รองอำมาตย์เอก หลวงโยนะการพิจิตร (ปันโหย่ อุปะโยคิน)

รองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตร (มองปันโย/อูปันโย/ปันโหย่ อุปะโยคิน /พะยาตะก่าปันโหย่) เป็นกรมการพิเศษในกองข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลพายัพ และเป็นพ่อค้าไม้ชาวพม่า/คนทำป่าไม้สัก ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังด้านสร้างและบูรณะวัดมากมายทั่วมณฑลพายัพเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว[1][2][3][4][5][6] จากคุณความดีที่สร้างสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ ทำวัดเจดีย์หลวงทำบุญทำทานมาอย่างต่อเนื่อง[4][5] ช่วยเหลือทางราชการโดยเฉพาะการปราบกบถเงี้ยวที่เมืองแพร่ใน พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงแต่งตั้งให้ มองปันโยเป็นหลวงโยนะการพิจิตรตำแหน่งกรมการในกองข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพายัพให้ช่วยข้าหลวงเทศาภิบาลผู้สำเร็จราชการมณฑลพายัพคิดอ่านราชการบ้านเมือง ทรงแต่งตั้งใน ร.ศ.125 (พ.ศ. 2449) ทรงพระราชทานครื่องราชอิสริยาภรณ์ มงกุฎสยาม ชั้นที่ 5 ชื่อวิจิตราภรณ์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ร.ศ.128 (พ.ศ. 2452) พระราชทานในงานฉลองขึ้นตำหนักใหม่ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้รับพระราชทานนามสกุล "อุปะโยคิน" จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเป็นลำดับที่ 3627 พระราชทานที่พระที่นั่งเวหาศจำรูญเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2459 ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลพายัพ ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์เยี่ยมหลวงโยฯ ถึงบ้านและพระราชทานหีบเพลิงเมื่อถึงแก่กรรม หม่องปันโหย่ จึงเป็นคนเชื้อสายพม่าคนแรกที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระมหากษัตริย์ไทยสามรัชกาลและได้รับการยอมรับจากเจ้าหลวงและเจ้านายฝ่ายเหนือ[1][2][3][4][7][8]

หลวงโยนะการพิจิตร (ปันโหย่)
รองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตร (มองปันโย/ปันโหย่) ต้นตระกูล อุปะโยคิน
กรมการพิเศษเมืองนครเชียงใหม่
ยศข้าราชการ : รองอำมาตย์เอก
กรมการในกองข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลพายัพ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด10 กรกฎาคม พ.ศ.2388 เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า
เสียชีวิต7 มกราคม พ.ศ. 2470 (อายุ 82 ปี)
ศาสนาพุทธ

ประวัติ แก้

รองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตร เดิมชื่อ หม่องปันโหย่/อูปันโย อุปะโยคิน มีชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่าหลวงโยฯ หรือพญาตะก่า (พะยาตะก่า) ปันโหย่ แต่ทางราชการไทยเรียกว่า มองปันโย มีอาชีพหลักเป็นพ่อค้าไม้สักชาวพม่าและไม่เคยมีอาชีพเป็นหมอนวดแต่อย่างใด เดินทางมาจากเมืองมะละแหม่งเพื่อเข้ามาทำไม้ในไทย ในขณะนั้นมะละแหม่งเป็นเมืองหลวงของ บริทิชเบอรม่าร์และป็นศูนย์กลางการค้าไม้สัก นอกจากนั้นยังเป็นคนในบังคับอังกฤษ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหลวง เจ้านายฝ่ายเหนือ ผู้สำเร็จราชการมณฑลพายัพ ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษ และคนพื้นเมือง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำคนในบังคับอังกฤษ/หัวหน้าคนในบังคับอังกฤษ (Headman) ด้วย คำว่า Headman มิได้หมายถึงหัวหน้าคนงานแต่ประการใด

 
บ้านหลวงโยนะการพิจิตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายในโรงแรมเพชรงาม ถนนช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่[2]
 
รูปดอกสัญลักษณ์สำคัญ ที่หน้าจั่วห้องพระ อยู่ทางด้านหลังของบ้าน ภายในโรงแรมเพชรงาม จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบัน[2]
 
