พระวิมลธรรมภาณ (วิเวียร ฐิตปุญฺโญ)

พระวิมลธรรมภาณ

(วิเวียร ฐิตปุญโญ)
ชื่ออื่นหลวงปู่วิเวียร
ส่วนบุคคล
เกิด9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 (73 ปี ปี)
มรณภาพ10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษานักธรรมเอก
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดดวงแข กรุงเทพมหานคร
บรรพชา9 กรกฎาคม 2482
อุปสมบท
ธรรมยุติ พ.ศ. 2484
พรรษา
ธรรมยุติ 53 พรรษา
ตำแหน่งอดีตเจ้าอาวาสวัดดวงแข และพระวินยาธิการ

ประวัติพระวิมลธรรมภาณ (หลวงปู่วิเวียร ฐิตปุญญเถร บุญมาก) วัดดวงแข กทม แก้

พระวิมลธรรมภาณ (หลวงปู่วิเวียร ฐิตปุญญเถร บุญมาก) กรุงเทพมหานคร หลวงปู่วิเวียร เกิดวันที่ 9 พฤศจิกายน 2464 บรรพชาเป็นสามเณร วันที่ 9 กรกฎาคม 2482 อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ พ.ศ. 2484 เป็นพระที่มีความเชี่ยวชาญด้านสมถะและวิปัสสนาอย่างมาก ท่านเป็นพระอาจารย์สอนกัมมัฏฐานต่อผู้ใคร่ศึกษา อาจารย์ของท่านประกอบด้วย พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม วัดป่าสาลวัน (ลูกศิษย์องค์สำคัญของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต) หลวงพ่อโด่ วัดนามะตูม จังหวัดชลบุรี หลวงพ่ออยู่ วัดบ้านแก่ง จังหวัดนครสวรรค์ (ศิษย์ของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท,หลวงปู่เฮง คงฺคสุวณฺโณ วัดเขาดิน จังหวัดนครสวรรค์ และหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จังหวัดนครสวรรค์) วัตถุมงคลที่ท่านอธิฏฐานจิตมีพุทธานุภาพและกฤดาภินิหารอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นที่ต้องการของบรรดาลูกศิษย์และผู้นิยมพระเครื่อง หลวงปู่วิเวียร ฐิตปุญญเถร (บุญมาก) ละสังขาร เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2537 เวลา 4 ทุ่มตรง รวมสิริอายุได้ 73 ปี พรรษา 53[1]

