ยางแท่งความหนืดคงที่

ยางแท่งความหนืดคงที่[1] (Constant Viscosity Rubber) : เป็นยางธรรมชาติที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องการควบคุมความหนืดของยางที่ใช้ในการแปรรูป เช่น อุตสาหกรรมยางท่อ, อุตสาหกรรมทำกาว ยางแท่งความหนืดคงที่มี 3 เกรด คือ STR 5 CV, STR 10 CV และ STR 20 CV มีการปรับความหนืดให้สม่ำเสมออยู่ที่ 37-39 หน่วยมูนี่ โดยเติมสารเคมีควบคุมความหนืดในกลุ่ม monofunctionaldehydic condensing reagents ลงไปทำปฏิกิริยากับอนุมูลหมู่อัลดีไฮด์ เพื่อป้องกันการเกิดพันธะไฮโดรเจนระหว่างโครงสร้างโมเลกุลยาง ที่เป็นสาเหตุให้ความหนืดเพิ่ม เรียกว่า storage-hardening ส่งผลให้ค่าความอ่อนตัวแรกเริ่มของยางดิบ (P0) สูงขึ้น สารปรับความหนืดที่นิยมใช้กันคือ Hydroxylamine hydrochloride เพราะราคาถูก และหาซื้อง่าย ใช้ในรูปของเกลือที่ละลายในน้ำ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมี 2 แบบ คือ น้ำยาง และ ยางก้อนจับตัว ในน้ำยางจะใส่ Hydroxylamine hydrochloride ในปริมาณ 0.15% โดยน้ำหนัก ส่วนในยางก้อนจับตัวจะใส่ในปริมาณ 0.4% โดยน้ำหนัก แล้วแช่ไว้ 16 ชั่วโมง จึงนำยางมาเข้าสู่กระบวนการแปรรูป และเพื่อปรับปรุงสมบัติและป้องกันการติดของยางแท่ง จะมีการเติมน้ำมันละหุ่งลงไป 0.7% โดยน้ำหนัก ลงไปในน้ำยางแล้วกวน หรือ สเปรไปบนยางที่ย่อยแล้วในกรณียางก้อนจับตัว

อ้างอิง แก้

  1. เสาวนีย์ ก่อวุฒิกุลรังษี, การผลิตยางธรรมชาติ, ภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2546, หน้า 179-183