 
ใบตราตั้ง และราชกิจจานุเบกษา แต่งตั้งมองปันโย เป็นหลวงโยนะการพิจิตร ตำแหน่งกรมการในกองข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพายัพ ถือศักดินา 1000[7]

ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำคนในบังคับอังกฤษจะต้องเป็นคนที่คนในบังคับอังกฤษส่วนมากในชุมชนนั้นให้การยอมรับและนับถือ โดยมีหน้าที่ช่วยดูแลความเป็นอยู่ของคนในบังคับอังกฤษในเชียงใหม่ เนื่องจาก มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย หลวงโยนะการพิจิตร จึงทำหน้าที่เปรียบเสมือนการเป็นคนกลางที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางของสยามเป็นไปอย่างราบรื่น[1][6][8]

มีเชื้อสายชนชั้นสูง ชาวปะกัน ทวดของ ชื่ออูบาเยาะเจ้าเมืองเมทิลา ประเทศพม่า บิดาชื่อ อูเย มารดาชื่อ ด่ออุ๊ ซึ่งเป็นผู้มีฐานะเพราะสร้างวัดกวินเจาง์ใต้ไว้ที่เมืองมะละแหม่งและหม่องปันโย ได้ไปบูรณะในภายหลัง มีพี่น้องสามคนคือ มะยี หม่องปันโหย่และ หม่องมิน เกิดที่บ้านที่ถนนไดวอควิ่น เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้นหกค่ำ ปีมะเส็ง จ.ศ. 1207 ตรงกับวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2388 อันเป็นเดือนเข้าพรรษา ซึ่งชาวพม่าจะนิยมนำดอกไม้นานาชนิดไปถวายพระ บิดามารดาจึงตั้งชื่อว่าปันโหย่ ๆ ในภาษาพม่าแปลว่าดอกไม้ จึงใช้ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์สำคัญแทนชื่อตัวเอง โดยมีตั้งแต่ดอกสี่กลีบ ห้ากลีบ หกกลีบ แปดกลีบและดอกไม้หลายกลีบ จะพบดอกสัญลักษณ์เหล่านี้และงูเล็กประดับในสิ่งก่อสร้างตามวัดวาอารามที่เคยไปสร้างหรือร่วมสร้าง ให้ลูกหลานใช้ตามรอย แม้ว่าทางวัดจะหลงลืมไปแล้วก็ตาม

สมรสกับหญิงไทยและตั้งหลักฐานที่บ้านที่ถนนเจริญประเทศ บ้านเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ในโรงแรมเพชรงาม ถนนเจริญประเทศ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ที่บ้านหลังนี้ในปัจจุบันยังคงมีดอกสัญลักษณ์สำคัญของหลวงโยฯ หลงเหลืออยู่ที่หน้าจั่วของห้องที่เคยเป็นห้องพระด้านหลังของบ้าน มีร่องรอยว่าเคยมีดอกสัญลักษณ์อีกสามแบบที่ใช้ประดับหน้าจั่วอื่น ๆ ของบ้านหลังนี้ แต่ปัจจุบันหลุดหายไปเหลือแต่แป้นรอง

