พระอุทัยประเทศ (บัว นิวงษา)

พระอุทัยประเทศ (บัว นิวงษา) เจ้าเมืองฮามองค์แรก เจ้าเมืองลำองค์แรก และเจ้าเมืองรามราชองค์แรก ปัจจุบันคือตำบลรามราช อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม มีนามเดิมว่า ท้าวบัว หรือ อาชญาบัว สืบเชื้อสายจากเจ้านายเผ่ากะโซ่หรือโส้เมืองเซียงฮ่ม (เซียงฮม) ในลาว เป็นต้นตระกูล นิวงษา และ แก้วนิวงศ์ ของตำบลรามราช อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม [1]

พระอุทัยประเทศ (บัว นิวงษา)
เจ้าเมืองรามราช, เจ้าเมืองลำ, เจ้าเมืองฮาม
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดเมืองเซียงฮ่ม ราชอาณาจักรล้านช้าง
เสียชีวิตเมืองรามราช ราชอาณาจักรล้านช้างสมัยประเทศราช
ศาสนาศาสนาพุทธและศาสนาผีบรรพบุรุษ

ประวัติ

แก้

อพยพไพร่พล

แก้

พ.ศ. 2376 หลังสงครามเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2348-2371) เสร็จสิ้น พระเจ้าแผ่นดินญวนส่งกองทัพเข้ายึดหัวเมืองต่าง ๆ ของล้านช้างตอนใต้และเขมรเพื่อขยายอิทธิพลทางการเมือง ราษฎรลาวบรรดาเผ่าแถบหัวเมืองลาวอีสานตอนล่างถูกรบกวน ฝ่าย ร.3 ของสยามเห็นเป็นโอกาสยึดครองล้านช้างบ้างจึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพยกไปรบญวนที่อาณาจักรเขมรและไซ่ง่อน เพื่อตัดกำลังญวนไม่ให้มีอิทธิพลเหนือล้านช้างและเขมร สงครามระหว่างทัพญวนกับสยามยืดเยื้อเป็นเวลานานจน พ.ศ. 2390 จึงยุติลงโดยสยามพ่ายแพ้แล้วทำสัญญาสงบศึกกับญวน สงครามนี้เรียกว่าอานามสยามยุทธ์ ผลพวงทำให้ราษฎรลาวบรรดาเผ่าในล้านช้างตอนใต้เดือดร้อน ถูกญวนและสยามกดขี่ข่มเหงกะเกณฑ์ไพร่พลเสบียงอาหารเพื่อเป็นกำลังแก่ทั้งสองฝ่าย ราษฎรที่เดือดร้อนพากันละทิ้งบ้านเรือนอพยพมาฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจำนวนมาก ฝ่ายท้าวบัวกรมการเมืองเซียงฮ่มบุตรของท้าวนิเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ของเมือง เป็นหัวหน้าอพยพไพร่พลภูไทและโซ่จากเมืองเซียงฮ่มและเมืองผาบังทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงซึ่งปัจจุบันอยู่ในแขวงสุวรรณเขต จำนวน 449 คน[2] บ้างว่า 458 คน ขึ้นมาทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงแม่น้ำท่าแขกแล้วพักไพร่พลอยู่[3]

เป็นเจ้าเมืองฮาม

แก้

จดหมายเหตุตำนานเมืองท่าอุเทนของหลวงชำนาญอุเทนดิษฐ์ (บาฮด กิตติศรีวรพันธุ์) ระบุว่าพระสุนทรราชวงศามหาขัติยชาติ (ฝ้าย ปทุมชาติ) เจ้าประเทศราชนครพนมและยศสุนธร (ยโสธร) ขณะนั้น เกลี้ยกล่อมราษฎรลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเพื่อไม่ให้เป็นกำลังแก่นครเวียงจันทน์และญวน ท้าวบัวจึงพาไพร่พลลงเรือข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งขวาในเขตแดนเมืองนครพนม แล้วไปตั้งอยู่ที่ดอนนาเมืองฮามสร้างบ้านเรือนอยู่หนาแน่น จากนั้นเข้าพบพระสุนทรราชวงศาเพื่อขอเป็นเมืองส่วย พ.ศ. 2380 พระสุนทรราชวงศาให้ท้าวบัวและไพร่พลสร้างเมืองทางทิศตะวันออกของนครพนมบริเวณดอนนาเมืองฮามแล้วให้ชื่อว่า เมืองฮาม ตั้งท้าวบัวเป็นเจ้าเมืองฮามขึ้นตรงต่อนครพนม ปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่บ้านยอดชาติ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม[4]