การเข้าสู่เส้นทางวิปัสสนากัมมัฎฐานและพระเวทย์วิทยาคม แก้

พระวิมลธรรมภาณ มีนามเดิมว่า สังเวียน บุญมาก กำเนิด ณ บ้านหมู่ที่ 8 ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2464 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา โยมบิดาชื่อ กริ่ม บุญมาก โยมมารดาชื่อ พริ้ง บุญมาก มีพี่น้องรวมด้วยกัน 6 คน คือ 1. นางขาว เหมพิจิตร 2. นางสาวละออง บุญมาก 3. นางน้ำค้าง บุญมาก 4. นางน้ำผึ้ง บุญมาก 5. พระพรหมมุนี (ปุญญารามเถร หลวงปู่วิชมัย บุญมาก) วัดบวรนิเวศวิหาร 6. พระวิมลธรรมภาณ (ฐิตปุญญเถร หลวงปู่วิเวียร บุญมาก) วัดดวงแข เมื่อเยาว์วัยได้รับการศึกษา ณ โรงเรียนประชาบาลวัดบ้านแก่ง จังหวัดนครสวรรค์ จบชั้นประถมปีที่ 4 แล้วได้ทำการศึกษาต่อจนจบวิชาครูเกษตรกรรม พ.ศ. 2482 ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เมื่ออายุได้ 18 ปี และได้ทำการบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดดวงแข วันที่ 9 กรกฎาคม 2482 โดยมีเจ้าพระคุณสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหารเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรสอบไล่ได้นักธรรมโท เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2484 ได้อุปสมบทที่วัดดวงแข โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศ ทรงเป็นพระอุปฌาย์ พระสุพจนมุนี (ต่อมาได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระพรหมมุนี สุวจเถรผิน ธรรมประทีป) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดรัตน์ (ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระญาณวิสุทธิเถร) วัดดวงแขเป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังจากอุปสมบทแล้วได้ทำการสอบบาลีประโยค 3 แต่ปรากฏว่าสอบตกจึงได้เดินทางกลับบ้านเกิดที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยเข้าพักอาศัยอยู่กับท่านพระครูนิวุตถ์พรหมจรรย์ (หลวงพ่ออยู่) เจ้าอาวาสวัดบ้านแก่งหรือบิดาบุญธรรม และนี่คือวิถีชีวิตของหลวงปู่ที่ได้เปลี่ยนแปลงใหม่เมื่อเสียใจกับการสอบตกในการสอบบาลี หลวงพ่ออยู่ก็เลยให้หันเหชีวิตมาในแนวทางปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฎฐานและศึกษาพระเวทย์วิทยาคมจากหลวงพ่ออยู่แทนจนสำเร็จ (หลวงพ่ออยู่ วัดบ้านแก่งเป็นศิษย์เอกของ 3 พระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยก่อนคือศิษย์ของท่านพระครูวิมลคุณากรหรือหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท พระครูพิสิสถสมถคุณหรือหลวงปู่เฮง วัดเขาดิน จังหวัดนครสวรรค์ และพระครูนิวาสธรรมขันธ์หรือหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จังหวัดนครสวรรค์) วิชาของ 3 พระอาจารย์นี้หลวงพ่อได้ถ่ายทอดให้หลวงปู่วิเวียรจนหมดสิ้น ตำราพระเวทย์เหล่านี้หลวงปู่วิเวียรได้เคยเล่าให้ฟังว่าปัจจุบันนี้ยังอยู่ที่วัดบ้านแก่ง จังหวัดนครสวรรค์ หลวงปู่ได้เดินทางขึ้น-ลงระหว่างวัดดวงแขกับวัดบ้านแก่ง เวลาเข้าพรรษาจะอยู่ที่วัดดวงแข พอออกพรรษาจะมาอยู่ที่วัดบ้านแก่งเพื่อศึกษาพระเวทย์ต่างๆ กับหลวงพ่อตั้งแต่ พ.ศ. 2485 ถึง พ.