ยังมีสมญานามว่า พะยาตะก่า ปันโหย่ พ่อค้าไม้ชาวพม่า คำว่าพะยาตะก่า เป็นภาษาพม่า ใช้เรียกยกย่อง ชายผู้สร้างพระพุทธรูปและอุปถัมภ์พระเจดีย์[1][2][4][6] เข้ามาทำไม้ในไทยตั้งแต่อายุยังน้อย ในตอนปลายรัชสมัยของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงค์ จึงได้รับมอบหมายจากเจ้าหลวงและเจ้านายฝ่ายเหนือให้ทำไม้ในป่าต่าง ๆ เช่น ป่าแม่ป๋ามแม่ป๋อย ป่าเมืองงาย[2][6] ป่าแม่แจ่ม[2][6][9] ป่าแม่ต้า ป่าแม่สะเกิบ[8] ฯลฯ เมื่อร่ำรวยจากการค้าไม้ ได้ตอบแทนคุณแผ่นดินโดยสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ ร่วมสร้าง ร่วมบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ มากมายนับไม่ถ้วน[1][2][3][4][6][7] มีเอกสารยืนยันถึงการที่หลวงโยนะการพิจิตร หรือ มองปันโยในขณะนั้นสร้าง ร่วมสร้างวัดวาอารามและสิ่งที่เป็นสาธาณประโยชน์แก่บ้านเมือง เป็นเอกสารที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารเลขที่ ม. 48/123 เรื่อง มองปันโยบริจาคทรัพย์ช่วยพระเจ้านครเชียงใหม่ทำการสาธาณประโยชน์ต่าง ๆ[4][6] อยู่เบื้องหลังการสร้างใหม่และบูรณะวัดเก่ามากมายนับไม่ถ้วน นอกจากจะทำเพื่อตนเองและครอบครัวยังช่วยเจ้าหลวงและเจ้านายฝ่ายเหนือ บูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ ตั้งแต่ปลายรัชสมัยของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงค์ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าแก้วนวรัฐ และพระราชชายาเจ้าดารารัศมี นอกจากนั้นยังทำในนามคณะลูกศิษย์ครูบาศรีวิชัย ลูกศิษย์ครูบา-โสภาโณเถระ (ครูบาเถิ้ม) และทำถวายเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ[3][4][6][10][11][12][13][14][15]

วัดที่มีส่วนร่วมสร้าง/บูรณะ มีมากมายนับไม่ถ้วน เช่นวัดอุปคุตพม่า วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดแสนฝาง วัดไชยมงคลป่ากล้วย วัดหมื่นล้าน วัดเสาหิน วัดผางยอย วัดป่าเปอะ วัดเกาะกลาง วัดช้างค้ำ วัดเชตุพน วัดศรีมุงเมือง วัดเชียงยืน วัดผาลาด วัดเจดีย์หลวง วัดพระสิงห์ วัดพระธาตุศรีจอมทอง วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดบุพผาราม วัดศรีดอนไชย วัดชัยมงคล วัดเชตวัน วันมหาวัน วัดหนองคำ วัดป้านปิง วัดพระธาตุหริภุญไชย วัดพระยืน ลำพูน วัดไชยมงคล จองคา วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดปงสนุก วัดเจดีย์ซาว วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ลำปาง วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อุตรดิตถ์ วัดศรีโคมคำ พะเยา วัดพระบรมธาตุนครชุม กำแพงเพชร ฯลฯ มีอีกมากมายหลายวัดที่หลวงโยฯ ได้ไปสร้างหรือบูรณะ แต่ยังไม่ได้เอ่ยถึง เช่นวัดที่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน ตาก แต่ยังคงมีไม่กี่วัด ที่ยังจำเหตุการณ์ ครั้งหลวงโยฯ ไปสร้างหรือบูรณะวัดเหล่านั้น วัดพระบรมธาตุนครชุมกำแพงเพชร (วัดนี้ยังมีข้อกังขาตามประวัติวัดที่กล่าวว่า พญาตะก่าเป็นพี่พะโป้ เมื่อพะโป้เป็นกะเหรี่ยง พญาตะก่าจึงเป็นกะเหรี่ยงด้วย แต่ตามความเป็นจริงคำว่าพญาตะก่า เป็นคำภาษาพม่าและพะโป้มีแม่เป็นพม่าแต่พ่อเป็นกะเหรี่ยง ส่วนทางหม่องปันโหย่มีเรื่องเล่าว่า หม่องปันโย มีน้องอยู่กำแพงเพชร (จากหนังสือตามรอย รองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตร หน้า 26) รศ.ชัชวาล ธรรมสอน อดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรมกำแพงเพชร เล่าว่า ช่างที่บูรณะวัดพระธาตุนครชุม เป็นช่างชุดเดียวกันกับช่างที่สร้างพระเจดีย์ที่เมียววดี เมื่อบูรณะพระบรมธาตุนครชุมเสร็จ ได้ ไปทำวัดเจดีย์ซาวต่อ โดยวัดเจดีย์ซาวนี้ หลวงโยฯ เป็นผู้นำในการสร้างพระเจดีย์ โดยมีวัดอุปคุตพม่าเป็นวัดประจำตระกูล ภายหลังถึงแก่กรรมวัดถูกทุบทิ้งทั้งวัดเพื่อสร้างพุทธสถาน[12]

