับแล้วนับอีก ครั้งหลังเขาได้เป็นแชมป์เปี้ยนโลกถึง 3 สมัย นั่นคือ “โผน กิ่งเพชร” เขาแพ้พ่อถึง 2 ครั้ง แม้ว่าโผนกำลังจะได้ไปชิงแชมป์ที่ญี่ปุ่นที่ได้ขึ้นชกกับพ่อที่นครสวรรค์ ยก 2 ถูกพ่อชกลงไปฟุบเลย ทั้งที่ตอนนั้นพ่อไม่ได้ซ้อมไปเลย

พ่อจำได้ว่าตลอดเวลาที่แม่ของพ่อยังมีชีวิตอยู่ พ่อชกมวยโดยที่ไม่เคยแพ้ใครเลยถึง 62 ครั้ง มีเสมอเพียง 2 ครั้งเท่านั้น หลังจากที่แม่เสีย พ่อเหมือนว่าหมดกำลังใจ ชกชนะบ้างแพ้บ้าง เมื่อรวบรวมถึงเมื่อพ่อเลิกชก พ่อชกมาทั้งหมด 98 ครั้ง จำได้ว่าแพ้เพียง 6 ครั้ง ในชีวิตไม่เคยถูกใครต่อยพ่อน๊อคได้ เพียงแต่พ่อยอมแพ้ไปและเดินลงเวที สิ่งที่พ่อภูมิใจมากที่สุดในชีวิตคือพ่อได้คลานไปกราบพระบาทในหลวงองค์นี้ เมื่อคราวกราบลาไปชกเอเชี่ยนเกมส์ ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ มวยอาชีพของพ่อ พ่อยังไปได้แชมป์เปี้ยน รุ่นฟลายเวทที่ประเทศสิงคโปร์ด้วย เมื่อปี พ.ศ. 2498 การชกมวยของพ่อ พ่อได้ไปถึง 7 ประเทศ สำหรับที่ประเทศฟิลิปปินส์ พ่อได้ไป 2 ครั้ง

สำหรับการที่พ่อมีความสนุกเกี่ยวแก่ที่ที่พ่อได้เป็นนักมวย ถึงแม้ความรู้สึกที่แท้จริงของพ่อกับการที่ชกมาถึง 98 ครั้งนี้ พ่อเป็นเพียงนักกีฬาสมัครเล่นเท่านั้น ถ้าพ่อหวังที่จะเป็นนักมวยอาชีพจริง การที่จะได้เป็นแชมป์เปี้ยนโลกไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นเลย ในชีวิตพ่อที่มีการฝึกซ้อมและมีความสมบูรณ์สุดมีอยู่เพียงแค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น คือ ก่อนที่จะไปชกเอเชี่ยนเกมส์ เมื่อปี 2497 แต่พอไปถูกฝนที่ฮ่องกงและผู้ที่คุมไปไม่มีความรู้เรื่องฝึกซ้อม ตอนที่ขึ้นชกจึงไม่สมบูรณ์ อีกครั้งนึงที่พ่อขึ้นชกชิงแชมป์ฟลายเวทที่สิงคโปร์ พ่อสมบูรณ์มากประมาณ 80% ทำให้ได้แชมป์มา ผลจากที่พ่อสนุกและความตั้งใจจริงกับการชกมวยนี่ พ่อเคยได้ชิงชนะเลิศถึง 7 ครั้ง และก็ได้ชัยชนะทั้ง 7 ครั้ง ทำให้พ่อได้เสื้อสามารถถึง 4 ตัว พ่อจึงคิดว่า “การเล่นกีฬาถ้าเล่นด้วยใจรักและจริงใจ ฝึกซ้อมให้ถูกวิธี ไม่เป็นการยากเลยที่จะได้รับชัยชนะในเกมกีฬาที่เราชอบ เมื่อเราได้ฝึกซ้อมดี การเจ็บตัวมีน้อยมาก และเป็นความสนุกจริงๆ”

ดึงข้อมูลจากเว็บต้นฉบับ[ลิงก์เสีย]

คอลัมน์สิงห์สังเวียนในอดีต

แก้

ที่มา หนังสือมวยลุมพินี พ.ศ. 2513

สุวรรณ นภาพล แชมป์ฟลายเวทสิงคโปร์
หมัดของเขาหนักทั้งซ้ายขวา ขนาดทำเอาโผน กิ่งเพชร ตีแปลงลงให้กรรมการนับ 9 มาแล้ว เคยชกมวยสมัครเล่นเป็นแชมป์ได้เสื้อสามารถถึง 4 ตัว เคยสร้างชื่อบนสังเวียนต่างแดนหลายแผ่นดิน แต่ชกมวยอาชีพกลับได้แต่ตำแหน่งรองแชมป์อันดับสูงเท่านั้น...

