พระพิทักษ์เจดีย์ (ถง รามางกูร)

พระพิทักษ์เจดีย์ (ถง) อดีตนายกองข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนม หรือผู้ควบคุมท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระธาตุพนม หรือนายกองบ้านธาตุพนมลำดับ 5 พ.ศ. 2417-22 (23) ในราชวงศ์เวียงจันทน์ปกครองธาตุพนมลำดับ 7 เดิมบรรดาศักดิ์ท้าวอุปละควบคุมท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระธาตุพนม[1] เชื้อสายราชวงศ์เวียงจันทน์และจำปาศักดิ์[2] รับบรรดาศักดิ์พระพิทักษ์เจดีย์คนแรกของธาตุพนมจาก ร.5 ราชทินนามนี้ปรากฏในบรรดาศักดิ์พระพิทักษ์เจดีย์ (แก้ว โคตรธรรม) นายกองข้าพระธาตุเชิงชุมเมืองสกลนครด้วย[3]

พระพิทักษ์เจดีย์ (ถง รามางกูร)
นายกองข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนม หรือหัวหน้าผู้ควบคุมท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระธาตุพนม หรือนายกองบ้านธาตุพนม
ก่อนหน้าท้าวอุปละ (มุง รามางกูร)
ถัดไปพระพิทักษ์เจดีย์ (แก่น รามางกูร)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดธาตุพนม
เสียชีวิตธาตุพนม
ศาสนาศาสนาพุทธ
คู่สมรสอาดยานางรัตนะจันทร์และอาดยานางแก้วบัวพา

ประวัติ แก้

พระพิทักษ์เจดีย์ (ถง) นามเดิมท้าวสุวันนะคำถงหรือท้าวคำถง พื้นเมืองพนมออกนามเจ้าพระพีพักคำถุงหรือยาพ่อพระพีพัก นามเต็มพื้นพระบาทใช้ชาติระบุว่า ...หลานตน 1 มีซื่อว่าอุปปะละสูวัณณะคำถงก็ตื่มแถมยดว่าเจ้าพระพีพักเจดีสีปะริสัดขัดตติยะวงสา...[4] เป็นบุตรชายลำดับแรกและบุตรลำดับ 2 ของท้าวอุปละ (มุง) หัวหน้าผู้ควบคุมท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระธาตุพนมกับนางจันทาวะดี เป็นหลานพระอุปละ (คำมั่น) กรมการ เป็นเหลนพระมหาสุระนันทากับนางแก้วอาไพธิดาเจ้าพระรามราชฯ (ราม) ขุนโอกาสธาตุพนมคนแรก[5] พ.ศ. 2417 เพี้ยอัคคะฮาชหรือท้าวอุปละ (มุง) บิดาถึงแก่กรรม ท้าวถงผู้บุตรเลื่อนเป็นท้าวอุปละควบคุมท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระธาตุพนมแทน ท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระสมัครทำราชการขึ้นมุกดาหารเป็นเลกฉกรรจ์ขึ้นใหม่ 967 นครพนม 531 สกลนคร 227 รวม 1,775 คน ท้าวอุปละ (มุง) เกณฑ์ท้าวเพี้ยตัวเลกมาปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมเจ้าเมืองกรมการเมืองนครพนม มุกดาหาร และสกลนครขัดขวางไม่ยอมส่งให้ตามจารีต[6]

ฟ้องกรมการมุกดาหาร แก้

พ.ศ. 2421 ท้าวอุปละตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านธาตุพนมขณะเป็นหัวหน้าหมวดเลกข้าพระธาตุพนมกล่าวฟ้องกรมการมุกดาหารลงกรุงเทพฯ ว่า เขตแดนมุกดาหารต่อแดนนครพนมหน้าองค์พระธาตุพนมให้มุกดาหารและนครพนมรักษามีข้าพระธาตุพนมเป็นเลกข้าพระ ยกเว้นไม่ต้องเก็บส่วยแต่มีหน้าที่ดูแลรักษาเกณฑ์สิ่งของ เช่น อิฐ ปูน ทราย กรวด บูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม ต่อมา พ.ศ. 2415 ท้าวอุปละเกณฑ์อิฐ ปูน ทองคำเปลว น้ำรักกับตัวเลกเพื่อซ่อมแซมพระธาตุพนม เจ้าเมืองมุกดาหารจะจับตัวจำขังตะราง ฝ่ายกรุงเทพฯ มีท้องตราพระราชสีห์ให้อำแดงล่าหรืออาดยานางหล่าพี่สาวท้าวอุปละถือขึ้นมาถึงผู้รักษาราชการเมืองมุกดาหาร ว่าให้เร่งแต่งท้าวเพี้ยกรมการผู้ใหญ่รู้ราชการบ้านเมืองพาตัวท้าวอุปละลงกรุงเทพฯ พร้อมอำแดงล่าโดยเร็ว จะได้ให้ตระลาการชำระตัดสินให้แล้วแก่กัน[7]