เป็นเจ้าเมืองลำ

แก้

เมืองฮามเดิมตั้งอยู่บนพื้นที่แห้งแล้งกันดารเพาะปลูกได้ผลผลิตน้อยราษฎรทำมาหากินฝืดเคือง ต่อมาท้าวบัวเจ้าเมืองอพยพไพร่พลจำนวนหนึ่งออกเที่ยวป่าล่าสัตว์หาของป่าคล้องช้างป่ามาใช้งาน[5] ครั้นเดินทางมาถึงหนองขุ่นหรือบุ่งเค็มเห็นเป็นพื้นที่มีทำเลดีอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้และแหล่งน้ำ มีสัตว์ป่ามาก สัตว์น้ำกบเขียดชุกชุมและอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองนครพนม ทั้งปรากฏลำน้ำสายหนึ่งมีน้ำไหลตลอดปี ท้าวบัวและไพร่พลพบหมูป่าขาพิการ (ขาเค) ตัวหนึ่งมีอาการตื่นกลัวผู้คนวิ่งขาเขยกลงในลำห้วยนั้นแล้วว่ายขึ้นฝั่งตรงข้ามเข้าป่าหายไป จึงเรียกลำน้ำนั้นว่า ห้วยหมูขาเค ต่อมาเพี้ยนเป็น ห้วยหมูเค แล้วกร่อนเสียงเป็น ห้วยมุเค ในปัจจุบัน เมื่อกลับจากการเที่ยวป่าท้าวบัวได้นำราษฎรอพยพมาสร้างเมืองใหม่ ณ แห่งนี้ แล้วแจ้งต่อพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองนครพนม เจ้าเมืองนครพนมจึงตั้งนามเมืองว่า เมืองลำ ด้วยอาศัยนิมิตนามเมืองจากชื่อเมืองฮามเดิม ซึ่งชาวลาวนิยมออกเสียง ล หรือ ร เป็น ฮ และอาศัยลำห้วยมุเคเป็นนิมิต คนทั่วไปเรียกที่ตั้งเมืองลำว่า บ้านนาซาวหนองขุ่น ท้าวบัวได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองลำขึ้นตรงต่อนครพนมตามเดิม ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนของเมืองเป็นทุ่งนาและป่าไม้ดอนหอปู่ตาใกล้ถนน รพช. ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและฝั่งขวาลำห้วยมุเคด้านทิศใต้เยื้องฝั่งบ้านรามราช[6]

ไพร่พลอพยพกลับคืนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

แก้

ครั้นตั้งเมืองแล้วราษฎรภูไทเมืองลำกลุ่มหนึ่งคิดถึงเมืองเซียงฮ่มถิ่นฐานเดิม จึงขออนุญาตเจ้าเมืองอพยพข้ามน้ำโขงไปฝั่งซ้าย แต่ทราบข่าวว่าเมืองเซียงฮ่มอยู่ใต้อิทธิพลญวนจึงเปลี่ยนใจไปตั้งบ้านเมืองอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองท่าแขกฝั่งตรงข้ามนครพนมแล้วให้ชื่อว่า เมืองลำ เช่นเดียวกับฝั่งขวา ปัจจุบันถูกลดฐานะเป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตปกครองแขวงคำม่วน อยู่ตรงข้ามบ้านเมืองเก่า (เมืองเก่าหนองจันทร์) และบ้านท่าค้อของฝั่งขวา ห่างจากแม่น้ำโขงลึกเข้าไปราว 10 กิโลเมตร เรียกว่า บ้านลามมะลาด ออกเสียงเหมือน บ้านรามราช ในตำบลรามราชของนครพนม[7]

