ผลต่างระหว่างรุ่นของ "งานบริการชุมชน"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
ไม่มีความย่อการแก้ไข
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 15:
นอกเหนือไปจากการดำเนินงานของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยแล้ว ยังมี สมาคมและหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้ดำเนินกิจกรรมค่ายอาสาสมัครเป็นครั้งคราว เช่น กรรมการสหายอเมริกัน (American Friends Service Committee) สมาคม Y.M.C.A. เป็นต้น ซึ่งส่วนมากจัดเป็นระบบค่ายอาสาสมัครเพื่อการสัมมนา และค่ายอาสาสมัครเยาวชน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายด้านนันทนาการ เป็นต้น (สำเนาว์ ขจรศิลป์,2541)
 
== '''อาสาพัฒนากับกรมการพัฒนาชุมชน''' ==
การก่อเกิด “อาสาสมัครเพื่อการพัฒนาชนบท” ในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ จากการประชุมแรงงานระดับกลาง ณ เมืองเปอร์โตริโก ประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดให้แต่ละประเทศมีอาสาสมัคร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากำลังคนของชาติ กระจายผู้มีความรู้ความสามารถออกสู่ชนบท ให้ได้มีโอกาสช่วยเหลือประชาชน ร่วมมือกันพัฒนากิจกรรมต่างๆ โดยสำนักเลขาธิการหน่วยสันติภาพระหว่างประเทศได้จัดส่งผู้แทนเดินทางเข้ามาสำรวจความสนใจเกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยอาสาสมัครขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ ขณะนั้นกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้จัดทำข้อเสนอ “โครงการอาสาพัฒนาชนบท” ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา สาระสำคัญคือ คัดเลือกผู้ปรารถนาจะรับใช้ประเทศชาติที่สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรี หรือประโยควิชาชีพขั้นสูง เข้าฝึกอบรมเป็น “อาสาพัฒนาชนบท” แล้วส่งออกไปทำงานร่วมกับประชาชน อาสาสมัครจะไม่ได้รับเงินเดือน แต่ทางราชการจะจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้ในอัตราพอสมควร ระยะเวลาที่ปฏิบัติงานคนละ ๒ ปี เมื่อครบกำหนดแล้วอาสาสมัครจะได้รับเงินตอบแทนอีกจำนวนหนึ่ง
 
วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมการพัฒนาชุมชน ภายใต้คณะกรรมการอำนวยการอาสาพัฒนาชนบท ดำเนินโครงการอาสาพัฒนาชนบท โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานคณะอำนวยการฯ กำหนดเริ่มคัดเลือกอาสาพัฒนาชนบทครั้งแรกในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๙ และจัดตั้งสำนักงานอาสาพัฒนาชนบทขึ้น ให้อยู่ในรับผิดชอบของกองปฏิบัติการ พร้อมทั้งจัดทำข้อตกลงกับกรมการปกครอง กรมประชา สงเคราะห์ และกรมวิเทศสหการ จัดเจ้าหน้าที่มาประจำสำนักงานอาสาพัฒนาชนบทกรมละ ๑ คน
 
การคัดเลือกอาสาพัฒนาชนบท รุ่นที่ ๑ ดำเนินการในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดภารกิจอาสาพัฒนาชนบทที่ได้รับการแต่งตั้งหลังฝึกอบรม เดินทางไปประจำการในพื้นที่เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการแทรกซึมและคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยใช้วิธีการคัดเลือกแบบเข้มข้น ๔ ขั้นตอน ประกอบด้วย พิจารณาใบสมัครและใบรับรองจากอาจารย์ การทดสอบทางจิตวิทยา การสัมภาษณ์เบื้องต้น และการสัมภาษณ์ระหว่างการฝึกอบรม ขณะเดียวกันเพื่อให้อาสาพัฒนาชนบทมีความผูกพันกับกรมการพัฒนาชุมชนสานต่ออุดมการณ์ “คนชนบท” ให้กับคนวัยหนุ่มสาว จึงได้กำหนดให้ผู้ได้รับคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรม จะต้องทำความตกลงกับกรมการพัฒนาชุมชน เมื่อปฏิบัติงานครบ ๒ ปี จะได้รับค่าตอบแทนอีก จำนวน ๕,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๙ กรมการพัฒนาชุมชนได้แต่งตั้งอาสาพัฒนาชนบท รุ่นที่ ๑ ให้ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ จำนวน ๔๖ คน สำหรับการดำเนินงาน อสพ. ที่ผ่านมาแบ่งออกเป็น ๙ ระยะ จำแนกตามภารกิจที่กรมการพัฒนาชุมชนมอบหมาย ดังนี้
 