วิวาทพระอัคร์บุตร แก้

พ.ศ. 2422 ท้าวอุปละ (ถง) และพระอัคร์บุตร (บุญมี) บุตรเจ้าพระรามราชปราณีฯ (ศรี) ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่เพราะย่าทวดท้าวอุปละเป็นน้องสาวต่างมารดาเจ้าพระรามราชปราณีฯ (ศรี) วิวาทกันรุนแรง พระอัคร์บุตรอยากเป็นขุนโอกาสเพราะท้าวอุปละอายุน้อยและไม่ใช่บุตรขุนโอกาส มีเรื่องฟ้องร้องกันถึงกรุงเทพฯ พื้นพระบาทใช้ชาติระบุโดยละเอียดว่า ...พระยาธัมมิกราชเจ้าตนมีบุญหนักจักเษกเอาราชกุุมารเจ้าพระอัคร์บุตรสุตสุวัณณบุญมี แลว่าตนนี้อาชญ์กว่าท้าวพระยาทั้งหลายว่าดั่งนี้ ว่าตนนี้แม่นหลานแลลูกพระยาเจ้าโอกาศศาสนานครพระมหาธาตุเจ้าพระนมบุรมสถานวิเศษแท้ดั่งนั้นแล จิงว่าเจ้าพระอุปละเกิดตามหลังบ่ให้เป็นใหญ่ในกองข้อยน้อยใหญ่ในเวียงพระมหาธาตุเจ้าแลว่าดั่งนั้นแล้วก็มีแท้ดีหลีแล...ทีนี้อุปละเจ้าคำถงก็จักมีใจเคียดจิงไปฟ้องเจ้าพระยาหลวงลคร ๆ จักว่าความให้ยอมกันบ่ได้ด้วยเกรงบุญปารมีแห่งพระยาธัมมิกราช จิงให้เจ้าทั้ง 2 ตนลงไปเมืองบังกอกแลเฝ้าพระบาทเจ้าซีวิตก็มีแท้ดั่งนั้น พระเจ้าอัคร์บุตรตนอ้ายจักบ่ยอมด้วยบุญสมภารแห่งพระยาธัมมิกราชเจ้าแล จิงให้อาชญาพระอุปละคำถุงลงไปบังกอกแท้แล เจ้าจิงวิวาทใส่ความเจ้าพระยาลครบังมุกแลสกลลครหนองละหานด้วยใจเคียดแท้ดั่งนั้น ฝ่ายตนผู้พี่จิงได้นั่งอยู่เป็นใหญ่ในเวียงแก้วพระมหาธาตุเจ้าพระนมบุรมเจดีย์หัวอกพระพุทธเจ้าแท้ดีหลีแล ว่าอั้นแล้วศาสนาบ้านเมืองจักเกิดโกลหนวุ่นวายยิ่งนัก พระยาทั้ง 3 ก็มาวิวาทแลจักรบเลวกันแท้ดั่งนั้น ตนอ้ายเฮวตนน้อง ตนน้องเฮวตนอ้าย เจ้าเลวข้อย ไพ่เลวขุน พระยาเลวท้าว เพียเลวกวาน ผู้น้อยเลวผู้ใหญ่ หลานเลวปู่ ลูกเลวพ่อ ศิษย์เลวครู คหัสถ์เลวสังฆะ...[8]

