ผลต่างระหว่างรุ่นของ "สัจจะ"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Eq072 (คุย | ส่วนร่วม)
หน้าใหม่: {{พุทธศาสนา}} "สัจจะ" แปลว่า ความสัตย์ ความซื่อ ถ้าขยายความตามศั...
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:14, 25 ธันวาคม 2551

"สัจจะ" แปลว่า ความสัตย์ ความซื่อ ถ้าขยายความตามศัพท์แยกได้ 3 ลักษณะคือ มีความจริง ความตรง และความแท้ จริง คือ ไม่เล่น ตรง คือ ความประพฤติทางกาย วาจา ตรงไม่บิดพลิ้ว ไม่บ่ายเบี่ยง แท้ คือ ไม่เหลวไหล แต่ถ้าในทางปฏิบัติสัจจะ คือ ความรับผิดชอบ หมายความว่า ถ้าจะทำอะไรแล้ว ต้องตั้งใจทำจริง ทำอย่างสุดความสามารถให้เป็นผลสำเร็จ การที่ใครจะสามารถสร้างตัวขึ้นมาได้นั้น ต้องมีสัจจะเป็นพื้นฐาน เพราะคนที่มีสัจจะ เป็นพื้นฐานจะมีความรับผิดชอบต่องานที่ทำทุกอย่าง ไม่ปล่อยผ่านกับสิ่งที่ได้รับมา จะทำทุกสิ่ง ที่มาถึงมืออย่างสุดกำลัง และเต็มความสามารถ

  1. ลักษณะของสัจจะ มีด้วยกัน 5 ประการ คือ

ประการที่ 1 สัจจะต่อความดี

         ก็คือ การประพฤติตนเป็นคนเที่ยงแท้ มั่นคงต่อความดีไม่หันเหไปในทางชั่ว ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เช่นไร 
         ในทางปฏิบัติ การจะมีสัจจะต่อความดีได้นั้น ต้องคิดให้เห็นถึงคุณความดีได้อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นโทษของความชั่วได้ชัดเจน 
         พยายามรักษาความดีในตนไว้ ถ้าเป็นฆราวาสก็ต้องละ กรรมกิเลส 4, อคติ 4, อบายมุข 6 และต้องปรับความเห็นของตนให้ถูก ให้เป็นสัมมาทิฏฐิให้ได้ หากเป็นพระก็ต้องรักษาสิกขาวินัย สืบทอดพระพุทธศาสนา หากเป็นฆราวาส ก็ต้องทำมาหากินตั้งตนให้ได้ สร้างหลักฐานให้กับวงศ์ตระกูล ใครจะอยู่ในหน้าที่อะไรก็ต้องพยายามหาดีของตนให้ได้ หากหาดีนอกทางเสียแล้วก็จะเสียความจริงต่อความดี

ประการที่ 2 สัจจะต่อหน้าที่

         คือ การที่ใครก็ตามที่เกิดมาย่อมมีหน้าที่ติดตัวมาด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น จึงควรมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน ใครเป็นสามีก็รับผิดชอบต่อหน้าที่สามี เลี้ยงครอบครัวให้ดี ไม่ปันใจให้หญิงอื่น จริงใจกับภรรยา ใครเป็นภรรยาก็จริงใจต่อหน้าที่ของภรรยา ดูแลการงานในบ้านให้เรียบร้อย ไม่เที่ยวเตร่ ไม่เล่นการพนันเผาผลาญทรัพย์
         เป็นลูกก็ต้องมีความรับผิดชอบว่า เราเป็นลูกมีหน้าที่รักษาวงศ์ตระกูลให้ดี ถ้าพ่อแม่แก่เฒ่า ก็ต้องเลี้ยงดูท่าน
         เป็นทหารก็จริงใจลงไปในหน้าที่ทหาร เป็นตำรวจก็รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตำรวจ
         ไม่ว่าใครจะเป็นอะไร ก็ทุ่มไปกับหน้าที่ของตัวให้เต็มที่ หากทำเช่นนี้ได้จึงเรียกว่า มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่

ประการที่ 3 สัจจะต่อการงาน

         สัจจะต่อการงาน ก็คือการตั้งสัจจะลงไปในงาน หมายถึงการทำงานนั้นต้องทำจริง ไม่ทำเหยาะๆ แหยะๆ หรือทำเล่นๆ
         ดังนั้น เมื่อมีหน้าที่แล้วก็ย่อมมีงานตามมา สามีก็มีงานของสามี คืองานหาเลี้ยงครอบครัว เป็นภรรยาก็มีงานของภรรยา เป็นลูกก็มีงานของลูก เป็นพระก็มีงานของพระ จะเป็นอะไรก็มี หน้าที่และมีงานตามมา ยิ่งอายุมาก หน้าที่ก็ยิ่งมากเป็นเงาตามตัว เมื่อหน้าที่มาก งานก็มากด้วยเช่นกัน
         คนที่ไม่จริงต่อการงาน มีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน คือ
         1. พวก "ทุจฺจริตํ" คือ พวกที่ทำงานเสีย
         2. พวก "สิถิลํ" คือ พวกที่ทำงานเหลาะแหละ
         3. พวก "อากุลํ" คือ พวกที่ทำงานคั่งค้าง
         หากทำอย่างนี้จะเสียสัจจะต่อการงาน วิธีแก้ก็คือ ทำให้ดี ทำให้เคร่งครัด ทำให้เสร็จสิ้น  หากทำได้ก็จะกลายเป็นสัจจะต่อการงาน
         อีกประการหนึ่ง เรามักได้ยินคำพังเพยว่า "เรือล่มเมื่อจอด"  คำนี้ใช้กับผู้ที่เคยทำดีมาแล้ว แต่ประมาทเมื่อปลายมือ เพราะไม่ตั้งใจทำให้ดีที่สุดหรือทำสักแต่ว่าทำ  เพราะฉะนั้น เมื่อทำความดีแล้ว ต้องทำให้ดีพร้อม จนใครๆ ก็ทำให้ดีกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว คือ ต้องทำงานชิ้นนั้นให้สำเร็จให้ได้และให้ดีที่สุด นี่คือความรับผิดชอบของคนที่มีสัจจะต่อการงาน