ศ. 2491 หลวงพ่ออยู่ มรณภาพ พ.ศ. 2491 (อายุ 72 ปี) เมื่อจัดการงานศพของหลวงพ่ออยู่เสร็จแล้วหลวงปู่ก็ได้เดินทางกลับวัดดวงแขเพื่อทบทวนพระเวทย์วิทยาต่างๆ จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2495 หลวงปู่เล่าให้ฟังว่าในวันหนึ่งมีพระภิกษุชรารูปหนึ่งได้เดินเข้ามาในวัดดวงแข และขออนุญาตพัก 1 คืน หลวงปู่ก็จัดที่พักให้ที่ศาลาสูง (ปัจจุบันรื้อไปแล้ว) หลวงปู่ก็จัดการกวาดวัดต่อไปจนเวลาประมาณเกือบ 2 ทุ่ม หลวงปู่กวาดวัดเสร็จก็สรงน้ำเพื่อที่จะสวดมนต์ทำวัตร พระภิกษุชรารูปนั้นก็ได้กวักมือเรียกหลวงปู่ไปพบบอกว่าเดี๋ยวสวดมนต์ทำวัตรด้วยกัน เมื่อทั้งสองรูปพร้อมแล้วพระภิกษุชรารูปนั้นก็บอกว่าปลงอาบัติก่อนผมก็เป็นพระธรรมยุติเหมือนกับท่านบวชมาตั้งแต่เป็นเณร เมื่อปลงอาบัติเสร็จแล้วก็เริ่มสวดมนต์กันจนจบ หลวงปู่บอกว่าพระภิกษุชรารูปนี้สวดมนต์ได้เพราะมากอักขระชัดเจนสวดเก่งมาก เมื่อสวดมนต์เสร็จแล้วก็ให้นั่งกัมมัฏฐานประมาณครึ่งชั่วโมง พระภิกษุรูปนั้นก็สั่งให้หยุดนั่ง และสอบถามประวัติหลวงปู่ว่าใครอบรมสั่งสอนวิชาวิปัสสนากัมมัฏฐาน หลวงปู่บอกว่าท่านพระครูนิวุตถ์พรหมจรรย์ (หลวงพ่ออยู่) วัดบ้านแก่ง จังหวัดนครสวรรค์ พระภิกษุชรารูปรูปนั้นก็ยกมือขึ้นไหว้แล้วพูดว่าท่านหลวงพ่ออยู่นี้เก่งมากอบรมศิษย์ได้ถึงขนาดนี้ พระภิกษุชรารูปนั้นก็บอกว่าตัวของท่านคือพระอาจารย์สิงห์แห่งโคราช เมื่อหลวงปู่ทราบก็ก้มลงกราบเท้าพระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์สิงห์เลยบอกให้หลวงปู่ไปจัดดอกไม้ธูปเทียนผ้าขาวน้ำเปล่าอีก 1 แก้ว พระอาจารย์สิงห์ก็ให้หลวงปู่ถวายท่านเพื่อทำการศึกษาวิชาพระเวทย์วิทยาต่าง ๆ และได้อบรมสั่งสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อจนสำเร็จในวิชาของท่าน ในครั้งนั้นพระอาจารย์สิงห์ได้อยู่พักที่วัดดวงแข 10 วัน ได้สอนให้หลวงปู่เขียนอักขระเลขยันต์ต่าง ๆ มากมาย หลวงปู่บอกว่าวิชากัมมัฏฐานของพระอาจารย์สิงห์นั้นเป็นวิชาที่ลึกซึ้งมากต้องใช้เวลานานกว่า 5 ปี ถึงเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ที่ท่านแนะนำมา ในระหว่างที่ศึกษาอยู่กับพระอาจารย์สิงห์นั้นพระอาจารย์สิงห์ได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับพระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์ต่าง ๆ ถ้าหากว่าหลวงปู่เดินทางผ่านไปก็ให้ไปกราบพบครูบาอาจารย์เหล่านั้นได้ เมื่อพระอาจารย์สิงห์เดินทางกลับไปจังหวัดนครราชสีมาแล้ว หลวงปู่ก็ได้พบกับพระอาจารย์สิงห์อีกหลายครั้งด้วยกัน อาทิ วัดบรมนิวาส วัดปทุมวนาราม จ. กทม. และที่ต่างจังหวัดอีกหลายครั้งรวมทั้งเคยร่วมธุดงค์ไปกับพระอาจารย์สิงห์ถึงประเทศลาว ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 หลวงปู่ได้ไปศึกษาวิชาการลบผงจากหลวงพ่อโด่ หลวงปู่เล่าไปให้ฟังว่าหลวงพ่อโด่เก่งมาก ปลุกเสกพระหรือปลัดถึงกับลอยได้วิ่งได้เลยทีเดียวนับได้ว่าพระอาจารย์ของหลวงปู่อีกรูปหนึ่ง ส่วนสหธรรมิกที่สนิทมีด้วยกันหลายรูป เช่น หลวงปู่อยู่ วัดใหม่หนองพระอง จ.สมุทรสาคร หลวงพ่อสนิท วัดศีลขันธาราม จ.อ่างทอง หลวงปู่บุญญฤทธิ์ ที่พักสงฆ์สวนทิพย์ ฯลฯ [2]