เป็นเจ้าเมืองรามราช

แก้

เมืองลำทางฝั่งขวาตั้งบนพื้นที่ลุ่มเมื่อฤดูฝนน้ำจากลำห้วยมุเคไหลบ่าท่วมบ้านเรือนเกือบทุกปี ราษฎรได้รับความลำบากมาก ท้าวบัวจึงอพยพย้ายบ้านเรือนข้ามห้วยมุเคมาสร้างเมืองใหม่บนพื้นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงเรียกว่า โคกจั๊กจั่น คือบริเวณหมู่บ้านรามราชในปัจจุบัน แล้วแจ้งแก่เจ้าเมืองนครพนม เจ้าเมืองนครพนมพิจารณาเห็นว่าเมืองลำใหม่เป็นชุมชนใหญ่มีราษฎรมาก บ้านเรือนสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง มั่นคงถาวรดี ทั้งเจ้าเมืองก็ปกครองราษฎรด้วยความเข้มแข็งสงบเรียบร้อยดี พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองนครพนมมีใบบอกแจ้งไปยังกรุงเทพฯ[8] นำความทูลพระกรุณาทราบฯ พ.ศ. 2388 ร.3 เห็นเป็นโอกาสดีที่หัวเมืองลาวเข้ามาเป็นกำลังแก่ตน จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราฯ ยกบ้านเมืองลำ (ภาษาไทยออกนามว่าบ้านเมืองราม) เป็น เมืองรามราช พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ท้าวบัวเป็นที่ พระอุทัยประเทศ เจ้าเมืองรามราช[9] ขึ้นตรงต่อเมืองนครพนมตามเดิม คำว่าอุทัยประเทศหมายถึงเมืองแห่งพระอาทิตย์แรกขึ้นหรือเมืองทางตะวันออก สันนิษฐานว่าตั้งให้มีความหมายคล้องกับชื่อเมืองท่าอุเทน โดยแต่งตั้งคณะอาญาเมืองรามราชตามธรรมเนียบการปกครองหัวเมืองลาวคือ ท้าวคำผาลเป็นอุปฮาด ท้าวบุญตั้งเป็นราชวงศ์ ท้าวผูยเป็นราชบุตร[10] ในเอกสารพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ระบุถึงการตั้งเมืองรามราชว่า

