สถานภาพทางสังคม
สถานภาพทางสังคม หมายถึง ตำแหน่งของบุคคลที่ดำรงอยู่ในสังคม มี 2 ประเภท คือ
สถานภาพโดยกำเนิด (Ascribed status) เป็นเรื่องของการที่บุคคลนั้นได้รับสถานภาพ มาโดยเงื่อนไขทางชีวภาพ นั่นคือ พอเกิดขึ้นมาในโลกก็ได้รับเลย ซึ่งพอแยกอธิบาย ดังต่อไปนี้
1. สถานภาพทางวงศาคณาญาติ (Kinship status) คือ บุคคลย่อมมีความผูกพันกับครอบครัว เช่น เป็นลูกของพ่อแม่ เป็นพี่ของน้อง เป็นต้น
2. สถานภาพทางเพศ (Sex status) คือ บุคคลเกิดมาเป็นเพศใด เป็นชายหรือหญิงบุคคลนั้นก็จะย่อมได้รับสถานภาพทางเพศซึ่งย่อมมีบทบาท(สิทธิหน้าที่)ที่ต่างกัน
3. สถานภาพทางอายุ (Age status) คือ บุคคลได้รับสถานภาพตามเกณฑ์อายุของตน เช่น กฎหมายไทยบัญญัติไว้ว่า ชายและหญิงจะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เพราะฉะนั้นสิทธิและหน้าที่ของบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว กับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะย่อมแตกต่างกัน
4. สถานภาพทางเชื้อชาติ (Race status) คือ บุคคลที่เกิดมาจากชาติใดก็มีสถานภาพตามบรรทัดฐานของเชื้อชาตินั้น ๆ เช่น เชื้อชาติไทยและเชื้อชาติจีน เป็นต้น
5. สถานภาพทางท้องถิ่น (Regional status) คือ บุคคลที่เกิดมาใน ถิ่นฐานใด เช่น คนที่เกิดทางภาคเหนือของไทยก็ได้รับสถานภาพเป็นคนเหนือ เกิดที่ภาคใต้ก็ ได้รับสถานภาพเป็นคนใต้ เป็นต้น
6. สถานภาพทางชนชั้น (Class status) บุคคลที่เกิดมาจากครอบครัวของชนชั้นสูง คือ มีฐานะดี ย่อมได้รับการศึกษาสูงอีกด้วย และได้รับสถานภาพเป็นชนชั้นสูง
สถานภาพที่ได้รับมาภายหลังการเกิด หรือ สถานภาพโดยการกระทำ (Achieved status) สถานภาพประเภทนี้เป็นสถานภาพที่ได้มาภายหลังอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความสำเร็จของการกระทำของตน ดังจะอธิบาย ดังต่อไปนี้
1. สถานภาพทางสมรส (Marital status) คือ บุคคลจะได้รับสถานภาพของความเป็นสามี – ภรรยาภายหลังที่ได้ทำการสมรสแล้ว
2. สถานภาพทางบิดามารดา (Parental status) บุคคลจะได้รับ สถานภาพของความเป็นบิดา – มารดา ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้น ๆ มีบุตร
3. สถานภาพทางการศึกษา (Educational status) บุคคลที่ได้รับ การศึกษาสูง ๆ เช่น ในชั้นอุดมศึกษา ย่อมได้รับสถานภาพทางการศึกษาตามวุฒิที่ตน ได้มา เช่น เป็นบัณฑิต เป็นมหาบัณฑิต หรือ ดุษฎีบัณฑิต
4. สถานภาพทางอาชีพ (Occupational status) สังคมประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้บุคคลได้มีโอกาสแข่งขันกันในด้านความสามารถเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ บุคคลย่อมได้รับสถานภาพตามประเภทอาชีพ เช่น ช่างฝีมือ ความเป็นหมอ
5. สถานภาพทางการเมือง (Political status) บุคคลที่สนใจและอยู่ในวงการเมือง ย่อมได้รับสถานภาพทางการเมือง เช่น เป็นสมาชิกของพรรค