ในปี พ.ศ. 2420 เมื่อเจ้าแก้วนวรัฐฯอายุเพียง 15 ปี และได้รับมอบหมายให้นำชาวเชียงใหม่ ลำพูน 300 ครัวเรือน ไปฟื้นฟูเมืองเชียงแสนที่ขณะนั้นเป็นเมืองร้าง มองปันโยและช่างก็ได้มีส่วนร่วมด้วย[6]

ในปี พ.ศ. 2440 ได้รับถ้วยทองคำเป็นรางวัลในการปฏิบัติหน้าที่ผู้นำคนในบังคับอังกฤษอย่างดีเยี่ยม จากพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่ง สหราชอาณาจักร[6]

หลวงโยฯ ยังสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์อื่นอีกเช่น ซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นสุสานช้างคลานและสร้างเมรุเผาศพด้วยฟืนโดยใช้ช่างฝีมือชาวพม่าซึ่งปัจจุบันยังคงใช้งานได้อยู่ เมรุแห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ในการตามรอย[6] นอกจากมีอาชีพเป็นพ่อค้าไม้แล้ว ยังประกอบอาชีพอื่น ๆ อีกคือ เป็นเจ้าของต้นลำไยคนแรก ภายหลังมีการเปลี่ยนมือไป ที่ดินบริเวณตลาดต้นลำไยเดิม เคยเป็นที่ดินของหม่องปันโหย่ที่ใช้เป็นที่พักไม้ซุงของ ไม้ซุงเหล่านี้เป็นไม้ซุงที่ล่องมาตามลำน้ำแม่ปิงจากการทำป่าไม้ที่ป่าเมืองงาย ป่าแม่ป๋ามแม่ป๋อย เป็นป่าที่ได้รับอนุมัติจากเจ้าหลวงให้ทำป่าไม้ จึงสร้างเรือนแพให้คนงานชาวพม่าพักตรงบริเวณนี้และเป็นที่พักของช้างด้วย เมื่อเวลาน้ำหลาก คนงานจะขี่ช้างออกไปคัดแยกไม้ซุงที่ล่องตามลำน้ำปิงปะปนกับไม้ซุงเจ้าอื่น ๆ โดยไม้ซุงแต่ละเจ้าจะมีการประทับตราจึงแยกได้ แม่ค้าจึงนำสินค้ามาชายพวกคนงานพม่าของหม่องปันโหย่ ที่ดินในบริเวณนั้นจึงค่อย ๆ มีผู้คนมาค้าขายมากขึ้นและกลายเป็นตลาดขึ้นมา ไม่สามารถบอกว่าตลาดต้นลำไยเรื่มมีขึ้นปีไหน แต่สามารถประมาณจากปีที่มีเอกสารฟ้องร้องในการทำไม้ที่หม่องปันโยฟ้องพระยาอุตรการโกศล (คนละคนกับเจ้าน้อยสุขเกษม) เกี่ยวกับการทำไม้ที่ป่าเมืองงาย ซึ่งพื้นที่การทำป่าไม้ทับซ้อนกันเอกสารในการฟ้องร้อง-ขออุทธรณ์คำตัดสินของพระยาอุตรการโกศลอยู่ระหว่าง ปี พ.ศ.2430–2435 โดยหม่องปันโยได้รับอนุญาตให้ทำไม้ที่ป่าเมืองงายตั้งแต่ พ.ศ.2419[1][2][6] ส่วนในสำเนาฏีกาถวายรัชกาลที่ 5 ในปี 2446 ระบุว่า ทำไม้ที่ป่าแม่ป๋ามแม่ป๋อยมายี่สิบปีเศษแล้ว ดังนั้นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ 2425 หรือก่อนหน้านั้น ได้มีการเริ่มใช้บริเวณที่ต่อมากลายเป็นตลาดต้นลำไยเป็นที่พักไม้ซุงแล้ว ในสมัยนั้นตลาดต้นลำไยเป็นแค่ธุรกิจเล็ก ๆ ของหลวงโยฯ แต่ปัจจุบันตลาดต้นลำไยกลายเป็นแหล่งแห่งการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับหม่องปันโยเช่นกล่าวว่า หม่องปันโหย่รับจ้างคัดไม้ซุงตรงหน้าตลาดต้นลำไย บ้างก็ว่าหม่องปันโหย่เป็นหัวหน้าคนงานพม่าของบริษัทค้าไม้ต่างประเทศ ซึ่งเป็นการตีความหมายคำว่า Headman ผิดไปจากหัวหน้าคนในบังคับอังกฤษเป็นหัวหน้าคนงานบริษัททำไม้ต่างประเทศ

ตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกของคนไทยในภาคเหนือชื่อโรงพิมพ์บำรุงประเทศเจริญ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โรงพิมพ์ "อุปะโยคิน" โรงพิมพ์แห่งนี้ได้พิมพ์คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาจำนวนมากเช่น พระปริยัติธรรม พระภิกขุปาติโมกข์สิบตำนาน สิบสองตำนาน หลวงโยนะการพิจิตรตั้งโรงพิมพ์นี้เพราะมีศรัทธาอันแรงกล้าที่จะเผยแพร่ พระพุทธศาสนาและวรรณกรรมท้องถิ่นโดยหลวงโยนะการพิจิตรเป็นผู้ออกแบบตัวพิมพ์อักษรล้านนาเองและสั่งหล่อที่เชียงใหม่ จึงเป็นผู้อนุรักษ์ตัวอักษรล้านนาไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง จึงนับได้ว่า ได้ทิ้งมรดกอันมหาศาลทางวัฒนธรรมให้แก่ชาวล้านนาในรูปแบบโบราณสถาน โบราณวัตถุและหนังสืออักษรล้านนา ([6] หน้า 86)

ตั้งโรงสีข้าวแห่งแรกของเชียงใหม่

หลวงโยนะการพิจิตรถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อเวลาตีสามของวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2470 สิริอายุ 82 ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่สุสานช้างคลาน มีผู้คนมากมายมาร่วมไว้อาลัยในพิธีพระราชทานเพลิงศพของ มีช้างเข้าร่วมขบวนถึงสองร้อยเชือก หัวขบวนถึงสุสานช้างคลานแล้วแต่ท้ายขบวนยังอยู่ที่บ้าน แม้จะเป็นผู้อุทิศตนสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์แก่ประเทศชาติเช่นวัดวาอารามมากมาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปร้อยกว่าปีเรื่องราวก็ถูกหลงลืมไปเหลือแต่สิ่งก่อสร้างตามวัดวาอารามต่าง ๆ ที่เคยไปสร้างร่วมสร้างบูรณะร่วมบูรณะ กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้ลูกหลานชาวล้านนา

ข้อโต้แย้ง แก้

มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหลายประการเกี่ยวกับหม่องปันโหย่หรือ หลวงโยนะการพิจิตรที่เผยแพร่ไปหลัง เสียชีวิตไปเกือบร้อยปี ได้แก่

