ผู้ใช้:Littleyoye/กระบะทราย

ยาแผนไทย แก้

ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องสามัญที่ทุกคนต้องเผชิญอย่างไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งกระบวนการในการแก้ไขหรือการรักษาความเจ็บป่วย ย่อมมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้เกิดภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ตามแต่ละท้องถิ่น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการรักษาแบบแพทย์แผนไทย ด้วยกระบวนวิธีการรักษา เช่น นวด ประคบ อบสมุนไพร การประกอบโรคศิลป์ของการแพทย์แผนไทย ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลปะในการปรุงยาด้วยการอาศัยหลักการวิเคราะห์ตัวยาต่าง ๆ เพื่อรักษาโรคภัยให้หายขาดตามธาตุของคนไข้ การปรุงยาของแพทย์แผนไทยเป็นการปรุงที่มีความโดดเด่น จากการหยิบยกทรัพยากรอยู่รอบตัว นำมาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการรักษาโรคซึ่งตำรับยาที่กล่าวถึงนั้น คือ ยาแผนไทย

ความหมาย แก้

ยาแผนไทย ปรากฏบนบัญชียาหลักแห่งชาติในปี พ.ศ. 2549 โดยในบัญชียาหลักแห่งชาติได้กล่าวถึงยาแผนไทยควบคู่กับยาแผนโบราณ  กล่าวได้ว่า ยาแผนไทยมีความหมายและคุณสมบัติเช่นเดียวกับยาแผนโบราณ

ยาแผนไทยและยาแผนโบราณ หมายถึง ยาที่ได้จากสมุนไพรโดยตรงหรือได้จากการผสม ปรุง หรือแปรสภาพสมุนไพรรวมถึงยาแผนโบราณตามกฎหมายว่าด้วยยา ซึ่งนำไปใช้ในการประกอบการตรวจโรค วินิจฉัย  บำบัดโรค ป้องกันโรค ซึ่งอยู่ในยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศ หรือยาที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาแผนโบราณ หรือยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับเป็นยาแผนโบราณ [1]

ความแตกต่างระหว่าง ยาแผนโบราณหรือยาแผนไทย กับ ยาสมุนไพร แก้

ยาแผนไทยหรือยาแผนโบราณคือยาที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน ซึ่งความแตกต่างของยาแผนไทย ยาแผนโบราณ และยาสมุนไพร กล่าวได้ว่า ยาแผนไทยหรือยาแผนโบราณ คือ ยาที่มีการผสมตัวยามากกว่า 1 ตัวยา , ยาพัฒนาจากสมุนไพร คือ การพัฒนารูปแบบสมุนไพรตัวเดียว เช่น พริก พัฒนาเป็น เจลพริกแก้ปวด และยาสมุนไพร คือ สมุนไพร 1 ตัวยา[2]       

ประเภทของยาแผนไทย  แก้

ประเภทยาแผนไทยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทคือ    

1. ยาไทยในบัญชียาหลัก แก้

สำหรับประเภทยาไทยในบัญชียาหลักนั้น จะถูกบรรจุจากประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติเรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2555 ประกาศ ณ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555 โดยตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2556 ได้จัดหมวดหมู่ระหว่าง “ยาแผนไทย” และ “ยาแผนโบราณ” อยู่ในหมวดเดียวกัน และทั้งนี้บัญชียาหลักแห่งชาติ ได้ระบุให้ยาแผนไทย ขึ้นในทะเบียนบัญชียาจากสมุนไพร โดยมีประเภทดังนี้

1.1 ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม)