การสร้างวัตถุมงคลวัดดวงแขในแต่ละยุค แก้

การสร้างวัตถุมงคลวัดดวงแข มีด้วยกัน 5 ยุค คือ ยุคแรก ปี 2470 และ ปี2475 พระครูเล้งเป็นเจ้าอาวาส รูปที่ 3 ท่านได้สร้างเหรียญพระประธานในโบสถ์ วัดดวงแข ออกมา 2 รุ่น คือ รุ่นที่หนึ่งปี 2470 รุ่นที่สอง ปี2475 เป็นเนื้อดีบุกลักษณะเหรียญรูปไข่ เหมือนกันทั้ง 2 รุ่น ขนาดเท่ากัน ยันต์หลังเหรียญเหมือนกัน แจกในงานซื้อที่ดินถวายวัดดวงแข เหมือนกัน ผิดกันที่พศ.ที่สร้างเท่านั้น ยุคที่สอง ระหว่างปี 2494 - 2495 พระภิกษุพันเอกพระบรรจงหัตถกิจ (หลวงตาบรรจง) เป็นผู้สร้าง เป็นพระผงสมเด็จปรกโพธิ์และขุนแผนจำนวนการสร้างมากหลายพันองค์ ต่อมาหลวงตาบรรจงท่านนำไปบรรจุกรุที่วัดไร่ขิง จ.นครปฐม (ไม่ทราบสาเหตุที่นำไปบรรจุกรุที่วัดไร่ขิง) มีพิธีพุทธาภิเศกที่วัดดวงแขปี 2495 โดยพระเถราจารย์ 7 หรือ 9 รูป อาทิ 1. หลวงพ่อวัดโกโรโกโส จ.อยุธยา (วัดนี้อยู่หลังวัดสะแกหลวงปู่ดู่) 2.หลวงพ่อวัดเขากะล๊กก๊ก จ.เพ็ชรบุรี 3. หลวงปู่วิเวียร วัดดวงแข 4.พระภิกษุพันเอกพระบรรจงหัตถกิจ (หลวงตาบรรจง) ท่านเป็นพระวัดดวงแข อดีตท่านรับราชการเป็นทหารยศพันเอก และมีบรรดาศักดิ์เป็นพระบรรจงหัตถกิจ ( เกิด พ.ศ. 2422 มรณะ 2516) อายุ 96 ปี ยุคที่สาม สร้างเหรียญ 2518 - 2521 หลวงพ่อรัตน์ ตุฏฐจิตโต เจ้าอาวาสรูปที่ 5 ได้สร้างเหรียญทั้งหมด 3 รุ่น คือ รุ่นแรกปี 2518 แจกในงานฉลองโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดดวงแข รุ่นที่สอง ปี 2520 เป็นเหรียญกลม มีชื่อหลวงพ่อรัตน์ ด้านหลังยันต์ห้า รุ่นที่สาม ปี 2521 สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์วัดดวงแขสร้างถวาย โดยเหรียญทั้งสามรุ่น ผ่านการปลุกเสกจาก หลวงพ่อรัตน์ หลวงปู่วิเวียร และหลวงตาเทศ พระวิมลธรรมภาณ ยุคที่สี่ 2522 -2537 (หลวงปู่วิเวียร บุญมาก) เจ้าอาวาสรูปที่ 6 เริ่มสร้างวัตถุมงคล ตั้งแต่ ปี 2522 – 2537 รวมทั้งหมด 12 รุ่น หลวงปู่ได้สร้างวัตถุมงคลหลายแบบและเป็นที่นิยมเสาะแสวงหาของบรรดาเซียนพระเครื่อง เช่น ตระกรุดชินบัญชร พระปิดตาขีไก่แบบผงและเหล็ก เหรียญหล่อและรูปหล่อโบราณ พระผงสมเด็จ ผ้ายันต์ เป็นต้น ยุคที่ห้า 2539 - ปัจจุบัน พระครูเขมบัณฑิต เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน เริ่มสร้างปี 2539 ท่านสร้างหลังจากหลวงปู่สิ้นแล้ว 3 ปี [3]