  1. คิดว่า เป็นมอญ เพราะมาจากเมืองมะละแหม่งที่เป็นรัฐมอญ แต่ความจริง เป็นคนเชื้อสายพม่าที่เกิดในรัฐมอญ[1][6]
  2. เล่าว่า เป็นหมอนวดก่อนจะได้ทำป่าไม้ให้เจ้าหลวง ซึ่งไม่เคยเป็น มาจากเมืองมะละแหม่งซึ่งในขณะนั้นเป็นของอังกฤษ มะละแหม่งในขณะนั้นเป็นเมืองหลวงของบริทิชเบอร์ม่าร์และเป็นศูนย์กลางการค้าไม้สัก จึงน่าจะมีความรู้ในการทำป่าไม้สักมาก่อนจึงได้รับความไว้วางใจให้ทำป่าไม้ถวายเจ้าหลวง การทำป่าไม้ต้องใช้ความรู้ความชำนาญมาก่อนมิใช่ใครก็ทำได้เพราะจะทำให้ป่าไม้เสียหาย ป่าไม้ในขณะนั้นเป็นปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจ[6]
  3. ปัจจุบันเมื่อเล่าเกี่ยวกับประวัติตลาดต้นลำไยก็จะมีการกล่าวถึง ผู้เป็นเจ้าของตลาดต้นลำไยคนแรกแบบไม่ถูกต้อง เช่น หม่องปันโหย่หรือหลวงโยนะการพิจิตร ทำอาชีพรับจ้างงัดไม้ซุงที่หน้าตลาดต้นลำไย บ้างเล่าว่า หม่องปันโหย่ คือ หัวหน้าคนงานบริษัทค้าไม้ต่างประเทศ โดยเข้าใจว่าความหมายของคำว่า Headman หรือหัวหน้าคนในบังคับอังกฤษผิดเพี้ยนไปว่าหมายถึงหัวหน้าคนงาน ซึ่งความหมายที่ถูกต้อง คือหม่องปันโหย่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคนในบังคับอังกฤษหรือผู้นำคนบังคับอังกฤษ (Headman) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่มีค่าตอบแทนแต่จะแต่งตั้งบุคคลที่คนในบังคับอังกฤษในชุมชนส่วนใหญ่นั้นให้การยอมรับและนับถือ[6]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 หลวงโยนะการพิจิตร..พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระ และอุปถัมภ์วัด..(ตามรอย 1)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 หลวงโยนะการพิจิตร พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์เจดีย์ สร้างพระ และอุปถัมภ์วัด (ตามรอย 2)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 หลวงโยนะการพิจิตร..พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมป์พระเจดีย์ สร้างพระ และอุปถัมภ์วัด (ตามรอย 4 ...วัดสำคัญ)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 หลวงโยนะการพิจิตร-พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระและอุปถัมภ์วัด (ตามรอย 3--ทำนุบำรุงพุทธศาสนา)
  5. 5.0 5.1 หลวงโยนะการพิจิตร..พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระและอุปถัมภ์วัด(ตามรอย11..ในราชกิจจานุเบกษา)
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 6.13 6.14 6.15 กัลยา ธรรมพงษาและศรีสุดา ธรรมพงษา ตามรอย ... รองอำมาตย์เอก หลวงโยนะการพิจิตร :พญาตะก่า เชียงใหม่ บริษัทสันติภาพแพ็คพรินท์ จำกัด 2560 สนับสนุนการพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏ เชียงใหม่
  7. 7.0 7.1 7.2 หลวงโยนะการพิจิตร..พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระและอุปถัมภ์วัด (ตามรอย12..พระมหากรุณาธิคุณ)
  8. 8.0 8.1 8.2 ร.ศ.ดร.โชติมา จตุรวงค์ “บทความวิชาการเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการพูตไทย-พม่า 70 ปี “ ในหัวข้อ “ อูปานโญ: ความสัมพันธ์ สยาม-พม่า ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ( หน้า 155 ถึง 176)
  9. สันติพงษ์ ช้างเผือก เนาวรัตน์ ลินพิศาล อิ่นคำ นิปุนะ นิกร เจริญวงศ์: “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของหน้าหมู่ หุบเขาแม่แจ่ม” ภาคผนวก: เอกสารประวัติการให้สัมปทานป่าไม้แม่แจ่มที่ทางโครงการรวบรวมและมอบให้กับชุมชนท้องถิ่น “ ประวัติการให้สัมปทานป่าแม่แจ่ม (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2428 ถึง 2532)”
  10. <ref>[หลวงโยนะการพิจิตร.. พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระและอุปถัมภ์วัด (ตามรอย 5 วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร)
  11. หลวงโยนะการพิจิตร..พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระ และอุปถัมภ์วัด (ตามรอย 6 วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร 2)
  12. 12.0 12.1 หลวงโยนะการพิจิตร...พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระ และอุปถัมภ์วัด (ตามรอย 7 ...วัดอุปคุตพม่า/วัดอุปคุต)
  13. หลวงโยนะการพิจิตร...พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระ และอุปถัมภ์วัด(ตามรอย 8 ..วัดแสนฝาง)
  14. หลวงโยนะการพิจิตรพ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระและอุปถัมภ์วัด (ตามรอย 9 วัดไชยมงคล ป่ากล้วย)
  15. หลวงโยนะการพิจิตร...พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระ และอุปถัมภ์วัด (ตามรอย 10..วัดเชตุพน)