ฟ้องเจ้าเมืองทั้งสาม แก้

พ.ศ. 2422 ปีเถาะ ท้าวอุปละเดินทางลงกรุงเทพฯ เขียนคำร้องทุกข์กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ สำเร็จราชการกรมมหาดไทย ว่าเจ้าเมืองกรมการเมืองมุกดาหาร นครพนม สกลนคร ขัดเอาท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระธาตุพนมไม่ให้มาซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม เจ้าเมืองกรมการ 3 เมืองเก็บเงินส่วยข้าวถังกับตัวเลกข้าพระธาตุพนมหรือพระเจ้าทาษพนมทุกปีไม่ขาด เมื่อร้องทุกข์แล้วสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลาฯ โปรดฯ แต่งตั้งท้าวอุปละเป็นพระพิทักษ์เจดีย์นายกองข้าพระธาตุพนมเพื่อให้อำนาจปกครองเต็มที่[9]

เป็นพระพิทักษ์เจดีย์ แก้

พ.ศ. 2423 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลาฯ มีท้องตราถึงเจ้าเมืองมุกดาหารและนครพนมว่า ...ด้วยท้าวอุปละ (ถง) ท้าวเพี้ยข้าพระธาตุพนมลงไปทำเรื่องราวกล่าวโทษเจ้าเมืองมุกดาหารเจ้าเมืองนครพนมว่า กดขี่ข่มเหงกะเกณฑ์ใช้สอยถึงปีก็เก็บเอาข้าวเปลือกไปเป็นอาณาประโยชน์ตัวเลกข้าพระธาตุพนมได้รับความเดือดร้อน ความทั้งนี้จะเท็จจริงอย่างไรไม่แจ้งแต่ท้าวอุปละกับครอบครัวตัวเลกรายนี้ก็ปรนนิบัติรักษาพระอารามเจดีย์พระธาตุพนมมาช้านานหลายเจ้าเมืองแล้ว ถ้าจะไม่ตั้งเป็นหมวดเป็นกองไว้ท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระธาตุจะพากันโจทย์ไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง เลกข้าพระธาตุพนมก็จะร่วงโรยเบาบางลงจะเสียไพร่พลเมือง การปฏิสังขรณ์วัดวาอารามก็ไม่เป็นที่รุ่งเรืองขึ้นเหมือนแต่ก่อน พระจันทรสุริยวงษ์พระพนมนครานุรักษ์กรมการก็พลอยเสียชื่อเสียงไป หัวเมืองทั้งปวงก็จะว่ากล่าวติเตียนไปต่าง ๆ หาควรไม่ จึงให้ตั้งท้าวอุปละเป็นพระพิทักษ์เจดีย์นายกองควบคุมท้าวเพี้ยสำมะโนครัวตัวเลกญาติพี่น้องในหมวดท้าวอุปละ เป็นกองขึ้นเมืองมุกดาหารเมืองนครพนมแผนกหนึ่ง เป็นคนชรา 84 พิการ 48 ท้าว 13 เพี้ย 114 พระ 4 หลวง 26 เสมียน 4 ทนาย 9 รวม 170 คน ชายฉกรรจ์ 579 โสด 45 ทาส 64 รวม 688 ครัว ชายหญิง 1,738 รวม 2,728 คน และให้พระพิทักษ์เจดีย์นายกองฟังบังคับบัญชาพระจันทรสุริยวงษ์เจ้าเมืองมุกดาหาร พระพนมนครานุรักษ์เจ้าเมืองนครพนมแต่ที่ชอบด้วยราชการ... [10]

