สมบัติร่วมกันของมนุษยชาติ
มรดกร่วมกันของมนุษยชาติ (common heritage of mankind หรือ res communis humanitatos) เป็นหลักการที่ถูกเสนอขึ้นโดยผู้แทนของประเทศมอลตา (Malta) ประจำองค์การสหประชาชาติ ชื่ออาวิด ปาโด (Arvid Pardo) ในการประชุมกฎหมายทะเลเมื่อ ค.ศ. 1967เพื่อประกาศว่าพื้นมหาสมุทรเป็นมรดกร่วมกันของมวลมนุษยชาติ และต่อมาหลักการดังกล่าว ได้ถูกนำไปใช้ในกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายอวกาศ เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อมิให้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่อยู่ในการครอบครองของรัฐใดถูกรัฐใดรัฐหนึ่งหรือผู้ใดหรือกลุ่มใดที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีในการเข้าถึงทรัพยากรดังกล่าว นำทรัพยากรเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์หรือครอบครองในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมและกำกับดูแลผ่านองค์การระหว่างประเทศ เช่น International Seabed Authority เป็นต้น
ประวัติ
แก้สืบเนื่องจากการเสนอหลักการของศาสตราจารย์ อาวิด ปาโด ในวันที่ 17 ธันวาคม 1970 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์รับมติที่ 2749 ซึ่งมีชื่อว่า “ประกาศหลักการเกี่ยวกับพื้นทะเล และพื้นดินข้างล่างซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจของรัฐ”[1] (Declaration of Principles Governing the Sea – Bed and the Ocean Floor, and the Subsoil thereof, beyond the Limits of National Jurisdiction) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ประกาศหลักการ” (Declaration of Principles) ซึ่งเป็นไปตามหลักcommon heritage of mankind ที่เคยถูกเสนอไว้
จากนั้น หลักการดังกล่าวได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในสนธิสัญญาที่ใช้บังคับกิจกรรมของรัฐบนดวงจันทร์ ดวงดาว และวัตถุอวกาศอื่นๆ ค.ศ. 1979 โดยได้กำหนดหลักในการดำเนินกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของรัฐทั้งปวงโดยหลักความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และหลักการเป็นสมบัติร่วมกันของมนุษยชาติ มีใจความว่า “ดวงจันทร์และทรัพยากรธรรมชาติของดวงจันทร์ประกอบเป็นสมบัติส่วนรวมของมนุษยชาติ”
ต่อมาใน “การประชุมกฎหมายทะเล ครั้งที่ 3 ขององค์การสหประชาชาติ” (The Third United National Conference on the Law of the Sea หรือ UNCLOS III)เมื่อปี 1982 ได้รับรอง “อนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล” (Convention on the law of the Sea) อนุสัญญาดังกล่าวได้บัญญัติกฎหมายต่าง ๆ เกี่ยวกับกฎหมายทะเลขึ้นตลอดจนนำกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศมาบรรจุไว้ด้วย มาตรา 136 ของอนุสัญญานี้ได้บัญญัติรับหลัก common heritage of mankind ไว้ว่า “พื้นทะเลที่อยู่นอกเขตอำนาจรัฐ (พื้นทะเลหลวง) และทรัพยากรในบริเวณนั้นเป็นมรดกร่วมกันของมวลมนุษยชาติ” (The Area and its resources are the common heritage of mankind) โดยสำนวนบางตอนลอกความมาจาก สนธิสัญญาที่ใช้บังคับกิจกรรมของรัฐบนดวงจันทร์ ดวงดาว และวัตถุอวกาศอื่น ๆ ค.ศ. 1979 จากนั้น ได้ถูกนำไปใช้ในกฎหมายอื่นอีก ในลักษณะเดียวกัน
ความหมาย
แก้หลักเรื่องมรดกร่วมกันของมนุษยชาติหมายความว่า การเข้าไปครอบครองและแบ่งพื้นทะเลที่อยู่นอกเขตอำนาจรัฐนั้นกระทำไม่ได้ จะต้องมีกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศเกี่ยวกับกิจกรรมการสำรวจและแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนรวมนี้ จะต้องมีการแบ่งผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่แบ่งแยกตามสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ จะต้องมีเสรีภาพในการเข้าถึง, การใช้และการเดินเรือ การใช้พื้นทะเลต้องเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายในทางสันติเท่านั้น และจะต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศ[2] และความดังกล่าว ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในกฎหมายอื่นๆ
อ้างอิง
แก้- ↑ [จตุพร วงศ์ทองสรรค์ และคณะ. เอกสารประกอบคำบรรยายกระบวนวิชากฎหมายทะเล (LAW OF THE SEA) หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต ภาคพิเศษ.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ↑ อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของหลักการดังกล่าวดูจะใช้ได้ผลมากที่สุดในบริเวณพื้นที่ขั้วโลกใต้เท่านั้น ในขณะที่บริเวณอวกาศและพื้นทะเลลึกหลักการนี้เป็นเพียงลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏอยู่ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล และสนธิสัญญาอวกาศเท่านั้น อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากประวัติการเกิดขึ้นของแนวความคิดนี้พบว่าได้รับการคัดค้านเป็นอย่างมากจากประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกา ทำให้แนวคิดเรื่องนี้เมื่อนำมาปรับใช้ในทางปฏิบัติพบว่ายังคงห่างไกลจากแนวคิดพื้นฐานอยู่ไม่น้อย ซึ่งนับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมถึงการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศในส่วนที่ได้รับการคัดค้านจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งประเทศเหล่านี้ก็เป็นผู้บริจาครายใหญ่ต่อสหประชาชาติ รวมถึงมีที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอีกด้วย อำนาจ วงศ์บัณฑิต. หลัก Freedom of the Seas ขัดกับหลัก Common Heritage of Mankind หรือไม่ ]
- จตุรนต์ ถิระวัฒน์. กฎหมายอวกาศ หลักทั่วไปและปัญหาในทางปฏิบัติ. พิมพ์ครั้งที่ 1.: กรุงเทพฯ . โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จตุรนต์ ถิระวัฒน์. "กฎหมายระหว่างประเทศ "
- ถนอม เจริญลาภ. กฎหมายทะเลและเขตทางทะเลของประเทศไทย]
- อำนาจ วงศ์บัณฑิต.หลัก Freedom of the Seas ขัดกับหลัก Common Heritage of Mankind หรือไม่]
- อำนาจ วงศ์บัณฑิต.การทำเหมืองแร่ในทะเลหลวงกับกฎหมายระหว่างประเทศ]
- ปรีดิเทพ บุนนาค "มรดกร่วมกันของมนุษยชาติ หลักการและข้อจำกัดในทางปฏิบัติ" วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2542