เรื่องของกุหลาบ “King of Siam” และ กุหลาบ “จุฬาลงกรณ์”

ท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน ได้เขียนบทความเรื่อง ถวายบังคมบรมบาท “พระปิยะมหาราช” ด้วยกุหลาบพระนาม “จุฬาลงกรณ์” ในนิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๒๕๙๔ ปีที่ ๕๐ ประจำวันอังคารที่  ๖ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๔๗ ไว้ดังนี้

เป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระปิยะมหาราช” ของปวงชนชาวไทยนั้น โปรดดอกกุหลาบมากกว่าไม้ดอกอื่นใด จะเห็นได้จากพระตำหนักที่ประทับก่อนขึ้นเสวยราชย์ ยังมีนามว่า พระตำหนักสวนกุหลาบ ดังนั้นในปัจจุบัน ผู้ที่ไปกราบถวายบังคมที่พระบรมรูปทรงม้า ณ ลานพระราชวังดุสิต หรือที่พระบรมราชานุสาวรีย์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ตามสถานที่ราชการต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะนำกุหลาบสีชมพูไปถวายเป็นเครื่องราชสักการะ

แต่จะทราบกันหรือไม่ว่า มีกุหลาบสีชมพูพันธุ์หนึ่ง ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งชื่อว่า กุหลาบ “King of Siam” หรือ กุหลาบ “จุฬาลงกรณ์”

จากหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง “ไกลบ้าน” ทำให้เราทราบว่า กุหลาบสายพันธุ์นี้ผสมขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ ที่สวนกุหลาบของชาวเยอรมันชื่อ มิสเตอร์บรอยเออ (๑) สวนกุหลาบนี้อยู่ที่เมืองซานริโม เขตมณฑลปอโตมอริโซ แถบริเวียร่า เขตต่อแดนประเทศอิตาลี และประเทศฝรั่งเศส

เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯไปทอดพระเนตรถึงสวนของมิสเตอร์บรอยเออ ที่ผสมต้นกุหลาบสำหรับขายพันธุ์ทรงเล่าว่า

วันนี้จับร้านดอกไม้ได้ ตัวผู้วิเศษ ที่ผสมดอกกุหลาบจะให้เปลี่ยนสี สลับกันอย่างไร จะให้ซ้อน ให้ลา อย่างไรอยู่ในอำนาจ (๒)...

มีกุหลาบที่ตานี่ผสมใหม่อย่างหนึ่ง ดอกโตเท่าดอกบัวสัตตบงกช กลีบซ้อนจนไม่แลเห็นเกสร สีเกือบเป็นบานเย็น เป็นพันธุ์ซึ่งยังไม่มีชื่อ เขาขอตั้งชื่อว่า พระเจ้าแผ่นดินสยาม (King of Siam) พ่อได้อนุญาตให้แกตั้ง ยังไม่สู้พอขอให้เขียนลงให้ในสมุดด้วย (๓)...

ในพระราชหัตถเลขาเดียวกันนี้ ทรงบรรยายโดยละเอียด แสดงให้เห็นถึงความสนพระทัยอย่างยิ่งถึง เรื่องกุหลาบ ตั้งแต่การเตรียมดิน วิธีฝากหนาม วิธีต่อกุหลาบ ตลอดจนวิธีการจัดส่งไปทางไกล

บางตอนทรงเขียนเล่าไว้ทำให้นึกภาพตามได้อย่างชัดเจน เช่น

ที่นี่มีดอกไม้หรูหลายอย่าง ที่วิเศษแท้นั้นคือกุหลาบ กุหลาบอย่างที่ ดุ๊ก (๔) เรียกว่า มอญ แต่ที่แท้ของไทยนั้น มันโตเท่ากุหลาบที่เย็บกันเล่น ดอกโตเท่าขนาดใหญ่ของเราสามดอกรวมกัน กลิ่นก็หอมเป็นกุหลาบไทย (๕)...