กองขึ้นเมืองมุกดาหารและนครพนม แก้

แบบแผนปกครองสยามต่อหัวเมืองลาวจัดหมู่บ้านมีนายหมู่เป็นหัวหน้า หลายหมู่บ้านเป็นหมวดมีนายหมวดเป็นหัวหน้า หลายหมวดเรียกกองมีนายกองเป็นหัวหน้า มุกดาหารมีกองนอกกองส่วยรวม 4 กอง กองนอก 1 กองส่วย 3 ธาตุพนมมีฐานะเป็นกองนอกเรียกกองข้าพระธาตุพนม ไม่ขึ้นมุกดาหารโดยตรงแต่อยู่ในความดูแลมุกดาหารและนครพนมร่วมกัน เนื่องจากแดนเมืองทั้ง 2 แบ่งกันที่หน้าพระธาตุพนม หัวหน้ากองบรรดาศักดิ์พระพิทักษ์เจดีย์ ปลัดกองบรรดาศักดิ์หลวงโพธิ์สาราช พลเมืองเป็นเลกข้าพระเว้นไม่เสียส่วย แต่ถูกเกณฑ์อิฐ หิน ปูน ทราย แรงงาน สำหรับบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม อยู่เวรยามถวายข้าวปลาอาหารดอกไม้ธูปเทียนบรรเลงดนตรีถวายพระธาตุพนม ถูกยกเลิกปลาย ร. 5[11] อีก 3 กองคือกองบ้านไผ่อยู่เขตเมืองชุมพร (จำพอนแก้งกอก) แขวงสุวรรณเขต นายกองบรรดาศักดิ์หลวงสุริยวงษาส่งส่วยหมากแหน่ง (ผลเร่ว) ปีละ 10 หาบหลวง กองบ้านผึ่งแดดเป็นหมู่บ้านใหญ่ในลาว นายกองส่วยบรรดาศักดิ์ท้าวโพธิสารส่งส่วยหมากแหน่งปีละ 14 หาบหลวง และกองส่วยบ้านโคก แขวงสุวรรณเขต นายกองส่วยบรรดาศักดิ์พระรัษฎากรบริรักษ์ ปลัดกองบรรดาศักดิ์หลวงพิทักษ์สุนทร[12]

พี่น้องบุตรธิดา แก้

พระพิทักษ์เจดีย์ (ถง) มีพี่น้อง 7 ท่านคือพระพิทักษ์เจดีย์ (ถง) หรือท้าวสุวัณณคำถง, ท้าวไชยเสน (เหลา) หรือท้าวสุวัณณคำเหลา, เพี้ยไชยบุตร (ลือ) หรือท้าวสุวัณณคำลือ, นางแดง, นางสุเทพา, นางปทุมวดี, นางหล่า[13] มีภริยาปรากฏนาม 2 ท่านคือนางพิทักษ์เจดีย์ (รัตนจันทร์) กับยาแม่แก้วบัวพา มีบุตรธิดา 6 ท่านคือพระพิทักษ์เจดีย์ (สุวัณณคำแก่น), พระพิทักษ์เจดีย์ (เทพพระสี), ท้าวเทพพระนม, นางเทพสวัสดิ์, นางเทพทุมมา, นางคำอ้วน[14]

อนิจกรรม แก้

ป่วยถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2422 (23) ก่อนปฏิรูปการปกครองหัวเมืองลาวเป็นมณฑลเทศาภิบาลใน พ.ศ. 2444 ด้วยเหตุไปฟ้องร้องเจ้าเมืองนครพนม มุกดาหาร สกลนคร เรื่องแย่งชิงข้าเลขพระธาตุพนม แม้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกองแต่ไม่ได้เดินทางกลับว่าราชการธาตุพนมเพราะถึงแก่กรรมก่อน[15] พื้นเมืองพระนมระบุไม่ได้ส่งร่างกลับธาตุพนมแต่พระราชทานเพลิงอยู่กรุงเทพฯ ท้าวโพธิสารเชิญอัฐิบรรจุธาตุทิศเหนือกำแพงแก้วธาตุพนมร่วมกับเจ้านายอื่น ต่อมารกร้าง พ.ศ. 2518 พระธาตุพนมถล่มจึงรื้อธาตุพังออกเหลือเพียงธาตุเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก[16]

นามานุสรณ์ แก้

รองอำมาตย์เอก หลวงพิทักษ์พนมเขต (สีห์ จันทรสาขา) นายอำเภอธาตุพนมคนแรกตั้งสถานศึกษาประจำธาตุพนมคือโรงเรียนบ้านธาตุพนม (พิทักษ์วิทยา) (Banthatpanom (Pitakwittaya)) คำว่าพิทักษ์มาจากราชทินนามพิทักษ์พนมซึ่งมาจากราชทินนามพระพิทักษ์เจดีย์ ก่อตั้ง 17 สิงหาคม พ.ศ. 2476 หลังเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย 1 ปี ติดวัดหัวเวียงรังษี ริมฝั่งโขง หมู่ 2 บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เปิดสอนระดับอนุบาลและประถมศึกษา รหัสโรงเรียน 10 หลัก 1048190117 รหัส Smis 8 หลัก 48010121 รหัส Obec 6 หลัก 190117[17]