"...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดการบ้านเมืองทุกสิ่ง ได้ทำปืนจ่ารงครํ่าเงิน กระสุน 4 นิ้ว 5 นิ้วขึ้นไว้ก็มาก ได้ยกบ้านขึ้นเป็นเมืองก็หลายตำบล เมืองขึ้นมหาดไทย บ้านกบแจะยกขึ้นเป็นเมืองประจันตคาม 1 ยกด่านหณุมานขึ้นเป็นเมืองกระบินทรบุรี 1 บ้านหินแร่ยกขึ้นเป็นเมืองอรัญญประเทศ 1 บ้านทุ่งแขยกขึ้นเป็นเมืองวัฒนานคร 1 บ้านท่าสวายเป็นเมืองศรีโสภณ 1 บ้านขั้วเป็นเมืองอำนาจเจริญ 1 บ้านช้องนางเป็นเมืองเสนางคนิคม 1 บ้านลำเนาหนองปรือเป็นเมืองลำเนาหนองปรือ 1 บ้านโพธิ์แล่นช้างเป็นเมืองภูแล่นช้าง 1 บ้านท่าขอนยางเป็นเมืองท่าขอนยาง 1 บ้านแซงบาดาลเป็นเมืองแซงบาดาล 1 บ้านกุจฉินารายน์เป็นเมืองกุจฉินารายน์ 1 บ้านคางรายเป็นเมืองเรณูนคร 1 บ้านนาเมืองรามเป็นเมืองรามราช 1 บ้านนาลาดควายเป็นเมืองอาทมาต 1 บ้านท่าม่วงเป็นเมืองอากาศอำนวย 1 บ้านหนองคายเป็นเมืองหนองคาย 1 บ้านโพนแพงเป็นเมืองโพนพิสัย 1 บ้านปากน้ำสงครามเป็นเมืองไชยบุรี 1 บ้านคำแก้วเป็นเมืองคำเขื่อนแก้ว 1 บ้านสวยหางเป็นเมืองสะเมียะ 1 บ้านภูเวียงเป็นเมืองภูเวียง 1 บ้านปากเหืองเป็นเมืองเชียงคาน 1 บ้านคำทองน้อยเป็นเมืองคำทองน้อย 1 บ้านเซสำเภาเป็นเมืองเซสำเภา 1 ตำบลซึ่งขึ้นฝ่ายกรมพระกลาโหมนั้น บางตะพานตั้งเป็นเมืองกำเนิดนพคุณ หัวเมืองกรมท่านั้น พวกลาวอาสาปากน้ำตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบายขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึ่งโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรามาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทรอาษา รวมยกบ้านขึ้นเป็นเมือง 28 หัวเมือง..." [11] ส่วนจดหมายเหตุของหลวงชำนาญอุเทนดิษฐิ์ (บาฮด กิติศรีวรพันธุ์) ระบุว่า ถึงปีจอ สัมฤทธิศก จุลศักราช 1200 พ.ศ. 2381 เป็นปีที่ 15 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แห่งกรุงเทพมหานคร ทรงมีท้องตราโปรดเกล้าฯ ให้เมืองท่าอุเทนขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร เป็นหัวเมืองจัตวา ขาดจากการปกครองของเมืองยโสธรและนครพนม แล้วให้เมืองรามราชเป็นเมืองขึ้นกับเมืองท่าอุเทน[12]ปัจจุบันเมืองรามราชคือพื้นที่ตำบลรามราช ตำบลพระทาย ตำบลท่าจำปา ในอำเภอท่าอุเทน และตำบลโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม[13]

สร้างบ้านแปลงเมือง

แก้

หลังสร้างเมืองไม่นานมีชาวภูไทเมืองผาบังเมืองแฝดของเมืองเซียงฮ่มกลุ่มหนึ่ง มีท้าวแก้วกรมการเมืองผาบังเป็นหัวหน้า พาไพร่พลอพยพหลบภัยเสาะหาทำเลที่ตั้งบ้านเรือน ภายหลังทราบข่าวว่าญาติพี่น้องชาวเซียงฮ่มกลุ่มหนึ่งอพยพมาสร้างเมืองรามราชซึ่งอุดมสมบูรณ์ปกติสุขดี จึงพาไพร่พลอพยพข้ามโขงมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองรามราชด้วย ฝ่ายพระอุทัยประเทศ (บัว) เจ้าเมืองเห็นว่าไพร่พลที่อพยพมาพร้อมท้าวแก้วมีจำนวนมาก เป็นแรงงานสำคัญในการสร้างบ้านแปลงเมืองจึงรับไว้และขอแบ่งแรงงานไพร่พลของท้าวแก้วเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งให้สร้างวัดวาอาราม ศาลา ถนนหนทาง ขุดบ่อน้ำลอกห้วยหนอง อีกส่วนให้หาของป่าล่าสัตว์ เมื่อล่าได้เนื้อสัตว์ หนัง เขา สมุนไพร ไม้จันทน์ ครั่ง น้ำมันยาง ชัน (ขี้ซี) เป็นต้น ให้นำมาถวายเจ้าเมืองแทนการเกณฑ์แรงงาน จากนั้นเจ้าเมืองจะแบ่งบรรณการไปถวายเจ้าเมืองนครพนม