=== '''ระยะเริ่มต้น (พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๑)''' ===
ภารกิจของอาสาพัฒนาชนบท รุ่นที่ ๑-๒ เป็นผู้ชักนำประชาชนให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม กรมการพัฒนาชุมชนพยายามที่จะลดช่องว่างระหว่างระบบข้าราชการ ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นเจ้านายกับประชาชน อาสาพัฒนาชนบทไม่ใช่ข้าราชการ แต่เป็นประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่คนที่เอาข้าวของมาแจก แต่เป็นคนที่เอาความคิดอ่านมาแจก และเหนือสิ่งอื่นใด ไม่ใช่คนที่มาสั่งให้ประชาชนทำอย่างนี้อย่างนั้น แต่จะเป็นผู้ที่จะช่วยให้คำปรึกษาหารือ แนะแนวทางต่างๆ ให้ส่วนการตัดสินใจเป็นเรื่องของประชาชนเอง ดังนั้นอาสาพัฒนาชนบทต้องพยายามคิดค้นวิธีที่จะเข้าถึงประชาชนอย่างขะมักเขม้น เพื่อที่จะขายความคิดเกี่ยวกับทัศนคติของการพัฒนาให้แก่บุคคลสำคัญของหมู่บ้านได้เข้าใจเป็นอันดับแรก
ฉะนั้น จุดหมายหลักที่อาสาพัฒนาชนบทต้องเข้าไปปฏิบัติภารกิจคือ การเข้าไปส่งเสริมด้านอาชีพ ด้วยการช่วยชี้แนะประชาชนให้ได้ผลผลิตมากขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลมุ่งหวังว่าเมื่อประชาชนอยู่ดีกินดีแล้ว จะไม่เข้าไปฝักใฝ่กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ อาสาพัฒนาชนบทจึงทำหน้าที่เป็นครูสอนอาชีพตามความถนัดในวิชาชีพที่ได้ศึกษามา เช่น ช่างตัดเสื้อผ้า ช่างยนต์การเกษตร ช่างโลหะ เป็นต้น สอนให้ประชาชนรู้จักการใช้อุปกรณ์ทำงาน อาทิ พิมพ์ดีด วิทยุสื่อสาร เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องผลิตเอกสาร เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เห็นถึงวิทยาการสมัยใหม่จากเมืองหลวงสู่ชนบท การส่งเสริมด้านนี้ต้องใช้เวลา ความรู้ และความอดทนอย่างจริงจัง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวชนบท เป็นการยากที่จะเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนหันมายอมรับกับสิ่งใหม่
 