ก่อนหน้า พระพิทักษ์เจดีย์ (ถง รามางกูร) ถัดไป
ท้าวอุปละ (มุง รามางกูร)   นายกองข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนม
หรือผู้ควบคุมท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระธาตุพนม
หรือนายกองบ้านธาตุพนม

  พระพิทักษ์เจดีย์ (แก่น รามางกูร)

อ้างอิง แก้

  1. ประวิทย์ คำพรหม และคณะ, ประวัติอำเภอธาตุพนม: จัดพิมพ์โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม, (กาฬสินธุ์: ประสารการพิมพ์, 2545), หน้า 108.
  2. พระมหาดวง รามางกูร, พื้นเมืองพนม (ประวัติวงส์เจ้าเมืองธาตุพนม), (ม.ป.ท.: วัดบวรนิเวศวิหาร คณะแดงรังสี, ม.ป.ป.), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา).
  3. ดูรายละเอียดใน สุรัตน์ วรางค์รัตน์ (บรรณาธิการ), ตำนานพงศาวดารเมืองสกลนคร ฉบับพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ พรหมสาขา ณ สกลนคร), (สกลนคร: ภาควิชาประวัติศาสตร์ วิทยาลัยครูสกลนคร, 2524).
  4. พระครูสิริปัญญาวุฒิ (ขุนละคร ขันตะ) (คัดลอก). คัมภีร์เรื่อง พื้นพระบาทใช้ชาติหรือพื้นครุธฮาช (พื้นพระยาธัมมิกราช). วัดศรีสุมังค์ บ้านนาถ่อนท่า ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. เอกสารเขียนบนกระดาษ 1 ฉบับ. อักษรธรรมลาว. อักษรลาวเดิม. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นเขียน. ม.ป.ป. (ต้นฉบับ พ.ศ. 2449). ไม่ปรากฏเลขรหัส. 23 ใบ 6 หน้า. ไม่ปรากฏหมวด. หน้า 3.
  5. พระมหาดวง รามางกูร, พื้นเมืองพนม (ประวัติวงส์เจ้าเมืองธาตุพนม), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา).
  6. ประวิทย์ คำพรหม และคณะ, ประวัติอำเภอธาตุพนมː: จัดพิมพ์โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม, หน้า 108.
  7. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.เอกสาร ร. 5 มท. เล่ม 15 จ.ศ. 1240.
  8. พระครูสิริปัญญาวุฒิ (ขุนละคร ขันตะ) (คัดลอก). คัมภีร์เรื่อง พื้นพระบาทใช้ชาติหรือพื้นครุธฮาช (พื้นพระยาธัมมิกราช). หน้า 3-4.
  9. ประวิทย์ คำพรหม และคณะ, ประวัติอำเภอธาตุพนม: จัดพิมพ์โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม, หน้า 108.
  10. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสาร ร. 5 รล. ตราน้อย เล่มที่ 4 จ.ศ. 1242.
  11. ดูรายละเอียดใน ภูริภูมิ ชมภูนุช, "พัฒนาการของเมืองในแอ่งสกลนคร ระหว่าง พ.ศ. 2371 ถึง 2436", วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549), หน้า 95, 237-245.
  12. สุรจิตต์ จันทรสาขา, เมืองมุกดาหาร, (มุกดาหาร: ม.ป.พ., 2543), หน้า 26.
  13. พระมหาดวง รามางกูร, พื้นเมืองพนม (ประวัติวงส์เจ้าเมืองธาตุพนม), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา).
  14. เรื่องเดียวกัน.
  15. ประวิทย์ คำพรหม และคณะ, ประวัติอำเภอธาตุพนมː: จัดพิมพ์โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม, หน้า 108.
  16. สัมภาษณ์นางสาวจันเนา รามางกูร เรื่อง ที่ตั้งธาตุบรรจุอัฐิขุนโอกาส อาชีพค้าขาย อายุ 90 ปี เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2550.
  17. ดูรายละเอียดใน https://data.bopp-obec.info/emis/schooldata-view.php?School_ID=1048190117&Area_CODE=4801[ลิงก์เสีย]