1.2 ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร 

1.3 ยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา   

1.4 ยาแก้ไข้

1.5 ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ   

1.6 ยาบำรุงโลหิต

1.7 ยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก 

1.8 ยาบำรุงธาตุ ปรับธาตุ

2. ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ     แก้

ยาสามัญประจำบ้านของสมุนไพรนั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้กำหนดความหมายของ ยาสามัญประจำบ้าน คือ “ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศเป็นยาสามัญประจำบ้าน” และยาสามัญประจำบ้านจึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นประเภทยาที่กระทรวงสาธารณะสุขได้พิจารณาไว้ว่าเป็นยาที่เหมาะสม ในการให้ประชาชนควรจะซื้อมารักษาอาการเบื้องต้น ในกรณีที่เจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งยาสามัญประจำบ้านมีความปลอดภัยสูง และข้อกำหนดในการใช้ยาสามัญประจำบ้านจะอยู่ในบรรจุภัณฑ์ ซึ่งสามารถสังเกตได้ชัดเจน มีข้อกำหนดด้านอายุ ปริมาณในการใช้กำกับเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา หากไม่มีแพทย์หรือเภสัชคอยควบคุม ยาสามัญประจำบ้านประชาชนจึงสามารถหาซื้อได้จากร้านสะดวกซื้อและร้านขายยาแผนปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายต่อการใช้งาน

3. ยาที่ผลิตใช้ของคลินิกหรือสถานพยาบาล     แก้

คลินิกหรือสถานรักษาพยาบาล ที่ได้เปิดการรักษาแบบเฉพาะทาง เช่นการเปิดการรักษาในรูปแบบศาสตร์ยาแผนไทย หรือ แพทย์แผนไทยประยุกต์นั้น ยาที่ผลิตใช้ของคลินิกจะได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมการบัญชียา โดยการปรุงขึ้นเองและนำไปขึ้นทะเบียน เพื่อใช้ภายในคลินิกหรือสถานรักษาพยาบาลและเป็นลิขสิทธิ์ของคลินิกเท่านั้น    

4. ยาต้มที่ใช้ในครัวเรือน  แก้

ยาต้ม รู้จักอีกชื่อหนึ่งคือ ยาหม้อ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้กำหนดความหมายของ ยาหม้อ คือ “ยาไทยที่ประกอบด้วยสมุนไพร กระดูกสัตว์ และเครื่องยาอื่น ๆ ใส่หม้อต้มแล้วกินน้ำที่เคี่ยวจนงวดเพื่อบำบัดโรค” ซึ่งลักษณะเด่นของยาต้มนั้นคือ การใช้สมุนไพร หรือ พืชวัตถุ กระดูกสัตว์ หรือ สัตววัตถุ แล้วใช้กรรมวิธีบดแห้ง แล้วใส่น้ำเพื่อต้ม จนเป็นที่มาของชื่อ ยาต้ม หรือ ยาหม้อ ที่มาจากวัสดุในการต้ม โดยการตั้งยานั้น จะมีการคำนวณทั้งส่วนที่พร่อง ส่วนที่เกิน ด้วยการปรับลดและเพิ่มสมุนไพร ส่วนใหญ่สมุนไพรสรรพคุณจะแปลไปตามรสชาติของยา เช่น รสเค็มจะเป็นการขับเมือกมัน การคำนวณตั้งยาผู้คำนวณคือแพทย์แผนไทย ทั้งกระบวนการชั่ง ตวง วัด เพื่อให้ และการปรุงรส เพื่อให้ได้อัตราส่วนของยาและรสที่เหมาะสม เพื่อได้ผลในการรักษา ทำให้แพทย์แผนไทยเป็นศาสตร์ที่ประกอบด้วยทั้งศาสตร์และศิลป์

เครื่องมือในการปรุงยาไทย แก้

ในการปรุงยาไทยจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือต่างๆ  ดังนี้คือ

1. เครื่องหั่นยา

2. บุ้งกรางยา

3. เครื่องบดยา

4. ตะแกรงร่อนยา

5. หินบดยา

6. หินฝนยา

7. โกร่งบดยา

8. ตะแกรงตากยา

9. พิมพ์อัดเปียก 

  1. (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2560)
  2. (มัลลิกา น้ำค้าง,สัมภาษณ์, 28 กันยายน 2560)