หลังจากกรมการพัฒนาชุมชนส่งอาสาพัฒนาชนบทไปปฏิบัติงานในพื้นที่แล้วจำนวน ๒ รุ่น ประชาชนได้รู้จักบทบาทหน้าที่ด้านพัฒนาอาชีพของอาสาพัฒนาชนบทอย่างกว้างขวาง อาสาพัฒนาชนบทสามารถสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ด้วยการร่วมทำงานชิ้นเล็กๆ ที่ไม่ต้องลงทุน การเข้าไปคลุกคลีทำสันทนาการกับเด็กๆ หรือการเข้าไปช่วยครูสอนหนังสือ ช่วยประดิษฐ์อุปกรณ์การสอน ทำให้เกิดความคุ้นเคยกับเด็กและผู้ปกครอง ประชาชนจึงให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างดี ทำให้อาสาพัฒนาชนบทถูกเรียกสั้นๆ ให้จำง่ายๆ ว่า “อาสาพัฒนา” หรือนิยมเรียกย่อๆ ว่า “อสพ.” สำหรับในส่วนของรัฐบาลเองก็ได้ให้ความสนใจการทำงานของ อสพ. เป็นอย่างมาก และเล็งเห็นว่าการปฏิบัติงานในพื้นที่ ๒ ปี อสพ. อาจประสบกับความยากลำบากเกินควร และมีปัญหานานับประการ ที่อาจจะบั่นทอนกำลังใจและอุดมการณ์ให้สูญสลายไปได้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ ให้ลดลงระยะเวลาในการปฏิบัติงานของ อสพ. เหลือเพียง ๑ ปีเท่านั้น โดยไม่นับรวมระยะเวลาในการฝึกอบรม
 
=== '''ระยะทดแทนพัฒนากร (พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๒๓)''' ===
ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ รัฐบาลต้องการให้กรมการพัฒนาชุมชนส่ง อสพ. ไปปฏิบัติงานให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับในสังคมชนบทแล้ว รัฐบาลได้สนับสนุนโดยจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการคัดเลือก อสพ. รุ่นที่ ๓ ให้ได้จำนวน ๑๐๐ คน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์การรับสมัครทางวิทยุกระจายเสียงทุกวัน ผ่านทางหนังสือพิมพ์ และสถาบันการศึกษา ๑๔ แห่ง รวมทั้งจัดช่วงเวลาให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนไปบรรยายความรู้ทางวิทยุกระจายเสียง ความยาว ๑๕ นาที แต่การดำเนินงานในครั้งนี้ มีผู้ได้รับการคัดเลือกและผ่านการฝึกอบรมเพียง ๓๓ คน กรมการพัฒนาชุมชนได้พบข้อจำกัดว่า สถาบันการศึกษายังขาดการบ่มเพาะทัศนคติของนักศึกษาที่ก่อให้เกิดความรู้สึกอยากออกไปผจญภัย ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวไทยในถิ่นทุรกันดาร ขณะที่มาตรฐานการคัดเลือก อสพ. ค่อนข้างสูง ผู้สมัครต้องผ่านการคัดเลือกหลายขั้นตอน อีกทั้งต้องมีความรู้ทางวิชาการที่หลากหลาย
การตอบรับเพื่อแก้ปัญหานี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ขอรับการสนับสนุนจากสำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งโครงการการศึกษาขั้นปริญญาบัตรชั้นสูงบัณฑิตอาสาสมัคร (ป.บ.อ.) ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยความร่วมมือของกรมการพัฒนาชุมชน หน่วยงานราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาชุมชน รับสมัครผู้มีวุฒิปริญญาตรีเข้ารับการฝึกอบรมภาคทฤษฎี วิชาสังคมวิทยา ระเบียบการวิจัย และการสอนหนังสือ เป็นเวลา ๓ เดือน แล้วส่งออกไปทำงานเป็นอาสาสมัครในชนบท เพื่อให้มีความเข้าใจและคุ้นเคยกับสภาพสังคมชนบท บังเกิดความสนใจที่จะปฏิบัติงานในชนบท เมื่อปฏิบัติงานครบ ๙ เดือน จะได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงบัณฑิตอาสาสมัคร
 
