http://www.ejobeasy.com/kmdetail.php?n=121219102946

ข้อแตกต่างการบริหารองค์การระหว่างอเมริกาและญี่ปุ่น

         เป็นที่ประจักษ์ว่าประเทศญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง-เทคโนโลยี ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นต้องเผชิญวิกฤตมานัปการจากการพ่ายแพ้สงครามโลกทั้งนั้น แต่นับแต่วันนั้นมาไม่กี่ทศวรรษ ญี่ปุ่นกับฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นตลอดมาอย่างต่อเนื่อง
        จึงเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความสนใจศึกษาว่าประเด็นสำคัญในการบริหารองค์การของญี่ปุ่นแตกต่างจากการบริหารองค์การของอเมริกาอย่างไร และสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาเรื่องนี้มีผลสรุปจากการศึกษา 7 ประการดังนี้
        1.เรื่องการจ้างงาน
        องค์การของญี่ปุ่นจะจ้างงานตลอดชีวิต ทำให้บุคลากรมีความรู้สึกมั่นคงและรักองค์การ จงรักภักดี และมุ่งทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ต่อความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าขององค์การ บุคลากรคิดว่าตนเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ
        นโยบายจ้างงานตลอดชีวิตทำให้บุคลากรไม่คิดที่จะย้ายไปอยู่องค์การอื่น ทำให้องค์การสามารถดำรงรักษาทรัพยากรมนุษย์ไว้ได้ และพวกเขาก็จะยิ่งมีคุณค่ากับองค์การมากขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป 
        องค์การของอเมริกาการจ้างงานจะเป็นระยะสั้น หากบุคลากรมีผลการปฏิบัติงาน หรือความรู้ความสามารถต่ำกว่ามาตรฐานก็จะถูกเลิกจ้าง เป็นเหตุให้พนักงานรู้สึกว่าตนขาดความมั่นคงในงาน อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตในการทำงานของพวกเขาไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งส่งผลถึงความสุข-ความพอใจในการทำงาน นำไปสู่ประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลของงานอีกด้วย การจ้างงานระยะสั้นยังมีผลกระทบกับความสามารถในการดำรงรักษาทรัพยากรมนุษย์ให้อยู่กับองค์การได้ในระยะยาวอีกด้วย  
        2.การประเมินผลงานและการเลื่อนตำแหน่ง 
        องค์การของญี่ปุ่นนั้นการประเมินผลงานและการเลื่อนตำแหน่งจะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ โดยเสมอภาพทำให้บุคลากรมีความสมานสามัคคี ไม่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ร่วมมือกันทำงาน เพราะทุกอย่างจะเป็นไปตามระบบ ในแง่การปกครองบังคับบัญชาจึงเป็นการยอมรับกันได้ บุคลากรจึงทำงานในหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถ ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะมีการให้ตำแหน่งข้ามหน้าข้ามตากันแบบไม่เป็นระบบ จึงเป็นผลดีต่อองค์การในส่วนรวม
        องค์การของอเมริกานั้น การประเมินผลและการเลื่อนตำแหน่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถและผลงานของบุคคลเป็นสำคัญ ทำให้พนักงานต้องแข่งขันกันเพื่อจะได้ผลประเมิน หรือการเลื่อนตำแหน่งเหนือกว่าผู้อื่น มีผลกระทบต่อความสมานสามัคคีในกลุ่มพนักงาน ความเป็นไมตรี หรือความผูกพันของพนักงานจึงเกิดขึ้นได้ยากในสถานการณ์แข่งขันชิงดีชิงเด่นกันเช่นนี้
        3.หนทางของอาชีพ
        องค์การของญี่ปุ่นไม่มุ่งเน้นหนทางอาชีพเฉพาะอย่าง แต่มุ่งเน้นให้บุคลากรมีความรอบรู้ในงานต่าง ๆ ในองค์การ ดังจะเห็นได้ว่าองค์การของญี่ปุ่นมีการหมุนเวียนงาน โดยให้พนักงานได้เปลี่ยนไปทำงานในหน้าที่อื่น ๆ จึงทำให้พนักงานมีความรู้ในงานกว้างขวางขึ้น เป็นผลให้ต่างเข้าใจงานทั้งของตนและของคนอื่น เป็นผลดีต่อการประสานงานอีกด้วย 
        องค์การของอเมริกานั้นมุ่งเน้นเฉพาะอย่าง จะไม่มุ่งลักษณะของการหมุนเวียนงาน ทุกคนก็จะมีทักษะเฉพาะด้านของคนเท่านั้น ทำให้ไม่รอบรู้งานอื่น ๆ ในองค์การ และมีผลให้การสมานสามัคคีเป็นไปได้ยาก เพราะทุกคนก็คิดว่าตนเชี่ยวชาญในงานที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจงานอื่น ๆ แต่อย่างใด 
        4.การตัดสินใจ 
        องค์การของญี่ปุ่นจะเป็นการตัดสินใจเป็นกลุ่มในลักษณะของทีมงาน มิใช่ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ตัดสิน หากมีกรณีที่จะต้องตัดสินใจ สมาชิกทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ และหากสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับความคิดใดก็ถือว่าเป็นมติของกลุ่ม มิใช่เป็นความคิดของใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น แม้ความเห็นจะแตกต่างกันแต่ก็จะไม่มีความขัดแย้งกัน เพราะไม่มีใครแพ้ใครชนะ ขึ้นอยู่กับคำว่าสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับความคิดใด ก็ว่าเป็นมติร่วมกัน