มีผู้หญิงแต่งหมวกด้วยกุหลาบสด แล้วถือกิ่งกุหลาบดอกเดียวกึ่งหนึ่ง เป็นกุหลาบสีชมพูเหมือนอย่างกุหลาบเรา แต่ความที่มันโต และซ้อนหนาเท่าดอกทานตะวัน เอาถือบังไม่ให้แดดถูกหน้าได้ ดังนี้จะเชื่อ ฤๅไม่ (๖)...

กุหลาบต้นหนึ่ง มีดอกพร้อมกันหมดตั้งยี่สิบ สามสิบดอก ตูมบ้าง แย้มบ้าง บานบ้าง ทยอยกันไป ต้นอื่น ๆ ที่มีดอกเป็นช่อใหญ่ๆ ดอกติดกันหมดเหมือนจัดพุ่มเครื่องนมัสการเป็นแต่เตี้ย งามกว่าจัดดอกไม้หัวโล้นเช่นที่จัดกัน...งามจนหลับตาลงก็เห็นเป็นดอกไม้ เหตุที่มันสดใสงามเช่นนี้ เพราะอะไร เพราะแสงแดดที่นี่ไม่แรง สีไม่ตกดอกไม้ของเรางามสักเท่าใด เช่น กุหลาบสีชมพู ฤๅเหลือง ฤๅขาว มันมาปรากฏแก่นัยน์ตาว่าสีตก เหมือนอย่างกับเอาผ้าแพรฤากำมะหยี่ ออกทิ้งค้างไว้ในกลางแจ้ง สีตก เช่นนั้น

อีกอย่างหนึ่งมันสดจริง ๆ กลีบชุ่มน้ำ ถ้าจะเอามาขยี้บีบจะได้น้ำในนั้นมากกว่าดอกไม้เมืองเราถ้าจะมีดอกไม้ที่จะเปรียบในทางสด กับดอกไม้เมืองฝรั่งได้ เห็นจะมีแต่ดอกบัวซึ่งเพิ่งแย้มในเวลาต้องพระอาทิตย์ (๗)...

เรื่องต้นกุหลาบนี้ ที่จริงไม่ควรเรียกว่า สวน น่าจะเรียกว่า ไร่ คือตามพื้นที่ข้างเขาตั้งแต่ทะเลขึ้นมาจนถึงถนน มีกำแพง ฤๅรั้วกั้นริมถนน...ฤๅทางขึ้น ทางลงข้างเขานั้นฟันเป็นคั่น กว้างบ้าง แคบบ้างตามรูปเขา ก่อศิลาเป็นก้อน ๆ เป็นคันกันดินขึ้นมาเป็นขั้น ๆ ตามในท้องคันเหล่านั้น เกือบจะไม่มีอื่น นอกจากปลูกกุหลาบทั้งนั้น ปลูกเป็นกอกลม ๆ มีระยะเหมือนดำนา สูงต่ำ ขนาด ๆ กัน

พ้นทางขึ้นไปข้างบน เหนือค้นกันดินริมทาง ก็ก่อก้อนศิลาเป็นคัน บั้ง ๆ ขึ้นไปอย่างนั้นจนตลอดยอดเขา เต็มไปด้วยต้นกุหลาบเท่า ๆ กัน เหมือนกอข้าวในนา บ้างก็ผลิบ้างก็ตูม บ้างก็แย้ม แดงครืดไปเป็นสีเหมือนกับเอาผ้าลายดอกกุหลาบตาก ผ้าลายอย่างที่ดอกเป็นช่อกุหลาบรูปเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ (๘)...

ซึ่งพ่อคลั่งพูดถึงไม้ดอกร่ำไปนั้น เพราะมันแลไปข้างไหน ก็เป็นดอกไม้เต็มไปทั้งเมือง สวนก็เป็นดอกไม้ ไร่ก็เป็นดอกไม้เต็มไปทั้งนั้น จะไม่เคยเห็นเมืองอื่นในประเทศยุโรป ซึ่งจะมีดอกไม้มากอย่างแถบนี้ (๙)...