หากจะเอ่ยชื่อของ สุวรรณ โสมบุญเสริม ขึ้นมาแล้ว วงการมวยอาชีพอาจรู้จักกันน้อยเต็มที แต่วงการมวยสมัครเล่นเมื่อ 16 ปี ก่อน ใครๆ ก็ต้องรู้จักเขาดี เพราะสุวรรณคนนี้ได้ครองแชมป์รุ่นฟลายเวทในการแข่งขันหาตัวแทนของชาติไทยไปชกเอเชี่ยนเกมส์ ณ นครมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในปลายเมษายน 2497 ครั้งนั้น กรมพลศึกษา เลือกสรรนักชกระดับแชมป์ส่งไปเพียง 4 รุ่นเท่านั้น สุวรรณจึงเปรียบเสมือน “เพชรน้ำหนึ่ง” ของมวยสมัครเล่นเมืองไทยยุคนั้น

สุวรรณ ตอนนั้น อายุเพิ่งจะย่าง 20 ปี ถึงร่างกายจะผอมสูงบอบบาง แต่เชิงชกกำปั้นหนักทายาท เขาครองแชมป์มวยนักเรียนมา 2 ปี 2 รุ่น ปีแรก 2493 เป็นแชมป์แบนตั้มเวทตอนเรียนอยู่โรงเรียนปทุมคงคา ต่อมาย้ายไปอยู่โรงเรียนช่างอากาศบำรุงปี 2495 ได้เป็นแชมป์รุ่นฟลายเวท ส่วนปี 2494 ชวดโอกาสชกเพราะถูกงูเขียวกัดข้อมือบวม เมื่อใกล้วันชกเลยต้องถอนตัว เดิมทีสุวรรณเป็นเด็กเกิดที่สวนหลวง ใกล้สนามกีฬาแห่งชาติ บ้านอยู่ติดๆ กับค่ายมวยของผล พระประแดง เขาเรียกผลว่า “อาว์” มวยแต่เล็กๆ สุวรรณจึงมีโอกาสคลุกคลีอยู่ในค่ายซ้อมแห่งนั้นมาแต่หัวเท่ากำปั้นก็ว่าได้ ก่อนที่จะได้แชมป์มวยนักเรียนหนแรกชกที่วัดไตรมิตรได้รางวัลมา 12 บาท รุ่งขึ้นติดใจไปขอชกอีก เสมอกับตี้ ศิษย์ยอดฟ้า ได้รางวัล 15 บาท จากนั้นได้ใจดอดไปชกที่งานวัดตึกอีก ชนะมาแค่ยกแรก ได้อัฐใช้อีก 15 บาท ทั้ง 3 หนสุวรรณชกมวยไทยทั้งสิ้น เพราะมวยสากลมวยหรั่งงานวัดไม่นิยมกันหรอก...

สุวรรณชนะเลิศเป็นแชมป์มวยนักเรียนปีแรก ได้เหรียญทองเป็นบำเหน็จ เขาคงฝึกซ้อมชกทั้งมวยไทย มวยสากลอยู่ที่ค่ายของผล พระประแดง ข้างบ้านตลอดมา และหาโอกาสว่างๆ ไปชกเอาอัฐใช้ตามเวทีต่างจังหวัดเสมอ เท่าที่จำได้ไปชกที่มหาชัย เสมอราชัน เจนณรงค์, คว่ำโรมรัน ชอบชิงชัยยกแรก, ไปชกที่บ้านโป่งน็อคศิลาพร ดินปั้นยกแรก, น็อคพีระ วีระชัยที่อรัญญประเทศในยกแรก ชกมวยสากลที่วัดดวงแขหนหนึ่ง คว่ำสมศักดิ์ อ่องสุนทรยกแรก ไปชกที่จันทรบูรณ์ 2 คืน ซ้อน ค่ำเชาว์ เลือดระยองยกแรก แต่คืนหลังชนะใครจำไม่ได้เสียแล้ว

เขาไปชกมวยสมัครเล่นเอชี่ยนเกมส์ที่นครมนิลา แต่แพ้คะแนน นักชกเกาหลีจึงไม่ได้ตำแหน่งอะไรกลับมา จึงเข้าทำงานในกรมช่างอากาศบางซื่อ ตอนนี้หัดมวยสากลเพิ่มเติมกับจะเด็ด เลือดชนบท ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาอีกพักใหญ่ ขึ้นชกมวยของกองทัพอากาศชนะเลิศถึง 3 ปีซ้อน ทางกองทัพอากาศจึงสนับสนุนให้ขึ้นชกมวยอาชีพในปี 2498 ขึ้นชกมวยสากล 6 ยกในชื่อ สุวรรณ นภาพล ชนะคะแนนประทีป ส.ส. เป็นหนแรก แล้วชนะคะแนนเดชน้อยส.ส. พอดีค่ายกิ่งเพชรส่งโผนขึ้นทาบแบบไม่หวั่นเกรงศักดิ์ศรี สุวรรณแลกหมัดกับโผนอย่างลือลั่น ยกแรก เขาตะบันเอาโผนลงนับ 9 และยกสองก็อีกครั้งจึงเป็นฝ่ายชนะคะแนนไปเมื่อครบ 6 ยก...