 
พระผงปิดตา

วัตถุมงคลหลวงปู่วิเวียร แก้

การจัดสร้างวัตถุมงคลของหลวงปู่วิเวียร ท่านจะอนุญาตให้สร้างได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ยกเว้นปีใดที่มีวันสำคัญเช่นวันเสาร์ 5 หรือวันจันทร์ตรีคือ วันจันทร์ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ก็จะอนุญาตให้สร้างเป็นกรณีพิเศษ และจะกำชับเสมอว่าอย่าทำเป็นการค้า แต่ให้ยึดถือปฏิบัติในทางเมตตาคือการแจก หรือมอบให้ผู้มีจิตศรัทธามาร่วมทำบุญ และห้ามให้นำไปทำบุญนอกวัดเด็ดขาด วัตถุมงคลของท่านจัดสร้างขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2522 และครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2537 โดยทุกครั้งท่านจะต้องมาคุมพิธีและต้องปฏิบัติตามที่ท่านสั่งทุกอย่าง ที่สำคัญ มีพระเกจิอาจารย์ดังที่มีวิชาอาคมแก่กล้าร่วมปลุกเสกซึ่งหลายๆ องค์ส่วนใหญ่จะมรณภาพไปแล้ว วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม เช่น [4]

 
  • พระผงพิมพ์สมเด็จประภามณฑลพุทธเมตตา ปี 2522
  • เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกปี 2522
  • พระผงพุทธเมตตาพิมพ์ซุ้มประตูใหญ่ ปี 2528
  • รูปถ่ายอัดกระจก ปี 2524
  • ตะกรุดชินบัญชร ปี 2529
  • พระปิดตาไก่เหล็กเนื้อนวโลหะปี 2532
  • พระหยดน้ำมนต์หลวงปู่เนื้อนวโลหะ ปี2532
  • หลวงพ่อพระพุทธชินราชหล่อโบราณ ปี 2533
  • เหรียญยันต์พุดซ้อน ปี 2533
  • รูปเหมือนหล่อโบราณ ปี 2534
  • พระปิดตาตุ๊กตาเล็ก ปี2536
  • พระสมเด็จพุทธเมตตารัศมีหล่อโบราณ ปี 2536
  • พระกริ่งชินบัญชรและพระชัยวัฒน์ ปี 2537 [5]
  • เหรียญสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั่งพานเนื้อนวโลหะ ปี 2537
  • พระพุทธเมตตา ๑๐๐ ปี  พระวิมลธรรมภาณ (หลวงปู่วิเวียร  ฐิตปุญฺโญ)  พ.ศ. ๒๕๖๒  - ๒๕๖๕ ฯลฯ

พระกริ่งชินบัญชรและเหรียญสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) แก้

การจัดสร้างพระกริ่งในครั้งนี้ หลวงปู่ให้จัดสร้างเป็นแบบพระกริ่งในตัว เรียกว่า พระกริ่งชินบัญชร, พระชัยวัตน์ชินบัญชร, ขันน้ำมนต์ชินบัญชร และไม่ให้จัดสร้างวัตถุมงคลในปีต่อไปอีก เพราะหลวงปู่มิได้ปลุกเสกอะไรให้อีกแล้ว ให้จัดสร้างชุดนี้เป็นชุดสุดท้าย วัตถุมงคลหลวงปู่วิเวียร ปี 2537 ได้ผสมชนวนเนื้อนวโลหะที่เก็บเอาไว้ตั้งแต่ ปี 2532 การจัดสร้างพระกริ่งในตัวครั้งนี้ หลวงปู่ให้ทำการประยุกต์องค์พระกริ่ง เพื่อให้เป็นการดูง่ายและจะไม่ซ้ำซ้อนกับพระกริ่งทั่วไป ทำการตอกหมายเลขและตอกโค้ด 3 ตัว ส่วนเหรียญนั่งพาน สมเด็จพุฒจารย์ (โต พรหมรังษี) เหรียญนั่งพานหลวงปู่วิเวียร รูปเหมือนบูชาหลวงปู่วิเวียร ได้นำเอาเนื้อชนวนพระกริ่งมาจัดสร้างด้วยทั้งสามรูปแบบ