ประการที่ 4 สัจจะต่อวาจา

         สัจจะต่อวาจา คือ จริงต่อวาจา นั่นก็คือคำพูดของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการพูดด้วยปาก หรือการเขียน ตลอดจนการแสดงอาการที่เป็นการปฏิญาณต่อผู้อื่นก็ตาม จัดอยู่ในเรื่องของวาจาได้

สัจจะต่อวาจามีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ

         1. พูดอย่างไรทำอย่างนั้น คือ เมื่อพูดออกไปแล้วก็ต้องพยายามทำให้ได้จริงตามที่พูด 
         2. ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น คือ การพูดคำจริง เมื่อเราทำอะไรลงไปก็พูดไปตามนั้น การกระทำต้องตรงกับคำพูดของตัวเองเสมอ

ประการที่ 5 สัจจะต่อบุคคล

         สัจจะต่อบุคคล คือ ต้องจริงต่อบุคคล ในที่นี้คือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา
         จริงต่อบุคคลนั้น หมายถึง การเป็นผู้ที่ประพฤติต่อคนอื่นอย่างสม่ำเสมอ ไม่กลับกลอก และความจริงต่อบุคคลจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยความจริงใจต่อกัน ถ้าเราอยากให้คนอื่นเขาจริงใจต่อเรา เราก็ต้องให้ความจริงกับเขาด้วย
         คนเรามักชอบบ่นว่า "ผมน่ะไม่มีเพื่อนจริงสักคน" ความจริงแล้ว ตัวเองต่างหากที่ไม่จริงกับเขาก่อน แล้วเขาจะมาจริงใจกับเราได้อย่างไร เวลาคบกับใครก็บอกเขาว่า
         "มีธุระเดือดร้อนอะไรละก็ บอกนะ จะช่วยเต็มที่"
         แต่พอเขาจะมาพึ่งพาให้ช่วยเหลือ กลับบิดพลิ้ว สารพัดจะหาเหตุผลมาอ้าง มาแก้ตัว อย่างนี้ก็ไม่มีใครเขาจริงใจด้วย
         ขอฝากเป็นข้อคิดไว้ คือ ถ้ารักจะคบเป็นเพื่อนกันตลอดไป อย่าเล่นแชร์เล่นไพ่กับเพื่อน เพราะสองอย่างนี้พอเล่นจะเอาผลประโยชน์กัน แล้วจะมีความจริงใจต่อกันได้อย่างไร เพื่อนกัน มีอะไรต้องช่วยเหลือจุนเจือกัน เพื่อนติดขัดเรื่องเงินเรื่องทอง ก็ตัดเงินส่วนที่ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนให้ไปเลย ไม่ต้องไปคิดเรื่องดอกเบี้ย จะคิดถูกคิดแพงก็ถือว่าไม่จริงใจต่อกันทั้งนั้น
         หรือเป็นตำรวจ จับผู้ต้องหาได้ด้วยความเหนื่อยยาก ก็อย่าไปแก้แค้นด้วยการซ้อมคนไม่มีทางสู้ มีหน้าที่สอบสวน เจอผู้ร้ายปากแข็งชักช้าอย่างไรก็ต้องทน ต้องพยายามใช้ปัญญา อย่าใช้วิธีทารุณบีบคั้นให้เขารับสารภาพ ต้องนึกถึงคุณธรรมความดีให้มาก
         สรุปความได้ว่า คนที่มีสัจจะคือคนที่ทำอะไรทุ่มสุดตัว จะทำงานชิ้นใดก็ทุ่มทำให้ดีที่สุด คบใครก็คบกันจริงๆ ไม่ใช่ต่อหน้าสรรเสริญ ลับหลังนินทา ถ้าจะคบก็คือคบ ถ้าไม่คบก็ตัดบัญชี กันไปเลย ฝึกทุ่มหมดตัวอย่างนี้ ไม่ช้าก็จะได้เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา
         วันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ พอนั่งสมาธิคู้บัลลังก์แล้ว ก็ทรงตั้งสัจจะอธิษฐานทุ่มชีวิตเลยว่า แม้เลือดเนื้อในร่างกายจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนัง เอ็นกระดูก ก็ตามที หากยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เราจะไม่ยอมลุกขึ้นเป็นอันขาด พระบรมศาสดาของเรา ทุ่มสุดตัวอย่างนี้ เราเป็นลูกศิษย์ท่านต้องทำตาม