สำหรับในส่วนของกรมการพัฒนาชุมชนได้จัดเจ้าหน้าที่หมุนเวียนกันออกไปบรรยายประกอบการแสดงนิทรรศการ ในสถาบันการศึกษาต่างๆ สนับสนุนให้ อสพ. ที่กำลังอยู่ระหว่างปฏิบัติงานไปจัดอภิปรายชักชวนให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ ๔ เสียสละชีวิตที่สบายแบบหนุ่มสาวไปใช้ประสบการณ์ชีวิต ๑ ปี ในชนบท มีการจัดทำภาพนิ่ง แผ่นป้ายโฆษณา แผ่นปลิว เป็นเครื่องมือให้เกิดความสนใจในกิจกรรมการพัฒนาชนบท นอกจากนั้นแล้วกรมการพัฒนาชุมชนยังเชิญชวนให้มหาวิทยาลัยส่งตัวแทนนักศึกษาออกไปสังเกตการณ์และร่วมฝึกอบรม อสพ. รวมทั้งจัดกลุ่มนักศึกษาผู้สนใจเดินทางไปดูการปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นที่มาของการจัดตั้ง “ชมรมอาสาพัฒนา” และการจัด “ค่ายอาสาพัฒนา” ในสถาบันอุดมศึกษา
ต่อมาเมื่อกรมการพัฒนาชุมชนได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาอาชีพทดลองแห่งแรกขึ้นที่ตำบลซำผักแพว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อสร้างสถาบันฝึกอบรมอาชีพในระดับหมู่บ้านอย่างถาวร กรมการพัฒนาชุมชนมองเห็นว่า อสพ. ที่เสร็จสิ้นภารกิจแล้ว เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถด้านการพัฒนาอาชีพ และเพื่อแก้ปัญหาการขาดอัตรากำลังพัฒนากร กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้แต่งตั้งให้ อสพ. ไปปฏิบัติงานประจำในตำบลที่ไม่มีพัฒนากร มอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่วิชาการเฉพาะด้าน ในการฝึกอบรมกลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี และกลุ่มอาชีพต่างๆ
 
=== '''ระยะบุกเบิกชายแดน (พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๓๑)''' ===
โครงการอาสาพัฒนาชนบทได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๔ กรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการร่วมกองบัญชาการทหารสูงสุด (ศอร.บก.ทหารสูงสุด) ดำเนินโครงการอาสาพัฒนา ปฏิบัติงานในหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดน (ปชด.) ไทย-กัมพูชา โดยให้ อสพ. มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาและหาข่าว เพื่อความมั่นคงร่วมกับทางทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานชายแดนปฏิบัติงานประจำและพักค้าง ในหมู่บ้าน ต่อมาได้ขยายเขตการทำงาน ไปทางชายแดน ไทย-ลาว ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ชายแดนไทย-พม่า และชายแดนไทย-มาเลเซีย ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑
 
=== '''ระยะอาสาสมัคร (พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๓๔)''' ===
ช่วงการทำงานที่ต่อเนื่องมาจากนโยบายการพัฒนาภูมิภาค เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสังคมชนบทให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๒๕-๒๕๒๙) เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน รวมทั้ง อสพ. ต้องเดินทางเข้าหมู่บ้านบ่อยมากขึ้น กรมการพัฒนาชุมชนได้พบว่า แม้ อสพ. จะไม่มีสิทธิเบิกค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะในการปฏิบัติงาน เหมือนเช่นพัฒนากร และไม่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโครงการพัฒนาในระบบ กชช. แต่ก็ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความแข็งขัน เป็นผู้ประสานและทำงานร่วมกับผู้นำท้องถิ่น อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) ผู้นำ อช. และองค์กรประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล อย่างเต็มกำลัง นับว่าเป็น อสพ. จิตอาสา ทำให้งานของกรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
 
=== '''ระยะเตรียมเป็นนักพัฒนาชุมชน (๒๕๓๕-๒๕๓๘)''' ===
เมื่อกรมการพัฒนาชุมชนได้ตระหนักว่า อสพ. เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญยิ่ง เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการนักพัฒนาในอนาคต จึงได้สนับสนุนให้ผู้ที่รักการทำงานในชนบทได้มีโอกาสเข้ารับราชการในอาชีพที่มุ่งหวัง โดยกำหนดนโยบายให้รับสมัครผู้ที่ผ่านการทดสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ของสำนักงาน ก.พ. ซึ่งได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๐ มาฝึกอบรมเป็น อสพ. แล้วส่งไปปฏิบัติงานในพื้นที่ เป็นเวลา ๑ ปี กรณีมีอัตราพัฒนากรว่าง หาก อสพ. รายใดประสงค์จะเข้ารับราชการ สามารถเข้าสู่กระบวนการสอบคัดเลือกภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค.) โดยต้องได้คะแนนประเมินผลการปฏิบัติงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๐ ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน ๓
 