 
พระกริ่งชินบัญชร หลวงปู่วิเวียร บุญมาก พ.ศ. 2537

การจัดสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ชินบัญชร (กริ่งในตัว) ได้ทำถูกต้องตามพิธีโบราณ โดยการจัดหาแร่ธาตุโลหะ 9 ชนิด นำมาลงอักขระยันต์ 108 นะ 14 รวมทั้งแผ่นยันต์ทั่วประเทศจำนวน 2,479 แผ่น แผ่นชินบัญชรของหลวงปู่วิเวียร แผ่นยันต์คาถาธิเบต แผ่นยันต์คาถาจีน ทองคำสามกิโลครึ่ง และแร่ธาตุโลหะต่าง ๆ ตามสูตรการทำเนื้อนะวะโลหะโบราณ ได้นำมาหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันแล้วนำมาจัดสร้างเป็นพระกริ่งพระชัยวัฒน์ชินบัญชร เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ณ วัดดวงแข มีพระธรรมญาณมนี วัดเศวตฉัตร เป็นประธานเททอง พิธีพุทธาภิเษก วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2537 เวลา 14.39 – 18.09 น. ณ อุโบสถวัดดวงแข มีพระอริยสงฆ์ผู้ทรงพระเวทวิทยาคม 36 รูป [6]

พระผงปฐวีมงคล พระวิมลธรรมภาณ ( หลวงปู่วิเวียร บุญมาก) วัดดวงแข ปี ๒๕๒๘ แก้

พระผงปฐวีมงคล เป็นพระผงเนื้อดินเผา สร้างประมาณปลายปี ๒๕๒๗ - ๒๕๒๘ (กลางปี) หลวงปู่ทำการอธิษฐานจิตปลุกเสกเดียวประมาณ ๘ ปี และทำการเข้าพิธีพุทธาภิเษกตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ – ๒๕๓๕ รวมระยะเวลา ๕ ปี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ได้มาขออนุญาตสร้างพระเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยรวบรวมเอาพระกรุเก่าที่แตกหัก อายุหลายร้อยปี และดินกรุเก่า ในจังหวัดสุพรรณบุรี มาผสมผสานกับมวลสารมากมาย เช่น ว่าน ๑๐๘ ดินกากยายักษ์ ผงลบ ผงตำ และผงเศก เป็นต้น พระทั้งหมด มี ๕ พิมพ์ ประกอบด้วย ๑. พิมพ์พระสมเด็จสามชั้นปรกโพธิ์น้ำตาลแดงว่านดอกมะขาม จำนวน ๑๐,๐๐๐ องค์ ๒. พิมพ์พระสมเด็จสามชั้นเนื้อดำผสมดินกากยายักษ์ ประมาณ ๒๐๐๐ องค์ ๓. พิมพ์พระนางพญาปางมารวิชัยเนื้อน้ำตาลแดงว่านดอกมะขาม จำนวน ๑๐,๐๐๐ องค์ ๔. พิมพ์พระนางพญาพิมพ์ประทานพร จำนวน ๑๐,๐๐ องค์ ๕. พิมพ์พระขุนแผนไข่ผ่าซีกเนื้อน้ำตาลแดงว่านดอกมะขาม จำนวน ๑๐,๐๐๐ องค์ ด้านหลังพระทุกองค์จะต้องมียันต์พุทธซ้อน (เป็นยันต์ประจำตัวหลวงปู่)