สกุลที่สืบเชื้อสาย

แก้

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ประชาชนชาวไทยมีการตั้งนามสกุลไว้สืบตระกูลเหมือนกับประเทศอื่นๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456[14] บรรดาทายาทบุตรหลานผู้สืบเชื้อสายจากพระอุทัยประเทศ (บัว) ได้พร้อมใจกันจัดตั้งสกุลขึ้นดังนี้

สกุลนิวงษา

แก้

หลังการยุบเมืองรามราชลงเป็นตำบลแล้ว ทายาทบุตรหลานและราษฎรบ้านรามราชที่สืบเชื้อสายมาจากพระอุทัยประเทศ (บัว) และที่สืบเชื้อสายบรรพบุรุษซึ่งอพยพมาจากเมืองเชียงฮ่มทั้งหมด ได้ตั้งสกุลขึ้นว่า นิวงษา คำว่า นิ มาจากพระนามของ ท้าวนิ กรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ของเมืองเชียงฮ่ม ผู้เป็นพระบิดาของพระอุทัยประกาศ (บัว) เจ้าเมืองรามราชองค์แรก นิวงษาจึงหมายถึงผู้สืบเชื้อสายมาแต่ท้าวนิ อย่างไรก็ตาม ทายาทบางส่วนมีการเขียนนามสกุลเป็น นีวงษา ก็มี[15]

สกุลแก้วนิวงศ์

แก้

ในขณะที่ทายาทบุตรหลานของพระอุทัยประเทศ (บัว) ซึ่งสืบเชื้อสายบรรพบุรุษมาจากเมืองเชียงฮ่มพากันตั้งสกุลขึ้นแล้ว ฝ่ายทายาทบุตรหลานของท้าวแก้วที่อพยพมาจากเมืองผาบังก็ได้ตั้งสกุลขึ้นว่า แก้วนิวงศ์ ให้สอดคล้องกัน คำว่า แก้ว มาจากนามของท้าวแก้วกรมการเมืองผาบังผู้นำการอพยพ คำว่า นิ มาจากพระนามของ ท้าวนิ กรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ของเมืองเชียงฮ่ม ผู้เป็นพระบิดาของพระอุทัยประกาศ (บัว) เจ้าเมืองรามราชองค์แรก จึงเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า ราษฎรเมืองรามราชผู้ใช้สกุลนิวงษาคือผู้ที่มาจากเมืองเชียงฮ่ม ส่วนราษฎรเมืองรามราชผู้ใช้สกุลแก้วนิวงศ์คือผู้ที่มาจากเมืองผาบัง[16]

อ้างอิง

แก้
  1. http://ramrach.blogspot.com/p/blog-page_1835.html
  2. http://www.nkp2day.com/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%[ลิงก์เสีย]
  3. http://ramrach.blogspot.com/p/blog-page_1835.html
  4. http://ramrach.blogspot.com/p/blog-page_1835.html
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-01. สืบค้นเมื่อ 2017-05-31.
  6. http://ramrach.blogspot.com/p/blog-page_1835.html
  7. http://ramrach.blogspot.com/p/blog-page_1835.html
  8. ww.wemansion.com/Member/donut2364/Thaibru.html
  9. จดหมายเหตุ ร.3 จ.ศ. 1207 เลขที่ 58 หอสมุดแห่งชาติ
  10. http://ramrach.blogspot.com/p/blog-page_1835.html
  11. http://vajirayana.org/%E0%B8%9E%[ลิงก์เสีย]
  12. http://www.baanmaha.com/community/threads/33053-
  13. https://it.toluna.com/opinions/2943061/7%E0%B8%8A%E0%[ลิงก์เสีย]
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-15. สืบค้นเมื่อ 2017-06-01.
  15. http://oknation.nationtv.tv/blog/dhiwakorn/2010/12/13/entry-2/comment
  16. http://ramrach.blogspot.com/p/blog-page_1835.html