=== '''ระยะนักพัฒนาอาสาสมัคร (พ.ศ. ๒๕๓๙-๒๕๔๓)''' ===
ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๙ กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการตามมาตรการกำหนดขนาดกำลังคนภาครัฐ ทำให้อัตราว่างในตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน ๓ ลดลง ประกอบกับสภาตำบลยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคท้องถิ่น (กนภ.) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประชาชนในชนบท ทั้งด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มพูนความรู้ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน เสริมสร้างโอกาสในการพัฒนาอาชีพ และการมีงานทำ โดยให้พัฒนากรและข้าราชการอื่นๆ เป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบงานในหมู่บ้าน ตำบล ส่งผลให้กรมการพัฒนาชุมชนต้องปรับภารกิจ อสพ. ไปปฏิบัติงานเฉพาะกิจ เช่น การรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โรคเอดส์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นต้น
 
=== '''ระยะบัณฑิตอาสาพัฒนา (พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๔๕)''' ===
งานเฉพาะกิจที่ อสพ. ได้รับมอบหมายนั้น ถือว่ามีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมระดับฐานราก อสพ. ต้องผสมผสานความรู้ในสิ่งที่ปฏิบัติงานจริงตามกระบวนการพัฒนาชุมชน ไปวิเคราะห์วิจัยร่วมกับทฤษฎีวิชาการ เพื่อค้นหาแนวทางการทำงาน กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้ร่วมมือกับสภาสถาบันราชภัฏ โดยมีสถาบันราชภัฏเชียงรายเป็นหลักในการดำเนินงาน จัดทำหลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาพัฒนาชุมชน (สูงกว่าระดับปริญญาตรี) ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการสภาสถาบันราชภัฏ ให้ใช้ในทุกสถาบันราชภัฏได้ เป็นการศึกษาตามหลักสูตรควบคู่ไปกับการปฏิบัติงาน เมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติงาน อสพ. ได้รับวุฒิการศึกษาประกาศนียบัตรบัณฑิต จากสถาบันราชภัฏที่ อสพ. ลงทะเบียน เพิ่มขึ้นจากวุฒิบัตรการผ่านงาน อสพ. ตามปกติ และอสพ. รุ่นแรกที่เข้าศึกษาคือ อสพ. รุ่นที่ ๕๔
 
=== '''ระยะทดแทนพัฒนากรครั้งที่สอง (พ.ศ. ๒๕๔๖-๒๕๔๙)''' ===
หลังการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ มีการปรับขนาดอัตรากำลังคนภาครัฐ ทำให้จำนวนพัฒนากรต่อพื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๖-๒๕๔๙ กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้แต่งตั้ง อสพ. ไปปฏิบัติหน้าที่พัฒนากรในอำเภอที่มีจำนวนพัฒนากรต่ำกว่าอัตราที่กำหนด เป็นครั้งที่ ๒
 
=== '''ระยะสร้างนักพัฒนาภาคประชาชน (พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา)''' ===
ปัจจุบันแม้ว่ากรมการพัฒนาชุมชนมุ่งหวังที่จะสร้าง อสพ. ให้เป็นนักพัฒนาภาคประชาชนรุ่นใหม่ ที่มีจิตใจอาสาสมัคร ปรารถนาที่จะกลับไปพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนเองให้เข็มแข็งยั่งยืน ด้วยการกำหนดให้ อสพ. รุ่น ๔๙ เป็นต้นมา เป็น “อสพ.รักบ้านเกิด” ปฏิบัติงานในภูมิภาคของตน แต่ก็ยังคงเปิดโอกาสให้ อสพ. ได้ปฏิบัติหน้าที่พัฒนากร เพื่อเรียนรู้การทำงานในพื้นที่ตลอดระยะเวลา ๑ ปี ไปพร้อมกัน
 
== สถาบันการศึกษาไทย กับค่ายอาสาพัฒนา ==