        องค์การของอเมริกาเน้นการตัดสินใจส่วนบุคคล หากความคิดของผู้เสนอแตกต่างกัน ต่างฝ่ายต่างก็พยายามหาเหตุผลสนับสนุนความคิดของตน ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือกความคิดของฝ่ายใด ย่อมมีผู้แพ้-ผู้ชนะ นำไปสู่ความขัดแย้งตามมา
        5.กลไกการควบคุม
        องค์การของญี่ปุ่นนั้นมีกลไกการควบคุมแฝงอยู่ โดยสมาชิกกลุ่มต่างควบคุมกันเอง โดยมิได้มีระบบควบคุมแบบเปิดเผย สมาชิกกลุ่มต่าง ๆ ควบคุมพฤติกรรมของกันและกัน จึงอยู่รวมกันแบบผูกพันต่อกัน ไม่มีความขัดแย้ง
        องค์การของอเมริกานั้นกลไกการควบคุมเป็นกฎระเบียบอย่างเปิดเผย สมาชิกจึงไม่มีความสัมพันธ์ผูกพันอย่างลึกซึ้ง ไม่เข้าใจกันและกันอย่างจริงใจ แต่อยู่กันด้วยกฎระเบียบเป็นกรอบ ความอบอุ่นห่วงใยกัน ความรักผูกพันกัน ความร่วมมือด้วยเป้าหมายเดียวกันคือความจงรักภักดีกับองค์การและความสำเร็จขององค์การ จึงเกิดในองค์การของญี่ปุ่นมากกว่าองค์การของอเมริกา
        ทั้ง ๆ ที่เครื่องไม้เครื่องมือ/อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ในองค์การจะไม่มีความแตกต่างกัน ข่าวสารข้อมูลที่องค์การได้รับทั้งจากภายใน-ภายนอกองค์การจะไม่แตกต่างกัน 
        เพียงแค่แนวคิดในการบริหารมีแตกต่างกัน จึงเห็นได้ว่าองค์การของญี่ปุ่นประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้าจนแม้แต่สหรัฐอเมริกายังต้องหันมาสนใจศึกษาประเด็นสำคัญในการบริหารขององค์การที่ญี่ปุ่นที่ทำให้ประสบความสำเร็จ 
        6.ความรับผิดชอบในงาน
        องค์การของญี่ปุ่นจะถือความสำเร็จในงานหรือความล้มเหลวในงาน หากเกิดขึ้นไม่ว่าผู้ใดเป็นผู้ปฏิบัติก็ตาม จะถือว่าเป็นความผิดหรือความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของบุคคลไม่ได้ แต่ถือว่าไม่ว่าความสำเร็จหรือความผิดพลาดล้มเหลวนั้นเป็นความรับผิดชอบของกลุ่ม
        การมีแนวคิดเช่นนี้ทำให้กลุ่มมีสมาชิกที่มีความผูกพันสมานฉันท์ คอยห่วยใย เอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือร่วมมือกันเป็นอย่างดี เพราะทุกอย่างเป็นผลต่อกลุ่มไม่ว่าในการบวกหรือลบ การที่สมาชิกต่างควบคุมดูแลกันด้วยความมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จของกลุ่มและขององค์การ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับองค์การ แทนการใช้กฎระเบียบควบคุม หรือการให้รับผิดชอบเฉพาะบุคคลไม่ว่าจะสำเร็จหรือผิดพลาดอย่างองค์การอเมริกา
        องค์การของอเมริกานั้น ความสำเร็จหรือความผิดพลาดล้มเหลวในงาน เป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคลที่รับผิดชอบในหน้าที่นั้น ๆ จริงอยู่วิธีการแบบนี้ดูเหมือนจะดีที่ทำให้ผู้ปฏิบัติตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้องและระมัดระวังความผิดพลาด แต่ก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติไม่กล้าคิดสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเป็นผลต่อการปฏิบัติงานนั้น ๆ เพราะอาจจะเสี่ยงต่อความผิดพลาด และคนจะต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดนั้น ๆ 
        เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้สมาชิกต่างอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน เพื่อทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จโดยไม่ใส่ใจเอื้อเฝื้อเผื่อเพื่อนร่วมงาน เพราะอาจจะทำให้เพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ จะประสบความสำเร็จมากกว่าตน
        รวมทั้งคนในองค์การส่วนใหญ่ก็จะขาดความคิดสร้างสรรค์เพราะไม่เป็นผลดีต่อตนเอง หากการปฏิบัติตามความคิดนั้นเกิดความผิดพลาดล้มเหลวเพราะตนต้องรับผิดชอบ คนทำงานจะปลอดภัยกว่าถ้าเพียงทำงานตามหน้าที่อย่าให้ผิดพลาด และสามารถทำได้ดีหรือคนอื่นก็พอแล้ว ความคิดเช่นนี้มีผลต่อความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าขององค์การเป็นอย่างยิ่ง
        ทั้งหมดนี้ เป็นข้อแตกต่างในการบริหารองค์การของญี่ปุ่นและองค์การของอเมริกา ที่ทำให้ความสำเร็จและความก้าวหน้าขององค์การมีความแตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลการศึกษาวิจัยของสหรัฐอเมริกา และก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับการบริหารในองค์การของไทยไม่ว่าภาครัฐ/เอกชนก็ตาม



ติดตามอ่านคอลัมน์ “เรื่องควรรู้..คู่คนหางาน” โดย “รศ.นงลักษณ์ สุทธิวัฒนพันธ์” ได้จาก "นิตยสารงานวันนี้" วางแผงทุกวันพฤหัสบดี


ผู้เขียน : รศ.นงลักษณ์ สุทธิวัฒนพันธ์ - See more at: http://www.ejobeasy.com/kmdetail.php?n=121219102946#sthash.f7nPiM4F.dpuf