เมื่อพระผงปฐวีมงคลผ่านการอธิษฐานจิตปลุกเสกเสร็จแล้ว ต่อมาในปี ๒๕๓๕ ท่านพระวิมลธรรมภาณ (หลวงปู่วิเวียร ฐิตปุญโญ – บุญมาก) อดีตเจ้าอาวาสวัดดวงแข ได้ให้พระครูนิวิฐศาสนคุณ (หลวงพ่อเทียน ฐิตฉนฺโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านแก่ง จังหวัดนครสวรรค์ มารับพระไปบรรจุกรุที่วัดบ้านแก่ง แต่ทว่ามีพระกล่องเล็กจำนวนหนึ่งตกลงมาจากรถประมาณ ๒๐๐๐ องค์ แบ่งเป็น ๓ พิมพ์ ได้แก่ ๑. พระพิมพ์สมเด็จ ๒. พระพิมพ์นางพญาปางมารวิชัยและนั่งขัดสมาธิ ๓. พระพิมพ์ขุนแผน ลูกศิษย์จึงได้กราบเรียนให้หลวงปู่ทราบ และขออนุญาตนำพระเหล่านี้มาแจกแก่บรรดาลูกศิษย์รวมทั้งแจกเนื่องในงานประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๕ [7]

 
This is Somdej of Phrawimondhammaphan
 
พระครูนิวุตถ์พรหมจรรย์ (บิดาบุญธรรมหลวงปู่) วัดบ้านแก่ง

ผลงาน แก้

  • พ.ศ. 2500 ปรับปรุงและพัฒนาวัดดวงแข (พ.ศ. 2500 - 2536)
  • พ.ศ. 2501 อุปถัมภ์วัดบ้านแก่ง จังหวัดนครสวรรค์ สร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่ สร้างกุกฏิสร้าง 4 หลัง สร้างศาลาดินหลังเล็ก สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม บูรณะพระอุโบสถ วิหาร ปรับปรุงฌาปนสถาน ฯลฯ
  • พ.ศ. 2507 อุปถัมภ์การก่อสร้างถนนรังสิโขทัย จังหวัดนครสวรรค์
  • พ.ศ. 2512 อุปถัมภ์การก่อสร้างวัดบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • พ.ศ. 2516 จัดสร้างสถานีอนามัยประจำตำบลบ้านแก่ง
  • พ.ศ. 2518 จัดสร้างโรงเรียนมัธยมชัชวลิตวิทยาประจำตำบลบ้านแก่ง จังหวัดนครสวรรค์ โดยการบริจาคที่ดินของตระกูลหลวงปู่ 35 ไร่
  • พ.ศ. 2526 จัดตั้งศูนย์พัฒนาอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียนที่ตำบลบ้านแก่ง จังหวัดนครสวรรค์
  • พ.ศ. 2527 อุปถัมภ์การก่อสร้างวัดเกาะแก้ว วัดมะเกลือ วัดวิชมัยปุญญาราม
  • พ.ศ. 2530 จัดตั้งบุญนิธิพุทธเมตตา (เพื่อการศึกษา แบละอาหารกลางวันเด็กนักเรียนยากจน)
  • พ.ศ. 2531 อุปถัมภ์การก่อสร้างวัดแคโรไลนาพุทธจักรวนาราม รัฐแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ร่วมกับท่านเจ้าคุณพระธรรมดิลก วัดบวรนิเวศวิหาร
  • พ.ศ. 2536 จัดสร้างกุฏิสงฆ์ที่วัดดวงแขเป็นอาคารทรงไทยสูง 4 ชั้น และบูรณะพระอุโบสถวัดดวงแขอีก ฯลฯ [8]