หลังจากชนะคะแนนโผน กิ่งเพชรแล้ว สุวรรณคว่ำเจริญราชวัฎมวยดีอีกคนในยก 3 แต่พลาดท่าแพ้น๊อคกู้น้อย วิถีชัยยกสอง เพราะตอนนั้นกู้น้อยเก่งกาจเหลือเกิน ครองแชมป์ราชดำเนินหาตัวจับไม่มีเลย ขนาดข้ามรุ่นชกถึงเฟเธอร์เวทยังเคย แต่สุวรรณก็ยังได้ไปชกสิงคโปร์ ชิงตำแหน่งรุ่นฟลายเวทชนะคะแนน ชัว กิมเจียงอย่างพลิกล๊อควินาศสันตะโร สุวรรณหาคู่ชกยาก จึงต้องเรื้อรังเวทีไปหลายเดือน มาชกอีกครั้งพลาดท่าแพ้ พรพันธุลเกียรติหามลงมาอีก จึงต้องหากินแบบแอบชกมวยไทยตามต่างจังหวัดไปพลางๆ

เขาไปชกที่นครพนม ชนะมวยท้องถิ่น 2 คนซ้อน แล้วกลับมาชก ชัว กิมเล้ง พี่ชายกิมเจียงที่ลุมพินีชนะน๊อคในยก 2 แล้วคว่ำศุภศักดิ์สารคามยก 2 อีกคนที่เวทีเดียวกัน จากนั้นมีโอกาสร่วมทัมมวยกองทัพอากาศไปชกยังไต้หวัน – ฟิลิปปินส์ กลับมาไปชกที่พนมเปญ โดนมินธันกัมพุช มวยอำมหิตตะบันกลิ้งกลับมา พอดีต้องอำลาจากกองทัพอากาศ โยกย้ายตัวเองมาอยู่ค่าย ร.ส.พ. กับชาย ศิษย์ผล ที่รู้จักกันมาแต่เด็กๆ เที่ยวตระเวนชกไปถึงเวียงจันทร์กับสินชัย, เรืองชัยเทียมประสิทธิ์ และศิลปชัยนารายณ์มหาราช กลับมามือไม้บวม ต้องไปชกกับสมหวังบ้านบึงที่งานบ้านบึงอีก เลยโดนตุ๊ยหามลงมายก 3 แล้วไปชกมวยไทยกับสมอาจ เทียมกำแหงที่เชียงใหญ่ก็แพ้ คะแนนอีก แต่มากู้ชื่อได้ที่โคราช ชกมวยสากลตะบันแสงเพชร สุรพรพรหมแพ้ ที.เค.โอ. ยกแรกพลิกล๊อควินาสสันตะโรแล้วไปชกที่เกาะปีนังฟาดกับกะเร็งดำ เฟลิกซ์บอย 2 หน แพ้ยก 2 หนหนึ่ง อีกหนหนึ่งยกห้า!

จากนั้นไปเที่ยวนครสวรรค์ได้ชกโชว์กับโผน กิ่งเพชร ที่เวทีจรประวัติ ยกสอง สุวรรณตะบันเอาโผนล้มทั้งยืน ลุกขึ้นมาขาเป๋ กรรมการจึงต้องโมเมเลิกกลางคัน ซึ่งอาว์สังข์นำข่าวมาลงใน “บ๊อกซิ่ง” หวิดโดนนายห้าง ทองทศ อินทรทัตฟ้องร้องเอะอะมะเทิ่งกันยกใหญ่ ไปพักหนึ่ง สุวรรณเตลิดไปทำงานอยู่เวียงจันทร์ร่วม 2 ปี จึงกลับมาทำงานสนามม้าราชกรีฑา ตั้งค่ายมวยธัญญวัลย์ขึ้นกับเพื่อนๆ เขาขึ้นชกมวยสากลในสังกัดนี้อีก ที่ลุมพินี เจอกับส่องศักดิ์ ศ. บางคอแหลม ยกแรกตะบันส่องศักดิ์ ลงไปนับ 9 แล้ว แต่กลับหมดแรงวายไปเองในยกต่อมา สุวรรณจึงตัดสินใจเลิกมวยแขวนนวมอย่างเด็ดขาดตั้งแต่ครั้งนั้นมา

ขณะนี้สุวรรณอายุ 36 ปี มีเมียมีลูกคนหนึ่งแล้วทำงานอยู่บริษัทยางไฟร์สโตน์เป็นเจ้าถนนทุกเมื่อ เมื่อมาราว 7 ปีเศษแล้วเขาจำสถิติการชกของเขาได้ว่าชกมวยมาทั้งหมด 98 ครั้ง แพ้เพียง 11 ครั้ง เสมอ 2 ครั้งเท่านั้น นอกนั้นชนะหมด ไม่เคยโดนไล่ลงจากเวทีแม้แต่หนเดียว