พ่อไปถึงที่ไหน เป็นบริบูรณ์ด้วยดอกไม้ทุกหนทุกแห่ง เพราะรู้กันเสียแล้วว่าชอบโต๊ะกินข้าวเป็นสวนดอกไม้เปลี่ยนทุกวัน ไม่ใช่เป็นแต่ปักขวด ทำเป็นรางกระถางมาตั้งแล้วให้เลื้อยพ่านเต็มทั้งโต๊ะ (๑๐)...

แน่นอนว่าคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปครั้งนั้น ต้นกุหลาบพันธุ์ใหม่ที่มีดอกสีบานเย็น มีกลีบซ้อนกันแน่น ดอกใหญ่งดงามอันมีนามว่า “คิงออฟไซแอม” ทรงนำกลับมากับขบวนเสด็จเป็นแน่

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งทรงเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือจากนครเชียงใหม่ เวียงพิงค์ที่มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีอากาศเย็นใกล้เคียงกับอากาศในฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อนของทวีปยุโรปตอนใต้ ต้องเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่ง ซึ่งได้รับพระราชทานต้นกุหลาบอันมีค่าหายากนี้ไปปลูกที่พระตำหนัก ณ เมืองเชียงใหม่

พื้นที่อันเป็นที่สูง ดินตามไหล่เขา และอากาศเย็นของนครพิงค์ ให้กุหลาบคิงออฟไซแอม เจริญเติบโต ผลิดอกงดงาม ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๓ พระราชชายา เสด็จฯกลับไปประทับ ณ เมืองเชียงใหม่ เป็นการถาวร ทรงสร้างพระตำหนักขึ้นใหม่ คือพระตำหนักดาราภิรมย์ ที่ อ.แม่ริม (๑๑) และพระตำหนักพระราชชายาฯบนดอยสุเทพ (๑๒) บริเวณโดยรอบพระตำหนักทั้งสองแห่งนั้น ทรงขยายพันธุ์กุหลาบที่ได้รับพระราชทานจากพระราชสวามีปลูกไว้มากมาย และเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ จึงทรงเปลี่ยนชื่อกุหลาบ คิงออฟไซแอม เป็นกุหลาบพระปรมาภิไธย “จุฬาลงกรณ์”

(๑) พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๑๔-หนังสือพระราชนิพนธ์ไกลบ้านเล่มที่ ๑ หน้า ๒๓๐

(๒) พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๑๔-หนังสือพระราชนิพนธ์ไกลบ้านเล่มที่ ๑ หน้า ๒๒๘

(๓) พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๑๔-หนังสือพระราชนิพนธ์ไกลบ้านเล่มที่ ๑ หน้า ๒๓๓

(๔) ดุ๊ก-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ

(๕) พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๙-พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน เล่มที่ ๑ หน้า ๑๒๕

(๖) พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๓๖-พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน เล่มที่ ๒ หน้า ๓๗๑

(๗) พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๑๐-พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน เล่มที่ ๑ หน้า ๑๓๘

(๘) พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๑๒-พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน เล่มที่ ๑ หน้า ๑๖๕-๑๖๖

(๙) พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๑๒-พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน เล่มที่ ๑ หน้า ๒๐๔

(๑๐) พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๑๒-พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน เล่มที่ ๑ หน้า ๓๗๐

(๑๑) ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(๑๒) ภายหลังได้ทรงยกพระตำหนักที่ดอยสุเทพถวายเป็นสมบัติของวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ หนังสือดารารัศมี เรียบเรียงโดย นงเยาว์ กาญจนจารี หน้า ๙๖

                            กุหลาบพระนามจุฬาลงกรณ์ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/08/K6860154/K6860154.html