ตำแหน่งหน้าที่การปกครอง แก้

 
พระวิมลธรรมภาณ 1
  • พ.ศ. 2502 เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง
  • พ.ศ. 2508 เป็นที่ปรึกษาของท่านเลขาธิการคณะธรรมยุติในสมัยพระเทพวราภรณ์ เป็นเลขาธิการคณะธรรมยุติ
  • พ.ศ. 2519 เป็นรองเจ้าอาวาสวัดดวงแข
  • พ.ศ. 2522 เป็นที่ปรึกษาของท่านเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธรรมยุติ) มีพระธรรมดิลกเป็นเจ้าคณะภาค และเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าอาวาสวัดดวงแข
  • พ.ศ. 2532 เป็นพระวินยาธิการชุดแรกของคณะธรรมยุติและเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ในสมัยพระพรหมมุนี เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร
  • พ.ศ. 2535 เป็นเจ้าอาวาสวัดดวงแข ฯลฯ [9]

อ้างอิง แก้

  1. คณะศิษยานุศิษย์หลวง; และนิพนธ์ คันทรง. ม.ป.ป. . ตำนานหลวงปู่พระวิมลธรรมภาณ (ฐิตปุญญเถร หลวงปู่วิเวียร บุญมาก).
  2. คณะศิษยานุศิษย์หลวง; และนิพนธ์ คันทรง. ม.ป.ป. . ตำนานหลวงปู่พระวิมลธรรมภาณ (ฐิตปุญญเถร หลวงปู่วิเวียร บุญมาก).
  3. นิพนธ์ คันทรง. (2537). พระกริ่งชินบัญชร พระวิมลธรรมภาณ (หลวงปู่วิเวียร).กรุงเทพฯ:บริษัทสยามศิลปการพิมพ์ จำกัด.
  4. นิพนธ์ คันทรง. (2537). พระกริ่งชินบัญชร พระวิมลธรรมภาณ (หลวงปู่วิเวียร).กรุงเทพฯ:บริษัทสยามศิลปการพิมพ์ จำกัด.]
  5. นิพนธ์ คันทรง. (2539). พระวิมลธรรมภาณานุสรณ์ 75 ปี พระวิมลธรรมภาณ (ฐิตปุญญเถร หลวงปู่วิเวียร บุญมาก). กรุงเทพฯ: บริษัทสยามศิลปการพิมพ์ จำกัด.
  6. นิพนธ์ คันทรง. (2539). พระวิมลธรรมภาณานุสรณ์ 75 ปี พระวิมลธรรมภาณ (ฐิตปุญญเถร หลวงปู่วิเวียร บุญมาก). กรุงเทพฯ: บริษัทสยามศิลปการพิมพ์ จำกัด.
  7. พระผงปฐวีมงคล พระวิมลธรรมภาณ
  8. กองเลขานุการวัดดวงแข. ม.ป.ป.. หนังสือคู่มือวัดดวงแข.
  9. พระครูเขมบัณฑิต. (2536). อนุสรณ์พระญาณวิสุทธิเถร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม แก้

  1. หลวงปู่วิเวียร
  2. พระเครื่องหลวงปู่วิเวียร
  3. ประวัติหลวงปู่วิเวียร
  4.  
    หนังสือพระเครื่องหลวงปู่วิเวียร[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลทางเว็บไซร์ แก้

 


ลำดับเจ้าอาวาสก่อนและหลัง แก้

ลำดับเจ้าอาวาสวัดดวงแขที่ปรากฏข้อมูลชัดเจน ดังต่อไปนี้

ลำดับที่ รายนาม วัด ดำรงสมณศักดิ์
1 พระญาณวิสุทธิเถร (รัตน์ ตุฏฐจิตฺโต) วัดดวงแข พ.ศ. 2483-2535
2 พระวิมลธรรมภาณ (วิเวียร ฐิตปุญฺโญ) วัดดวงแข พ.ศ. 2535-2536
3 พระครูเขมบัณฑิต (บัณฑิต เขมปณฺฑิโต) วัดดวงแข พ.ศ. 2540-2561
4 พระครูประพันธ์เขมคุณ (พนม สนฺตจิตฺโต) วัดดวงแข พ.ศ. 2561- ปัจจุบัน